Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2535
"พิไลกับผลงานวิจัยเรื่องนกเงือก"             
 


   
search resources

พิไล พูลสวัสดิ์
International Ornithological Congress
Pet & Animal




อาจจะมีคนจำนวนไม่มากนักในเมืองไทยที่รู้จักพิไล พูลสวัสดิ์ แต่ในวงการปักษีวิทยา ชื่อพิไลกับผลงานวิจัยเรื่องนกเงือกจัดอยู่ในแถวหน้าของวงการปักษีวิทยาของโลกเลยก็ว่าได้

พิไลสนใจเจ้าสัตว์ปีกขนาดใหญ่ที่ถือกำเนิดมาราว 55 ล้านปีและอยู่รอดมาจนกระทั่งเธอได้พบเห็นเข้าในวันหนึ่ง ขณะเดินป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เสียงร้อง เสียงบินและขนาดตัวของนกกกหนึ่งในตระกูลนกเงือกที่ตัวยาวเมตรครึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับอดีตนิสิตครุศาสตร์จุฬาฯ ผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง

ขณะนั้นเธอทำงานกับ H. ELLIOTT McCLURE ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกอยู่ที่โครงการสำรวจสัตว์ย้ายแหล่งทางพยาธิวิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์ประยุกต์ McCLURE เป็นแรงดลใจอันสำคัญที่ทำให้พิไลสนใจเรื่องนกและเขายังเป็นแบบอย่างที่ดีของคนที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำงานเพื่องานจริง ๆ ซึ่งพิไลยึดถือมาโดยตลอด

เสน่ห์ของเจ้านกเงือกชวนให้พิไลค้นคว้าเรื่องนกประเภทนี้แต่ก็มีข้อมูลที่เขียนถึงน้อยเต็มที เธอจึงจำเป็นต้องลงมือค้นคว้าด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น

ทุกครั้งที่เอ่ยถึงการเริ่มต้นของการสำรวจเรื่องนกเงือก ผู้ร่วมงานสองคนแรกที่พิไลไม่เคยลืมที่จะเอ่ยถึงคือ ATSUOTSUJI อาจารย์สอนคณิตศาสตร์ชาวญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยเมจิ ที่สนใจเรื่องนก และบุญมา แสงทอง ยามบนป่าเขาใหญ่

ทั้งสามมีความสามารถพิเศษต่าง ๆ กัน TSUJI ถนัดในการถ่ายรูป บุญมามีความสามารถในการจับทิศทางเก่งและผู้หญิงคนเดียวคือพิไล ทั้งอดทนและตั้งใจจริงในการศึกษา พวกเขาเริ่มต้นที่ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าแหล่งที่อยู่ของเจ้านกโบราณพวกนี้อยู่ที่ไหนกันบ้างในป่าลึกกว้างที่เขาใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ละคนต้องแบกเป้เดินทางที่บรรจุอาหาร เครื่องครัว เต้นท์ ถุงนอน อุปกรณ์ถ่ายรูป เครื่องอัดเสียงร้องของนก รวมน้ำหนักต่อเป้หนึ่งใบไม่ต่ำกว่า 20 กิโลกรัม ออกเดินเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร เวลาหลายวันหลายคืนกว่าจะพบแหล่งที่อยู่ของนก จากนั้นจึงสร้างห้างร้านบนยอดเขาเพื่อเตรียมไว้สำหรับเฝ้าดูพฤติกรรมของนกเงือกที่มากินอาหารบนต้นไทร

ไม่ใช่ว่าเข้าป่าครั้งเดียวจะสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของนกได้ทั้งหมด

หลังจากเลิกงานประจำที่สอนอยู่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิไลทุ่มเทเวลาให้กับงานนกเงือกเป็นเวลากว่าสิบปีจึงเรียนรู้และเข้าใจประเภทต่าง ๆ ของนกเงือก ตลอดจนพฤติกรรมการกินอยู่ทำรัง

