รูปแบบการขยายตัวของ Royal Ahold เป็นไปเฉกเช่นเดียวกับ ที่บรรพบุรุษชาวดัตช์ของพวกเขาได้ดำเนินมา
ในอดีต เพราะในวันนี้ Royal Ahold N.V. บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
กำลังมุ่งหน้าผ่านห้วงมหาทะเลลึก เพื่อแสวงหาโอกาสทาง การค้าในดินแดนกว้างใหญ่
ภายนอกอาณาจักร ที่คับแคบในบ้านเกิดเมืองนอน
หลังจาก ที่ Albert Heijn และภรรยา เข้าสืบทอดกิจการร้านค้าของชำในเมือง
Ootzaan ต่อจากพ่อของเขาในปี 1887 กิจการก็รุ่งเรืองสืบมาจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้ง ที่
1 บริษัทของ Albert Heijn ก็มีสาขาร้านค้าของชำกระจายอยู่ในเนเธอร์แลนด์กว่า
50 แห่ง และเติบโตเรื่อยมาเป็น 250 แห่งเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้ง ที่ 2
ประวัติของ Ahold เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่หลังจาก ที่ Albert Heijn นำบริษัทของเขาแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี
1948 และหลังจากนั้น ไม่นานร้านค้าในแบบบริการตัวเองแห่งแรกก็ได้เกิดขึ้นในปี
1952 พร้อมกับการเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตในปี 1955
หลังจากสามารถดำเนินกิจการประสบความสำเร็จ และครองความเป็นหมายเลข 1 ในด้านร้านค้าปลีกของชำในเนเธอร์แลนด์
Albert Heijn ได้ผันเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกสุรา และ ร้านเครื่องสำอาง ในปี 1973
พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น Ahold เพื่อสะท้อนภาพทางธุรกิจ ที่ขยายตัวกว้างขวางครอบคลุมธุรกิจการค้าหลายแขนง
ก่อน ที่จะเริ่มขยายตัวไปสู่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป ด้วยการลงทุนสร้างเครือข่ายร้าน
ซูเปอร์มาร์เก็ต Cadadia ในประเทศสเปน เมื่อปี 1976 (ต่อมาขายให้กับ British
Dee ในปี 1985)
ในปี 1977 Ahold ขยายธุรกิจเข้าไปในสหรัฐอเมริกาด้วยการซื้อกิจการของ BI-LO
และขยายฐานทางธุรกิจใน ดินแดนแห่งนี้ด้วยการจัดตั้งบริษัท Giant Food Stores
ที่มีฐานอยู่ในเพนซิลวาเนียในปี 1981
ปี 1987 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งบริษัท Ahold ได้รับอนุญาตให้ใช้คำว่า
Royal (Koninklijke ในภาษาดัตช์) นำหน้าชื่อบริษัท เพื่อเป็นเกียรติตามประเพณีนิยมของบริษัทสัญชาติดัตช์
Royal Ahold ขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอาหาร ยิ่งขึ้นด้วยการเข้าครอบครองสิทธิในหุ้นเสียงข้างมากของ
Schuite-ma ซึ่งเป็นผู้ค้าส่งอาหารของเนเธอร์แลนด์ ในปี 1988
ในปี 1991 Ahold ขยายการลงทุนในสหรัฐอเมริกา อีกครั้งด้วยการเข้าควบคุมกิจการ
First National Super-markets ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายร้านซูเปอร์มาร์เก็ต
Finast and Edwards ในสหรัฐอเมริกา และจัดตั้งบริษัท Tops Markets ในนิวยอร์ก
นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ ที่เปลี่ยนไปในยุโรปตะวันออก Ahold ได้รุกเข้าไปจัดตั้งบริษัท
Euronova (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Ahold Czech Republic) เพื่อ ค้าปลีกสินค้า และอาหารในสาธารณรัฐเชค
ในปี 1991 และ เข้าซื้อหุ้น 49% ในบริษัท Jeronimo Martins Retail ผู้ค้าปลีกอาหารในโปรตุเกส
ในปี 1992
ในปี 1993 Cees van der Hoeven ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
พร้อมกับการซื้อกิจการของ Jamin บริษัทผู้ผลิตลูกกวาด และในปีเดียวกันนี้
Royal Ahold ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) ด้วย
การขยายตัวของ Ahold ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปี 1994 ได้เข้าซื้อกิจการในเครือข่ายของ
Red Food Stores และเปลี่ยนชื่อร้านค้าในเครือข่ายนี้เป็น BI-LO ใน ปี 1996
เข้าซื้อกิจการของ The Stop & Shop ซึ่งมีฐานอยู่ในรัฐนิวอิงแลนด์ และเป็นผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่อีกแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
Ahold เริ่มรุกเข้าสู่เอเชียด้วยยุทธศาสตร์การร่วมทุนกับผู้ประกอบการในย่านเอเชียแปซิฟิกในปี
1996 โดยเริ่มจากการร่วมทุนกับกลุ่ม Kuok เพื่อดำเนินกิจการค้าปลีกในสิงคโปร์ และมาเลเชีย
และในปี 1997 เข้าร่วมทุนกับ CRC บริษัทค้าปลีกในเครือเซ็นทรัลในสัดส่วน
49% เพื่อดำเนินการ ซูเปอร์มาร์เก็ต 32 แห่งในประเทศไทยภายใต้ชื่อ Tops Supermarket
Ahold พยายามขยายธุรกิจเข้าไปในละตินอเมริกาให้ มากขึ้นด้วยการร่วมทุนกับ
Velox Retail Holdings ในปี 1998 เพื่อเป็นผู้ครองตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า
90% ในอาร์เจนตินา ภายใต้ชื่อ DISCO และ Santa Isabel พร้อมกับการเพิ่มฐานทางธุรกิจในแมรี่แลนด์
สหรัฐอเมริกาด้วยการจัดตั้งบริษัท Giant Food Inc. ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท
