หมอปราเสริฐจะผ่าตัดเส้นทางบินภายในประเทศให้หายจากโรคขาดทุนได้อย่างไร
หากคณะกรรมการบริหารกระทรวงคมนาคมอนุมัติให้ 13 เส้นทางบินย่อยในประเทศที่ขาดทุนย่อยยับอย่างต่อเนื่องมาแรมปีจับใส่พานโดยมี
"เต้" ประธานบอร์ดยกให้กับเอกชน โดยเฉพาะหมอปราเสริฐเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกันรับไปดำเนินการ
ชื่อเสียงของบริษัทการบินไทยจำกัด เป็นที่รู้จักกันดีในความยิ่งใหญ่ของการเป็นสายการบินระดับชาติของรัฐบาลมาช้านานตั้งแต่ครั้งก่อตั้งเมื่อ
30 กว่าปีที่ผ่านมา บริษัทนี้แม้นรัฐบาลคือกระทรวงการคลังจะถือหุ้นเกือบทั้งหมด
แต่อำนาจการบริหารกลับตกอยู่ที่ทัพอากาศมาตั้งแต่แรกตั้ง
และการตัดสินใจเข้าตลาดหุ้นของการบินไทยในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการระดมทุนมาทำธุรกิจ
โดยประชาชนแทนที่แต่ก่อนอาศัยเงินกู้โดยมีรัฐบาลค้ำประกัน
ผลประกอบการที่ทำกำไรสะสมสิ้นปี 2534 มีถึง 18,600 ล้านบาท หรือประมาณ
1 ใน 3 ของยอดหนี้สินระยะยาวทั้งหมด เป็นตัวอย่างหนึ่งของผลการประกอบการทางธุรกิจการบินรายเดียวในประเทศ
ที่ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการการบินพลเรือนให้ทำธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทั้งในและนอกประเทศได้
จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการผูกขาดการทำธุรกิจของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้มาโดยตลอด
แม้ว่าการบินไทยจะผูกขาดเส้นทางบินในประเทศแต่ผู้เดียวโดยไม่มีรายใดเข้ามาทำการแข่งขันในเชิงธุรกิจนี้ได้
แทนที่การบินไทยจะดำเนินธุรกิจอย่างมีกำไรมหาศาลเหมือนเช่นเส้นทางบินนอกประเทศ
การบินไทยกลับมียอดขาดทุนสะสมในปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนร่วม 1,200 ล้านบาทเลยทีเดียว
การขาดทุนนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยบริษัทเดินอากาศไทยจำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อนที่จะเข้ามารวมกิจการกับการบินไทยด้วยซ้ำ
นับย้อนไปประมาณ 30 กว่าปี บริษัทการบินไทยจำกัด ก่อตั้งมาจากการทำสัญญาร่วมกิจการระหว่างบริษัทเดินอากาศไทย
จำกัด กับ เอสเอเอส (SCANDINAVIAN AIRLINE SYSTEM) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม
2503 โดยบริษัทเดินอากาศไทย จำกัดถือหุ้น 70% และเอสเอเอสถือหุ้น 30% ด้วยทุนจดทะเบียน
2 ล้านบาท
ในช่วงเวลา 20 ปีได้มีการเพิ่มทุนเป็นระยะจาก 2 ล้านบาทเป็น 40 ล้านบาทเป็น
100 ล้านบาทจนไปถึง 300 ล้านบาทในปี 2519 และในปีต่อมาเอสเอเอสก็ได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่
30% ให้กับบริษัทเดินอากาศไทยไป ก็เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่กระทรวงการคลังได้เข้ามาถือหุ้นร่วมและได้เพิ่มทุนเป็น
500 ล้านบาท
นับจากนั้นมาการเพิ่มทุนของการบินไทยก็ยังคงมีการเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ
เป็นระยะ จนในที่สุดบริษัทเดินอากาศไทยก็ได้โอนหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ให้กับกระทรวงการคลังและรวมตัวเข้ากับการบินไทยโดยคำสังของคณะรัฐมนตรีเมื่อ
5 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2531)
การรวมตัวของ 2 บริษัทเข้าด้วยกันทำให้การบินไทยมีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น
2,230 ล้านบาททันที
วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งบริษัทการบินไทยขึ้นมา ก็เพื่อดำเนินธุรกิจการบินระหว่างประเทศเป็นรัฐวิสาหกิจ
