Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2535
"แบงก์ทหารไทยเล็งเปิดสาขาที่เกาะกง"             
 


   
search resources

ธนาคารทหารไทย
Banking
สุทัย อุนนานนท์




ขณะนี้แบงก์ไทยแห่ขยายฐานเข้ากัมพูชา โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุน การตั้งสาขา สำนักงานตัวแทน แบงก์เหล่านี้ต่างเลือกสถานที่เดียวกันคือ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ด้วยความคิดที่ว่าเมืองหลวงย่อมต้องเป็นศูนย์กลางทางการค้าการลงทุน และการเงินดีกว่าเมืองอื่น ๆ

แต่ธนาคารทหารไทยซึ่งเป็นแบงก์อันดับกลางกลับเลือกสถานที่ที่เป็นเมืองหน้าด่านอย่างเกาะกงด้วยเหตุผลที่ว่า เกาะกงยังเป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางการค้าของกัมพูชาในปัจจุบัน

ประเสริฐ วัฒนา กรรมการฝ่ายต่างประเทศ หอการค้าจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การค้าที่เกาะกงสามารถทำให้เขมรมีรายได้เข้าประเทศประมาณเดือนละ 100 ล้านบาท เป็นเมืองการค้าที่สร้างรายได้สูงสุดให้แก่ประเทศเปิดใหม่แห่งนี้ และยังเป็นเมืองที่ได้เปรียบดุลการค้าไทยมาตลอด แม้ว่าที่ผ่านมา ไทยได้ส่งสินค้าไปขายยังเมืองต่าง ๆ ในเขมรและโฮจิมินห์ของเวียดนามโดยลำเลียงเข้าทางเกาะกงเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันไทยก็สั่งสินค้าเข้าจากเขมรเป็นจำนวนมากเช่นกัน"

ปี 2534 มูลค่าการค้าที่ผ่านเกาะกงของเขมรและด่านศุลกากร อ. คลองใหญ่ของไทย มีค่าเท่ากับ 335.30 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 290.56 ล้านบาท (เพิ่มจากปี 2533 ประมาณ 36.51%) มูลค่าการส่งออก 44.74 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้า 245.82 ล้านบาท

สินค้าที่นำเข้าด้านคลองใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณชายแดนไทยที่อยู่ตรงข้ามกับเกาะกง ส่วนมากเป็นไม้ซุง ไม้แปรรูปถึง 81.53% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด แต่สินค้าที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่คือสินค้าอุปโภค บริโภค มูลค่าสินค้าจึงมีความแตกต่างกันสูง

นอกจากจุดค้าขายตรงคลองใหญ่-เกาะกงแล้ว จังหวัดตราดซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับเขมรทางทะเลเป็นระยะทาง 165.5 กิโลเมตรและทางบกมีเทือกเขากั้นพรมแดนเป็นระยะทาง 165 กิโลเมตร ทำให้มีการติดต่อค้าขายระหว่างประชาชนสองประเทศอยู่กระจัดกระจายนอกเหนือไปจากคลองใหญ่-เกาะกง โดยมีทั้งผ่านและไม่ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นจำนวนมาก

ผู้จัดการสาขาธนาคารใหญ่หลายแห่งแถบชายแดนประมาณการมูลค่าการค้าในช่วงก่อนปี 2532 มีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หลังจากนั้นมูลค่าการค้าลดลงเดือนละ 1,000 ล้านบาท เพราะ พล.อ. ชาติชาย ชุณหวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า (เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งนายกฯ) จึงทำให้ประตูการค้าเปิดเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งที่อรัญประเทศ สินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องลำเลียงทางเรือเพื่อส่งเข้ายังพนมเปญ ก็จะเปลี่ยนมาใช้เส้นทางปอยเปตแทนเกาะกง เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป มาม่า ไวไว ยำยำ วิทยุเครื่องเล็ก เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วสินค้าไทยที่เคยอาศัยเส้นทางพนมเปญเพื่อส่งเข้าโฮจิมินห์ไม่สามารถจะใช้เส้นทางเดิมได้ เนื่องจากเวียดนามประกาศยกเลิกมาตรการเมืองคู่การค้าที่เคยใช้กับประเทศเขมร อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการค้าที่ทางด่านศุลกากร อ. คลองใหญ่ ระบุว่าไม่ผ่านพิธีการฯ มีเพียง 95-120 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น โดยคิดประมาณการจากผู้ประกอบการค้า 40-50 ราย เฉลี่ยรายละประมาณ 200,000 บาทต่อเดือน

