Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2551
มากกว่างานอดิเรกกับ "ชลณัฐ ญาณารณพ"             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ เคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย

   
search resources

ชลณัฐ ญาณารณพ
เคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย, บจก.
Chemicals
SCG Performance Chemicals, Co., Ltd.




งานอดิเรกหมายถึงกิจกรรมที่มักทำในเวลาว่างเพื่อการผ่อนคลาย สำหรับ "ชลณัฐ ญาณารณพ" งานอดิเรกยังเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร นี่จึงเป็นคำตอบว่า ทำไม CEO แห่งธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเครือซิเมนต์ไทย ที่เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเปลี่ยนเม็ดพลาสติกเป็นเม็ดเงินคนนี้ก็ยังต้องหาเวลาสนุกกับงานอดิเรกร่วมกับทีมงาน

เสียงเพลงยุคแรกของแจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ ขับขานดังแข่งกับเสียงคลื่นริมชายหาดพัทยา สีหน้าของผู้ร้องอายุคราวเดียวกันกับแจ้ดูจริงจัง สายตาที่จับจ้องโพยกระดาษเป็นระยะแสดงให้รู้ว่าไม่ใช่นักร้องมืออาชีพ แม้จังหวะการร้องอาจไม่ไพเราะจับใจเหมือนต้นฉบับ แต่น้ำเสียงนุ่มนวลตรึงผู้ชมได้จนจบเพลง

สิ้นเสียงปรบมือ พิธีกรประกาศ ต้อนรับสื่อมวลชนสู่ปาร์ตี้ "Be My Guest" ซึ่งเป็นไฮไลต์ในการเดินทางแบบเป็นกันเองกับ "ชลณัฐ ญาณารณพ" กรรมการผู้จัดการแห่งบริษัท SCG Chemicals กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้กว่า 1.1 แสนล้านบาทให้กับเครือซิเมนต์ไทยในปีที่แล้ว

เป้าหมายของทริปนี้อยู่ที่การเปิดตัวบริษัทน้องใหม่ของ SCG Chemicals ที่ชื่อว่า บริษัท SCG Performance Chemicals จำกัด เพื่อขยายกลุ่มธุรกิจสินค้าพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Product) ทว่าสีสันของทริปนี้อยู่ที่การขับขานเสียงเพลงแทนใจที่ชลณัฐซุ่มซ้อมมาร้องให้นักข่าวฟัง รวมทั้งลีลาบรรเลงเพลงตะหลิวโชว์ฝีมือทำสปาเกตตีให้นักข่าวลิ้มลอง

ทั้งการร้องเพลงและทำอาหารล้วนเป็นงานอดิเรกที่ชลณัฐโปรดปราน และเป็นสิ่งที่เขาและทีมงานมั่นใจว่าทำได้ดีพอที่จะโชว์แขก ทั้งสองกิจกรรมจึงถูกบรรจุเป็นไฮไลต์ของทริปนี้

ไม่ต่างจากผู้บริหารระดับสูงอีกหลายคนในเครือซิเมนต์ไทย ชลณัฐก็เป็นอีกคนที่มักจะต้องโชว์ทักษะและลีลาการร้องเพลงบ่อยๆ ทั้งเพื่อรับรองลูกค้า เพื่อโชว์ในงานประจำปีของเครือ และเพื่อร้องโชว์นักข่าว เขามักหาเวลาว่างไปร้องคาราโอเกะเกือบทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อฝึกซ้อมร้องเพลงกับทีมงานและผู้บริหารท่านอื่นบ้าง

ว่ากันว่า ผู้บริหารของ SCG เกือบทุกคนมีเพลงประจำตัวสำหรับออกงาน เพลงของชลณัฐคือ Just The Way You Are ของ Billy Joel เพราะร้องไม่ยากและไม่เก่าเกินไปแล้ว ที่สำคัญเพลงนี้ยังมีความหมายดีเหมาะจะร้องกระชับความสัมพันธ์อันดีกับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า และนักข่าว

