Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2535
"อีก 30 ปี คนกรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการจะมีน้ำใช้พอเพียง"             
โดย โสภิดา วีรกุลเทวัญ
 

 
Charts & Figures

แผนที่สถานที่ตั้งโรงงานสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี


   
www resources

โฮมเพจ การประปานครหลวง

   
search resources

การประปานครหลวง
Energy
สุวิช ฟูตระกูล
Environment




กปน. วางแผนจัดหาและผลิตน้ำ 8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันใน 30 ปีข้างหน้า เพื่อป้อนความต้องการของคนกรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15.5 ล้านคน แต่ก่อนถึงวันนั้น คน 3 จังหวัดที่ว่า อาจต้องเผชิญปัญหาน้ำขาดแคลนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

การขาดแคลนน้ำแถบกรุงเทพและปริมณฑล ในระหว่างฤดูร้อนนี้อีกไม่นาน อาจจะได้เห็นความรุนแรง ถึงขั้นที่ปรากฏภาพรถบรรทุกน้ำไปแจกตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ตลอดทั่วทั้งเมือง เหมือนตามหมู่บ้านในชนบท แต่ขณะนี้ความเดือดร้อนก็แพร่กระจายเฉลี่ยไปอย่างทั่วถึง ผู้ที่รับรู้ปัญหาได้อย่างลึกซึ้งที่สุดคือผู้ใช้ที่เปิดน้ำจากท่อแล้วพบว่าน้ำประปาไหลน้อยเต็มที

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว…

หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการหาน้ำประปาเพื่อบริการประชาชนอย่างการประปานครหลวง (กปน.) ที่ดูแลพื้นที่ทั้งสิ้น 3,080 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมสามจังหวัดคือกรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการ

ในปี 2533 พื้นที่ที่ทางการประปาฯ จัดน้ำบริการให้ประชาชนอยู่ในบริเวณ 680 ตารางกิโลเมตร และเพิ่มขยายในปี 2535 เป็น 740 ตารางกิโลเมตรในบริเวณที่มีประชาชนอยู่หนาแน่นและมีวางท่อประปาไปถึง มีดังนี้

ทิศเหนือ สุดเขตที่ถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ วิภาวดีรังสิต พหลโยธิน รามอินทรา สุขาภิบาล 2 และสุขาภิบาล 3

ทิศตะวันออก ถนนบางนา-ตรา เทพารักษ์ (บางพลี) อุดมสุข อ่อนนุช (ลาดกระบัง) ศรีนครินทร์ แพรกษา (กม. 3)

ทิศใต้ ถนนสุขุมวิท (โค้งบางปิ้ง) ท้ายบ้าน (กม. 4) ปู่เจ้าสมิงพราย

ทิศตะวันตก ถนนธนบุรี-ปากท่อ เพชรเกษม ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี สุขสวัสดิ์ (แยกสมุทรเจดีย์ถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า) พุทธมณฑลสาย 2 บางบอน บางบัวทอง-นนทบุรี รัตนาธิเบศร์ (สะพานพระนั่งเกล้า-บางบัวทอง) เอกชัยและบางขุนเทียน

ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ปรากฏอยู่เป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางท่อประปาเสริมการขยายกำลังการผลิตของโรงกรองน้ำ แม้กระทั่งการเตรียมสร้างโรงกรองน้ำแห่งใหม่ที่ต้องใช้งบประมาณนับหมื่นล้าน แต่ปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ก็เป็นปัญหาที่มาคู่กันเสมอ ๆ

ทางการประปาฯ ชี้แจงการขาดแคลนน้ำในปัจจุบันว่า ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าวิกฤติ แต่ในช่วงฤดูร้อนนี้อาจจะมีปัญหาการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ปลายเส้นท่อเนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศร้อน ทำให้มีการใช้น้ำมากกว่าช่วงปกติถึง 10% เป็นเหตุให้ปริมาณน้ำที่สูบจ่ายตามปกติไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้น้ำ ในช่วงนี้การประปาฯ จึงเร่งผลิตสูบน้ำเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ความต้องการมีมากถึง 3.3-3.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

แต่สำหรับพื้นที่ฝั่งธนบุรีย่านบางพลัด จรัญสนิทวงศ์ และบางกรวย จ. นนทบุรี คงจะต้องทนรับสภาพการขาดแคลนน้ำระหว่างนี้เนื่องจากน้ำเค็มขึ้นถึงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่ตั้งโรงกรองเคลื่อนที่พระราม 6 ใช้อยู่ ทำให้ไม่สามารถนำมาผลิตน้ำประปาได้ ขณะเดียวกันน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาก็มีน้อยเกินกว่าที่จะปล่อยมาไล่น้ำเค็มได้

