การศึกษาผลตอบแทนจากการลงทุนของผู้สมัครหรือทีมผู้สมัครรับเลือกตั้งจะใช้
"คะแนนเสียง" และ "การได้รับเลือกตั้ง" เป็นตัวบ่งชี้ผลตอบแทนจากการลงทุนในกิจกรรมทางการเมือง
ซึ่งระบบข้อมูลในส่วนนี้ได้จากงานเลือกตั้งฯ กองปกครองและทะเบียน กระทรวงมหาดไทย
ส่วนวิธีการศึกษาค่าใช้จ่ายในการหาเสียงใช้สังเกตการณ์ และการสัมภาษณ์ผู้สมัครรับเลือกตั้ง
อาสาสมัครลงพื้นที่ ผู้รับจ้างแห่ป้ายหาเสียง ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งภายในเขตกรุงเทพมหานครโดยงานศึกษานี้จะงดเว้นการระบุชื่อ-สกุลของผู้สมัคร
ชื่อทีมผู้สมัคร ชื่อเขต ชื่อพรรค และชื่อสกุลผู้ให้สัมภาษณ์ เพื่อความเป็นกลางทางวิชาการและการเมือง
เขตเลือกตั้งที่คัดเลือกมากเป็นกรณีศึกษาใช้เพียง 2 เขต คือ เขต X และ
Y โดยศึกษาค่าใช้จ่ายจากผู้สมัครจาก 3 ทีม ซึ่งสังกัด 3 พรรค คือ พรรค P,
Q, R รวมทีมศึกษาทั้งสิ้น 6 ทีม ได้แก่ A, B, C, D, E และ F
การประมาณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร ประเมินจากข้อมูลสัมภาษณ์
การสังเกตการณ์ช่วงสั้น ๆ ในวันเลือกตั้งและการสำรวจพื้นที่ศูนย์อำนวยการการเลือกตั้ง
ของพรรคในเขต X และ Y หลังการเลือกตั้ง
ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งที่ประเมินได้ เป็นเพียงค่าประมาณการค่าใช้จ่ายขั้นต่ำสุดที่มิได้รวมถึงค่าใช้จ่ายในการโฆษณาผ่านโทรทัศน์,
วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซื้อเสียง และค่าใช้จ่ายในการจัดเลี้ยงหรือช่วยเหลือตามเทศกาลและโอกาสต่าง
ๆ อาทิ งานบวช งานวันเกิด งานวันสงกรานต์ เป็นต้น
นอกจากนั้น ประมาณการค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะหมายถึงค่าใช้จ่ายของทั้งทีมหรือของผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งในทีมนั้นก็ได้
ทั้งนี้เนื่องจากการรณรงค์หาเสียงของผู้ได้รับเลือกตั้งซึ่งในส่วนใหญ่จะเป็นหัวหน้าทีม
จะต้องโฆษณาผู้สมัครหมายเลขอื่นในทีมของตนด้วยนั่นเอง