"แบงก์ชาติมีคนล้นงาน" หนึ่งในผู้สมัครเข้าทำงานกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(กลต.) กล่าวในวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครผู้ร่วมงานของ กลต.
การเปิดรับผู้ร่วมงานครั้งนี้มีคนสมัครกว่า 4,600 คน เป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติประมาณ
300-400 คน นอกนั้นมาจากพนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้าราชการกระทรวงการคลัง
ผู้สนใจจากธุรกิจการเงินภาคเอกชน และนักศึกษาจบใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ยอดชาย
ชูศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายการพนักงานและการจัดองค์กรกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
หนึ่งในผู้สมัครที่มาจากฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นฝ่ายที่เกือบจะเรียกได้ว่าแห่กันมาสมัครเกือบยกฝ่าย
กล่าวต่อไปว่า เหตุผลหนึ่งที่คนแบงก์ชาติอยากทำงานใน กลต. ก็คือ ความคิดที่ว่า
กลต. เป็นองค์กรใหม่ ต้องการคนมีความรู้ความสามารถมากโอกาสที่จะได้แสดงฝีมือ
ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่คงจะมีมากกว่าอยู่ที่แบงก์ชาติ
พนักงานระดับ 4 ของแบงก์ชาติ ให้ความเห็นว่า "คนแบงก์ชาติส่วนใหญ่ก็นักเรียนทุนทั้งนั้น
ถือว่าเป็นคนหัวดี เรียนเก่ง ถ้าไม่ได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาให้เป็นประโยชน์
อยู่ไปก็ไม่มีความหมาย โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็น้อย เพราะคนเยอะแต่ตำแหน่งน้อย
คนที่อยู่ไกลผู้ใหญ่ ก็จะไม่ค่อยได้รับการดูแล"
ตัวอย่าง "คนล้นงาน" เห็นได้ชัดในฝ่ายงานกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์
คนในฝ่ายมีประมาณเกือบ 400 คน ออกตรวจสอบแบงก์แต่ละแห่งบางครั้งใช้คนทีเดียวตั้ง
30 คน โดยที่ใช้เวลาในการตรวจสอบเท่าเดิม ซึ่งบางครั้งคนที่ถูกส่งไปก็แทบจะแย่งงานกันทำ
นอกจากนี้แล้ว หน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาระบบตรวจสอบเอง ก็ยังมีปัญหาเพราะคนทำหน้าที่นี้ไม่มีโอกาสออกไปลงสนามจริง
จึงไม่ทราบปัญหาอย่างชัดเจนและไม่สามารถพัฒนาระบบตรวจสอบให้ดีกว่าเดิมได้
ส่วนใหญ่จึงต้องแปลจากหนังสือวิชาการต่างประเทศ ซึ่งทำให้คนทำงานไม่ได้พัฒนาศักยภาพของตนเองเต็มที่
ยอดชายกล่าวอีกว่า พนักงานแบงก์ชาติมีทั้งหมดประมาณ 5,000 กว่าคน ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการใช้คนไม่เต็มที่และไม่ตรงกับศักยภาพ
ยกตัวอย่าง ฝ่ายการพนักงานเอง ยังมีคนจบเศรษฐศาสตร์ จบบัญชีอยู่ ซึ่งการทำหน้าที่บริหารบุคคลไม่จำเป็นต้องจบสาขาดังกล่าวก็ได้
อย่างไรก็ตามแบงก์ชาติเห็นว่า เรื่องการพัฒนาศักยภาพคนเป็นสิ่งสำคัญ การใช้คนให้ตรงกับศักยภาพก็สำคัญเช่นกัน
ดังนั้นในปีนี้ถ้ามีโอกาส จะพยายามโยกย้ายให้แต่ละคนทำงานที่ตรงและถนัดเท่าที่จะทำได้
ตำแหน่งชั้นในแบงก์ชาติถูกแบ่งออกเป็น 10 ชั้นด้วยกัน คือ ระดับ 9-10 จะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ
และผู้อำนวยการฝ่าย ระดับ 8-9 จะดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่าย ระดับ 6-7
จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วย ระดับ 5 จะเป็นเศรษฐกร ผู้วิเคราะห์ ผู้ตรวจสอบ
และบุคลากร ส่วนระดับ 4 คือระดับจบปริญญาตรีเข้ามาใหม่ ระดับ 3 คือผู้จบ
ปวช. ระดับ 1-2 คือ ยาม นักการ คนขับรถ เป็นต้น
เงินเดือนเริ่มแรกที่พนักงานระดับปริญญาตรีในแบงก์ชาติได้รับอยู่ระหว่าง
6,000-6,500 บาทต่อเดือน หากย้ายไป กลต. จะได้รับค่าตอบแทนมากกว่า เพราะเงินเดือนไม่ได้เริ่มต้นตามเพดานของระดับชั้นที่กำหนดไว้
แต่จะพิจารณาตามความสามารถและประสบการณ์ของแต่ละบุคคลที่ผ่านมา ประกอบกับหน้าที่ที่จะเข้ามารับผิดชอบใน
กลต. ส่วนคนที่ถูกยืมตัวจากหน่วยงานเดิม ก็จะได้รับเงินเดือนเพิ่มอีก 15%
จากเดิมที่เคยได้รับอยู่ ในกรณีครบวาระแล้วย้ายกลับมา ก็มีสิทธิ์รับเงินเดือนเท่าที่กลต.