หากพิจารณาในแง่ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากสองส่วนใหญ่ ส่วนแรกคือการเพิ่มความต้องการใช้ในใจกลางเมืองและส่วนที่สองคือในแถบชานเมือง

ด้วยปริมาณที่ดินในแถบใจกลางเมืองที่มีจำกัดโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูงสำหรับสำนักงาน คอนโดมิเนียม ตลอดจนห้างสรรพสินค้าและโรงแรมต่าง ๆ ไม่อาจที่จะขยายพื้นที่ไปในทางกว้างได้ จึงจำเป็นต้องสร้างอาคารตึกสูงขึ้นแทนที่เพื่อประหยัดพื้นที่และแน่นอนจำนวนผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นหลายสิบเท่าตัว ปริมาณการใช้น้ำย่อมเพิ่มสูงตามไปด้วย ขณะที่ท่อส่งน้ำเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนยังมิได้มีการปรับปรุง

สุวิช ฟูตระกูล ผู้ว่าการประปานครหลวงกล่าวถึงปัญหาการเพิ่มของอาคารสูงว่ายังไม่น่าหนักใจมากนัก เพราะการเพิ่มมิได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางการประปาฯ สามารถทำการวางท่อเสริมเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำได้ แต่การวางท่อประปาในแถบใจกลางเมืองก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ต้องประสบปัญหาที่ดินและการจราจรที่ติดขัดมากอย่างย่านถนนสุขุมวิท สีลม สุรวงศ์ เจริญกรุง พญาไท เป็นต้น

โครงการที่สร้างความหวั่นวิตกเป็นอย่างมากให้การประปาฯ ในตอนนี้คือการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่และการเพิ่มขึ้นของโครงการอุตสาหกรรมในแถบชานเมือง

เมืองทองธานีเป็นโครงการที่มีการกล่าวถึงกันมากว่ามีขนาดเกือบจะเป็นเมือง ๆ หนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม แหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยและการค้า ถ้าโครงการเสร็จเต็มพื้นที่ในราว 8 ปีข้างหน้าจะสามารถจุคนได้ถึง 1.5 ล้านคน ปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในเมืองทองธานีมีจำนวนถึง 1 ใน 6 ของปริมาณน้ำที่ทางประปาฯ ผลิตอยู่ในเวลานี้

การเติบโตของเศรษฐกิจที่รวมศูนย์อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ โดยมีเอกชนเป็นตัวกำหนดสำคัญในการขยายของเมือง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีการวางแผนร่วมระหว่างรัฐและเอกชนในเรื่องสาธารณูปโภคแต่อย่างใด ในกรณีเรื่องการใช้น้ำที่การประปาฯ รับผิดชอบอยู่ก็เช่นเดียวกัน

"ทางประปาก็ต้องติดตามดูเองว่าโครงสร้างอะไรที่ไหน ยังไง การก่อสร้างอาคารเขาผ่านทาง กทม. ไม่ได้แจ้งเรา ปกติเราก็เผื่อไว้บ้างแต่ถ้ามีโครงการใหญ่ขึ้น น้ำก็อาจจะอ่อนไปบ้าง ซึ่งเราก็ต้องพยายามหามาเติม คือ วางท่อเสริมไป" สุวิช กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ส่วนในกรณีเมืองทองธานี ซึ่งในอนาคตจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของการประปาฯ เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการประสานงานร่วมกันระหว่างโครงการกับการประปาฯ เพื่อร่วมกันวางแผนเตรียมการในเรื่องการใช้น้ำ ในกรณีนี้ทางโครงการเมืองทองธานีจะต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการวางท่อภายในตัวโครงการด้วย

สำหรับในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมภาคการผลิตตัวสำคัญที่เพิ่งเข้ามามีบทบาทในการใช้น้ำไม่นาน แต่ได้ขยายความต้องการในปริมาณที่สูง จำนวนโรงงานขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ในแถบกรุงเทพฯ-นนทบุรี-สมุทรปราการ มีประมาณ 25,000 โรง แต่แหล่งที่มาของน้ำใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม จากการศึกษาของไจก้าพบว่าประมาณ 85% ที่ใช้น้ำจากบ่อบาดาล ที่เหลือเป็นส่วนของการประปาฯ ซึ่งไม่มีข้อมูลแยกปริมาณการใช้น้ำของอุตสาหกรรม ผู้ว่าการประปาฯ กล่าวถึงการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมว่า

