Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2535
"ผลตอบแทนจากการลงทุนเลือกตั้ง ส.ส. ใน กทม."             
โดย สุนทราภรณ์ เตชะพะโลกุล มารียะ สาราศาน์
 

 
Charts & Figures

ประมาณค่าใช้จ่ายขั้นต่ำสุดที่เป็นไปได้ของการหาเสียงในรอบ 30 วันก่อนการเลือกตั้ง
ผลตอบแทนและค่าใช่จ่ายขั้นต่ำสัดส่วน (%)
ผลตอบแทนต่อการลงทุน


   
search resources

Investment
Research
Political and Government




"การวิจัยเขตเลือกตั้งเพียง 2 เขตใน กทม. พบว่าพรรคที่มีการลงทุนประสิทธิภาพสูงใช้เงินเพียง 1.2 ล้านบาทต่อ ส.ส. 1 คน เทียบกับ 10 ล้านบาท ของอีกพรรคหนึ่งและยังพบว่าบางพรรคลงทุนหาเสียงด้วยค่าใช้จ่ายสูงกว่าคะแนนเสียงที่ได้มามากนัก

ในฤดูกาลรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เรื่องที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอก็คือ เรื่องของการใช้เงินทั้งในทางตรงและทางอ้อมเป็นจำนวนมากเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขสถิติยืนยันก็ตาม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าหรือนักธุรกิจจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาผู้แทนเป็นจำนวนมากกว่าสาขาอาชีพอื่น

การเลือกตั้งที่ผ่านมามี ส.ส. เป็นนักธุรกิจถึง 164 คน หรือร้อยละ 46 ของสมาชิกทั้งหมด เนื่องจากเป็นผู้ที่มีฐานะทางเงินดี มักจะได้เปรียบกว่าผู้มีทุนทรัพย์น้อยหรือขาดการสนับสนุนทางด้านเงิน

แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้มีอาชีพเป็นนักธุรกิจ ก็มีแหล่งจากนักธุรกิจสนับสนุน ดังกรณีเรื่องข่าวลืออื้อฉาวของประธานที่ปรึกษาพรรคกิจสังคม

อันที่จริงการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้สมัครแต่ละคนจะเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเขตเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูง หรือผู้สมัครซึ่งเป็นบุคคลสำคัญต้องชนะการเลือกตั้งเท่านั้น ค่าใช้จ่ายก็จะสูงมากขึ้นโดยเฉพาะในหมวดค่าพิมพ์แผ่นปลิวและป้ายโฆษณาหาเสียง ค่าใช้จ่ายในการระดมผู้มีสิทธิเลือกตั้งละเว้นการลงคะแนนเสียงให้กับผู้อื่น หรือให้ไปลงคะแนนเสียงให้กับตน และค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งของตนเพื่อเสริมสร้างบารมีและฐานคะแนนเสียงให้มั่นคง ตลอดจนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ตัวเองโดยเทคนิคและวิธีการหาเสียงแบบใหม่ เพื่อให้เด่นกว่าคู่แข่งขันและจะได้คะแนนเสียงมากขึ้น

ดังนั้น กระบวนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในสายตาของผู้สมัครรับเลือกตั้งก็คือ การลงทุนทางการเมืองที่มี "ประชาธิปไตย" หรืออำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนเป็น "สินค้า" ที่จะได้รับเป็น "ผลตอบแทน" กลับมาเมื่อลงทุน และต้องเป็นผลตอบแทนที่สูงในระดับที่จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส. ได้ จึงถือว่าเป็นการลงทุนนั้นเป็นผลสำเร็จหรือคุ้มทุน

ผลตอบแทนจากการลงทุนจะมีทั้งลักษณะที่เหมือนกันและแตกต่างกัน คือ ในทางธุรกิจผลตอบแทนมีความสำคัญไม่เพียงแต่จะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่าควรจะลงทุนต่อไปหรือไม่ ยังเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่อิทธิพลต่อการดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ตลอดจนเป็นตัวบ่งชี้ถึงผลการปฏิบัติงานภายในองค์กรหนึ่ง ๆ และอาจใช้เปรียบเทียบกับองค์กรหรือธุรกิจอื่นว่าการดำเนินการของธุรกิจนั้นให้ผลสำเร็จหรือมีประสิทธิภาพเพียงใด