สุรพงษ์ วิญญาวงศ์ ผู้จัดการภาคกลาง 1 ธนาคารกรุงเทพ เล่าว่า "แบงก์กรุงเทพเป็นแบงก์แรกที่เปิดสำนักงานที่คลองใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ว่าปริมาณการค้าระหว่างไทยกับเขมรที่นี่มีมากกว่าจุดอื่น ต่อมาแบงก์กสิกรไทยและไทยพาณิชย์จึงมาเปิดตามในปี 2533 แม้ว่าขณะนี้การค้าคลองใหญ่กับเกาะกงจะน้อยลงก็ตาม แต่ทางแบงก์ยังเห็นว่าเกาะกงเป็นจุดที่จะให้บริการทางการเงินได้ต่อไป ซึ่งในอนาคตแบงก์กรุงเทพอาจจะเปิดสาขาขึ้นที่เกาะกงก็เป็นได้"

แหล่งข่าวจากวงการแบงก์พาณิชย์เปิดเผยว่า เกาะกงเป็นที่จุดที่มีการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษีไม่น้อยทีเดียว อาทิ ปลากรอบ ไม้จันทน์ ไม้แปรรูปบางประเภท บางครั้งก็มีบุหรี่ต่างประเทศลักลอบขึ้นที่เกาะกงฝั่งตรงข้ามคลองใหญ่แล้วจึงทยอยเข้าไทย ขณะเดียวกันก็มีการลักลอบขายสินค้าอุปโภค บริโภค เช่น สบู่ ยาสีฟัน เสื้อผ้า วิทยุ รถจักรยานยนต์ให้กับเขมร ส่วนใหญ่ผู้ทำการลักลอบก็คือชาวประมงของทั้งสองฝั่งประเทศ ซึ่งส่วนนี้ก็มีการใช้บริการธนาคารด้วย อาทิ การโอนเงินค่าสินค้า การออกดราฟต์ การใช้เช็คและการใช้สินเชื่อเพื่อประกอบการค้า

"แม้ว่าจะเป็นการลักลอบค้าขาย แต่แบงก์ชายแดนก็ต้องให้บริการเพราะเป็นสภาพปกติของชายแดนทุกแห่ง" แหล่งข่าวกล่าวและเสริมอีกว่า รายได้ของแบงก์ชายแดนแถบคลองใหญ่ ส่วนมากมาจากค่าธรรมเนียมการโอนเงินถึง 40% นอกนั้นก็เป็นค่าบริการออกดราฟต์ เช็คและสินเชื่อ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนยังมีไม่มากนัก เพราะชายแดนเขมรใช้เงินบาทซื้อขายสินค้าอยู่แล้ว

สุทัย อุนนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "สาขาที่จะเปิดในประเทศเขมรนั้นตอนแรกมั่นใจว่าจะตั้งที่เกาะกง แต่ขณะนี้บรรยากาศทางการค้าของเกาะกงไม่คึกคักเหมือนก่อน จึงต้องพิจารณาใหม่อีกครั้งระหว่างเกาะกงกับพระตะบองซึ่งเป็นเมืองที่มีแร่ธาตุ ป่าไม้และความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร กำลังทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะมีพ่อค้าเข้าไปลงทุนพอสมควร"

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวอีกคนหนึ่งจากแบงก์ทหารไทยให้ความเห็นว่า "เกาะกงยังเป็นจุดที่คณะกรรมการแบงก์สนใจอยู่ไม่น้อย แม้ว่าปริมาณการค้าจะลดลง เนื่องจากขณะนี้เขมรมีประตูเปิดรับนักลงทุนอยู่หลายประตูทำให้การค้าทยอยเข้าเมืองอื่น ๆ โดยไม่ต้องผ่านเกาะกงเหมือนเดิม เช่น เรือสินค้าจากสิงคโปร์ที่ขนสินค้าประเภทเครื่องยนต์ รถยนต์ วิทยุ หรือน้ำมันได้เปลี่ยนจากการเทียบท่าที่เกาะกงเข้าจอดท่าเรือน้ำลึกกัมปงโสมแทน แต่ในอนาคตคาดว่าผู้บริหารเกาะกงต้องปรับแผนพัฒนาแน่นอน"