"ใช้น้ำประปาไม่มากเท่าไร แต่ก็มากขึ้นกว่าเดิมมาก ตั้งแต่เราสร้างโรงสูบสำโรงเสร็จเมื่อสองปีที่แล้ว ถนนปู่เจ้าสมิงพรายมีการใช้มากขึ้น แต่ก็มีที่ยังใช้น้ำบาดาลอยู่ เพราะบ่อยังไม่หมดอายุการใช้งานตามใบอนุญาต 10 ปีที่ขอจากกรมทรัพยากรธรณี"

หลายฝ่ายทราบดีถึงปัญหาที่จะต้องติดตามาจากการใช้น้ำบาดาลจำนวนมาก ๆ คือเรื่องการทรุดตัวของแผ่นดิน แต่ทางการประปาฯ ยังไม่สามารถจัดหาน้ำมาให้ใช้ได้อย่างเพียงพอ

นับเป็นเวลา 25 ปีตั้งแต่ตั้งการประปาฯ เป็นรัฐวิสหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย การประปาฯ มีการจัดทำแผนหลักเพื่อเป็นแนวทางขยายกำลังการผลิตน้ำและป้องกันการขาดแคลนน้ำ

ก่อนปี 2510 ได้มีการวางแผนการกักเก็บน้ำดิบโดยการขุดคลองแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้วัดสำแลเหนือจังหวัดปทุมธานี 3 กิโลเมตร คลองขุดนี้จะนำน้ำมาเก็บที่อ่างเก็บน้ำเชียงราก และขุดคลองส่งน้ำมายังคลองสามเสนในปัจจุบัน เพื่อใช้ในโรงกรองน้ำสองแห่งคือโรงกรองน้ำสามเสนและโรงกรองน้ำธนบุรี ซึ่งเริ่มแรกแต่ละแห่งผลิตน้ำได้วันละ 28,800 และ 172,800 ลูกบาศก์เมตร

ต่อมาเมื่อปริมาณความต้องการน้ำดิบเพิ่มมากขึ้น จึงได้สร้างสถานีสูบน้ำดิบสำแล ทดแทนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเชียงราก ปัจจุบันสถานีสูบน้ำดิบ มีมอเตอร์ในการสูบน้ำ 7 ตัว ที่ใช้งานอยู่ในโรงสูบ 2 และ 3 ส่วนโรงสูบ 1 มีเครื่องสูบ 3 ตัวแต่เป็นเครื่องเก่า กินไฟมาก จึงไม่ได้นำมาใช้งาน

สถานีสูบน้ำดิบสำแลสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเฉลี่ยวินาทีละ 30 ลูกบาศก์เมตรเพื่อส่งผ่านตามคลองประปาไปยังโรงกรองน้ำบางเขน ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2518 แรกเริ่มมีกำลังการผลิตวันละ 800,000 ลูกบาศก์เมตร และเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 2532 ผลิตน้ำได้วันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร

"ทางการประปาฯ ก็ตกลงกับกรมชลประทานคือให้เราใช้น้ำได้ถึง 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตอนนี้เราใช้ไปประมาณ 30-40 ลูกบาศก์เมตร ยังใช้ได้อีก แต่เขาก็ต้องหาทางลดการใช้น้ำพวกนาปรัง" สุวิช ฟูตระกูล ชี้แจง

ดังนั้นช่วงที่ฝนตกในฤดูร้อน ทางกรมชลประทานก็ต้องปล่อยน้ำที่กักเก็บไว้ในเขื่อนภูมิพลหรือเหนือขึ้นไปคือ เขื่อนสิริกิต ระบายน้ำฝนผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงมาต่อวันจะต้องไม่น้อยกว่า 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และแบ่งประมาณ 30-40 ลูกบาศก์เมตร สำหรับการประปาฯ ที่เหลือไว้สำหรับไล่น้ำเค็มและใช้น้ำในด้านอื่น ๆ

นอกเหนือจากน้ำผิวดินซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบหลักที่การประปาใช้ แหล่งน้ำดิบอีกแหล่งหนึ่งคือน้ำบาดาล ซึ่งใช้สูบจ่ายเสริมให้ชุมชนขนาดเล็กที่กระจายในเขตรอบนอก

แต่เดิมการประปาฯ ใช้น้ำบาดาลประมาณ 1 ใน 3 จองปริมาณน้ำทั้งหมด ต่อมาระยะหลังลดลงเหลือประมาณ 5% ของการผลิตน้ำประปา เนื่องจากก่อให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุด

ปัจจุบันการประปาฯ มีโรงงานผลิตน้ำ 3 แห่งคือโรงงานผลิตน้ำบางเขน สามเสน ธนบุรี ทั้ง 3 แห่ง ผลิตได้ 2.72 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีการสูบจ่ายน้ำบาดาลเสริมวันละ 40,000 ลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่ปลายเส้นท่อที่มีความดันต่ำ