นกเงือกเป็นนกที่มีนิสัยการทำรังแปลกกว่านกชนิดอื่น คือจะทำรังตามโพรงไม้สูงใหญ่ นกตัวเมียจะเข้าไปอยู่ภายในแล้วปิดปากโพรงทางเข้าให้เหลือเพียงช่องแคบ ๆ เพียงพอที่นกเงือกตัวผู้จะส่งอาหารจำพวกแมลง ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ผ่านเข้าไปได้ ตัวเมียจะกกไข่และเลี้ยงลูกโดยรับอาหารจากตัวผู้ซึ่งหาเลี้ยงไปจนกว่าลูกนกจะโตเพียงพอ แม่นกหรือลูกจึงกระเทาะปากโพรงที่ปิดไว้ออก กว่าจะเสร็จสิ้นฤดูทำรังต้องใช้เวลานานถึง 4 เดือน

พิไลบอกว่าโชคดีที่นกทำรังช่วงปิดเทอมพอดี เธอจึงมีเวลาที่จะไปเฝ้าดูได้อย่างเต็มที่

ตลอดระยะเวลาที่ศึกษา นอกจากที่จะต้องเผชิญกับสัตว์เล็กสัตว์น้อยตั้งแต่เห็บ ทาก ไปจนถึงสัตว์ใหญ่อย่างช้าง และที่ดุร้ายที่สุดอย่างเสือ ในการออกป่าแต่ละครั้ง การทำวิจัยยังต้องเจอปัญหาเรื่องทุนรอนในการศึกษา ช่วงต้น ๆ ก็อาศัยเงินเดือนส่วนตัวที่มีอยู่และการสนับสนุนจากเพื่อนฝูงที่เห็นความตั้งใจจริง กระทั่งมาในระยะหลังจึงได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ เช่น INTERNATIONAL FOUNDATION FOR THE CONSERVATION OF BIRD, นิตยสาร EARTH WATCH เป็นต้น ทำให้โครงการวิจัยเรื่องนกเงือกสามารถจ้างผู้ช่วยวิจัยมาร่วมงานได้เป็นระยะ ๆ

พิไลได้รับเชิญไปร่วมงานประชุมในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกเงือกเอเซียในต่างประเทศเสมอ ๆ ปี พ.ศ. 2529 เธอได้ไปเสนอผลงานวิจัยที่ประเทศแคนาดาในการประชุม ครั้งที่ 20 ของ INTERNATIONAL ORNITHOLOGICAL CONGRESS (IOC) ซึ่งเป็นสภานานาชาติของนักปักษีวิทยาที่ตั้งขึ้นกว่า 80 ปีแล้วและยังได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกรรมการของสภาแห่งนี้ คนไทยคนแรกที่เคยได้รับตำแหน่งนี้คือ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล

ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติครั้งที่หนึ่งเรื่องการอนุรักษ์นกเงือกเอเซียและถิ่นที่อยู่อาศัย พิไลเป็นแรงสำคัญที่ผลักดันให้เกอดการประชุมครั้งนี้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนชนิดของนกเงือกเอเซียมากที่สุดคือ 13 ชนิด จากจำนวนทั้งหมด 30 ชนิด

ตัวแทนที่เข้าร่วมการประชุมมาจาก 14 ประเทศจำนวน 50 คน ได้เสนอรายงานสถานภาพของนกเงือก ปัญหาในการอนุรักษ์ในประเทศของตนและได้เรียนรู้เทคนิควิธีการศึกษาวิจัยนกเงือก รวมทั้งลงมือปฏิบัติโดยการเฝ้ารังนกเงือก ให้สังเกตพฤติกรรมการจับนกเงือกเพื่อติดเครื่องส่งวิทยุสำหรับศึกษาการใช้พื้นที่ และการติดตามหาตำแหน่งนกเงือกด้วยการรับสัญญาณวิทยุ