ขณะนี้ผู้บริหารเกาะฯ มีแผนคร่าว ๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบนเกาะฯ แล้ว และปัจจุบันการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) มีแผนจะตั้งสถานีจ่ายน้ำมันบนเกาะ เนื่องจากเกาะกงเป็นศูนย์จอดเรือประมงโดยธรรมชาติ เรือประมงไทย เวียดนาม และเขมรมักจะแวะจอดที่นี่

ผู้จัดการแบงก์บริเวณชายแดนหลายแห่งเชื่อว่าถ้าแบงก์ทหารไทยตั้งสาขาบนเกาะกง ก็อาจจะทำให้มีลูกค้าที่เคยข้ามมาใช้แบงก์ฝั่งไทยหันไปใช้บริการของทหารไทยแทนเพราะไม่ต้องเสียเวลาข้ามเรือไปกลับเหมือนอย่างเคย

การตั้งแบงก์ที่เกาะกงน่าจะดีกว่าตั้งที่พนมเปญในปัจจุบัน เพราะคนในเมืองหลวงส่วนใหญ่ยังไม่ไว้ใจระบบธนาคาร ห่างเหินการใช้บริการธนาคารมานานถึง 13-14 ปีในช่วงภาวะสงคราม

วัณกิตติ์ วรรณศิลป์ ผู้จัดการธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ ธนาคารร่วมทุนแห่งหนึ่งของเขมรกล่าวว่า "มีความลำบากใจมากในการทำความเข้าใจเกี่ยวระบบแบงก์ เพราะคนที่นี่ชอบเก็บเงินสดไว้กับตัวมากกว่าเพื่อเตรียมตัวไว้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง ประกอบกับเดิมแบงก์ชาติของเขมรเคยระดมเงินฝากกับประชาชนแล้ววางกฎระเบียบการถอนเงินยุ่งยาก ซับซ้อน เช่น ผู้ถอนต้องแจ้งเหตุผลการถอนและการนำไปใช้ เป็นต้น ทำให้คนเขมรค่อนข้างไม่เชื่อถือระบบแบงก์ แบงก์ที่ทำอยู่ตอนนี้มีปัญหาเรื่องระดมเงินฝากและการให้สินเชื่อเพราะคนเขมรคุ้นเคยกับการกู้เงินนอกระบบ"

สกุลเงินที่นิยมใช้ในพนมเปญคือ ดอลลาร์ เมื่อแรกเริ่มที่ตั้งแบงก์ใหม่ในปลายปีที่แล้ว ชาวพนมเปญไม่ยอมรับเงินบาทในการใช้จ่าย จนต้นปีที่ผ่านมาเงินดอลลาร์ขาดตลาด เป็นเหตุให้เงินบาทขึ้นมาทดแทน แต่ความเชื่อถือในเงินบาทก็ยังมีน้อยสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาในเขมร ส่วนการซื้อขายสินค้าถ้าจ่ายเป็นเงินบาท พ่อค้าจะคิดราคาสูงกว่าจ่ายเป็นสกุลดอลลาร์

แหล่งข่าวกล่าวว่าถ้ามองถึงปัจจัยแวดล้อม ปัจจุบันเกาะกงยังไม่มีสาขาแบงก์หรือสถาบันการเงินมาเปิดให้บริการ หากแบงก์ทหารไทยจะเปิดสาขาที่นี่ก็น่าจะประกอบธุรกิจการเงินได้ดีกว่าที่พนมเปญ เพราะคนเขมรบริเวณชายแดนไทยคุ้นเคยกับระบบแบงก์มากกว่าและมีการใช้บริการอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินมาฝากหรือการขอใช้สินเชื่อประกอบการค้า ฉะนั้นแบงก์ที่ตั้งสาขาบนเกาะก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำประชาสัมพันธ์ หรือไม่ต้องเหนื่อยในการทำความเข้าใจกับผู้ใช้บริการมากนัก

แต่ในอนาคต พนมเปญอาจจะได้เปรียบกว่าเนื่องจากเป็นเมืองหลวง ซึ่งต่อไปคงจะไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ของไทย เนื่องจากจะได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า ซึ่งอาจจะเฟื่องฟูกว่าเกาะกงก็เป็นได้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us