นอกจากนั้นมีโรงกรองน้ำแบบเคลื่อนย้ายได้ (MOBILE PLANT) ขนาดกำลังการผลิต 19,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ใต้สะพานพระราม 6 รวมกำลังการผลิต 2,779 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

เมื่อผ่านขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบตกตะกอน ฆ่าเชื้อโรคในกระบวนการผลิตแล้วจะแจกจ่ายให้กับประชาชน โดยผ่านสถานีสูบจ่ายน้ำ 9 แห่ง ในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมีสถานีสูบจ่าย 7 แห่งคือ บางเขน พหลโยธิน ลุมพินี คลองเตย ลาดพร้าว และสำโรง ส่วนฝั่งธนบุรีมี 2 แห่งคือสถานีสูบจ่ายน้ำท่าพระและโรงกรองธนบุรี หลังจากนั้นน้ำประปาจะผ่านเข้าสู่ระบบเส้นท่อประธาน ท่อจ่ายน้ำและท่อบริการสู่ท่อน้ำประปาตามบ้านเรือน

นอกเหนือจากการผลิตน้ำจากส่วนกลางแล้ว ยังมีประปาอิสระอีก 7 แห่ง ได้แก่หนองจอก มีนบุรี บางบัวทอง บางใหญ่ ไทรน้อย บางพลี บางบ่อ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก ยกเว้นที่หนองจอกและบางบัวทองที่มีโรงกรองขนาดเล็ก

การวางแผนการดำเนินงารนตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปี 2533 ปฏิบัติตามโครงการแผนหลักครั้งที่ 1-3 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขนาดกำลังการผลิตของโรงงานผลิตน้ำบางเขนและการปรับปรุงระบบอุโมงค์ส่งน้ำ การก่อสร้างสถานีสูบจ่ายน้ำตามจุดต่าง ๆ

โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาน้ำประปาขาดแคลนทางฝั่งธนบุรีอย่างเร่งด่วนคือการติดตั้งโรงงานผลิตน้ำประปาขนาดเล็กแบบเคลื่อนย้ายได้จำนวน 12 ชุด สามารถผลิตน้ำได้ 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

โครงการแผนหลักครั้งที่ 4 เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2534-2538 เป้าหมายคือเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำอีกวันละ 400,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างท่อส่งน้ำและสถานีสูบจ่ายน้ำลาดกระบังและปรับปรุงระบบท่อเดิม รวมทั้งลดปริมาณน้ำสูญเสีย ถ้าโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์สามารถขยายการบริการน้ำให้อุตสาหกรรมทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ คือ ถนนร่มเกล้า ถนนกิ่งแก้ว เทพารักษ์ อ่อนนุช บางนา-ตราด บางปู สุขุมวิทตอนล่าง ศรีนครินทร์ เป็นต้น

การเพิ่มปริมาณน้ำที่ผลิตจากโรงกรอง ก็จะต้องทำการปรับปรุงอุโมงค์ส่งน้ำและท่อประปาให้สอดคล้องกันไปด้วย ดังเช่นในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้จะต้องซ่อมอุโมงค์เป็นเวลาประมาณแปดเดือนเพื่อป้องกันอุโมงค์รั่วไหลและสามารถรับแรงดันน้ำที่เพิ่มขึ้นอีก 800,000 ลูกบาศก์เมตร ระหว่างนั้นคนกรุงคงจะต้องเผชิญปัญหาน้ำที่ไหลเอื่อยเต็มที

ความต้องการน้ำทั้งหมดในนครหลวงเพิ่มขึ้นทุกวัน ภายในไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้ไป การประปาฯ สามารถจัดหาน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไม่เกิน 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ความต้องการน้ำในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะมากกว่า 5 ล้านลูกบาศก์เมตรอย่างแน่นอน

ส่วนที่เกินความสามารถของเจ้าพระยาแหล่งน้ำผิวดินแหล่งเดียวที่การประปาฯ ใช้อยู่จึงจำเป็นต้องหาแหล่งวัตถุดิบจากแม่น้ำสายใหม่ที่มีปริมาณน้ำเหลือพอที่จะแบ่งให้ชาวเมืองกรุงได้ใช้

แนวคิดในแผนหลักครั้งที่ 5 คือการแยกระบบการผลิตออกเป็น 2 ระบบตามแหล่งน้ำคือทางฝั่งตะวันออกจะใช้น้ำดิบขากแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณสูงสุดที่จะใช้ได้ถึงปี 2560 คือ 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สำหรับเลี้ยงคนในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ส่วนทางฝั่งตะวันตกจะใช้น้ำดิบจากแม่น้ำแม่กลองในปริมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

