Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2551
กว่าจะมาถึงวันนี้ของหอศิลปวัฒนธรรม กทม.             
โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
 


   
www resources

โฮมเพจ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

   
search resources

Art
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร




ศิลปะเป็นเรื่องของความงาม แต่เบื้องลึกของมันคือการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของคนในสังคมร่วมกัน แต่สำหรับสังคมไทยแล้ว พลังแห่งศิลปะในแง่มุมนี้ดูจะอ่อนกำลังยิ่งนัก

ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที รักษาการผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาที่ส่งผลต่อคนในแวดวงศิลปะ อันเป็นจุดสำคัญให้เกิดความพยายามขยายพื้นที่ทางศิลปะสู่สังคมเพิ่มขึ้นอีกแห่ง

"ปัญหาบ้านเมืองของเราคือ การกีดกั้น...ต้องคิดไปทางเดียวกันหมด ไปตามกระแสหลัก ไม่เอื้อต่อเรื่องการคิดสร้างสรรค์ ต้องทำตามๆ กันไป ส่วนหนึ่งตามก้นฝรั่ง ส่วนหนึ่งถูกบังคับให้ทำตามแบบแผน เช่น จอมพล ป.ท่านมีหลักว่า "ความเป็นไทยต้องเป็นอย่างไร" ซึ่งเราต้องมาสร้างเสริมความเป็นปัจเจกกันใหม่ คนในแวดวงศิลปินมีความอึดอัดกับสภาพแบบนี้ มีโอกาสคุยกันมาตลอดและค่อยๆ ขยายวงกันไปเรื่อยๆ จากการคุยกันแค่ 10-20 คน ขยายเป็นกลุ่มใหญ่กว่าพันคน จนผลักดันให้เกิดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครขึ้นมาได้ในวันนี้"

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นอาคารสีขาว รูปทรงมีดีไซน์ทันสมัย ตั้งอยู่หัวมุมบริเวณสี่แยกปทุมวัน อันเป็นทำเลทองเปรียบได้กับหัวแหวนของย่านการค้าสำคัญในเมืองหลวง มองผ่านตัวตึกเข้าไปภายในดูโปร่งโล่งสบายตา สถานที่แห่งนี้เพิ่งเปิดดำเนินการได้ไม่นานนัก พร้อมด้วยภารกิจอีกมากมายที่ยังรอคอยความร่วมแรงร่วมใจจากผู้ที่เห็นคุณค่าแห่งศิลปะเพื่อการรับใช้สังคม

"ที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยให้การสนับสนุนงานด้านศิลปะเลย ทั้งที่ความจริงแล้วศิลปะมีความสำคัญต่อสังคม เป็นเครื่องมือรับใช้คนในสังคม ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงอาชญากรรมอีกมากมายจะลดลงได้ ถ้าเราส่งเสริมให้คนเข้าถึงศิลปะ เพราะศิลปะเป็นวิชาที่ฝึกให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออก เกิดความสร้างสรรค์ เกิดทักษะการมองสิ่งรอบตัวแล้วสร้างสุนทรียะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรื่องเสื้อผ้า เครื่องประดับ การแต่งบ้าน จัดสวน รถยนต์ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ การแสดง บทกวี รวมถึงดนตรี

ศิลปะจึงเป็นการสร้างพื้นฐานความคิดแก่คนในสังคม เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราคิดเองตามครรลองของสังคมไม่ได้ เราจะทำได้แค่ "อุตสาหกรรมการลอกเลียนแบบ" เท่านั้น ซึ่งรัฐมองวัฒนธรรมเป็นแค่เรื่องของขนบประเพณีเดิมๆ จึงไม่เคยให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์ศิลปะ การเกิดหอศิลปวัฒนธรรมแห่ง กรุงเทพมหานคร จึงถือเป็นชัยชนะที่ปลดปล่อยคนในสังคมจากศิลปวัฒนธรรม กระแสหลัก ที่ภาครัฐมักจะยัดเยียดให้คนทั้งหมดเดินไปตาม "ความเป็นไทย"ที่รัฐกำหนดมาโดยตลอด"