เคยให้โดยไม่ต้องถูกลดขั้น หรือระดับชั้นค่าตอบแทนเลย นอกจากนี้คนจากแบงก์ชาติที่มาสมัคร
ก็สามารถขอกลับแบงก์ชาติได้ถ้ามีเหตุผลสมควร หรือสมัครแล้วไม่ได้รับการคัดเลือกก็สามารถทำงานที่เดิมต่อไปได้
รองผู้อำนวยการฝ่ายการพนักงาน กล่าวต่อว่า แบงก์ชาติยินดีที่จะให้ยืมบุคลากรเพราะ
กลต. เป็นองค์กรใหม่ ซึ่งมีหน้าที่บางอย่างเกี่ยวพันกับการทำงานของแบงก์ชาติอยู่
เช่น การตรวจสอบและกำกับสถาบันการเงินที่เป็นองค์กรสำคัญสำหรับขบวนการออกหลักทรัพย์ในตลาดทุน
ในเบื้องต้นที่ยังไม่มีคนทำงานแบงก์ชาติจึงจำเป็นต้องให้ยืมคนเข้าช่วยวางระบบงานบางส่วนให้
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน อาทิ ระบบจัดสรรฝ่ายงานและคัดเลือกคนเข้าทำงาน
เป็นต้น อีกประการหนึ่งก็ถือว่าคนที่จะไปจะรับความรู้ใหม่ ๆ กลับมาพัฒนางานของแบงก์ชาติเองด้วย
กลต. ได้แบ่งฝ่ายงานต่าง ๆ ออกเป็น 4 ฝ่าย 2 สำนัก คือ ฝ่ายกำกับพัฒนาหลักทรัพย์
ธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดทุน ฝ่ายตรวจสอบหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดทุน
ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ ฝ่ายบริหารทั่วไป ทั้งนี้ฝ่ายกำกับจะทำหน้าที่ด้านนโยบายและวิชาการ
แต่ฝ่ายตรวจสอบจะออกตรวจสอบและออกใบอนุญาตต่าง ๆ ที่ใช้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ
ส่วนหน่วยงานที่คิดว่ายังไม่จำเป็นเร่งด่วน เป็นเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ ก็จะให้เป็นสำนักงานไปก่อน
เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และการตรวจสอบภายใน หรรษา ศรีอิทยาวิทย์
ผู้ถูกยืมตัวไปทำหน้าที่ฝ่ายการพนักงานชั่วคราวของ กลต. กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ในเบื้องต้นนี้ คณะทำงานต้องการคนที่มีประสบการณ์มาแล้ว ซึ่งอาจจะมาจากแบงก์ชาติ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สคค.) กระทรวงการคลังและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คาดว่ารวม ๆ กันแล้วคงไม่เกิน 50 คน เพราะมีคนนอกมาสมัครกันมาก ซึ่งควรเปิดโอกาสให้คนนอกบ้าง
ยกเว้นในส่วนระดับบริหารที่สำคัญที่ต้องคัดสรรเป็นพิเศษ หรือในส่วนที่พิจารณาคัดเลือกจากคนนอกแล้วปรากฏว่าไม่มีผู้เหมาะสม
แต่ในฝ่ายการธนาคารยังไม่มีใครถูกยืมตัวหรือไปสมัครเลย สุพจน์ กิตติสุวรรณ
ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารแบงก์ชาติเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ขั้นตอนการคัดสรรบุคลากรนั้น บุคคลที่มีส่วนตัดสินใจคือ ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ซึ่งถูกยืมตัวไปดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กลต. ส่วนผู้บริหารระดับสูงนั้น
ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ กลต. ซึ่งทุกคนไม่ว่าจะถูกยืมตัวหรือไม่ ก็ต้องไปกรอกใบสมัครในระยะเวลาเดียวกันหมด
การที่คนจากหน่วยงานรัฐ แห่มาสมัครกันมาก อาจเป็นเพราะว่า กลต. เป็นองค์กรใหม่ที่ท้าทายความสามารถ
