Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์15 กันยายน 2551
เปิดบัญชีกลุ่มธุรกิจหลังสิ้นยุค ‘ทักษิณ’เรืองอำนาจ ธุรกิจอิงการเมืองฟุบ บิ๊กอสังหาฯ กระอัก!             
 


   
www resources

โฮมเพจ ช.การช่าง-CKTC
โฮมเพจ อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์
โฮมเพจ แนเชอรัล พาร์ค
โฮมเพจ เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น
โฮมเพจ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)
โฮมเพจ แอสคอน คอนสตรัคชั่น

   
search resources

อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์, บมจ.
กฤษดามหานคร, บมจ.
เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น, บมจ.
ช.การช่าง, บมจ.
แนเชอรัล พาร์ค, บมจ.
เยาวภา วงศ์สวัสดิ์
Real Estate
Construction
แอสคอน คอนสตรัคชั่น, บมจ.




*ยุคระบอบทักษิณ เบ่งบานกลุ่มธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ต่างเติบโตทั่วหน้า
*ทั้งในงานสัมปทานรัฐ และการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์
*กระทั่งการใช้อิทธิพลของแบงก์รัฐหนุนธุรกิจพวกพ้องให้เติบโต
*โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาฯ และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
*เมื่อสิ้นยุคทักษิณแล้ว 5 รายบริษัทเข้าขั้นโคม่า.....

คงจำกันได้ถึงความรุ่งเรืองของคนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หลบหนีคดีไปอยู่ไกลถึงประเทศอังกฤษพร้อมครอบครัว

เนื่องเพราะในสมัยที่ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศ ผู้ใกล้ชิดทักษิณและเครือญาติไม่ว่าจะคิดทำอะไร ล้วนแต่เป็นทางสะดวก ไม่มีอุปสรรคมากว้างกั้นทำให้การขยายการลงทุนต้องสะดุดลงเลยแม้แต่น้อย

โดยดีเวลลอปเปอร์ยังโหมขยายการลงทุนและซื้อที่ดินเก็บสต็อกกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะการดอดไปซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร เพราะสามารถรู้นโยบายการลงทุนของรัฐบาลก่อนดีเวลลอปเปอร์ หรือนักลงทุนทั่วไปที่ไม่ได้ใกล้ชิดตัวทักษิณหรือพวกพ้อง โดยเฉพาะการลงทุนระบบสาธารณูปโภค ประเภทระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ที่รู้กันดีว่าเมื่อระบบขนส่งมวลชนพาดผ่านพื้นที่ใด พื้นที่นั้นจะเจริญขึ้นทันที

แห่เก็งกำไรรอความเจริญ

และสิ่งที่ตามมานั่นคือ ราคาที่ดินจะปรับตัวสูงตามความเจริญของพื้นที่ทันที บางแห่ง ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นไปดักหน้ารอรัฐบาลประกาศนโยบายด้วยซ้ำ อีกทั้งยังทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจุดนี้ทำให้นักเก็งกำไรไปกว้านซื้อที่ดินรอเก็งกำไร รวมถึงดีเวลลอปเปอร์ที่มีสายป่านยาวก็ไปไล่ซื้อที่ดินรอพัฒนาจำนวนมาก เช่น บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ที่มีที่ดินอิงแนวรถไฟฟ้าหลายพันไร่ ย่านรัตนาธิเบศร์ โดยรถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่านหน้าโครงการ อีกทั้งยังมีที่ดินอีก 2,000 -3,000 ไร่ในย่านรามคำแหง ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ผ่านด้วย

พี่เบิ้มเอี่ยวขีดนโยบายรัฐ

ขณะเดียวกันดีเวลลอปเปอร์บางรายถึงกับมีเอี่ยวในการร่วมขีดนโยบายให้รัฐบาล ทั้งที่ไม่ได้มีตำแหน่ง หรือส่วนเกี่ยวข้องกันรัฐบาลเลย แต่อาศัยความเป็นคนใกล้ชิดก็เลยมีส่วนร่วมเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง โดยไม่สนใจความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ หรือประชาชนเจ้าของภาษี

บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พี่เบิ้มวงการบ้านจัดสรรน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้รับอานิสงส์จากการที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ชิดทักษิณ ทำให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากที่โดนพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 กระหน่ำจนเสียการทรงตัวไปพักใหญ่ บ้านใหม่ขายไม่ออก บ้านจองแล้วถูกลูกค้ายกเลิกเพราะไม่มีเงินผ่อน ที่สำคัญยังมีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก

แต่ด้วยสายสัมพันธ์อันดีของอนันต์ อัศวโภคิน กับบุญคลี ปลั่งศิริ ซีอีโอ เครือชินคอร์ป มือขวาทักษิณ ซึ่งเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ว่ากันว่าทักษิณให้ความไว้วางใจมากที่สุด และมอบธุรกิจให้บุญคลีดูแล ตัดสินอนาคตของชินคอร์ปด้วยตัวเอง ส่วนทักษิณยอมทิ้งธุรกิจที่ตัวเองปั้นมากับมือ และผันตัวเองเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเต็มตัว ขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจในประเทศล่มสลายจนทำให้เกิดภาวะอัตราการว่างงานมากขึ้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็หนีไม่พ้นภาวะวิกฤตในช่วงนั้น มีการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ในวงกว้าง โดยมีสถาบันการเงินเป็นตัวหนุน เมื่อฟองสบู่แตก สถาบันการเงินล่มสลาย ทำให้ในช่วงนั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของทุกคน แม้อสังหาริมทรัพย์จะมีบทบาทเป็นตัวขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจต่อเนื่องมากมาย ทั้งวัสดุก่อสร้าง ปูนซิเมนต์ อิฐ หิน ดิน ทราย รวมถึงแรงงานก็ตาม

ชูอสังหาฯ แก้วิกฤต

การพลิกฟื้นเศรษฐกิจในช่วงนั้น ทักษิณใช้วิธีอันชาญฉลาดแก้วิกฤต โดยใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นธงนำ เรียกระดมกุนซือผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ด้วยสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับบุญคลี จึงทำให้อนันต์เข้ามามีบทบาทสำคัญ และในครั้งนั้นอนันต์เลือกที่จะเสนอให้ภาครัฐลดค่าภาษีต่าง ๆ ค่าธรรมเนียมการโอนลง สำหรับบ้านพร้อมโอน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้กลับมา

โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการครั้งนั้น ก็เป็นคนใกล้ตัวทักษิณทั้งนั้น เพราะแนวคิดดังกล่าวจะช่วยระบายสต็อกบ้านได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งการรู้มาตรการล่วงหน้าก่อนคู่แข่งจึงได้เร่งสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ทันกับการประกาศใช้มาตรการลดภาษีและค่าธรรมเนียมการโอน ซึ่งในช่วงนั้นแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีสต็อกบ้านค่อนข้างมาก ทำให้ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่ ขณะที่ดีเวลลอปเปอร์รายอื่นใช้ประโยชน์จากมาตรการไม่มากนัก เพราะบางรายมีสต็อกบ้านไม่มาก และหลายรายสร้างบ้านพร้อมโอนไม่ทันการบังคับใช้มาตรการ

N-Park ตกสวรรค์

ฟาก บมจ.แนเชอรัล พาร์ค (N-Park) เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้อานิสงส์จากทักษิณ เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า N-Park มีทศพล จารุทวี และสว่าง มั่นคงเจริญ หรือเจ๊หว่าง เป็นแบ็กอัพสนับสนุนการดำเนินงานมาตลอด แม้ว่าในช่วงวิกฤตจะถอนตัวจากการเป็นกรรมการ และส่งต่อเก้าอี้เอ็มดีให้กับเสริมสิน สมะลาภาก็ตาม แต่การบริหารจะถูกชักใยโดยทศพล และสว่าง ซึ่งทั้ง 2 คนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทักษิณ เพราะในช่วงที่ทักษิณตกที่นั่งลำบาก สว่างเป็นคนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลทักษิณมาตลอด ถึงขั้นรับแลกเช็คในช่วงที่ทักษิณขาดสภาพคล่อง

เมื่อ N-Park ที่ดำเนินธุรกิจผิดพลาด ถึงขั้นต้องฟื้นฟูกิจการ ปรับโครงสร้างหนี้ ในช่วงที่ทักษิณมีบารมี มีอำนาจ ทำให้การฟื้นฟูกิจการของ N-Park เป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถกลับมาซื้อขายในหมวดอสังหาริมทรัพย์ได้ในช่วงไม่นาน อีกทั้งยังมีผลประกอบการเติบโตอย่างโดดเด่น ส่งผลให้ราคาหุ้นที่เคยต่ำติดฟลอร์ ทะลุไปที่ 12 บาทในช่วงเวลาไม่นาน

นอกจากนี้ยังได้พันธมิตรข้ามชาติขนเงินมาร่วมทุน เพื่อขยายกิจการอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งขยายกิจการครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ โดยไปขยายการลงทุนไปยังธุรกิจการเงิน ซึ่งเข้าซื้อหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า ซึ่งจะเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญในการปล่อยกู้ให้ N-Park นำไปพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์

อีกทั้งยังทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ประเภทโรงแรม รีสอร์ท และอาคารสำนักงานระดับไฮเอนด์ เพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นน้ำหล่อเลี้ยงองค์กรในยามวิกฤต พร้อมทั้งเข้าลงทุนในกิจการเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน ใน บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) โดยลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าติดกับสถานีรถไฟฟ้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ซึ่งในส่วนนี้ N-Park ลงทุนผ่านบริษัทในเครือ คือ บมจ.แสนสิริ

ขณะเดียวกันยังนำอาคารสำนักงานให้เช่าขายเข้าพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ เพื่อนำเงินมาลงทุนขยายกิจการ ซึ่งสร้างรายได้เข้าองค์กรอย่างมาก และทำให้ N-Park ก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเวลาอันรวดเร็ว จนทำให้พี่เบิ้มในวงการอสังหาริมทรัพย์หวั่นกลัวว่าจะเสียบัลลังก์ผู้นำ ถึงกับต้องออกแรงขวางกั้นการดำเนินธุรกิจของ N-Park ไม่ให้เติบโตจนข้ามพี่เบิ้มไปอย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ตาม N-Park เฟื่องฟูไม่นาน ความจริงก็เปิดเผยว่า ในองค์กรไม่มีธุรกิจอะไรที่จะสร้างรายได้อย่างมั่นคงและระยะยาว นอกเหนือจากธุรกิจการซื้อมาและขายไป เพื่อสร้างผลกำไรในลักษณะเก็งกำไร และดันให้ราคาหุ้นสูงขึ้น จึงทำให้ N-Park ต้องล้มอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เดียวกับที่ทักษิณประสบปัญหาและถูกยึดอำนาจในที่สุด เพราะขาดแบ็กอัพที่มีบารมีอย่างทักษิณคอยอุ้มชู จนทำให้ทุกวันนี้ N-Park ตกที่นั่งลำบาก ต้องเร่ขายทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในทำเลทอง ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นความหวังของ N-Park ที่จะสร้างรายได้อย่างงดงามเข้าบริษัท แต่ทุกอย่างต้องจบลง

กฤษดาฯ ร่วง ช่วงทักษิณหมดบารมี

ส่วน บมจ.กฤษดามหานคร เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เฟื่องฟูในช่วงทักษิณเรืองอำนาจ เพราะหัวเรือใหญ่ของค่ายกฤษดาฯ มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับครอบครัวทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นคนตระกูลกฤษดาธานนท์ ได้แก่ วิชัย-ก่อเกียรติ-รัชฎา กฤษดาธานนท์ และปรานอม แสงสุวรรณเมฆา สุบิน แสงสุวรรณเมธา นุชจรินทร์ อุทัยเจริญพงษ์ และนิยดา ถิรสันติกุล

ความสนิทชิดเชื้อของตระกูลชินวัตร และกฤษดาธานนท์มีมากถึงกับมีกระแสข่าวว่า ในวันเกิดทักษิณครั้งหนึ่ง ทักษิณได้พาครอบครัวไปทานอาหารค่ำที่คฤหาสน์หรูของผู้บริหารกฤษดามหานครด้วย