ที่ประกอบกิจการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศและในประเทศและดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการขนส่ง
หากจะพูดถึงรายได้หลักของการบินไทยนั้นมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ส่วนไหนซึ่งจะทำให้บริษัทอยู่รอดได้
คำตอบก็คือ 89% ของกิจการหลักที่นำรายได้ให้การบินไทยดำรงอยู่ได้ ทุกวันนี้ย่อมอยู่ที่การขนส่งผู้โดยสาร
ซึ่งจะเป็นตัวทำรายได้หลักถึง 74.8% (มาจากภายในประเทศ 8.3% และภายนอกประเทศ
66.5%) ขนส่งสินค้า 13.1% การบริการขนส่งพัสดุภัณฑ์ ไปรษณียภัณฑ์ 1.1%
ส่วนที่เหลืออีก 11% นั้นเป็นรายได้ที่มาจากกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งแบ่งเป็นการขนส่งทั้งระบบ
8% ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการขนส่งทางเครื่องบิน ดังนั้นกิจการต่าง ๆ จะต้องให้สอดคล้องต่อเนื่องกันอย่างมีระบบ
เพื่อให้เครื่องสามารถออกจากสถานีต้นทาง และถึงสถานีปลายทางตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในตารางการบิน
เช่น การให้บริการผู้โดยสารภายในอาคารท่าอากาศยาน การบริการลานจอด บริการคลังสินค้า
บริการฝ่ายช่าง บริการผู้โดยสารบนเครื่อง บริการอำนวยการบิน
ส่วนกิจการที่สนับสนุนการขนส่งอีก 3% เป็นกิจการที่ดำเนินการ เพื่อจุดประสงค์ในการส่งเสริมด้านการตลาด
ให้ความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เช่น ภัตตาคารการบินไทย ร้านค้าปลอดอากร กิจการเดินรถรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างท่าอากาศยานกับในเมือง
แต่นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงถึงสัดส่วนที่มาของรายได้ทั้งหมด 51,943
ล้านบาทต่อปีเท่านั้น!!!!!
รายละเอียดของสัดส่วนรายได้ที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี่น่าจะเป็นภาพพจน์ที่สวยหรูของการบินไทยเลยทีเดียว
ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงความมั่นคงและสถานะของบริษัทได้เป็นอย่างดี
ทว่าในอีกทางหนึ่งที่น่าจะเป็นประเด็นปัญหาที่น่าพิจารณาคือการขาดทุนสะสมของเส้นทางบินภายในประเทศดังที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้น
แม้ว่าการบินภายในประเทศจะสามารถทำรายได้ให้กับการบินไทยประมาณ 8% ซึ่งเป็นส่วนน้อยก็ตาม
แต่ก็ถือว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของการบินไทยในแง่รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการประชาชน
เส้นทางบินในประเทศในปัจจุบันนี้มีไม่ต่ำกว่า 20 สาย เที่ยวบินสายต่าง ๆ
เหล่านี้แหละที่ทำรายได้ให้การบินไทย 8% แต่รายได้ 8% ที่ว่านี้ไม่ใช่มาจากเส้นทางทั้งหมดกว่า
20 สายนี้ ทว่ามาจากเส้นทางบินภายในประเทศเพียง 4 สายหลักเท่านั้น
เส้นทางบินหลักซึ่งถือว่าการบินไทยสามารถนับเม็ดเงินได้อย่างมากมายจนกลายเป็นเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยงยังเส้นทางย่อยที่ขาดทุนอยู่ทุกวันนี้ได้
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการบินไทยเอารายได้จากเส้นทางหลัก 4 เส้นดังกล่าวคือ
กทม.-เชียงใหม่, กทม.-หาดใหญ่, กทม.-ภูเก็ต และ กทม.-ขอนแก่น เหล่านี้มาโปะเป็นรายได้ชดเชยกับเส้นทางย่อยอื่น
ๆ อีก 13 เส้นทาง
เส้นทางย่อยที่สร้างปัญหาให้กับการบินไทยอย่างมากมาจนถึงทุกวันนี้ คือเส้นทางจากกรุงเทพฯ
บินตรงไปยังแม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ น่าน เส้นทางย่อยหรือสายสั้นซึ่งบินระหว่างจังหวัดตาก
แม่สอด เลย และจากกรุงเทพฯ ไปสกลนคร นครราชสีมา ปัตตานี นครศรีธรรมราช ตรังและนราธิวาส
(ตาราง)
เส้นทางเหล่านี้ขาดทุนได้อย่างไร?