ในทางกลับกัน ในทางการเมืองนั้นหากผู้สมัครรับเลือกตั้งทุ่มทุนในการหาเสียงไปเป็นจำนวนมาก ทว่ามิได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. แม้ว่าในแง่ของการลงทุนเขาไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็มิได้หมายความว่าในทางการเมืองแล้วเขาควรไปจากธุรกิจสายนี้

จากข้อเท็จจริงจะพบว่าผู้สมัครที่มีกำลังทางการเงินสูงและลงทุนไม่มาก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ หรือด้อยประสิทธิภาพในการลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครรายอื่น กล่าวคือได้รับการเลือกตั้งโดยใช้จ่ายสูงกว่าผู้อื่น ก็ยังคงสมัครรับเลือกตั้งเกือบทุกสมัย

เนื่องจากผลตอบแทนที่มองไม่เห็นทางการเมืองจากการลงทุนขั้นต้น นั่นคือ การชนะการเลือกตั้งจะเป็นพื้นฐานการขยายตัวต่อไปของอำนาจ อิทธิพลและเป็นพลังต่อรองในการเรียกร้องตำแหน่งต่าง ๆ ภายในพรรคตลอดจนตำแหน่งในรัฐบาล

การ "ทุ่มทุน" หาเสียงแม้ว่าจะได้รับเลือกตั้งหรือมิได้รับเลือกตั้งก็ตาม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และภายในระดับสังคมก่อให้เกิดผลที่ไม่เหมาะสมต่อประชาธิปไตย ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมการลงทุนดังกล่าวปิดโอกาสผู้มีความรู้ความสามารถที่มีกำลังทางการเงินน้อย หรือได้รับการสนับสนุนทางการเงินน้อย มิให้มีโอกาสชนะเลือกตั้ง พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้มีกำลังทางการเงินสูงมีโอกาสเข้ามาครอบงำทางการเมืองมากขึ้น สังคมจึงสูญเสียหลักสำคัญของประชาธิปไตย อันได้แก่ "หลักของความเท่าเทียมกันในโอกาส" ไป

ประเด็นสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้จึงอยู่ที่ว่า นักลงทุนทางการเมืองนั้นใช้จ่ายทุนทรัพย์ของตนไปเพื่อกิจกรรมใดบ้าง? มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? และผลตอบแทนจากการลงทุนที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครอื่นหรือทีมอื่น?

ทุ่มเงินหาเสียง

ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีสำหรับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2535 ที่ผ่านมาพบว่าค่าใช้จ่ายต่อบุคคลหรือผู้สมัครมีค่าสูงกว่ามาตรฐานทางกฎหมายเลือกตั้งที่ระบุไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาททั้งสิ้น ยกเว้นทีม CX ที่พรรค R ให้ลงสมัครโดยมิได้มุ่งแข่งขันกับทีมใด แต่ให้ลงสมัคร "กันเบอร์" หรือลงให้เต็มเท่านั้น ค่าใช้จ่ายจึงต่ำที่สุด

จะเห็นได้ว่า เงินส่วนใหญ่ที่ใช้จ่ายเกิน 1 ล้านบาทนั้นมิได้ใช้เพื่อการแจกหรือซื้อเสียงอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่มองเห็นเป็นรูปธรรมและประเมินได้ก็มีค่าสูงกว่า 1 ล้านบาทแล้ว เช่น ค่าพิมพ์ใบปลิว โปสเตอร โปสการ์ด สติกเกอร์ ป้ายและผ้าโฆษณา (ดูตารางค่าใช้จ่ายหาเสียงประกอบ) 3 ทีมใน 6 ทีม ใช้เกิน 1 ล้านบาททั้งสิ้น