ก่อนหน้านั้นบริษัท กฤษดามหานครก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ จนต้องเข้ารับการฟื้นฟูกิจการ ปรับโครงสร้าง แต่การฟื้นฟูกิจการของกฤษดามหานครก็สามารถผ่านมาได้ด้วยดี ด้วยการช่วยเหลือของเครือข่ายทักษิณ โดยเฉพาะการบังคับให้ธนาคาร กรุงไทย ซึ่งเป็นแบงก์รัฐ โดยอาศัยอาศัยอำนาจทางการเมืองบีบให้ปล่อยกู้แก่บริษัท โกลเด้นเทคโนโลยี อินดัสเทรียม พาร์ค ในเครือกฤษดามหานคร จำนวน 9,900 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปรีไฟแนนซ์ ซื้อที่ดินเพิ่ม และพัฒนาโครงการ ทั้งที่ในขณะนั้นกฤษดามหานครถูกจัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร รวมทั้งผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารนครหลวงไทยเคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือ ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้

สุดท้ายกฤษดามหานครก็ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ออกประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดวิชัย กฤษดาธานนท์ ก่อเกียรติ กฤษดาธานนท์ ปรานอม แสงสุวรรณเมฆา สุบิน แสงสุวรรณเมฆา นุชจรินทร์ อุทัยเจริญพงษ์ และนิยดา ถิรสันติกุลในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของการลงทุนโครงการบ้านจัดสรร กฤษดามหานครมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณถนนบางนา-ตราด ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีที่ดินมากถึง 6,000-7,000ไร่ เป็นโปรเจคยักษ์ มีทั้งบ้านจัดสรร โรงแรม เอ็นเตอร์เทนเมนท์ พลาซ่า โดยชวนกลุ่มทุนข้ามชาติมาร่วมลงทุน ซึ่งผู้บริหารของกฤษดามหานครมีแผนที่ยกที่ดินจำนวนมากถึง 1,000 ไร่ให้รัฐบาลแบบให้ฟรี เพื่อก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ และมีแนวโน้มว่ารัฐบาลทักษิณจะต้องการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ในที่ดินของกฤษดามหานคร ไปพร้อมๆ ไปกับการสร้างเมืองแห่งใหม่ หรือนครสุวรรณภูมิ เมืองคู่ขนานของกรุงเทพมหานคร

หากมีการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่นั่น จะทำให้ราคาที่ดินของกฤษดามหานครเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว อีกทั้งรัฐบาลจะต้องลงทุนโครงข่ายสาธารณูปโภคจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่ได้อานิสงส์จากการก่อสร้างรัฐสภาคงหนีไม่พ้นกฤษดามหานคร แต่สุดท้ายแล้วความฝันของกฤษดามหานครต้องพังทลายลง เมื่อทักษิณหมดอำนาจ รัฐบาลใหม่ไม่สนใจสร้างรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณที่ดินของกฤษดามหานครอีกต่อไป

SC ไม่พ้นวิบากกรรม

ฟาก บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ธุรกิจหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ในเมืองไทย ก็ถูกมรสุมพัดกระหน่ำอย่างหนัก เพราะในช่วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาประท้วง ทำให้ผู้ซื้อบ้านจำนวนไม่น้อยที่ยกเลิกการจองซื้อบ้านของเอสซีฯ รวมถึงต่อต้านการซื้อบ้านในโครงการของเอสซีฯทุกทำเล จนทำให้บ้านค้างสต็อกขายไม่ออกจำนวนมาก จนทำให้ในช่วงนั้นเอสซีฯ ต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการลดราคาอย่างถล่มทลาย เพื่อลดสต็อกบ้าน และเก็บเงินสดเข้ากระเป๋า

แต่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านั้น คือ การถูกฟ้องในข้อหาปกปิดโครงสร้างการถือหุ้นในการยื่นไฟลิ่ง และผู้ถือหุ้นใหญ่มิได้รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นตามกฎหมาย โดยให้นิติบุคคลต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้นอำพราง

โดยเอสซีฯ ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2546 โดยแจ้งข้องมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นว่า ครอบครัวชินวัตรเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รวม 60.82% ประกอบด้วย พิณทองทา ถือหุ้น 92.99 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.97% แพทองธาร ถือหุ้น 92.99% ส่วนคุณหญิงพจมาน ถือหุ้น 9.25 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.88%

ขณะที่กองทุนส่วนบุคคลที่จัดตั้งในประเทศมาเลเซีย 2 กองทุนถือหุ้นรวมกัน 19.05% คือ โอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์ ถืออยู่ 31.78 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.9% และออฟชอร์ ไดนามิค ฟันด์ ถืออยู่ 29.385 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.15% แต่จากข้อมูลเบื้องต้นเชื่อว่าทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวน่าจะเป็นผู้ถือหุ้นแทน (นอมินี) ของครอบครัวชินวัตรซึ่งเท่ากับว่า เอสซีฯ ปกปิดข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้น เพราะถ้ากองทุนทั้งสองเป็นนอมินีของครอบครัวชินวัตรจริง จะทำให้ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นอยู่ใน เอสซีฯถึง 79.87% (ไม่ใช่ 60.82%) มีอำนาจควบคุมบริษัทอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

สำหรับสำนวนการสอบสวนคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น พนักงานสอบสวนดีเอสไอมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 4 ราย ประกอบด้วย บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่นโดยเพ็ญโสม ดามาพงศ์ กรรมการบริษัท ที่ 1 , บุษบา ดามาพงศ์ อดีตกรรมการบริษัท ฯที่ 2 , พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ 3 และ คุณหญิงพจมาน ภริยา ที่ 4