ความจริงเรื่องการขาดทุนในเส้นทางบินภายในประเทศมีมานานตั้งแต่ครั้งสมัยที่ยังเป็นการดำเนินธุรกิจโดยบริษัทเดินอากาศไทย
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เรื้อรังและกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมาจนถึงปัจจุบันนี้
หากจะกล่าวถึงเนื้อแท้ของปัญหาที่ทำให้เส้นทางบินภายในประเทศ 13 เส้นทางบินย่อยขาดทุนสะสมนั้น
อาจแบ่งสาเหตุได้เป็น 2 สาเหตุ
สาเหตุแรก ราคาค่าเดินทางของเส้นทางบินดังกล่าวเป็นราคาที่นับได้ว่าต่ำกว่าค่าใช้จ่าย
สาเหตุที่สองคือข้อจำกัดของจำนวนที่นั่งของเครื่องบิน
ทั้ง 2 สาเหตุคงเป็นปัญหาที่หากจะแก้ไขก็คงเป็นเรื่องไม่ยากเย็นสำหรับการบินไทยนัก
เท่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาร้องเรียนเรื่องการขาดทุนขึ้นครั้งไร การบินไทยก็จะประกาศขึ้นราคาค่าโดยสารทุกครั้งไป
ก็น่าจะนับว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ยาก
แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่การบินไทยแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคามา 2 ครั้งแล้ว
แต่การขาดทุนก็ยังคงมีปรากฏอยู่
ล่าสุดการบินไทยขอขึ้นราคาค่าเดินทางอีก 15% โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นเรศ หอวัฒนกุล ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัทการบินไทย จำกัด กล่าวว่า
การปรับโครงสร้างอัตราค่าโดยสารสายในประเทศใหม่ครั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน
ทั้งนี้เพราะว่าการบินไทยไม่ได้ขึ้นค่าโดยสารสายในประเทศมานานแล้ว จนเป็นเหตุให้ต้องแบกรับภาระการขาดทุนจำนวนมากเช่นนี้
ซึ่งเส้นทางที่ขาดทุนมากที่สุดคือ เส้นทางไปจังหวัดเลย
นเรศกล่าวว่า ตามแผนของการบินไทยนั้นจะขอปรับค่าโดยสารในระยะเวลา 3 ปีคือ
เริ่มตั้งแต่ปีนี้โดยปรับปีละครั้ง ซึ่งอัตราที่จะปรับในปีแรกนี้จะขอปรับขึ้นเป็น
15% ส่วนปีต่อไปจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การขาดทุนสะสมของการบินไทยหลังปรับค่าโดยสารแล้ว นเรศอ้างว่าก็ยังคงมีอยู่ถึง
340 ล้านบาทจากยอดขาดทุน 1,200 ล้านบาท นับว่าสามารถลดจำนวนการขาดทุนไปได้โขเลยทีเดียวจากการปรับขึ้นอีก
15% นี้ แต่ถ้าหากไม่ปรับก็จะต้องทำให้การบินไทยขาดทุนต่อไปอีกถึง 790 ล้านบาท
แม้ว่าทางคณะกรรมการบินพลเรือนสังกัดกระทรวงคมนาคมจะพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่โดยการปรับค่าโดยสารในประเทศเพิ่มอีก
15% ก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้ยอดขาดทุนของการบินไทยลบล้างลงได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่แม้จะขึ้นค่าโดยสารแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็เพราะนโยบายด้านราคาของเส้นทางบินภายในประเทศเป็นข้อจำกัดของตัวเอง
ทำให้วิธีการคิดค่าโดยสารไม่สัมพันธ์กัน ถึงแม้จะขึ้นราคาไปกี่เปอร์เซนต์ก็ตาม
หากยังใช้วิธีคิดเช่นนี้อยู่การขาดทุนก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ร่ำไป