ส่วนค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ก็มีอยู่สูงมากเช่นกัน อาทิ ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหาร และค่าใช้จ่ายเพื่อสาธารณะประโยชน์ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทีม BX จากพรรค Q ใช้จ่ายเงินเพื่อการรณรงค์หาเสียงสูงที่สุดกว่าทุกทีมถึง 19 ล้านบาท เนื่องจากต้องการสร้างฐานคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้ง X ให้มั่นคงนั่นเอง

การเคลื่อนไหวของการลงทุนขั้นต่ำสุดกับผลตอบแทนในรูปคะแนนเสียง

เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปคะแนนเสียงที่ได้รับการเลือกตั้งกับการลงทุนจะพบว่ามีเพียง 4 ทีมที่ลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาหรือมีผู้สมัครในทีมได้รับเลือกตั้งซึ่งได้แก่ ทีม AX, DY, FY และ BX โดยทีม AX, DY และ FY ลงทุนแล้วคุ้มทุน กล่าวคือได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินลงทุนที่เสียไป

ทีม AX หรือผู้สมัครจากพรรค P ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือมีผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าทุกทีม (ดูตารางผลตอบแทนและค่าใช้จ่ายประกอบ) ทีมที่ลงทุนได้อย่างประสิทธิภาพรองลงมาได้แก่ ทีม DY และ FY ส่วนทีม BX เป็นทีมที่ลงทุนแล้วด้อยประสิทธิภาพไม่คุ้มทุนแม้ว่าจะมีผู้สมัครได้รับเลือกตั้งก็ตาม

COST-BENEFIT เขตเลือกตั้ง X

ข้อมูลจากตารางผลตอบแทนจากการลงทุน ทีม CX จากพรรค R เป็นทีมที่ลงทุนแล้วล้มเหลว (ขาดทุน) เนื่องจากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับการเลือกตั้ง ในขณะที่ทีม AX จากพรรค P ใช้เงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ประหยัด) กว่าทีม BX จากพรรค Q โดยมีค่าใช้จ่ายต่อการได้ ส.ส. หนึ่งคนประมาณ 4.4 ล้านบาท ในขณะที่ทีม BX ต้องใช้เงินลงทุนถึงกว่า 2 เท่าของทีม AX คือประมาณ 10.4 ล้านบาท จึงจะได้ ส.ส. หนึ่งคน

หากพิจารณาเงินลงทุนต่อคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว การที่จะได้มาซึ่งคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้ง 1 คะแนน ทีม AX จะลงทุนด้วยเงินเพียง 85 บาท ในขณะที่ทีม BX ต้องลงทุนด้วยเงินถึง 398 บาท (ดูตารางผลตอบแทนต่อการลงทุน)

เนื่องจากทีม BX หรือพรรค Q เป็นเจ้าของคะแนนเสียงในพื้นที่นี้มาก่อน การลงทุนมากมายในครั้งนี้เป็นไปเพื่ออนาคตการเมือง เพื่อศักดิ์ศรีของพรรคและเพื่อมิให้ทีม AX ซึ่งเป็นคู่แข่งขันหน้าใหม่ทีมสำคัญกลายมาเป็นตัวแทรกในระหว่างที่เคยได้รับชัยชนะยกทีม

ดังนั้นการทุ่มทุนและการแข่งขันในเขตนี้จึงมีความเข้มข้นสูง และหากพิจารณาเงินลงทุนต่อจำนวนผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ทีม BX ต้องใช้จ่ายเงินถึง 186 บาท/คน ในขณะที่ทีม AX และ CX ใช้จ่ายเงินเพียง 30 บาท/คน และ 0.5 บาท/คน เพื่อให้ผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงให้ทีมของเขา

COST-BENEFIT เขตเลือกตั้ง Y

ทีมที่ลงทุนแล้วขาดทุนจากการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ทีม EY จากพรรค Q ในขณะที่ทีม DY จากพรรค P ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าทีม FY จากพรรค R โดยมีค่าใช้จ่ายต่อการได้ผู้แทนหนึ่งคนประมาณ 1.2 ล้านบาท ในขณะที่ทีม FY ต้องใช้จ่ายถึง 3.4 ล้านบาท จึงจะได้ผู้แทนหนึ่งคน