โครงการจัดหาแหล่งน้ำดิบใหม่ได้กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อสร้างโรงกรองน้ำย่าน อ. บางกรวย จ. นนทบุรี ในพื้นที่ 550 ไร่ และขุดคลองประปาแห่งที่ 2 ระยะทางยาว 101 กิโลเมตร ระยะแรกจะขุดคลองประปาจากโรงกรองน้ำบางกรวยถึง อ. บางเลน จ. นครปฐม ระยะทาง 36 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ที่จะต้องเวนคืนถึง 2,600 ไร่

ระยะที่สองนั้นจะขุดคลองจากอำเภอบางเลนต่อไปจนถึงเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ. กาญจนบุรีเป็นระยะทาง 65 กิโลเมตร ซึ่งจะเริ่มลงมือขุดในปี 2540 คาดว่าจะเสร็จทั้งโครงการในปี 2560 คิดเป็นงบที่จะใช้ในการดำเนินการประมาณ 7,500 ล้านบาท

ระหว่างที่รอการขุดคลองประปาจาก อ. บางเลนไปยังเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งใช้เวลานาน การประปาฯ จัดหาแหล่งน้ำสำรองชั่วคราวโดยใช้น้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบให้โรงกรองน้ำบางกรวย ในระยะแรกโดยจะทำการผลิตวันละ 400,000 ลูกบาศก์เมตร และเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งผลิตได้สูงสุด 3 ล้านลูกบาศก์เมตร

โรงกรองน้ำแห่งใหม่ตามกำหนดจะต้องเริ่มลงมือก่อสร้างในปีนี้แต่ยังคงติดขัดปัญหาการเวนคืนที่ดิน การก่อสร้างจึงต้องเลื่อนออกไป สุวิชเปิดเผยว่าขณะนี้เวนคืนได้ประมาณ 70% คาดว่าภายในปีหน้าจะได้ลงมอก่อสร้าง ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี

น้ำจากการผลิตระยะแรกส่งจ่ายไปยังบริเวณถนนบางบัวทอง-ตลิ่งชัน รัตนธิเบศธ์ เอกชัย บางขุนเทียน และถนนพุทธมณฑลสาย 2 สามารถเลี้ยงคนได้ประมาณ 1 ล้านคน

แผนการจัดเตรียมแหล่งน้ำดิบของการประปาฯ วางแผนจนถึงปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะพอเลี้ยงประชากรที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 15.5 ล้านคนโดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำดิบทั้งสองแห่งคือเจ้าพระยา 5 ล้านลูกบาศก์เมตรและแม่กลองอีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

จากข้อมูลปี 2533 พบว่าสัดส่วนผู้ใช้น้ำ 3 กลุ่มคือประเภทที่อยู่อาศัย ใช้ 49.07% ธุรกิจ-อุตสาหกรรม 36.7% และราชการ 14.11% ที่เหลือเป็นน้ำสาธารณะที่การประปาฯ ให้บริการชุมชน จากปริมาณน้ำทั้งหมด 718.73 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปริมาณน้ำขายย้อนหลังระหว่างปี 2531-2533 พบว่าการใช้น้ำในปี 2531 เท่ากับ 570.4 ล้านลูกบาศก์เมตรและเพิ่มปริมาณขึ้นในปีถัดมา 10.1% และ 14.4% ตามลำดับ

สำหรับตัวเลขประมาณการใช้น้ำในปี 2535 การประปาฯ คาดว่าปริมาณน้ำขายจะเพิ่มเป็น 792 ล้านลูกบาศก์เมตรและเพิ่มสูงขึ้นถึง 1,137 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2539

ทั้งหมดนี้คือการประมาณความต้องการใช้น้ำในอนาคตและแผนเตรียมการ 30 ปีเพื่อให้ปริมาณน้ำประปาเพียงพอกับความต้องการของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ

"ทุกคนคิดว่าน้ำเป็น RENEWABLE RESOURCE สร้างมาใช้ได้เท่าไร จะจัดสรรกันอย่างไรระหว่างการเกษตร ผลิตไฟฟ้า น้ำใช้ในอุตสาหกรรมหรือกระทั่งทำน้ำประปา ในกรณีของของกรุงเทพฯ ผังเมืองจะต้องมีการควบคู่กันบ้าง ถ้าเราปล่อยเสรีหมด ไม่มีปัญญาหรอกครับ เทวดาที่ไหนก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าเล่นแบบมวยวัดไม่มีกติกา อย่างถนนรัตนาธิเบศร์ การประปาฯ มีโครงการวางท่อยังไม่ทันเสร็จ ท่อนั้นก็เล็กไปเสียแล้ว" นักวิชาการที่คลุกคลีอยู่ในวงการทรัพยากรน้ำท่านหนึ่งแสดงความเห็นต่อสภาพการจัดการน้ำโดยภาพรวม