โครงสร้างการกำหนดราคาค่าโดยสารในอดีตที่ผ่านมาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กิจการการบินภายในประเทศเกิดการขาดทุนสะสมเช่นทุกวันนี้
คือ กำหนดราคาตามระยะทาง ซึ่งต่อมาพบว่าโครงสร้างการกำหนดราคานี้ไม่เหมาะสม
และไม่สอดคล้องกับต้นทุนการบินที่แท้จริง เนื่องจากในเส้นทางรองและเส้นทางย่อยเป็นการบินในระยะสั้นและมีผู้โดยสารน้อย
ทำให้จุดคุ้มทุนเกิน 100%
หมายความว่าจำนวนการเติบโตของรายรับต่ำกว่าการเติบโตของรายจ่ายมากกว่า
1 เท่าตัว
ประเด็นจุดคุ้มทุนเกิน 100% ที่ว่านี้ยังทอดปัญหาไปสู่ข้อจำกัดเรื่องจำนวนที่นั่งของเครื่องบินที่ใช้รับ-ส่งผู้โดยสารแต่ละเที่ยวบินด้วยจนกลายเป็นตัวเหนี่ยวรั้งให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอีกด้วย
แหล่งข่าวเล่าว่า สมัยก่อนการบินไทยใช้เครื่องบินเล็ก หรือที่เรียกว่าเครื่องช๊อต
(FEDDER LINE) รับผู้โดยสารได้เต็มเครื่องประมาณ 30 ที่นั่งและคิดค่าโดยสาร
1.73 บาทต่อ กม.
หากจะคิดถึงจุดคุ้มทุนของเที่ยวบินแต่ละเที่ยวต่อค่าโดยสาร 1.73 บาท/กม.
นั้น จำนวนที่นั่งจะต้องเพิ่มเป็น 150% ของจำนวนผู้โดยสารถึงจะไม่ขาดทุน
หากคิดจากต้นทุนที่เป็น ต้นทุนคงที่และต้นทุนแปรผันเช่น ค่าเสื่อม ค่าซ่อมแซมและค่าน้ำมัน
ดังนั้นจำนวนที่นั่งของผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวจะต้องเพิ่มอีก 45 คนขึ้นไป
แต่การบินไทย (ซึ่งตอนนั้นยังคงเป็นบริษัทเดินอากาศไทยอยู่) ทำไม่ได้เพราะใช้เครื่องช๊อตซึ่งรับผู้โดยสารได้เพียง
30 ที่นั่งเท่านั้น
ถ้าหากจะใช้เครื่องใหญ่กว่าเครื่องช๊อตเพื่อเพิ่มจำนวนที่นั่งให้สูงขึ้นตามอัตราส่วนของจุดคุ้มทุนแล้ว
ก็จะติดปัญหาเรื่องสนามบินไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับเครื่องใหญ่ได้เช่นกัน
ดูเหมือนว่าการบินไทยจะถูกบล๊อกไว้ ด้วยค่ายกลสี่เหลี่ยมที่จะหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยากเย็นทำให้การบินไทยต้องทนแบกรับภาระขาดทุนอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องบินมาใช้เครื่อง ATR 42 และ
ATR 72 หรือบีเออี ซึ่งสามารถรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 42 คน 78 คน และกว่า
100 คนและมีการปรับปรุงสนามบินใหม่แล้วก็ตาม แต่เครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินใหม่ที่ทันสมัย
เป็นเครื่องที่มีการปรับความกดอากาศ การบินไทยต้องใช้เงินลงทุนส่วนหนึ่งเพื่อการซื้อเครื่องใหม่และปรับสนามบิน
แต่ขณะเดียวกันราคาค่าโดยสารก็ยังคิดวิธีเดิม ทั้งที่ค่า OPERATION COST
เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ไม่มีผลต่อการฟื้นทำกำไรของสายภายในประเทศเท่าไรนัก
ปัญหาของการบินไทยไม่ได้อยู่ที่ราคาโดยสารต่ำ หรือจำนวนที่นั่งต่อจุดคุ้มทุนน้อยเท่านั้น
ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดภาวะรายจ่ายมากกว่ารายรับอีก คือกรณีผู้โดยสารน้อยและมีการโดยสารเพียงขาเดียวไม่ว่าจะเป็นขาไปหรือขากลับ