“เจ๊แดง”ร่ำรวยผิดปกติ

เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือเจ๊แดง น้องสาวทักษิณ และอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถูกตรวจสอบอย่างหนักว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ได้มาช่วงดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปี 2544-2549 ซึ่งการเป็นเจ้าของโครงการชินณิชา มูลค่า 3,000 ล้านบาท แต่ให้ผู้อื่นถือครองทรัพย์สินหรือถือหุ้นแทน ในโครงการหมู่บ้านดังกล่าว และบริษัทเอกชนอย่างน้อย 4-5 แห่งคือ เช่น บริษัท ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) (บมจ.) , บมจ.วินโคส์ท อินดัสเตรียล พาร์ค , บมจ.เอ็มลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น ,บมจ. จีสตีล,บมจ.แอสคอน และ 3.มีบุคคลที่เชื่อว่ามีการถือครองทรัพย์สินแทนอย่างน้อย 4 คน รวมถึงตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินจำนวน 800 ล้านบาท ที่ใช้ซื้อโครงการต่อจากเจ้าของเดิม รวมถึงที่ดิน8 ไร่ ในหมู่บ้านดังกล่าว จำนวน 256 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประเด็นโครงการหมู่บ้านชินณิชา วิลล์ เดิมเป็นหนี้ NPL ในชื่อโครงการการเด้นท์ ซิตี้ ลากูน ของบริษัทสร้างสิน พร๊อพเพอตี้ ที่เยาวภาซื้อต่อจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ในวงเงิน 800 ล้านบาท เปลี่ยนชื่อมาเป็น "ชินณิชาวิลล์" ตามชื่อบุตรสาวคนโต จากนั้นจึงได้ใช้เงิน 256 ล้านบาท ซื้อที่ดินภายในโครงการ 8 ไร่ ก่อนจะขายหุ้นทั้งหมดให้กับสุธรรม มลิลา ซึ่งเป็นหุ้นส่วน และเปลี่ยนชื่อเป็น "เบเวอร์ลี่ ฮิลล์ "

มาภายหลังไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของโครงการโบนันซ่า เขาใหญ่ จึงได้เข้ามาเทคโอเวอร์ และนั่งบริหารเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทสร้างสิน ฯ เพื่อลดกระแสข่าวว่าโครงการเป็นของเจ๊แดง และหลังจากที่ไพวงษ์เข้ามาบริหารโครงการ ก็สามารถลดกระแสข่าวว่าโครงการเป็นของเจ๊แดงลงได้บ้าง และสร้างความน่าเชื่อถือกลับคืนมา ว่าซื้อโครงการนี้แล้วได้บ้านแน่นอน เพราะไพวงษ์ เป็นมืออาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้เข้ามาพัฒนาโครงการอย่างจริงจัง โครงการมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ต่างจากครั้งที่ไพวงษ์ยังไม่ได้เทคโอเวอร์มา โครงการไม่มีความคืบหน้าในด้านงานก่อสร้าง

เยาวเรศโหนกระแสลงทุนอสังหาฯ

เยาวเรศ ชินวัตร น้องสาวทักษิณเป็นอีกรายหนึ่งที่อาศัยช่วงที่ทักษิณอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้นำแลนด์แบงก์ที่ภูเก็ตออกมาพัฒนาโครงการดาหลาบุรี ภูเก็ต พัฒนาบ้านเดี่ยวและวิลล่าหรูบนเกาะภูเก็ต บนพื้นที่ 13-14 ไร่ บนถนนเทพกษัตริย์ ฝั่งตรงข้ามกับโครงการโบ๊ทลากูน จังหวัดภูเก็ต มูลค่า 400 ล้าน ราคา 11-25 ล้านบาทโดยมอบหมายให้ "รัตนะ-ชยิกา วงศ์นภาจันทร์" บุตรชายและบุตรสาว นั่งบริหาร

การลงทุนของเยาวเรศอาศัยความเป็นน้องสาวทักษิณเป็นใบเบิกทาง เพื่อความสะดวกในการขออนุญาตต่างๆ อีกทั้งยังมีความได้เปรียบในแง่ที่เป็นน้องสาวทักษิณ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ แต่โครงการไม่ได้รับความสนใจมากนัก เพราะในภูเก็ตเป็นกำลังซื้อของต่างชาติเป็นหลัก

จากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่า ดีเวลลอปเปอร์รายใดที่จะเอาตัวรอดได้จากปัญหาต่าง ๆ นานาที่ถาโถมเข้าใส่ หรืออาจจะต้องล้มละลายไปตามความกลวงของสภาพบริษัทในช่วงที่ไม่มีทักษิณคอยอุ้มชูเหมือนในยุคเรืองอำนาจ!!

รัฐบาลเทงบคมนาคม เก็บเสบียงหนุนเลือกตั้ง

รัฐบาลจัดสรรงบประมาณปี 2552 ลงตัว เทงบเฉียดแสนล้านลงกระทรวงหูกวาดตามคาด ทล. ทช. ร.ฟ.ท. รฟม.อิ่มทั่วหน้า หวังตุนเสบียงใช้หาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า จากกการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะจากผู้รับเหมา

กระทรวงคมนาคม ประกาศงบประมาณประจำปี 2552 โดยได้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 97,999 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนระบบขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน หวังลดต้นทุนค่าขนส่ง ในยุคน้ำมันแพง และรับมือการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่เกือบทุกประเทศเริ่มพัฒนาระบบขนส่งหรือโลโจติกส์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ที่สำคัญไทยมีเป้าหมายเป็นฮับทางการขนส่งในเอเชีย

งบประมาณที่ได้แบ่งเป็นส่วนราชการ 70,693 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 27,305 ล้านบาท โดยหน่วยงานในส่วนราชการ ประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับงบประมาณ 40,511 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.)ได้รับงบประมาณ 22,369 ล้านบาท ส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้รับงบประมาณ 9,842 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. เงินที่รัฐต้องชดเชย ประมาณ50%ของเงินงบประมาณ ประมาณ 3,500 ล้านบาท 2.ส่วนที่จ่ายหนี้ตามกำหนด ประมาณ 30-40% เพื่อชำหนี้เงินกู้สำหรับก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบการขนส่งทางรถไฟสายตะวันออก (พญาไท-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) และ3.เงินซ่อมบำรุงและค่าอาณัติสัญญาณ ประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนเงินลงทุนในโครงการต่างๆอย่างรถไฟฟ้านั้น ใช้เงินกู้ต่างประเทศโดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน

สำหรับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้รับงบประมาณ 7,918 ล้านบาท เป็นงบลงทุน 288 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ได้รับงบประมาณ 9,418 ล้านบาท

“เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ว่ารัฐบาลยุคไหน สมัยไหน ต่างก็ทุ่มงบไปที่กระทรวงคมนาคมทั้งนั้น เพราะนอกจากจะเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนแล้ว ยังสามารถเรียกรับเงินค่าคอมมิชชั่นจากผู้รับเหมาได้อีกด้วย เฉลี่ยที่ 20-30% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งถือเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบายและเป็นการเรียกเก็บเงินตามน้ำที่ผู้รับเหมาต้องควักกระเป๋าจ่าย เพื่อให้ได้งานมา” แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ อธิบาย

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2552 โครงการใหม่ที่หน่วยงานในสังกัดต้องเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย การขยายทางสายประธานในเส้นทางใหม่ 15 เส้นทาง ระยะทาง 176 กม. การก่อสร้างทางหลวงสนับสนุนเชื่อมต่อพื้นที่การขนส่งสินค้าเข้าออกในเส้นทางใหม่ 4 เส้นทาง ระยะทาง 113 กม. การก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง 2 แห่ง คือ จ.นครพนมและจ.เชียงราย การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ระยะทาง 94 กม. จำนวน 17 กม. การก่อสร้างทางหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กทม.และปริมณฑลและเมืองหลัก ในสายทางใหม่ จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทาง 16 กม. การก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออก(ระยอง-จันทรบุรี-ตราด)และชายฝั่งทะเลตะวันตกจำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 85 กม. เป็นต้น

อย่างไรก็ตามงบประมาณปี 2552 ทางกระทรวงได้มีการแบ่งวงเงินตามเหมาะสม โดยจัดสรรวงเงินสำหรับการลงทุนสำหรับก่อสร้างถนน วงเงิน 70,180 ล้านบาท ระบบราง 17,299 ล้านบาท ทางน้ำ 3,733 ล้านบาท และทางอากาศ 1,077 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์แผนงานเพื่อดำเนินงานในปีงบประมาณ 2552 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพการขนส่ง 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ 3.ยกระดับความคล่องตัวในการสัญจรและการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ 4.พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพการขนส่งและสิ่งแวดล้อม และ 5.เสริมสร้างสมรรถนะในการบริหารด้วยระบบการบริหารบ้านเมือง

ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์การเร่งรัดพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ มีมูลค่า 4,182 ล้านบาท ประกอบด้วย การดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง มูลค่า 1,341 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ ร.ฟ.ท. เพื่อพัฒนาโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายชายฝั่งทะเลตะวันออกตอน ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง มูลค่า 1,333 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ตอน ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แกงคอย มูลค่า 8 ล้านบาท โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวลำโพง-มักกะสัน-หัวหมาก มูลค่า 148 ล้านบาท และโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟสายตะวันออก ช่วง พญาไท-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 187 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมอย่างบูรณาการ มูลค่า 2,000 ล้านบาท โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ) มูลค่า1,600 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายวงแหวนรอบในตามถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 400 ล้านบาท และการจัดให้มีการคานามคมขนส่งโดยรถไฟฟ้าอีกประมาณ 505 ล้านบาท รวมถึงยุทธศาสตร์การฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศในการพัฒนาระบบคมนาคมแล้วกระทรวงคมนาคมได้มียุทธศาสตร์ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างสมดุล คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐานและระบบบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้าและบริการ จำนวนเงินงบประมาณที่ได้รับคือ 71,392 ล้านบาท แบ่งเป็นกรมทางหลวง( ทล.) ได้รับเงินส่วนดังกล่าว 7,303 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเร่งรัดขยายทางสายเส้นประธาน 4 ช่องจราจร ระยะที่ 2 มูลค่า 3,526 ล้านบาท โครงการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กทม.และปริมณฑลและเมืองหลัก มูลค่า 1,656 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางหลวงสนับสนุนการขนส่งแบบต่อเนื่อง มูลค่า 1,151 ล้านบาท โครงการก่อสร้างสะพานข้างแยกแม้น้ำโขง จ.นครพนม และที่จ.เชียงราย รวมมูลค่า 490 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มูลค่า 200 ล้านบาท และโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ มูลค่า 278 ล้านบาท

ส่วนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับเงินประมาณเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงขายทางหลวงเพื่อการเชื่อมต่อระบบขนส่ง รวม 11,319 ล้านบาท แบ่งเป็นเพื่อพัฒนาทางหลวงเพื่อเชื่อมระบบขนส่ง 1,438 ล้านบาท การพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวง มูลค่า 9,014 ล้านบาท และการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเพื่อการท่องเที่ยวอีก 867 ล้านบาท

ธุรกิจรับเหมาเบ่งบานทุกยุคกลุ่มทุนส่งท่อน้ำเลี้ยงตรงถึงพรรค

คอนเนคชั่นอันดีระหว่างผู้รับเหมาที่ทำหน้าที่เป็น “กลุ่มทุน” ที่คอยเติม “เม็ดเงิน” เพื่อเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้กับบรรดาพรรคการเมืองกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าคนฝ่ายรัฐบาลจะหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างไร สิ่งที่ถือปฏิบัติของผู้รับเหมาต่อภาครัฐด้วยการให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทน แลกกับงานก่อสร้างมูลค่ามหาศาลที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหล่อเลี้ยงองค์กรยังคงเป็นวิถีทางที่ทุนรับเหมารายใหญ่เลือกทำ และเป็นสิ่งต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุคที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด การประมูลงานก่อสร้างมูลค่าสูงที่เป็นงานชิ้นใหญ่หดหาย ทำให้งานประมูลที่มีอยู่ต้องเผชิญหน้ากับแข่งขันกันที่รุนแรง จึงไม่แปลกที่ผู้รับเหมาชั้นนำอาจจะเลือกวิธีจ่ายเงินพิเศษเพิ่มเติม เลี้ยงดูปูเสื่อคนของรัฐ แลกกับงานและความอยู่รอดของตัวเอง