สาเหตุใหญ่ที่น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคในกรุงยากที่จะจัดสรรมาให้เพียงพอต่อความต้องการคือการไม่มีผังเมืองที่แน่นอน การรองรับทางด้านสาธารณูปโภคจึงไม่สามารถจับทิศทางการเติบโตของเมืองได้

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การประปาฯ จะต้องเตรียมจัดหาน้ำดิบและขยายกำลังการผลิตแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดินของชาวบ้านเพื่อสร้างโณงงานกรองน้ำแห่งใหม่ ค่าก่อสร้างตลอดจนค่าขุดคลองจากแหล่งน้ำดิบที่อยู่ไกลถึงจังหวัดกาญจนบุรี เป็นเม็ดเงินจำนวนนับหมื่นล้านที่การประปาฯ ต้องกู้ ทั้งจากภายในและนอกประเทศ เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการใช้

ปัจจุบันแหล่งน้ำดิบใหม่ไม่ใช่ว่าจะหาได้ง่ายนักทั้ง ๆ ที่ในอดีตไม่มีใครเคยคิดว่าปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจะเป็นปัญหาใหญ่อย่างทุกวันนี้ หนำซ้ำประเทศไทยยังตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นลุ่มน้ำใหญ่ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์มาโดยตลอด แต่เมื่อจำเป็นต้องหาทางกักเก็บน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอในช่วงฤดูที่ฝนไม่ตก วิศวกรด้านแหล่งน้ำต่างเห็นตรงกันว่า รูปธรรมของการแก้ปัญหาที่ถูกที่สุดคือสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนเพื่อเก็บน้ำส่วนเกินที่มีในช่วงฝนตก

แต่การสร้างเขื่อนย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังที่ฝ่ายอนุรักษ์ได้ชี้แจงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นเสมอมา แม้กระทั่งการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อปรสิต และสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำแม่กลองก็เป็นปัญหาที่น้อยคนนักจะกล่าวถึงเพราะผลเหล่านี้ถูกบดบังด้วยความจำเป็นของการใช้น้ำในเมืองหลวง และปริมณฑลซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

"แหล่งน้ำดิบก็อาจจะมีจากแหล่งอื่น เช่นชั้นใต้ดินที่ลึกไปมาก ๆ ต้องลงทุนมากพอสมควรในการสูบชั้นที่ลึก 500-600 เมตร ชาวบ้านธรรมดาก็ยังไม่ได้เอาน้ำชั้นนี้มาใช้ น้ำคุณภาพดี ตอนนี้โรงไฟฟ้าทางพระประแดงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก็ใช้น้ำชั้นนี้อยู่ แต่ใจผมก็ไม่อยากให้ใช้เพราะมีปัญหาเรื่องแผ่นดินทรุด นอกจากนี้ก็มีวิธีการผันน้ำจากลุ่มน้ำโขง ที่ยังมีน้ำเหลืออยู่ ถ้าน้ำขาดแคลนจริง ๆ ภาคอุตสาหกรรมเขาอาจจะลงทุนแล้วคุ้มค่า แม้ว่าจะต้องกลั่นน้ำทะเลมาใช้ซึ่งทีค่าใช้จ่ายสูงมากก็ตาม สุภัทท์ วงศ์วิเศษสมใจ ศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียให้ข้อมูลแหล่งที่มาของน้ำดิบซึ่งพอจะมีอยู่บ้างแต่ก็ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่จะให้ได้น้ำมาในราคาที่แพงลิบลิ่ว และในแถบเมืองหลวงคงจะหาน้ำดิบไม่ได้แล้วเนื่องจากน้ำจากเจ้าพระยามีให้ใช้อย่างจำกัด

วุฒิ หวังวัชระกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมที่ทำวิจัยเรื่องการขาดแคลนน้ำของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ทางออกของการจัดการปัญหาการขาดแคลนน้ำว่ามีอยู่ 4 ทางด้วยกันคือ

ทางแรกเพิ่มอุปทานน้ำให้เพียงพอ เหมือนที่ทางการประปาฯ เตรียมหาแหล่งน้ำดิบใหม่จากแม่น้ำแม่กลอง

สองคือการพยายามลดน้ำสูญเสียซึ่งพิจารณาได้จากความแตกต่างระหว่างปริมาณน้ำที่ผลิตจ่ายทั้งหมดกับปริมาณน้ำที่การประปาฯ จำหน่ายได้ในปี 2533 การประปาฯ ผลิตน้ำทั้งหมด 1049.3 ล้านลูกบาศก์เมตรแต่สามารถจำหน่ายได้เพียง 718.7 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดปริมาณน้ำสูญเสียมีประมาณ 30%