ซึ่งกรณีนี้ยิ่งทำให้เกิดการไม่คุ้มทุนมากยิ่งขึ้น
แหล่งข่าวบอกว่ามีวิธีแก้ปัญหานี้ คือ รวม 2 สถานีเข้าด้วยกัน จุดคุ้มทุนจึงจะเพิ่ม
เช่น เที่ยวบินที่บินตรงจาก กทม. ไปยังเชียงใหม่ (โดยปกติจะไม่แวะรับที่สถานีใดเลย)
หากวันนั้นมีผู้โดยสารน้อย และมีขาเดียวก็อาจจะแวะรับที่พิษณุโลก ก่อนที่บินไปยังเชียงใหม่ก็ได้
ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายแทนที่จะใช้ 2 เครื่องเพื่อบินรับ-ส่งผู้โดยสารจะไม่คุ้ม
นอกจากนี้ เพราะการบินพาณิชย์เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุน เพื่อใช้ในการจัดซื้อเครื่องบินสำหรับดำเนินการ
ในขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่อาศัยกำลังคนในการให้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งการบินไทยมีพนักงานกว่า
20,000 คน จึงต้องใช้เงินในการว่าจ้างพนักงานสูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่าย (FIXED
COST) อยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายผันแปร
ลักษณะดังนี้เป็นเหตุให้การดำเนินธุรกิจการบินต้องอาศัยผลผลิตต่อขนาดอย่างประหยัดที่สุด
แต่การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ การขยายเขตรับผิดชอบหรือการขยายเส้นทางบินใหม่
ๆ ขึ้นในแต่ละครั้งนั้น จำเป็นต้องใช้พนักงานประจำ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำสถานี
ลีมูซีน พนักงานต้อนรับ พนักงานขายตั๋ว ฯลฯ ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายประจำ ถึงแม้ว่าบางสถานีจะเป็นสถานีย่อย
และมีจำนวนเที่ยวบินต่อสัปดาห์เพียงไม่กี่เที่ยวบิน ค่า OPERATION COST จึงสูง
ในขณะที่หากเป็นเอกชนดำเนินการ ในส่วนนี้เขาสามารถจ้างพนักงานเป็นรายวันต่อเมื่อมีเที่ยวบินมาลงเท่านั้น
นี่คือความแตกต่างของการดำเนินธุรกิจที่เป็นของรัฐ
เมื่อการบินไทยมีค่ายกลล้อมรอบอยู่เช่นนี้ทำให้แก้ปัญหาเรื่องการขาดทุนสะสมไม่ตก
การบินไทยก็หาทางออกโดยการยกสัมปทานเส้นทางบินให้ใครรับไปดำเนินธุรกิจต่อก็ตามจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาเพื่ออนุมัติหลายขั้นตอน
คือ จากคณะกรรมการบริหารการบินไทยส่งเรื่องให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาเพื่อความเห็นชอบก่อนที่จะส่งเข้ากรมการบินพาณิชย์
(บพ.) และกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ที่รับเรื่องจาก บพ. เพื่อเสนอ ครม. เป็นขั้นตอนสุดท้ายเสียก่อน
แต่การจะยกสัมปทานเส้นทางบินภายในประเทศให้กับเอกชนรับไปดำเนินการต่อได้นั้น
เอกชนรายนั้นจะต้องมีความพร้อมทางด้านการบิน มีเครื่องบินพร้อมนักบินรองรับ
และมีการตลาดที่ดีจึงจะไม่ทำให้ขาดทุน เช่นที่การบินไทยประสบอยู่
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ใครจะมีความพร้อมได้เท่านั้น ถ้าไม่ใช่ บางกอกแอร์เวย์ของหมอปราเสริฐ