"เราจะตั้งข่ายงานการศึกษานกเงือกเอเซีย มีประเทศต่าง ๆ เป็นสมาชิกของข่ายงานโดยโครงการศึกษานกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข่าวสารให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษาให้การช่วยเหลือ อย่างลาวเขาอยากให้เราไปช่วยเทรนคนของเขา เราก็จะไปช่วยดูให้ หรืออย่างจีนก็เหมือนกัน สำหรับประเทศที่ไม่มีนกเงือกเอเซียอย่างอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมันที่เข้าร่วมประชุมด้วย เขาก็จะเป็นสมาชิกแนะนำสนับสนุนในเรื่องข่าวสารข้อมูลที่เขาได้จากการเลี้ยงและช่วยหาแหล่งทุน และพยายามปรับปรุงการขยายพันธุ์ในกรงเลี้ยงเพื่อซัพพลายให้กับนกในสวนสัตว์โดยที่ไม่ต้องเอาไปจากป่า"

จากความสนใจศึกษาส่วนตัวของพิไล มาสู่ผลงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศภายใต้สังกัดโครงการศึกษานิเวศน์วิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงตอนนี้เรียกได้ว่าประเทศไทยมีการวิจัยเรื่องนกเงือกเอเซียที่ดีที่สุด

ขณะนี้พิไลกำลังรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับนกเงือกเอเซียซึ่งจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วน ๆ แรกคือ วิวัฒนาการของนกเงือก ชีววิทยา และนิเวศน์วิทยา เทคนิควิธีการศึกษานกเงือก ในส่วนที่สองของหนังสือจะเป็นการรายงานสถานภาพนกเงือกเอเซียในแต่ละประเทศและสาเหตุที่ถูกคุกคาม และอีกไม่นานเกินรอเธอคงจะลงมือเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนกเงือกในประเทศไทย

แม้ว่างานศึกษานกเงือกที่เขาใหญ่ซึ่งมีอยู่ 4 ชนิดจะเสร็จแล้ว แต่ก็ต้องมีการเฝ้าสังเกตในพื้นที่เป็นระยะ ๆ และเธอยังมีโครงการศึกษาต้นไทรบนเขาใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอันสำคัญของนกเงือก นอกจากนั้นพิไลยังมีโครงการศึกษานกเงือกคอแดงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ. อุทัยธานี ซึ่งก็ยังติดปัญหาเรื่องเงินทุนที่จะทำการวิจัย

สิ่งที่พิไลอยากลงมือทำมากที่สุด คือ การสำรวจนกเงือกที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาและเงินทุนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

"งานวิจัยหลายโครงการมีปัญหาเรื่องเงิน ความจริงในเมืองไทยเงินสะพัด ตัวเองเป็นคนไม่ค่อยถนัดเรื่องประชาสัมพันธ์ เมื่อก่อนนี้เราเคยหอบหิ้วอัลบั้มนกเงือกไปเสนอขอสปอนเซอร์อะไรทำนองนั้น ไม่มีใครสนใจอะไรเลย ขาไปรีบหอบหิ้วขึ้นแท๊กซี่ไป ขากลับนั่งรถเมล์กลับ บางทีเราก็คิดว่าเรามานั่งทำกันอยู่ทำไม พูดถึงหน้าที่การงาน ถ้าเราโปรโมทตัวเองในด้านนั้นก็ทำได้ บางครั้งคนมองเราเหมือนขอทาน ปฏิกิริยาที่ทำกับเราก็แย่ ตัวเองเป็นคนไม่ค่อยชอบยุ่งกับคนมาก การยุ่งกับคนมีทั้งด้านบวกและลบ ถ้าเป็นด้านลบเราก็หมดกำลังใจ แต่คนข้างเคียงทำให้เรามีกำลังใจที่จะสู้โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่มาช่วยงาน" พิไลเปิดเผยความในใจ

มีบ้างบางครั้งที่คนเราจะท้อแท้ แต่รุ่งเช้ายังมีตะวันใหม่ นักวิจัยหญิงคนนี้ยังเปี่ยมด้วยความกำลังใจ มุ่งมั่นในการศึกษางานนกเงือกเพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us