ในช่วงสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจและวงการก่อสร้างมีความคึกคักมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลต้องการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน รวมทั้งเป็นรัฐบาลที่มีนโยบายการบริหารแบบเชิงรุก คิดเร็ว ทำเร็ว ตามสไตล์ของผู้นำรัฐบาลที่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ หรือโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่ผู้รับเหมาได้อานิสงส์ไปเต็มๆ เพราะหมายถึงการมีงานเข้ามาให้ทำอย่างไม่ขาดสาย มีเม็ดเงินเข้ามาดันรายได้ของบริษัทให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างงานชิ้นใหญ่ของรัฐบาล คือ งานก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว แต่มาแล้วเสร็จในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 ซึ่งงานนี้ถือเป็นงานขนาดใหญ่งานเดียวที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา และเป็นงานที่มีผู้รับเหมาหลายราย ทั้งผู้รับเหมาหลัก ผู้รับเหมาช่วงมีส่วนเข้าไปร่วมวงเพื่อแชร์งานแชร์รายได้จากงานก่อสร้างนี้กันอย่างคึกคัก

เมื่อหมดยุครัฐบาลทักษิณ 2 สืบเนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 49 และการเมืองถูกเปลี่ยนขั้วอำนาจมาสู่รัฐบาลทหาร งานเมกะโปรเจกต์หรืองานชิ้นใหญ่ มูลค่าสูงที่เคยหล่อเลี้ยงรายได้ของผู้รับเหมามาอย่างต่อเนื่องหยุดชะงักไปถึง 1 ปี แต่ด้วยงานก่อสร้างบางงานที่ประมูลได้ก่อนหน้านี้เป็นงบผูกผันหลายปีงบประมาณ รวมไปถึงงานบางชิ้นที่ต้องการความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงเป็นโอกาสเฉพาะของผู้รับเหมารายใหญ่ที่มีศักยภาพเพียงไม่กี่ราย จึงเป็นเหตุผลทำให้รายใหญ่ยังสามารถยืนอยู่ได้ แม้ว่ากลุ่มอำนาจจะถูกเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

และด้วยเลือดความเป็นนักธุรกิจในตัวของผู้รับเหมาทุกราย การมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพางานก่อสร้างจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว เช่น การเพิ่มสัดส่วนงานภาคเอกชน การรุกเจาะงานต่างประเทศ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ จึงกลายเป็นหนทางของความอยู่รอดของผู้รับเหมาในยุคนี้ และเชื่อว่าผู้รับเหมาจะสามารถประคับประคองตัวเองให้ผ่านไปได้ แม้ทุกวันนี้เม็ดเงินกำไรที่ได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยุคนี้จะไม่หอมหวนเหมือนยุคก่อน และไม่ว่าการเมืองจะผันผวนเพียงใด หรือจะมีคนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นผู้นำรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม

ITD ครองแชมป์รายได้สูงสุด

หากสำรวจแบ็กล็อกงานก่อสร้างในมือของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ธุรกิจใหญ่ในกำมือของตระกูล “กรรณสูต” ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 50 ปี ที่มีแกนนำคือนายแพทย์ชัยยุทธ์ กรรณสูต มีคอนเน็กชั่นที่ดีกับทุกพรรคการเมือง เป็นกระเป๋าเงินให้กับทุกพรรคโดยเฉพาะพรรคใหญ่ๆ ที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย หรือกิจสังคม นายแพทย์ชัยยุทธ์จะควักกระเป๋าบริจาคเงินเข้าพรรคอย่างหนัก เพื่อหวังผลในอนาคต โดยเฉพาะงานก่อสร้างขนาดใหญ่

ปัจจุบันมีสัดส่วนงานก่อสร้างภาครัฐในมือมากถึง 70% และคาดว่าน่าจะเป็นผู้รับเหมาที่ถือมูลค่างานก่อสร้างภาครัฐมากที่สุดในประเทศไทย รวมถึงผลงานเก่าที่เป็นงานก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น บ้านเอื้ออาทร, โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, หมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13, ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถ. แจ้งวัฒนะ, งานประกอบและติดตั้งโครงหลังคาเหล็ก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, งานสร้างโครงเหล็กหลังคาเหล็กที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, สะพานลอยรถยนต์ข้ามทางแยก 15 แห่งในเขตกรุงเทพมหานคร, โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส ของกรุงเทพมหานคร,โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 2 ระยะที่ 1, โครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงภาชี – มาบกะเบา และช่วงบ้านภาชี – ลพบุรี, โครงการจ้างเหมาฯ ขุด-ขนดิน และถ่านหินลิกไนต์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานก่อสร้างภายในสนามบินสุวรณภูมิ ITD เป็นผู้รับเหมาเพียงไม่กี่รายที่ชนะประมูลในหลายสัญญา มากถึง14 สัญญา น่าจะการันตีได้ดีถึงศักยภาพในการทำงานขนาดใหญ่ และรวมไปถึงคอนเนคชั่นกับภาครัฐที่แข็งแกร่ง

ITD มีการกระจายงานออกเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารชุด ตึกสูง และโรงแรม 2.งานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 3.งานวางท่อขนส่งน้ำมัน ท่อขนส่งแก๊ส ท่อจ่ายน้ำ ท่อร้อยสายไฟใต้ดิน และถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ 4.งานก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน ทางรถไฟ สะพาน และระบบทางด่วน 5.งานก่อสร้างสนามบิน ท่าจอดเรือ ท่างานติดตั้งระบบไฟฟ้า อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเรือน้ำลึก และงานทางทะเลอื่นๆ 6.งานสร้างเขื่อนเอนกประสงค์ อุโมงค์ และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า 7.งานด้านการพัฒนาเหมืองแร่และถ่านหิน 8.งานระบบโครงสร้างเหล็ก 9.งานระบบการสื่อสารและโทรคมนาคม รวมถึงมีการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เช่น พม่า ลาว อินเดีย บังคลาเทศ ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์และความชำนาญที่หลากหลายพร้อมที่จะขยายธุรกิจมากที่สุดรายหนึ่ง มีการเติบโตของรายได้ทุกปี ในปี 2550 ITD มีรายได้ 46,511.6 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วน 41.8% จากรายได้รวมของ 11 ผู้รับเหมารายใหญ่ในตลาด