ปราสาททองโอสถ เพื่อนของ พล.อ. เกษตร โรจนนิล ประธานการบินไทย
ประเด็นที่น่าติดตามคือ เมื่อการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินระดับชาติยังขาดทุนมากมายขนาดนี้
หากเอกชนโดยเฉพาะหมอปราเสริฐรับสัมปทานไปทำแล้วจะมีโอกาสทำกำไรได้หรือไม่
นพ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานบริษัทบางกอกแอร์เวย์ จำกัด กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า ราคาค่าโดยสารของการบินไทยใน 13 เส้นทางย่อยนั้นมีราคาต่ำมาก
การที่การบินไทยขึ้นราคาให้กับเส้นทางต่าง ๆ เป็นเปอร์เซนต์จะมีผลดีกับเส้นทางหลัก
(LONG ROUTE) เท่านั้น แต่เส้นทางรองและเส้นทางย่อยราคาก็ยังคงต่ำเช่นเดิม
"กรณีเส้นทางบิน กทม.-โคราช กับเส้นทางบิน กทม.-หัวหินจะมีระยะทางที่พอ
ๆ หรือใกล้เคียงกัน ค่าโดยสารของการบินไทยที่เดินทางไปยังโคราชจะตกอยู่ในราคาประมาณ
400 บาท สมัยก่อนการบินไทยใช้เครื่องบินเก่าก็บินอยู่ได้ แต่ปัจจุบันนี้การบินไทยได้หันมาใช้เครื่องบินปรับความกดอากาศเป็นเครื่องใหม่ทำให้มันอยู่ไม่ได้ในราคาขนาดนี้
เพราะต้นทุนสูงเป็นสองเท่า ในขณะที่บางกอกแอร์เวย์บินไปหัวหินราคาจะตกประมาณ
900 บาทเป็นตัวเลขที่ทำให้เราอยู่ได้" หมอปราเสริฐได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบราคาของการบินไทยว่าต่ำจริงมากน้อยแค่ไหนกับเส้นทางของบางกอกแอร์เวย์ที่ใช้ราคานี้ทำให้ธุรกิจคงอยู่ได้
อย่างไรก็ตามมาร์จินของธุรกิจการบินไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตามควรจะอยู่ในราคาที่ไม่ต่ำกว่า
20 เหรียญขึ้นไปหรือประมาณ 500 บาท เพราะค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนเริ่ม (INITIALCOST)
เช่น การเช็คอิน เสียงประกาศความอำนวยสะดวกต่าง ๆ ตรวจกระเป๋าเดินทาง บริการเหล่านี้ล้วนเป็นค่าใช้จ่าย
หรือ เวลาเครื่องสตาร์ทเพื่อพร้อมจะบินก็เป็นค่าใช้จ่ายที่หมดไปแล้ว 15
เหรียญ เวลาเครื่องบินจะขึ้นทางกรมการบินพาณิชย์ (บพ.) ก็จะคิดเงินในการดูแลความปลอดภัย
ให้สัญญาณ ดังนั้น แนวการคิดค่าโดยสาตต้องคิดจากระยะทางเป็นเกณฑ์ไม่ใช่คิดเหมาแล้วเพิ่มเปอร์เซนต์ตามส่วนอย่างที่การบินไทยคิดแบบทุกวันนี้
หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งคือ มาร์จินของการบินแต่ละครั้งจะสูงหรือต่ำ ขาดทุนหรือกำไร
เที่ยวบินนั้น ๆ จะต้องมีผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 65% และเครื่องบินลำหนึ่งที่ซื้อมาจะต้องบินอยู่ในอากาศได้ประมาณ
200 ชั่วโมง จึงถือว่าไม่ขาดทุน
ในปัจจุบันได้มีการปรับโครงสร้างการกำหนดราคาค่าโดยสารภายในประเทศเสียใหม่ซึ่งการปรับราคาค่าโดยสารใหม่คือ
กำหนดค่าโดยสารขั้นต่ำสำหรับระยะทางทำการบินตั้งแต่ 1-10 กม. แรกคิด 300
บาท
ส่วนระยะทางที่เกิน 100 กม. ขึ้นไปคิดค่าโดยสารเส้นทางหลัก เส้นทางรองและเส้นทางย่อยในราคาที่ต่างกัน
เส้นทางหลักค่าโดยสารจะเป็น 2.90 บาท/กม. เส้นทางรอง 2.75 บาท/กม.และเส้นทางย่อย
2.15 บาท/กม.