หากพิจารณาเงินลงทุนต่อคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้ง 1 คะแนนเสียง ทีม DY ใช้เงินเพียง 61 บาท ในขณะที่ทีม FY ต้องใช้จ่ายถึง 96 บาท การที่ทีม FY มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าทีม DY ซึ่งเป็นทีมคู่แข่งหน้าใหม่ทีมสำคัญก็เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นฐานคะแนนเสียงของทีม FY หรือพรรค R มาแต่เดิม

การลงทุนครั้งนี้ก็เพื่อ "แข่งขัน" และ "ปกป้อง" คะแนนนิยมของพรรคตนจากทีมอื่นที่จะมาช่วงชิงโดยเฉพาะต่อทีม DY ในขณะที่ทีม DY มีคะแนนนิยมของหัวหน้าพรรคเป็นเดิม ดังนั้นการใช้จ่ายเงินจึงไม่สูงมากนัก

หากพิจารณาค่าใช้จ่ายที่จะทำให้ผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 1 คนลงคะแนนให้ทีมเขา ทีม FY ต้องใช้จ่ายเงินถึง 37 บาท ในขณะที่ทีม DY ใช้จ่ายเงินเพียง 26 บาท และทีม EY ใช้จ่ายเงินเพียง 19 บาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายของทีม EY ต่ำกว่าทุกทีมและไม่มีผู้แทน

กล่าวโดยสรุป พรรค P หรือผู้สมัครจากพรรคนี้ในเขตเลือกตั้ง X และ Y ของกรุงเทพมหานครสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อการหาเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือประหยัดกว่าผู้สมัครจากพรรคอื่นหรือทีมอื่น ทั้งในด้านการเงินการลงทุนต่อคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้ง

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งและค่าใช้จ่ายที่ปรับฐานให้เท่ากับ 100 แล้ว ผู้สมัครทั้ง 2 ทีมจากพรรค P ทั้งทีม AX และ DY ยังคงเป็นผู้สมัครที่ลงทุนหาเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือประหยัดที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกทีมในเขตเลือกตั้ง X และ Y และเมื่อเปรียบเทียบ 2 เขตเลือกตั้งร่วมกัน ทีม AX เป็นทีมที่ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือประหยัดที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้มุมมองทางธุรกิจจะให้นัยทางการลงทุนของบางทีมหรือบางพรรคเป็นไปได้ในทางลบ กล่าวคือ ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

แต่เหตุผลในทางการเมือง นักลงทุนในเส้นทางนี้แม้จะประสบความล้มเหลวหรือไม่คุ้มทุน พวกเขาก็ยังลงทุนอยู่ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์บทเรียน และรอการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และผลตอบแทนที่อาจจะมีให้เขาในฤดูกาล (การเลือกตั้ง) ต่อไป

ถึงแม้ว่า ผลการศึกษาจะให้ข้อสรุปบางอย่างว่า กำลังเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิธีการหาเสียง เป็นไปได้อย่างกว้างขวาง ซับซ้อนและลึกซึ้ง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทน

แต่เงินก็มิใช่ปัจจัยเดียวที่บงการให้ผู้ใดเป็นผู้แทนเนื่องจากการได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทน ยังขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การหาเสียง ขึ้นอยู่กับคุณธรรม และการปรับปรุงบุคลิกภาพของผู้สมัครตลอดจนผู้นำพรรคให้สอดคล้องกับความนิยมของประชาชนด้วย

มิฉะนั้นแล้ว "ประชาธิปไตย" ก็จะกลายเป็น "ธนาธิปไตย" ที่หมายถึงเรื่องราวแห่งการต่อสู้กันทางการเงินมิใช่เรื่องของการต่อสู้ระหว่างนโยบายของแต่ละพรรคว่าประชาชนจะเลือกนโยบายใด

และหากเป็นดังนี้ในระยะยาว "ประชาธิปไตย" ก็จะแปลกแยกไปจากจินตภาพอันบริสุทธิ์อันเป็นตัว "ภูมิปัญญา" ที่สูงส่งของมนุษย์เอง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us