Giant Food Stores ที่ Ahold ได้ก่อตั้งก่อนหน้านี้
ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้น และกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงทั่วย่านเอเชีย
รวมทั้งประเทศไทยนั้น Ahold ได้รับจำนองหุ้นจำนวน 51% ในบริษัท CRC Ahold
จาก CRC พันธมิตรผู้ร่วมทุน พร้อมกับเข้าควบคุมอำนาจการบริหารสาขาของ Tops
Supermarket ทั้งหมด ในปี 1998 ซึ่งนับเป็นการลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในประเทศไทย
เพราะหลังจากนั้น ไม่นาน Tops Supermarket ในรูปแบบของร้านแบบ stand alone
โดยไม่ผูกติดกับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าก็เริ่มกระจายไปในหลายเขตชุมชน
ความเคลื่อนไหวของ Ahold ในช่วงปี 1999 ประกอบด้วยการเข้าซื้อเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตในสเปนกว่า
200 แห่ง จากทั้ง Dialco, Dumaya, Guerrero, Castillo del Barrio, Mercasol
และ Las Postas ขณะเดียวกันก็เข้าซื้อกิจการของ Gastronoom ซึ่งเป็นผู้ค้าส่งอาหารรายใหญ่ของเนเธอร์แลนด์
และซื้อหุ้นกว่า 50% ใน ICA AB บริษัทผู้ค้าอาหารชั้นนำของสวีเดน ซึ่งมีสาขากว่า
3,100 แห่งในสแกนดิเนเวีย
แม้จะซื้อกิจการ เพื่อขยายธุรกิจอย่างกว้างขวาง แต่ในห้วงเวลาเดียวกัน Ahold
ก็พยายามกระชับธุรกิจของบริษัทด้วยการขาย Meester and Nistria ธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ในเครือให้กับ
Sara Lee พร้อมกับถอนการลงทุน ที่ไม่ประสบผลสำเร็จในย่านเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการในจีน
และในสิงคโปร์ เพื่อให้น้ำหนักการลงทุนในไทย และมาเลเซียเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันได้หันไปให้น้ำหนักการลงทุนในละตินอเมริกา
ด้วยการให้ DISCO เข้าซื้อกิจการในเครือข่ายของ Supamer และ Gonzales
นอกจากนี้ Ahold ยังลงทุนเพิ่มในย่านอเมริกากลาง ด้วยการซื้อกิจการครึ่งหนึ่งของ
La Fragua ซึ่งเป็น ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ต และดิสเคาท์สโตร์ แต่ความพยายามขยายธุรกิจของ
Ahold ในอเมริกาเหนือต้องสะดุด หลังจาก Ahold ถอนตัวออกจากการเสนอซื้อกิจการของ
Pathmark Stores ในเวลาใกล้เคียงกัน
ในปี 2000 เป็นช่วง ที่ Royal Ahold พยายามขยายกิจการอีกด้วยการเข้าซื้อกิจการของ
Kampio ผู้จัดจำหน่ายอาหารของสเปน และเข้าซื้อกิจการของ U.S. Foodservice
ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายอาหารอันดับสองในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้เข้าซื้อกิจการเครือข่ายร้านสะดวกซื้อในสหรัฐอเมริกาจาก
Sugar Creek และ Golden Gallon พร้อมกันนั้น Ahold ยังได้ซื้อหุ้น 50% จาก
Bompreo ผู้ประกอบการค้าปลีกในบราซิล
ในเดือนกรกฎาคม Ahold ขยายธุรกิจเข้าสู่ช่องทางการค้าบนไซเบอร์สเปซ ด้วยการเข้าซื้อหุ้น
51% จาก Peapod ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านของชำในระบบออนไลน์ และล่าสุดในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา
Ahold ได้ประกาศ ที่จะซื้อหุ้น 69% จาก Superdiplo ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านกว่า
300 แห่งในสเปน
การซื้อกิจการจาก U.S. Foodservice และ Peapod เสริมให้ฐานทางธุรกิจของ
Ahold ในสหรัฐ อเมริกามีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยปัจจุบันธุรกิจ
ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานอยู่ทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา อันประกอบด้วยเครือข่ายของร้าน
BI-LO, Tops, Stop &Shop รวมทั้ง Giant-Landover และ Giant-Carlisle สามารถสร้างรายได้จากการขายให้กับ
Royal Ahold รวมกว่า 55% ของยอดการขายทั้งหมด ที่ Ahold มีอีกด้วย
อย่างไรก็ดี จากวิกฤติเศรษฐกิจในย่านเอเชียแปซิฟิก ซึ่งส่งผลให้ Royal
Ahold ตัดสินใจยุติการดำเนินงานในบางประเทศนั้น ทำให้การลงทุนของ Royal Ahold
ในประเทศไทยด้วย Tops Supermarket ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น
การเกิดขึ้นของ Tops Supermarket ในช่วง ที่ผ่านมา แม้ว่าจะถูกจำกัดให้อยู่เฉพาะพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ที่เป็นพันธมิตร
แต่ก็นับเป็นปรากฏการณ์ ที่มีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการจับจ่ายสินค้าอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงในส่วนของ wet market ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย
สิ่งที่น่าสนใจนับจากนี้เป็นต้นไปอยู่ ที่ การเข้ามาของ Royal Ahold ซึ่งเปี่ยมด้วยศักยภาพในการขยายตัว และ
เป็นผู้ควบคุมการบริหาร ที่แท้จริง 100% ในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติ ที่ลึกล้ำ และรุนแรงอย่างไร