บลจ.อเบอร์ดีน ชูกลยุทธ์เลือกหุ้นแวร์ลูสต๊อก เฟ้นธุรกิจเข้าใจง่าย งบการเงินแข็งแกร่ง ผู้บริหารมีวิชั่น ถือครองยาว ไม่หวั่นตลาดผันผวน พร้อมจับมือพันธมิตร 4 รายใหญ่เปิดโครงการลงทุนอย่างชาญฉลาดกับอเบอร์ดีนเพิ่มความรู้นักลงทุน
โรเบิร์ต เพนนาโลซา ประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน กล่าวว่าภาวะตลาดหุ้นไทยในปี 2551มีความผันผวนสูงและมีแนวโน้มจะปรับลดลงเฉลี่ย 15-20% อย่างไรก็ตามยังคงปรับตัวลดลงต่ำกว่าตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่ลดลงประมาณ 35-40%
สำหรับผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1%ต่อปี เท่านั้น ส่วนค่าความเสี่ยงก็อยู่ในระดับ 19% ขณะที่กองทุนหุ้นของอเบอร์ดีน ได้แก่ กองทุนอเบอร์ดีน โกรท ฟันด์ (ABG) ,กองทุนอเบอร์ดีน สมอลล์แค็ป ฟันด์ (ABSM) และกองทุนอเบอร์ดีน สยาม ลีดเดอส์ ฟันด์ (ABSL) สามารถสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีได้เฉลี่ยที่ 7-10%ต่อปี โดยมีค่าความเสี่ยง 13-15%
ทั้งนี้อเบอร์ดีนได้ปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยเน้นลงทุนในระยะยาวตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป รวมทั้งจะไม่เน้นใช้กลยุทธ์ถือเงินสดสูง แต่ละกองทุนจะถือครองสถานะเงินสดไม่เกิน 2-3% ส่วนการลงทุนในหุ้นก็จะเน้นลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เข้าใจง่าย มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และมีฐานการเงินแข็งแกร่ง รวมทั้งผู้บริหารจะต้องมีแนวทางบริหารที่ชัดเจน ดูแลผลประโยชน์ของนักลงทุนรายย่อย
“หุ้นที่อเบอร์ดีนลงทุนจะต้องมีสภาพคล่องทางการเงินสูง ไม่มีหนี้สินเพื่อจะได้รับเงินปันผลสูงด้วย ขณะเดียวกันก็จะไม่เน้นหุ้นขนาดใหญ่แต่ไม่มีวิธีการบริหารที่ดี ซึ่งอเบอร์ดีนจะเลือกถือหุ้นน้อยตัว แต่จะพิจารณาน้ำหนักให้เหมาะสมกับสถานการณ์ช่วงนั้น”
ล่าสุดอเบอร์ดีนได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ 4 ราย ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์ ,บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร, ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด และธนาคารซิตี้แบงก์ ในการจัดโครงการลงทุนอย่างชาญฉลาดเพื่อสนับสนุนการลงทุนระยะยาว ซึ่งจะเน้นให้ความรู้นักลงทุนภาวะตลาดผันผวน โดยแนะนำให้ลงทุนกับบริษัทที่มั่นคงด้วยกลยุทธ์ถือครองสินทรัพย์ไว้ระยะยาว
สำหรับสถานการณ์ลงทุนในปัจจุบัน หุ้นทั่วโลกถูกกดดันจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองในประเทศ, ปัญหาเงินเฟ้อสูง, ภาวะเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและญี่ป่นอ่อนตัว รวมถึงวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา นักลงทุนจึงควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นแทน เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ,กองทุนรวมหุ้นระยาว (LTF) หรือ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ(FIF)เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นโดยตรง
|