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดได้ว่าเป็น "หอศิลปะประจำเมือง" แห่งแรกของประเทศ ที่มีภารกิจสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานศิลปะของชุมชนในเมืองหลวง ที่สามารถสอดประสานการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกับคนในพื้นที่อื่นๆ ได้ทั่วประเทศ ในลักษณะการร่วมคิดร่วมทำ เพื่อยกระดับมาตรฐานงานด้านศิลปะให้ทัดเทียมสากลและให้การศึกษาแก่เยาวชน เพื่อปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามผ่านการใช้ศิลปะทุกแขนง เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารทางความคิดที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานกับผู้ชมงาน ทำให้ที่นี่มีความโดดเด่นแตกต่างจากหอศิลปะอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม และต่างจากการทำหน้าที่เพียงแค่จัดแสดงและขายงานศิลปะเหมือนแกลลอรีทั่วไป

จุดกำเนิดของหอศิลปะฯ เริ่มขึ้นในปี 2538 สมัยพิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้มีมติร่วมกับคณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ หอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ให้กรุงเทพ มหานครจัดสร้าง "หอศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานคร" เพื่อเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นองค์อุปถัมป์ศิลปะทุกสาขา

โครงการนี้ได้เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวอีกมากมายตามมา การหารือพูดคุยกันถึงการสร้างพื้นที่ทางศิลปะให้แก่สังคม กลายเป็นการเปิดพื้นที่ของชุมชนเล็กๆ ทางศิลปะให้แก่เหล่าบรรดาศิลปินและเพื่อนศิลปินแทบทุกสาขาตั้งแต่คนตัวเล็กๆ ไปจนถึงคนมีชื่อเสียงระดับนานาชาติมาร่วมแรงร่วมมือกันระดมความคิด โดยในช่วงปีเดียวกันก็ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เพื่อสนับสนุนการเตรียมโครงการหอศิลปะฯ

ในปี 2540 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ เสด็จฯ แทนพระองค์เปิดงาน Jazz in the Park เพื่อโครงการหอศิลปะฯ รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 4,145,817.50 บาท คณะกรรมการฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และทรงพระราชทานเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทุนในการก่อตั้ง "มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร" เพื่อดำเนินการก่อตั้งหอศิลปะร่วมสมัยเฉลิมพระเกียรติแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นเลขามูลนิธิฯ

ในปี 2541 มีการประกวดแบบอาคารหอศิลปะร่วมสมัยฯ โดยผู้ชนะการประกวดคือบริษัท โรเบิร์ต จี บุย แอนด์ แอสโซซิแอทส์ จำกัด อีก 2 ปีต่อมาจึงเริ่มวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างหอศิลปะฯ ณ บริเวณสี่แยกปทุมวัน ซึ่งเดิมเป็นห้องสมุดประชาชนของกรุงเทพมหานคร

เหตุการณ์ดำเนินไปได้อย่างก้าวหน้าต่อเนื่องจนถึงปี 2544 เมื่อสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้เกิดเหตุที่ทำให้เหล่าบรรดาศิลปินและเพื่อนๆ รวมตัวกันเหนียวแน่นยิ่งขึ้น เนื่องจากสมัครเปลี่ยนนโยบายให้เอกชนเข้ามาลงทุนแทนกลุ่มเครือข่ายศิลปินที่ทำงานกันมาแต่ต้น โดยปรับอาคารหอศิลปะฯ ให้กลายเป็นศูนย์การค้า แล้วหอศิลปะฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาคารดังกล่าว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและกรอบความคิดปรัชญาเดิมโดยสิ้นเชิง