และเป็นองค์กรที่ต้องเติบโตอีกมาก เบื้องต้นนี้คาดว่าต้องการใช้คนประมาณ
400 คน แต่รับรอบแรกก่อน 200 คน การรับครั้งนี้ต้องการระดับหัวหน้าส่วน หัวหน้าหน่วยหลายตำแหน่งอยู่
ส่วนเด็กจบใหม่คงต้องไว้รอบต่อไปจึงจะมีโอกาส ยอดชายแจงเหตุผลที่คนแบงก์ชาติมาสมัครกันมาก
กรณีการยืมตัวบุคลากรจากแบงก์ชาตินี้ ไม่มีปัญหาการกระทบต่องานแน่นอน เพราะแบงก์ชาติได้เตรียมคนสำรองไว้เสมอ
เนื่องจากปกติแบงก์ชาติเองก็มักถูกยืมตัวอยู่บ่อย ๆ ในการเข้าช่วยวางระบบงานให้สถาบันที่ต้องการความช่วยเหลือ
หรือประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ ๆ เช่น ลาว เขมร เป็นต้น แหล่งข่าวในแบงก์ชาติกล่าวว่า
แม้ว่าคนแบงก์ชาติหวังที่จะมาเติบโตที่ กลต. ในขณะที่ กลต. เองก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไรนัก
ยังไม่รู้ว่า กลต. จะสามารถทำงานบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยแค่ไหนในการพัฒนาตลาดทุน
ซึ่งถ้า กลต. ทำงานไม่เห็นผล คนที่หนีความตันในการขยับขึ้นตำแหน่งหัวหน้าในแบงก์ชาติ
ก็คงต้องคิดหนักถึงอนาคตของตนเอง แม้แต่เอกกมล คีรีวัฒน์ หรือ ดร. ประสาร
ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติก็ยังไม่กล้าเสี่ยงลาออกจากแบงก์ชาติมาทำงานประจำที่
กลต. จึงต้องใช้วิธียืมตัวแทน ซึ่งผู้ที่ไม่มั่นใจในอนาคตของตนเองก็สามารถแสดงความจำนงได้เช่นเดียวกันกับผู้บริหารระดับสูงทั้งสอง
เพราะคนจากแบงก์ชาติที่ไปกรอกใบสมัครสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานประจำที่ กลต.
หรือต้องการให้ยืมตัว
อย่างไรก็ตาม ดร. ประสารได้กล่าวว่างานบางส่วนที่แบงก์ชาติเคยทำอยู่นั้น
ต่อไปเมื่อใช้ พ.ร.บ. SEC แล้วก็ต้องโอนมาให้ กลต. ทำ เช่นการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งนั่นเท่ากับว่าภาวะ
"คนล้นงาน" ของแบงก์ชาติจะมีมากขึ้น คนที่สมัครอีกส่วนหนึ่งจึงมาจากเหตุผลกลัวตกงานแอบแฝงอีกด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นคนล้นงาน การใช้คนไม่ตรงกับศักยภาพ หรือค่าตอบแทนที่น้อยเกินไปถ้าเทียบกับองค์กรที่จะเกิดใหม่นั้น
ทางแบงก์ชาติเองก็พยายามที่จะแก้ไขอยู่ โดยเริ่มจากการปรับปรุงระบบสายงานใหม่ซึ่งกำลังจะทยอยประกาศใช้ภายในและจะเพิ่มค่าตอบแทนให้พนักงานระดับปริญญาตรี
คาดว่าจะเริ่มกันที่อัตรา 8,000 บาทต่อเดือน
ระดับหัวหน้าหน่วยที่มีความแน่นอนแล้วว่าต้องตาม ดร. ประสาร ไปอยู่ กลต.
ระยะหนึ่งก็คือ ชาลี จันทนยิ่งยง หัวหน้าผู้วิเคราะห์ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
รวมทั้งเลขานุการของ ดร. ประสาร แล้วยังมีอีกหลายคนที่ ดร. หนุ่มกำลังตัดสินใจอยู่ว่าน่าจะเป็นใคร
ซึ่งใช่ว่าการคัดเลือกจะทำได้อย่างปลอดโปร่งโล่งใจ เพราะนอกจากคนแบงก์ชาติ
แล้วยังมีคนของ สคค. และตลาดหลักทรัพย์อีกที่เหมาะสม เพราะเป็นหน่วยงานที่เคยดูแลงานฝ่ายต่าง
ๆ ที่ กลต. จะจัดตั้งขึ้นใหม่อีกด้วย ทั้งนี้คนที่ทำหน้าที่คัดสรร คงต้องทำตามขั้นตอนอย่างโปร่งใส
ไม่เช่นนั้น เสียงครหาคงจะตามมาอย่างแน่นอน