ความเขินขวยในการร้องเพลงต่อหน้าธารกำนัลมีให้เห็นอยู่บ้าง แม้ว่าชลณัฐจะเคยถูกฝึกฝนให้ร้องเพลงต่อหน้าผู้คนจำนวนมากมาตั้งแต่ตอนเรียนโรงเรียนประจำที่อังกฤษ ด้วยการเป็นนักร้องวงประสานเสียงในโบสถ์โรงเรียน

จากการเข้าไปมีส่วนร่วมทำกิจกรรมครั้งนั้น ชลณัฐก็ได้เห็นถึงแง่งามที่แฝงอยู่ในกิจกรรมแห่งความสุนทรีย์นี้ อันจะนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์กรและพัฒนาบุคลากรได้เป็นอย่างดี

"การร้องคอรัสไม่ใช่การร้องเพลงให้พร้อมกัน แต่เป็นการร้องเพลงที่ต่างคนต่างร้องในเสียงของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วมาร้องร่วมกัน มันสอนให้เห็นว่าต้องแบ่งหน้าที่กันตามบันไดเสียงผู้ร้อง แล้วยังต้องทำงานเป็นทีมเพราะต้องใช้ความพร้อมเพรียงอย่างสูง และต้องใช้สมาธิอย่างมากด้วย" ชลณัฐอธิบาย

หลังจากขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารระดับ สูงไม่นาน ชลณัฐส่งเสริมให้พนักงาน รวมตัวกันจัดตั้งชมรมคอรัส ภายใต้ชื่อวง "SCG Chemicals Chorus" เขายอมลงทุนซื้อเปียโนไฟฟ้าสนนราคาหลายหมื่นบาทมาไว้ที่ออฟฟิศให้ทีมงานได้ใช้ซ้อมร้องเพลง และจ้างครูสอนร้องเพลงมืออาชีพมาฝึกฝนทักษะการร้องประสานเสียงให้พนักงานอย่างจริงจัง

วันพุธหรือวันศุกร์หลังเลิกงาน เสียงประสานถูกขับขานเป็นเพลงอย่างพร้อมเพรียง แสดงพลังและความงามแห่งทีมเวิร์ก ขณะที่คั่นด้วยเสียงหัวเราะสนุกสนานดังสลับขึ้นมาที่มีคนร้องหลงเสียง เหล่านี้ถือเป็นกุศโลบายในการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้พนักงาน ซึ่งชลณัฐเองก็พยายามปลูกฝังความสนุกและความผ่อนคลายให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรของ SCG Chemicals

"ธุรกิจเคมีภัณฑ์ขึ้นๆ ลงๆ เหมือน คลื่นลมรุนแรง ความวูบวาบของธุรกิจมีสูงมาก แค่นี้มันก็บีบเราให้เครียดอยู่แล้วแต่ถ้าเรายิ่งเครียดไปอีก มันก็จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ผมเชื่อว่าการทำงานอย่างมีสติและมีสมดุลทางจิตใจ จึงจะเอาชนะอุปสรรคทางธุรกิจได้ ฉะนั้นเราก็ต้องทำให้พนักงานรู้สึกสบายและผ่อนคลาย แล้วความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่นวัตกรรมก็จะเกิดขึ้น"

นวัตกรรมไม่ได้เป็นเป้าหมายของชลณัฐ หรือ SCG Chemicals เท่านั้น แต่เป็นปรัชญาหลักในการทำงานของทั้งเครือ SCG ก็ว่าได้

SCG Chemicals Chorus ไม่เพียงสร้างความบันเทิงและรื่นรมย์ให้กับพนักงานในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เท่านั้น บ่อยครั้งที่ชลณัฐยังผลักดันให้วงคอรัสออกเดินสายไปขับขานหน้าตึกต่างๆ บ้าง เข้าไปในหน่วยงานอื่นบ้าง รวมทั้งเข้าไปร้องเพลงอวยพรถึงในห้องกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็เคยทำมาแล้ว

ชลณัฐยังกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่าทุกครั้งที่มีงานใหญ่ประจำปีของเครือซิเมนต์ ไทย วงคอรัสวงนี้ก็มักจะได้เป็นตัวแทนร้องเพลงสร้างความสนุกสนานให้กับพนักงานทั้งเครือ และหลายครั้งที่กลุ่มธุรกิจอื่นมักจะมายืมตัวนักร้องนักดนตรีในวงนี้ไปช่วยเล่นดนตรีร้องเพลงในงานของหน่วยงานนั้นๆ

