เมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ได้มีเรือบรรทุกสารเคมีอันตรายขนาดใหญ่ ชื่อ
นวคุณ 4 ซึ่งบรรทุกสารเคมีประเภทไวนิล คลอไรด์ ไมโนเมอร์ ได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงที่ปากอ่าวร่องแม่น้ำเจ้าพระยา
ทำให้สารเคมีรั่วไหลออกมาเป็นอันตรายแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม ประเด็นปัญหากฎหมายที่ควรพิจารณาในเรื่องนี้ก็คือ
มีมาตรการกฎหมายใดในการแก้ใขเยียวยาภาวะมลพิษที่เกิดขึ้นจากการอับปางของเรือ
และมีมาตรการกฎหมายใดในการควบคุมป้องกัน และการกำหนดคุณภาพของเรือเพื่อป้องกันมิให้เกิดมลภาวะ
ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงอำนาจของรัฐในการตรากฎหมายเพื่อควบคุมป้องกันและการกำหนดคุณภาพของเรือเพื่อมิให้เกิดมลภาวะเท่านั้น
โดยปกติเรือที่แล่นอยู่ในท้องทะเล จะต้องมีสัญชาติเสมอโดยสัญชาติของเรือเป็นเครื่องกำหนดว่าเรือลำนั้นจะผูกพันกับกฎหมายของประเทศใด
และรวมถึงเขตอำนาจศาล เหนือเรือ นายเรือเจ้าหน้าที่และลูกเรือที่อยู่บนเรือลำนั้น
เรือจะมีสัญชาติได้เพียงรัฐหนึ่งรัฐเดียว ซึ่งเรือจะได้สัญชาติมาโดยการจดทะเบียนในรัฐนั้น
โดยเงื่อนไขในการจดทะเบียนที่รัฐแต่ละรัฐกำหนดขึ้นจะแตกต่างกันไป ทำให้มาตรฐานคุณภาพของเรือจึงมีความแตกต่างกันด้วย
ในการที่รัฐให้สัญชาติแก่เรือนั้นเป็นที่มาของความรับผิดชอบของรัฐในส่วนของความสัมพันธ์ของเรือ
และยังทำให้มีความแตกต่างของการใช้อำนาจของรัฐต่อเรือที่ชักธง หรือจดทะเบียนในปรากฏของตนเอง
และอำนาจรัฐต่อเรือที่ผ่านเข้ามาในน่านน้ำของตน
อำนาจหน้าที่ของรัฐต่อเรือที่ชักธงหรือจดทะเบียนในประเทศอนุสัญญากฎหมายทะเลภาค
12 ได้บัญญัติไว้ให้รัฐมีอำนาจ
1)ออกกฎหมายระเบียบข้อบังคับเพื่อการควบคุมเรือ เพราะการที่รัฐที่เรือชักธงมีความผูกพันโดยตรงกับเรือที่ชักธงของรัฐทำให้ควบคุมกิจกรรมหรือการกระทำของเรือได้
และสามารถบัญญัติกฎหมายข้อบังคับกำหนดรายละเอียดที่เรือต้องปฏิบัติรวมทั้งโครงสร้าง
การติดตั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องให้เพื่อป้องกันควบคุมภาวะมลพิษขึ้น
2) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดของเรือชักธง 3) การลงโทษของเรือที่ชักธงของรัฐคุมเอง
สำหรับในประเทศไทยนั้นได้มีกฎหมายที่ควบคุมป้องกันและกำหนดคุณภาพของเรือใน
การก่อมลพิษคือ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2546 ประกาศกรมเจ้าท่าที่
353/2529 และกฎข้อบังคับสำหรับตรวจเรือ ฉบับที่ 15 พ.ศ. 2528
อำนาจรัฐชายฝั่งต่อเรือต่างประเทศผ่านเข้ามาในน่านน้ำของประเทศของตน ตามอนุสัญญากฎหมายทะเล
1982 ไม่ว่ารัฐชายฝั่งมีอำนาจในการควบคุมป้องกันภาวะมลพิษทางทะเลจากเรือที่อยู่ในอธิปไตยของตน
ในทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะ
ในทะเลอาณาเขตรัฐชายฝั่งมีอำนาจที่จะบัญญัติกฎหมายระเบียบข้อบังคับ เพื่อป้องกันรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเล
ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของตนได้อย่างเต็มที่ เพราะรัฐมีอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขตในขณะที่ภายในเศรษฐกิจจำเพาะรัฐไม่สามารถจะบัญญัติกฎหมายระเบียบข้อบังคับอย่างอิสระ
เพราะจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและมาตรฐานระหว่างประเทศ เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะ
กฎระเบียบต่าง ๆ นี้ไม่รวมถึงการออกแบบโครงสร้าง หรือการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง
ๆ บนเรือเว้นแต่เป็นไปตามข้อบังคับและมาตรฐานระหว่างประเทศ
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเลและมีเรือเดินทางเข้าออกแต่ละปีเป็นจำนวนมาก
และมีกองเรือที่เดินทางทำการขนส่งระหว่างประเทศทำให้มีโอกาสได้รับผลกระทบจากมลพิษจากเรือ
จึงควรที่เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ควบคุมป้องกันมลพิษจากเรือ
ค.ศ. 1973 และพิธีสาร ค.ศ. 1978 หรือ MARPOL 73/78 ซึ่งจะให้อำนาจรัฐชายฝั่งต่อเรือที่ผ่านเข้ามาในน่านน้ำในการออกกฎระเบียบ
หรือตรวจสอบเรือให้เป็นไปตามกฎหมายที่ตราขึ้นต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ
การเข้าเป็นภาคีจะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย โดยทำให้กิจกรรมพาณิชย์นาวีของประเทศไทยได้มาตรฐาน
เป็นที่ยอมรับจากสากลประเทศมากขึ้น และจะได้รับความสะดวกในการเดินทางเข้าออกท่าเรือต่างประเทศ
เนื่องจากได้รับ CERTIFICATE ที่ออกโดยรัฐบาลไทยซึ่งรับรองการที่เรือปฏิบัติตามข้อกำหนด
MARPOL 73/78 ซึ่งรัฐอื่นจึงไม่สามารถปฏิเสธที่ไม่ให้เรือไทยเดินทางเข้าไป
หรือใช้สิทธิกักกันเรือไทยจากสาเหตุที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด MARPOL 73/78
และในทางกลับกัน MARPOL 73/78 ให้อำนาจกับประเทศไทยปฏิเสธไม่ให้เรือต่างประเทศที่ไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง
ๆ ที่กำหนดไว้ เข้ามาในท่าจอดเรือ และมีสิทธิที่จะกักกันเรือที่มีสภาพหรืออุปกรณ์ของเรือไม่เป็นไปตามที่กำหนดใช้
ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสภาวะแวดล้อม
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายภายในแล้ว คือ พ.รบ. เดินเรือในน่านน้ำไทย,
ประกาศกรมเจ้าท่า , กฎข้อบังคับสำหรับตรวจเรือ แต่การออกกฎหมายโดยมี อนุสัญญาระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานของกฎหมายภายใน
การใช้อำนาจในการตราและบทบัญญัติกฎหมายย่อมจะเป็นที่ยอมรับโดยประเทศทั่วไป
ประเทศไทยจึงสมควรที่จะพิจารณาเข้าเป็นภาคี MARPOL 73/78