ในครั้งนั้นศิลปินทุกแขนงมารวมตัวกันและขยายตัวเป็น "เครือข่ายศิลปินรณรงค์เพื่อหอศิลป์ร่วมสมัยเฉลิมพระเกียรติแห่งกรุงเทพมหานคร" ประกอบด้วยองค์กรต่างๆ ตั้งแต่สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย ศิลปะสมาคมระหว่างชาติแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้บริหารสถาบันทางศิลปะ สมาคมศิลปะ สมาคมสถาปนิกสยามฯ สมาคมมัณฑนากร สถาบันการศึกษาศิลปะ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม ศิลปินอิสระ นักศึกษาศิลปะ และสื่อมวลชน เพื่อดำเนินกิจกรรมต่อต้านนโยบายของกรุงเทพมหานครดังกล่าว

การรณรงค์ทำกันอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการยื่นจดหมายประท้วง จัดกิจกรรมประมูลผลงานศิลปะจากศิลปินชั้นนำ เพื่อหารายได้เป็นทุนในการเคลื่อนไหวหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและบริเวณสี่แยกปทุมวัน จัดอภิปราย จัดกิจกรรมวาดภาพเขียนยาว 4 กิโลเมตร ในหัวข้อ "ฉันเรียกร้องหอศิลป์ ไม่เอาศูนย์การค้า" เป็นต้น จนได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง และดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองกลางได้ประทับรับฟ้องในคดีดำหมายเลขที่ 636/45 ลงวันที่ 9 กันยายน 2545 จึงทำให้โครงการทำศูนย์การค้าของผู้ว่าฯ สมัคร ยุติลง

ในปี 2547 เครือข่ายศิลปินฯ ได้ขยายความร่วมมือไปยังชุมชนและองค์กรทางวัฒนธรรมภาคประชาชนอื่นๆ จัดตั้ง "เครือข่ายประชาชนเพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร" เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน และผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้รับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของการมีหอศิลปะฯ เช่น จัด "Art Vote-โหวตเพื่อหอศิลป์" ให้ประชาชนลงคะแนนสนับสนุนการมีหอศิลปะฯ

จนในที่สุด ในวันที่ 19 สิงหาคม 2547 จึงมีการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยเรื่องข้อตกลงความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และพันธมิตรด้านศิลปวัฒนธรรม ณ อุทยานเบญจสิริ มีคนมาร่วมงานกว่า 1,000 คน เครือข่ายดังกล่าวนอกจากเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันการสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครแล้ว ก่อนหน้านี้ยังก่อให้เกิดหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงวัฒนธรรม คือ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อทำงานด้านวัฒนธรรมร่วมสมัยโดยตรง และมีโครงการหอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นงานระดับกระทรวง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่อีกหนึ่งโครงการ นอกจากนี้ยังร่วมกันขับเคลื่อนเนื้อหาสาระด้านศิลปวัฒนธรรมในรัฐธรรมนูญในช่วงร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อยกระดับแวดวงศิลปะ

ผลจากการรณรงค์ต่อเนื่องมายาวนาน 11 ปี ทำให้ในปี 2548 สภากรุงเทพมหานครอนุมัติงบประมาณ 504 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคาร "หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร" เป็นอาคารสูง 9 ชั้น (ไม่รวมชั้นใต้ดิน) มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 25,000 ตร.ม. โดยแบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่างๆ ได้แก่ ห้องแสดงงานศิลปะ พื้นที่โถง ห้อง Auditorium ขนาด 222 ที่นั่ง เป็นโรงภาพยนตร์และจัดการแสดงต่างๆ ห้องสตูดิโอ จุคนได้ 250 คน ห้องประชุมต่างๆ ห้องสมุด ส่วนเก็บรักษาผลงานศิลปะ พื้นที่ร้านค้า และพื้นที่จอดรถ

หอศิลปะฯ ดำเนินการโดยมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิฯ และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 13 คน คณะกรรมการมีวาระ 2 ปี และมีคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ที่ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการแต่งตั้งจากกรรมการมูลนิธิรวม 10 ท่าน ซึ่ง ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ เป็นประธานกรรมการบริหาร และฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที รักษาการผู้อำนวยการหอศิลปะฯ