หากจะมีการเปรียบเทียบค่าโดยสารของเส้นทางภายในประเทศของเมืองไทยกับประเทศอื่น
ๆ เช่น อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน มาเลเซีย ญี่ปุ่นแล้วจะพบว่า อัตราค่าโดยสารของไทยเรายังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่น
ๆ อยู่มาก ซึ่งแม้แต่จะเทียบกับสายการบินของมาเลเซียและอินโดนีเซีย อัตราค่าโดยสารของการบินไทยก็ยังต่ำกว่าอยู่ดี
จนอาจเรียกได้ว่าไม่มีอัตราค่าโดยสารที่ไหนในโลกจะถูกกว่าของไทยแล้วในปัจจุบันนี้
ในส่วนของการคิดค่าโดยสารนั้น หมอปราเสริฐกล่าวว่าใช้วิธีนี้เป็นการถูกต้องแล้ว
หากใช้วิธีนี้มาแต่แรก การบินไทยก็คงไม่เกิดปัญหาสะสมเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้
และหากการบินไทยทำได้อย่างที่วางแผนไว้ในตอนนี้คือจะขึ้นค่าโดยสารเป็นระลอกดังกล่าว
ก็จะยิ่งทำให้การบินไทยสามารถแก้ปัญหาการขาดทุนได้ทันที
แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า หากการบินไทยทำเช่นนี้จริง ๆ ผู้โดยสารที่ชอบเดินทางโดยเครื่องจะลดน้อยลงไปหรือไม่
คงจะเป็นเรื่องที่การตลาดของการบินไทยจะต้องบริหารอย่างมีประสิทธิภาพตามไปด้วย
มิเช่นนั้นการบินไทยจะหลุดบ่วงค่ายกลออกมาไม่ได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามในเรื่องของการยกสัมปทานเส้นทางบินดังกล่าวให้เอกชนรับไปดำเนินการนั้น
หมอปราเสริฐบอกว่าหากการบินไทยมีการปรับค่าโดยสารให้ใกล้จุดคุ้มทุนแล้ว และการบินไทยไม่ต้องการบินต่อก็จะขอสัมปทานทำการบินใน
13 เส้นทางบินนี้ต่อเอง
"ไม่ใช่ว่าผมเป็นเพื่อนกันแล้วผมจะได้สัมปทานมา ใครก็ได้หากมีความพร้อมกว่าผมเขาก็อาจจะได้ไป
และถ้าหากว่าการบินไทยยังไม่มีการปรับราคาให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงเสียก่อน
ไม่ว่าใครก็ตามก็ย่อมทำไม่ได้แน่นอน ผมถือว่ามันเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่
เพราะจะเจอปัญหาการขาดทุนย่อยยับ ยิ่งเป็นเอกชนรับไปทำในขณะที่ขาดทุนเช่นนี้เกิดเจอปัญหาขาดทุนมากขึ้นเรื่อย
ๆ แล้วเขาไม่บิน ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนก็คือ ประชาชน ซึ่งการบินไทยจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นนี้"
หมอปราเสริฐปฏิเสธว่า การจะได้สัมปทานเส้นทางบินไม่ใช่มาจากความเป็นเพื่อน
ถ้าหากเส้นทางย่อยทั้ง 13 สาย การบินไทยยกให้บริษัทบางกอก แอร์เวย์จะมีผลดีต่อบางกอก
แอร์เวย์อย่างมาก เพราะจะทำให้บางกอกแอร์เวย์มีเครือข่ายใหญ่ ต้นทุนจะต่ำเพราะเส้นทางยิ่งมากยิ่งดี
ค่า OPERATION COST คงเดิม แต่การได้เส้นทางบินใหม่เท่ากับมีการเปิดตลาดใหม่อยู่เรื่อยๆ
ถึงแม้เรื่องการจะยกสัมปทานให้เอกชนรับไปดำเนินการจะยังไม่มีการอนุมัติออกมาจากบอร์ดการบินไทย
แต่ขณะนี้หมอปราเสริฐก็ได้วางนโยบายในการบริหารเส้นทางดังกล่าวเหล่านี้ไว้คร่าว
ๆ เพื่อเตรียมพร้อมและป้องกันไม่ให้มีปัญหาการขาดทุนเหมือนการบินไทย ก็คือ