นอกจากนี้ ITD ยังใช้วิธีจับมือกับพันธมิตรจัดตั้งกิจการร่วมค้ากว่า 21 ราย ผสานจุดแข็งของ ITD ร่วมกับพันธมิตรเพื่อรับงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น กิจการร่วมค้าไอทีดี-เอ็นซีซี รับเหมาก่อสร้างระบบไฟฟ้า อาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนาวรัตน์,อิตาเลียนไทย,คริสเตียนีและเอเอสร่วมค้า รับออกแบบและก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย กิจการร่วมค้าพีโอซี-ไอทีดี รับเหมาก่อสร้างท่าเทียบเรือสีหนุวิลล์ กัมพูชา

กระจายการลงทุน

นอกเหนือจากการรับเหมาก่อสร้าง ITD ยังมองไปถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ที่สามารถหนุนธุรกิจหลักได้นอกเหนือจากธุรกิจโรงแรมในกลุ่มโอเรียนเต็ลและกลุ่มอมารี ซึ่ง ITD ถือหุ้นอยู่ เช่น โรงงานผลิตปูนซิเมนต์ ภายใต้บริษัท ภูมิใจไทยซีเมนต์ จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ลงทุนในบริษัทอื่นและให้เช่าเรือเดินทะเล, บริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด ประกอบกิจการเหมือง, บริษัท อิตาเลียนไทย เพาเวอร์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า, บริษัท อิตัลไทย เทรวี่ จำกัด ผลิตเสาเข็มและฐานราก, บริษัท เอเซี่ยนสติล โปรดักส์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายท่อเหล็กขนาดใหญ่ใช้ในงานโยธา, บริษัท ภคภูมิ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, บริษัท สินทรัพย์ช่างเหมาไทย จำกัด พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยในระยะหลังแม้ ITD จะประกาศลดน้ำหนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างลง หันไปทุ่มกับธุรกิจเหมืองแร่โพแตชที่คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปี 2555 แต่ก็เป็นการลงทุน เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว

ตุนแบ็คล็อกแสนล้าน

ปัจจุบัน ITD เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในไทยที่มีแบ็กล็อคงานในมือมากที่สุด ในระดับแตะแสนล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบัน ITD มีแบ็กล็อก ณ ไตรมาส 3 รวม 37,800 ล้านบาท เช่น งานเทิร์นคีย์บ้านเอื้ออาทร 3 มูลค่า 12,136.4 ล้านบาท, งานขุดขนดินและถ่านหินเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สัญญาที่ 5 มูลค่า 11,367.6 ล้านบาท, งานก่อสร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ โรงพยาบาลศิริราช มูลค่า 5,746.5 ล้านบาท, โครงการระบายน้ำบริเวณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนที่ 3 มูลค่า 2,621 ล้านบาท, ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 มูลค่า 4,225 ล้านบาท และมีงานที่อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาทั้งในและต่างประเทศรวม 83,000 ล้านบาท เช่น งานก่อสร้างโรงไฟฟ้า 36,000 ล้านบาท เหมืองแม่เมาะ 13,600 ล้านบาท เขื่อนน้ำเงียบ ประเทศลาว 12,000 ล้านบาท ทำให้ทั้งปีนี้ ITD น่าจะมีแบ็กล็อกประมาณ 130,000 ล้านบาท และจากประสบการณ์ ความชำนาญ ความสามารถในการควบคุมต้นทุน เงินทุน และมีคุณสมบัติพร้อมที่จะเข้าประมูลงานรถไฟฟ้า ทำให้ ITD เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาใดสัญญาหนึ่งในอนาคตอย่างแน่นอน

STEC แนบแน่นบิ๊กทรท.

ด้าน บมจ.ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นของกลุ่มชาญวีรกูล หนึ่งในนักธุรกิจที่โดดลงมาเล่นการเมืองหลายสมัย และเคยขึ้นนั่งแท่นรัฐมนตรี เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาจนถึงชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ที่มีคอนเน็กชั่นกับบิ๊กพรรคไทยรักไทยและเป็นกระเป๋าเงินให้พรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบไปและก่อตั้งพรรคพลังประชาชนขึ้นมาแทน จนทำให้ STEC คว้างานขนาดใหญ่มาครองอย่างง่ายดาย อีกทั้งทั้งอนุทิน และชวรัตน์ยังได้ปูนบำเหน็จนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหลายเก้าอี้

งานก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐที่ STEC ชนะประมูล เช่น โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (บีทีเอส) ส่วนต่อขยายสีลม, โครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต ลิงก์), โครงการก่อสร้างทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (สัญญาที่ 2,4,5)

ปัจจุบันแบ็กล็อกในมือ ณ ไตรมาส 2 กว่า 15,000 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้เป็นเวลาต่อเนื่อง 1 ปีครึ่ง เป็นงานก่อสร้างภาครัฐถึง 70% คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีรายได้รวม 14,000-15,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจากการรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างแอร์พอร์ต ลิงก์ และศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร

รายได้อีกส่วนของ STEC มาจากงานประเภทประกอบและแปรสภาพโครงสร้างเหล็ก ที่รับช่วงงานต่อจากบริษัท STPI มูลค่า 4,600 ล้านบาท, โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม จ.ราชบุรี และอยู่ระหว่างรอเข้าประมูลงานก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีในกลุ่ม PTT และ SCC และโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ IPP อีก 4 โครงการ ซึ่ง STEC มีความเชี่ยวชาญในงานโรงงานปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงมีโอกาสที่จะคว้างานเหล่านี้ได้ไม่ยาก

