Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์15 กันยายน 2551
แบงก์ชาติปฎิวัติเงียบสกัดการเมืองเปลี่ยนวิธีคุมเงินเฟ้อคานอำนาจ             
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

   
search resources

ธนาคารแห่งประเทศไทย
Banking and Finance




แบงก์ชาติเดินเกมลดทอนอำนาจนักการเมืองที่เข้ามากุมอำนาจ เริ่มตั้งแต่ออกประกาศคุมนักการเงินหวังสะท้อนคนจากภาคการเมืองสำนึก รวมถึงการเปลี่ยนวิธีคุมเงินเฟ้อที่ทันการณ์มากขึ้น อีกทั้งบอร์ด กนง.ใหม่ที่ยังตั้งไม่ได้อาจใช้ชุดเก่าทำหน้าที่แทน

หลังจากพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ โครงสร้างการทำงานของแบงก์ชาติที่ต้องมีคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย 12 ท่าน โดยให้สิทธิกระทรวงการคลังในการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งในฝ่ายของแบงก์ชาติมีเสียงอยู่ในบอร์ดชุดดังกล่าวเพียง 5 คน ที่เหลือเป็นฝ่ายของกระทรวงการคลัง

บอร์ดชุดนี้ในฝ่ายของกระทรวงการคลังที่เสนอชื่อมานั้น จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเนื่องจากบางคนมีคดีความอยู่ทั้งคดีหวยบนดินและคดีซีทีเอ็กซ์ แต่สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมายืนยันถึงคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าว

ทั้งนี้เมื่อ 27 สิงหาคม 2551 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งเป็นกรรมการชุดเดิมที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายเป็น 3.75% โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินชุดดังกล่าวหมดวาระลงเมื่อ 30 สิงหาคม 2551 และต้องรอนโยบายบอร์ดชุดใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 8 ตุลาคม 2551

อย่างไรก็ตามชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวถึงปัญหาสำหรับการดำเนินงานครั้งต่อไปของคณะกรรมการนโยบายการเงินว่า เนื่องจากประธานคณะกรรมการที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อคือพรชัย นุชสุวรรณ ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำให้ยังไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินชุดใหม่ได้ ดังนั้นจึงต้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หารือในเรื่องคณะกรรมการนโยบายการเงินว่าจะดำเนินการอย่างไร

โดยกรรมการนโยบายการเงินภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะมีกรรมการทั้งหมด 7 คนเหมือนเดิม โดยมีผู้ว่าการเป็นประธาน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ กนง. กำหนด และเพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการด้านนโยบายอื่นๆ ของ ธปท. นอกจากนั้นมีรองผู้ว่าการอีก 2 คนและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คนเป็นกรรมการใน กนง. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

เปลี่ยนเพื่อสกัด

แหล่งข่าวจากวงการเงินกล่าวว่า ช่วงที่ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาในทางปฏิบัติ แน่นอนว่าแบงก์ชาติต้องหาทางออกในปัญหาเฉพาะหน้านี้ก่อน แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าหลังจากที่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แล้วทราบชื่อคณะกรรมการคัดเลือกจากกระทรวงการคลัง รวมถึงชื่อบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกมานั้น ใช่ว่าแบงก์ชาติจะปล่อยให้ภาคการเมืองทำงานได้สะดวกตามความต้องการเพียงฝ่ายเดียว

เพราะแบงก์ชาติได้ตอบโต้ภาครัฐอย่างละมุนละม่อม เห็นได้จากการออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.60/2551 เรื่องธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน ออกมาเมื่อ 3 สิงหาคม 2551 ทันทีโครงสร้างใหม่ในแบงก์ชาติเริ่มใช้ เพื่อบังคับใช้ต่อสถาบันการเงินในประเทศ โดยให้เหตุผลในการออกประกาศดังกล่าวว่า ผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม ความรอบคอบในกรบริหารงานและความสามารถในการดูแลและบริหารกิจการ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลในองค์กร

ในประกาศฉบับดังกล่าวได้เน้นที่คุณสมบัติของกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการหรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน ซึ่งผู้บริหารในสถาบันการเงินเหล่านี้มีข้อห้ามที่เข้มงวดมากกว่าเดิมเช่น เพียงแค่เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือหน่วยงานของรัฐทั้งในและต่างประเทศกล่าวโทษ ร้องทุก ก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้แล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงกรณีที่กำลังถูกดำเนินคดี รวมถึงมีประวัติเสียหายหรือมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต

ประกาศฉบับนี้แม้จะใช้กับผู้บริหารของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลอยู่ แต่ถ้ามองให้ดีจะพบว่าเมื่อบังคับใช้กับสถาบันการเงินย่อมต้องสะท้อนกลับไปยังผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในบอร์ดแบงก์ชาติด้วย เพราะแบงก์ชาติมีหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินหากคนในบอร์ดแบงก์ชาติมีข้อครหาเหล่านี้ก็ไม่ควรเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลผู้บริหารในสถาบันการเงินอื่น

คุมเงินเฟ้อสูตรใหม่

การปรับตัวของธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากพ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ได้มีการเปลี่ยนแนวทางในการจัดการดูแลเงินเฟ้อจากเดิมที่ยึดเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นหลักในการพิจารณา แต่ได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อทั่วไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่าระยะที่ผ่านมาเงินเฟ้อทั้ง 2 ตัวนี้ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การปรับจากเงินเฟ้อพื้นฐานมาใช้เงินเฟ้อทั่วไปนั้นจะทำให้แบงก์ชาติตัดสินใจใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อได้รวดเร็วกว่า เห็นได้จากที่ผ่านมาแบงก์ชาติกว่าจะตัดสินใจใช้ดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อนั้นค่อนข้างช้า” แหล่งข่าวกล่าว

อีกทั้งเงินเฟ้อทั่วไปจะเคลื่อนไหวค่อนข้างเร็วกว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน หากเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วแบงก์ชาติก็จะตัดสินใจใช้นโยบายดอกเบี้ยได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน กรณีนี้ในอีกมุมมองหนึ่งก็ถือว่าเป็นการคานอำนาจของรัฐบาลได้เช่นกัน โดยเฉพาะแนวคิดที่ต้องการใช้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัญหาคือจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไว้ก่อน รวมถึงต้องรอดูคณะกรรมการนโยบายการเงินชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ด้วย แม้จะมีคนของแบงก์ชาติ 3 คน แต่ที่เหลืออีก 4 คนจะเป็นคนที่ได้มาจากการเลือกของบอร์ดแบงก์ชาติชุดใหม่ ตรงนี้คงต้องรอดูว่าการทำงานร่วมกันจะเป็นอย่างไร

การปรับตัวของธนาคารแห่งประเทศไทยนับตั้งแต่มีการใช้พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แม้ภาพภายนอกจะดูเหมือนเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ในอีกมิติหนึ่งนี่คือการใช้อำนาจของแบงก์ชาติที่มีอยู่ก่อนที่จะได้บอร์ดชุดใหม่ เตรียมความพร้อมเพื่อการทำงานของแบงก์ชาติมีความเป็นอิสระมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แตกต่างกับอีก 2 หน่วยงานอย่างสำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ใช้พ.ร.บ.ฉบับใหม่เช่นกัน แต่ 2 หน่วยงานนี้กลับเดินตามที่ภาคการเมืองกำหนดโดยมิได้โต้แย้ง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us