นอกเหนือจากโครงสร้างราคาจะต้องสอดคล้องกับความจริงทางธุรกิจการบิน แล้วการตลาดจะต้องแข็งและความเจริญเติบโตด้านการท่องเที่ยวจะต้องตามมาด้วย
พูดอีกแบบหนึ่ง เขาใช้แนวคิดการทำธุรกิจการบินโยงเข้ากับโอกาสทางการตลาดท่องเที่ยว
กลุ่มลูกค้าจึงเป็นนักท่องเที่ยวมากกว่านักธุรกิจที่ชอบโดยสารปกติ หมอปราเสริฐจึงวางแผนดึงด้านการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญ
เพื่อเป็นการสร้างภาพพจน์ชักชวนให้นักท่องเที่ยว มีความสนใจที่จะท่องเที่ยวโดยการเดินทางด้วยเครื่องบินมากยิ่งขึ้นเหมือนเช่นที่เขาเคยใช้กับการเปิดเส้นทางบินสำเร็จอยู่ในทุกวันนี้
เช่น เส้นทางกทม.-หัวหิน สมุย ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน แม่สอด เลย ตรัง และเส้นทางใหม่
ระนอง กระบี่ สุโขทัย และตราด เป็นต้น
กล่าวกันว่าการทำธุรกิจการบินนั้น กำไรที่ได้มาส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากค่าการตลาดที่ได้จากการบริการรับ-ส่งผู้โดยสารเท่านั้น
ทว่ามาจากมูลค่าของที่ดินที่ขยับตัวสูงขึ้นเรื่อย เมื่อเป็นเช่นนี้ หมอปราเสริฐจึงกว้านซื้อที่ดินมาไว้ครอบครอง
เพื่อสร้างสนามบินเป็นของตนเองอย่างมากในทุกจังหวัดที่ไปเปิดเส้นทางบินและลงทุนสร้างสนามบินไม่ว่าจะเป็นที่หัวหิน
สมุย ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน แม่สอด เลย ตรัง สุโขทัยและตราดก็ตาม จนอาจเรียกว่าราชาที่ดินก็คงไม่ผิดเพี้ยนนัก
โดยเฉพาะสุโขทัยบางกอก แอร์เวย์เพิ่งจะเปิดเส้นทางบินใหม่โดยใช้ความเป็นประวัติศาสตร์ของเมืองเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันที่จังหวัดตราดซึ่งเป็นเป้าหมายต่อไปของหมอปราเสริฐที่จะสร้างสนามบินที่นั่น
ก็ยังใช้แหล่งท่องเที่ยวคือเกาะช้าง และความเป็นเมืองที่มีพลอยและผลไม้เป็นตัวดึงดูดความสนใจ
ในส่วนนี้ หมอปราเสริฐมองว่านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ มักจะมีการวางแผนด้านการท่องเที่ยวของตนเองในแต่ละปีว่าจะเดินทางไปที่ใดอย่างไร
อย่างไรก็ตามสายย่อย 13 สายนี้ก็ล้วนเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย
หากแต่ว่ายังไม่ได้รับการผลักดันหรือปลุกสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ ให้เกิดขึ้นพร้อมกับมีการรองรับเรื่องที่พักอย่างเพียงพอ
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องเป็นเรื่องที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการและเอกชนที่อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยกัน
แม้ว่าวันนี้ ยังไม่มีคำตอบจากประธานบอร์ดการบินไทยว่าจะได้ยกสัมปทานเส้นทางบินให้บางกอกแอร์เวย์เพื่อนรักไปดำเนินการหรือไม่
แต่เจ้าของซึ่งเป็นหมอผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดอยู่แล้วก็เริ่มทำการบ้านผ่าตัดโครงสร้างเพื่อดูที่มาของปัญหาแล้ว