ส่วนงานก่อสร้างรถไฟฟ้า STEC เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะได้งาน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำโครงการลักษณะนี้มาก่อน ประกอบกับมีฐานทุนที่แข็งแกร่งสามารถรองรับโครงการขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งเป็นหนึ่งในแกนนำพรรคพลังประชาชน จึงน่าจะคว้างานมาทำได้อย่างไม่ยากนัก ทั้งนี้ STEC ตั้งใจจะเข้าร่วมในการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 5 เส้นทาง ซึ่งมีมูลค่าก่อสร้างรวม 1.65 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าจะได้งานอย่างต่ำ 1 เส้นทาง

CK แตกบริษัทลูกหนุนรายได้

ช.การช่างของตระกูลตรีวิศวเวทย์ที่มีรายได้รวมในปี 2550 อยู่ในอันดับ 3 ของอุตสาหกรรม เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอีกรายหนึ่งที่เป็นขาประจำของงานก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐหลายงาน เช่น โครงการก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี, โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานกรุงเทพ, โครงการก่อสร้างอาคารและที่จอดรถให้กับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน), โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ (บางพลี-บางขุนเทียน), สัญญาสัมปทานโครงการการผลิตน้ำประปา เพื่อขายให้แก่การประปาส่วนภูมิภาคเขตพื้นที่ ในจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และปทุมธานี, สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล เป็นต้น และเป็นผู้รับเหมาที่มีการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่นๆ หลายอย่าง ผ่านการถือหุ้นในบริษัท เช่น บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ผลิตน้ำประปา และจำหน่ายน้ำประปาทั้งหมดให้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค, บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ก่อสร้าง และบำรุงรักษาระบบรถราง รถไฟ รถไฟฟ้า หรือ ระบบยานพาหนะที่ใช้พลังงานอื่นๆ ภายในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน, บมจ. ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ก่อสร้างและบริหารงานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และส่วนต่อขยายต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง, บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด ดำเนินการออกแบบ พัฒนา ก่อสร้างและดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 เพื่อผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกับรัฐบาลลาว, บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) ออกแบบเพื่อผลิตน้ำประปาและจำหน่ายให้แก่การประปาส่วนภูมิภาคในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร, บริษัท บางกอก คอนกรีต อินดัสทรี จำกัด ผลิตจำหน่ายและบริการตอกเสาเข็ม เป็นต้น

ปัจจุบัน ช.การช่างมีแบ็กล็อกในมือรวม 16,900 ล้านบาท เช่น โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ (น้ำงึม 2) ที่ประเทศลาว ในนามบริษัท ช.การช่าง (ลาว) มูลค่า 10,000 ล้านบาท,โครงการระบบเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมความปลอดภัยด้านการจราจรของทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ และทางหลวงหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ตอนบางพลี-บางขุนเทียน ช่วงสุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน) มูลค่า 2,447 ล้านบาท, โครงการศูนย์เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ สัญญา 3 งานก่อสร้างอาคาร B,C,D,E และงานภายนอกอาคาร มูลค่า 2,558 ล้านบาท แต่ระยะหลังเป็นงานภาครัฐในมือของ ช.การช่างค่อนข้างน้อยลง เหลือเพียง 22% เท่านั้น โดยหันไปให้น้ำหนักกับงานรับสัมปทานและงานในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

ซึ่งนักวิเคราะห์หลักกทรัพย์ให้ความเห็นว่า ช.การช่างเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาที่มีโอกาสจะชนะงานประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงด้วย

ASCON วางเป้าผงาดท็อปไฟว์

บมจ.แอสคอน คอนสตรัคชั่น (ASCON) บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายกลางที่เคยโด่งดังเมื่อครั้งมีชื่อหลานสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี คือ ชิณนิชา วงศ์สวัสดิ์ ลูกสาวของ “เจ๊แดง-เยาวภา” น้องสาวของทักษิณโผล่เข้ามาถือหุ้น รวมถึงมีกลุ่มจุฬางกูรเข้ามาถือหุ้นด้วย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นเครือญาติใกล้ชิดของสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทำให้กลุ่มรับเหมารายนี้กลายเป็นม้ามืดที่สามารถคว้างานก่อสร้างภาครัฐไปได้ เช่น บ้านธนารักษ์ นนทบุรีและภูเก็ต ของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ รวมถึงพยายามจับมือกับพันธมิตรต่างชาติ เพื่อการรุกงานเมกะโปรเจกต์ ภายใต้เป้าหมายที่ว่าจะพยายามเพิ่มสัดส่วนงานภาครัฐต่อภาคเอกชนให้ได้เป็น 50:50 เพื่อกระจายความเสี่ยง หลังจากปูทางด้วยการรับงานก่อสร้างภาคเอกชน เช่น ที่อยู่อาศัย อาคารสูง โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้วางเป้าหมายระยะยาว 3-5 ปีว่าจะมีแบ็กล็อกรวม 10,000 ล้านบาท และมีรายได้ต่อปีประมาณ 3,000 - 5,000 ล้านบาท ติดอันดับท็อปไฟว์ของกลุ่มรับเหมา

บมจ. แอสคอนถือหุ้นร่วมกันระหว่างตระกูลวิไลลักษณ์ เจ้าของธุรกิจในเครือสามารถ 25.26% และตระกูลตนุมัธยา 12.13% ปัจจุบันบริษัทมีแบ็กล็อกรวม 3,914 ล้านบาท เป็นงานภาครัฐในสัดส่วน 20% และเป็นผู้รับเหมาอีกรายหนึ่งที่สนใจจะเข้าประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย โดยใช้การจับมือกับพันธมิตรรับเหมาไทยอีก 2 ราย ตั้งกิจการร่วมค้า ได้แก่ PAR Joint Venture ประกอบด้วย บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอนจิเนียริ่ง บมจ. แอสคอน คอนสตรัคชั่น และบริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเข้าประมูลงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ สัญญาที่ 3 ซึ่งประกอบด้วยงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง ที่บางใหญ่ และอาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง ได้แก่ สถานีแยกนนทบุรี 1 สถานีท่าอิฐ สถานีสามแยกบางใหญ่ และสถานีคลองบางไผ่ หลังจากก่อนหน้านี้มีแผนจะจับมือกับพันธมิตรญี่ปุ่นและเยอรมันเข้าประมูลงานขนาดใหญ่ดังกล่าว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us