วิธีการในการลดปริมาณน้ำสูญเสียคือการสำรวจท่อรั่ว การซ่อมท่อแตกท่อรั่ว การเปลี่ยนท่อชำรุดหมดสภาพในการใช้งาน ตรวจสอบการใช้น้ำผิดระเบียบ รวมทั้งการซ่อมและเปลี่ยนมาตราวัดน้ำที่ชำรุดของผู้ใช้น้ำ

สามคือการใช้น้ำใต้ดิน และทางสุดท้ายคือการใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าถ้าสินค้าราคาแพงขึ้น ความต้องการจะลดลง "การขึ้นราคาน้ำเป็นการจัดการด้านอุปสงค์ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราไม่เคยดูแลด้านดีมานด์เลย ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปก็ไปไม่รอด เพราะเราใช้น้ำกันถูกกว่าความเป็นจริง เมื่อใช้ถูกกว่าเราก็ใช้น้ำมากกว่าที่ควรจะเป็น ก็เหมือนกับการกินบุฟเฟต์ จ่ายเงินเท่ากันแต่กินมากเกินอิ่ม แต่ถ้าราคาเหมาะสม คนก็ใช้น้ำกันตามความจำเป็น"

สาเหตุที่วุฒิเห็นว่าราคาน้ำมันถูกกว่าความเป็นจริง เนื่องจากว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการรวมค่าต้นทุนน้ำดิบ ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใช้ปล่อยน้ำเสียกลับมาสู่แหล่งน้ำอีกครั้ง ซึ่งทำให้น้ำดิบในแม่น้ำลำคลองไม่มีคุณภาพพอที่จะนำกลับมาผลิตเป็นน้ำประปาใหม่ได้ และในแง่ทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อน้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และกำลังจะอยู่ในสภาพขาดแคลน น้ำควรจะต้องเป็นสินค้าที่มีราคาด้วย

ต้นทุนค่าน้ำในปัจจุบันต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรเฉลี่ย 5.19 บาท โดยคิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย เงินเดือนค่าตอบแทน ค่าไฟฟ้า สารเคมี วัสดุ ค่าเสื่อมราคา หนี้สูญ ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม

ในเมื่อคนเมืองหลวงดึงน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาในแต่ละวันอย่างน้อยที่สุด 3 ล้านลูกบาศก์เมตร สิง่ที่ควรถูกคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสในการที่จะนำน้ำปริมาณนั้นไปเป็นปัจจัยในการผลิตด้านอื่น เช่นเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือน้ำสำหรับการสัญจรทางเรือ เป็นต้น

เช่นเดียวกับการใช้น้ำบาดาล ซึ่งราคาน้ำบาดาลที่กรมทรัพยากรธรณีเป็นผู้ดูแล มีราคาถูกมาก คือประมาณลูกบาศก์เมตรละหนึ่งบาท แต่ผลจากการใช้น้ำบาดาลส่งผลให้แผ่นดินทรุดกระทบต่อทั้งสังคม สิ่งที่ควรบวกเข้าไปในน้ำบาดาลคือ ต้นทุนทางสังคม ดังกล่าวนี้ รวมทั้งการควบคุมดูแลขแงรัฐที่ไม่ปล่อยให้มีการขุดบ่อบาดาลเป็นไปอย่างไรกติกา

"การขาดแคลนน้ำ ไม่ใช่เท่ากับศูนย์ แต่หมายถึงแทนที่ จะอาบอ่างอาบน้ำ ก็อาบฝักบัวหรืออาบน้ำแบบตัก หรือแทนที่จะใช้ชักโครกก็หันมาใช้แบบราด ถ้าน้ำมีราคาคนก็จะประหยัดกัน แทนที่จะเอาน้ำประปาไปรดน้ำต้นไม้ ก็เอาน้ำซักผ้าไปรดแทน เหมือนอย่างที่พัทยา ซึ่งมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ ขณะเดียวกันการประปาฯ ก็มีรายได้มากขึ้นสำหรับการขยายโครงการต่อไป" วุฒิเสนอทางออกในเรื่องการประหยัดน้ำที่จะเกิดขึ้นตามมาหากน้ำจะเป็นสินค้าที่มีราคาแพง ในเรื่องราคาน้ำเขาเห็นว่าควรมีการกำหนดราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนักสำหรับปริมาณการใช้โดยเฉลี่ยที่ประชาชนต่อหนึ่งครอบครัวจำเป็นต้องใช้ เพื่อจะได้ไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย แต่สำหรับปริมาณที่ใช้มากอันสืบเนื่องมาจากการครองชีพที่สูงขึ้น การมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้นของผู้มีรายได้สูงและภาคธุรกิจก็ควรจะอยู่ในอัตราค่าน้ำที่สูงมากขึ้นกว่าปกติ