พื้นที่หอศิลปฯ แห่งนี้สามารถรองรับการจัดนิทรรศการประมาณปีละ 14 เรื่อง โดยเริ่มเปิดตัวหอศิลปะฯ ด้วยนิทรรศการ "ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง" เป็นจัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วตามมาด้วย "รักษ์เจ้าพระยา", "รอยยิ้มสยาม", "เทศกาลหนังสั้น ครั้งที่ 12", "บางกอกดีไซน์ 2008" และ "เอเชียโธเปีย" แม้ว่าการเปิดดำเนินการของหอศิลปะฯ จะเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของศิลปินและเหล่าพันธมิตร หากทว่านั่นเป็นเพียงก้าวแรกที่ยังมีก้าวย่างต่อไปที่ท้าทายกว่ารอคอยอยู่

"ความท้าทายก้าวต่อไปของที่นี่คือ การที่ยังไม่มีงบประมาณดำเนินการ ทำให้ไม่สามารถวางแผนงานล่วงหน้าได้ชัดเจน ต้องปรับไปตามสภาพ ซึ่งสถาบันนี้ทำหน้าที่มากกว่าการจัดแสดงงานศิลปะที่นี่ยังมีภารกิจยกระดับการสร้างสรรค์งานศิลปะต่อชุมชน ให้การศึกษาด้านศิลปะอันเป็นการเปิดพื้นที่สื่อสารทางความคิดต่อเยาวชน จึงเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง ซึ่งกว่าจะคลอดออกมาก็ใช้เวลาถึง 11 ปี พอเกิดอุแว้ๆ ออกมาแล้ว ผ้าอ้อมก็ยังไม่มีเลย

เราเพิ่งได้งบประมาณก้อนแรกจากกรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 29 ล้านบาท สำหรับการทำงานในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งได้มาหลังเปิดงานนิทรรศการไปแล้ว 1 สัปดาห์ คณะทำงานทั้งหมดตอนนี้มี 7 คน ความจริงแล้วต่อไปคงต้องเพิ่มคนถึง 30-60 คน เพื่อรองรับงานต่างๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย เราทั้งหมดเป็นเพียงแค่ตัวแทนของสังคมมาบริหารงานตรงนี้เท่านั้น แต่จะทำอย่างไรให้คนในสังคมทั้งหมดมาร่วมแสดงความเป็นเจ้าของหอศิลปะฯ นี้กันได้เต็มที่ เพื่อให้ศิลปะเป็นเครื่องมือสร้างวัฒนธรรมตามครรลองที่แท้จริงของสังคม"

ขณะนี้ทางหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้เสนอของบประมาณอุดหนุนจากกรุงเทพมหานคร สำหรับปีนี้เป็นเงิน 101 ล้านบาท ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ดังนั้นรายได้ขณะนี้จะได้จากการให้เช่าพื้นที่ในส่วนร้านค้าด้านล่าง และการได้รับเงินสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชน ในการเข้าร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ นับจากวันที่มีการร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกับทางกรุงเทพมหานครที่สวนเบญจสิริ แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่เข้าใจและเข้าถึงความสำคัญของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ซึ่งต้องใช้ศิลปะเป็นสื่อสร้างสรรค์และสื่อสารกับคนร่วมสังคม

วาระนี้ภาครัฐและเอกชนเห็นพ้องเช่นเดียวกันหรือไม่ และถึงเวลาที่เหล่าบรรดาศิลปินและพันธมิตรร่วมขบวนการจะต้องนัดชุมนุมใหญ่กันอีกครั้งหรือยัง เพื่อมาร่วมสร้างสรรค์ความหลากหลายในครรลองแห่งวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยมีคนในสังคมร่วมเป็นเจ้าของผลงาน ผ่านภารกิจของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครแห่งนี้ได้เติบโตต่อไปอย่างสง่างาม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us