สำหรับการป้องกันในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่โรงงานต่าง ๆ อาจหันมาสูบน้ำบาดาลมากขึ้นเนื่องจากการขึ้นราคาน้ำ กรมทรัพยากรธรณีก็ควรจะมีการควบคุมการสูบเจาะบาดาลและขึ้นราคาน้ำบาดาลอย่างเหมาะสมควบคู่กันไปด้วย

"การประปาฯ ไม่ได้ขึ้นค่าน้ำมา 8 ปีแล้ว อุตสาหกรรมเราเก็บพิเศษ ถ้าใช้เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรเราให้ราคาลดลง คือใช้ยิ่งมากราคายิ่งถูกเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เขาเลิกใช้น้ำบาดาล ส่วนประเภทธุรกิจเราถือว่าเราคิดเต็มที่" สุวิช ฟูตระกูล กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ส่วนในกรณีที่ควรจะคิดค่าน้ำดิบเป็นต้นทุนการผลิตผู้ว่าการประปาฯ เห็นว่า

"ตามหลักที่ถูกต้องการประปาฯ ควรจ่าย้ำดิบให้รัฐบาล แต่ต้องให้ประปาขึ้นค่าน้ำกับผู้ใช้ที่รับประโยชน์โดยตรง เพราะต้องมีการลงทุนที่ผ่านมา เรามักมองกันว่าน้ำมาจากธรรมชาติ ใครจะดูดไปใช้ก็ได้ เจ้าพระยาถือเป็นของสาธารณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบายของรัฐ ผมไม่อยากไปบวกค่าน้ำดิบอีกเพราะเป็นภาระกับผู้ใช้โดยตรง"

การบวกค่าน้ำดิบลงไปในต้นทุนการผลิตน้ำประปาเป็นหลักการที่ถูกต้องแต่ในทางปฏิบัติ การขึ้นค่าน้ำประปาที่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่รัฐบาลน้อยชุดอยากจะเสี่ยง โดยเฉพาะในเมื่อสภาพน้ำประปาที่ให้ประชาชนเป็นไปอย่างขาด ๆ หาย ๆ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

"น้ำเป็นสิ่งจำเป็น ชุมชน ที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรก็ต้องใช้น้ำ การจัดสรรน้ำจำเป็น แต่ประเทศเราไม่มีกรมชลประทานเขาก็จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเดียว หรือเขื่อนของทางการไฟฟ้าก็สร้างเพื่อผลิตไฟฟ้า การประปาฯ เองก็มีหน้าที่ผลิตน้ำแต่ไม่เคยได้เข้าไปมีส่วนในการวางแผนเพราะว่าแต่ละหน่วยเขามีความจำเป็นของเขา อันนี้เราไม่ตำหนิ แต่รัฐจำเป็นต้องมีคณะกรรมการมาดูแลความต้องการทั้งประเทศ เพราะการใช้น้ำเกี่ยวข้องกันหมด" แหล่งข่าวในการประปานครหลวงเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

ท่ามกลางสภาพที่อุปทานยากที่จะมาบรรจบกับอุปสงค์ของการใช้น้ำ คนกรุงแต่ละครอบครัวก็หาทางออกด้วยตนเองโดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อดึงน้ำจากท่อประปาให้เข้าที่พักของตนเองให้มากที่สุด

บ้านเรือนที่อยู่ติดกับอาคารสูงซึ่งมักจะมีแท็งก์บรรจุน้ำสำรองหรือเครื่องสูบน้ำก็ถือเป็นเคราะห์กรรมที่ถูกแย่งน้ำไป ส่วนอุตสาหกรรมและบ้านจัดสรรแถบชานเมืองคงจะยินดีพึ่งพาน้ำบาดาลตราบเท่าที่แผ่นดินยังไม่ทรุดจนเกิดน้ำท่วมในบริเวณที่ดินของตน

ขณะที่การประปาฯ ก็มุ่งหน้าหาแหล่งน้ำดิบและขยายกำลังการผลิตต่อไปแม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งที่เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจและต้นทุนทางสังคมสูงมากขึ้น

สภาพการณ์คงจะต้องเป็นเช่นนี้ต่อไปตราบเท่าที่รัฐยังขาดการวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศและไม่ลงมือจัดการแก้ปัญหาเรื่องการวางผังเมืองรวม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us