"การที่พวกเขาได้แสดงออกต่อหน้าคนอื่นบ้าง นอกเหนือจากหน้าเพื่อนในบริษัทเดียวกันก็จะทำให้เขารู้สึกมีกำลังใจที่จะกลับไปพัฒนาทักษะการร้องของตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป" นี่เป็นเหตุผลที่ชลณัฐมักยอมให้พนักงานในบริษัทออกไปเดินสายได้ร้องเพลงได้

ขณะที่การร้องเพลงเป็นงานอดิเรกที่มักได้นำไปโชว์และใช้ประโยชน์บ่อยๆ ดูเหมือนการทำอาหารจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความเพลิดเพลินส่วนตัวและหาโอกาสโชว์ได้ยากยิ่ง แต่อย่างน้อยชลณัฐก็ยังอุตส่าห์ใช้ประโยชน์จากงานอดิเรกนี้เพื่อสานสายสัมพันธ์อันดีระหว่างทีมงานกับนักข่าวให้แนบแน่นยิ่งขึ้นได้

สปาเกตตีเส้นสดทั้งเส้นกลมเส้นแบนอย่างดีราคากิโลละพันบาทถูกจัดวางไว้เคียงข้างกุ้งแม่น้ำตัวยักษ์และเนื้อวัวชั้นดีสับละเอียด รวมทั้งส่วนประกอบคุณภาพสูงอีกหลายรายการที่ใช้ในการทำสปาเกตตีซอสบาลองเนสสไตล์อิตาเลียน

มือหนึ่งถือแก้วไวน์ อีกมือกำลังคลุกเคล้าซอสบาลองเนสในกระทะ ซอสที่ใช้เวลาเคี่ยวกำอยู่นานเป็นชั่วโมงเริ่มส่งกลิ่นหอมยั่วยวนน้ำลายนักชิมทั้งหลาย

สปาเกตตีเป็นเมนูโปรดและเป็นจานเด็ดของชลณัฐตั้งแต่เรียนอยู่อังกฤษ เขาพิสมัยการทำอาหารมาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะความชื่นชอบวิชาเคมีเป็นทุนเดิม ดังนั้นขณะที่หลายคนเปรียบการทำอาหารเป็นงานศิลปะ เขาจึงมองการทำอาหารเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีการทดลอง พิสูจน์ และสรุปเป็นสูตรสำเร็จได้

"การทำอาหารก็เหมือนการทดลองทางเคมีอย่างหนึ่ง ห้องครัวก็เหมือนกับห้องแล็บ ตำราอาหารก็คือสูตรเคมี การทำปฏิกิริยาทางเคมีก็เหมือนกับการใส่ลูกเล่นเรื่องรสชาติอาหาร ทั้งสองอย่างยังเหมือนกันตรงที่ต้องอาศัยการค้นคว้าและความอดทนถึงจะทำให้ได้สูตรและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด"

สูตรสำเร็จในการขึ้นมาเป็นผู้บริหารเบอร์หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยและในระดับภูมิภาคก็เช่นกัน จำต้องอาศัยการเรียนรู้และความอดทนจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม

อันที่จริง ชลณัฐเรียนรู้เรื่องการทำอาหารมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยมีห้องครัวคุณย่าเป็นห้องเรียนทำอาหารแห่งแรกในชีวิต ตลอดช่วงปิดเทอม เขาจะมาอาศัยอยู่ไว้กับคุณย่าวัย 80 กว่าปี ทุกเย็นคุณย่าก็มักจะเรียกใช้งานอยู่หน้าเตา ทำให้เขาได้เห็นและเรียนรู้การทำอาหารแบบไทยแท้จากคุณย่า

"คนไทยสมัยก่อนเริ่มทำกับข้าวตั้งแต่บ่ายสาม แต่กว่าจะได้ทานก็ห้าโมงเย็นที่ช้าก็เพราะทุกอย่างเริ่มจากสารตั้งต้นหมด ไม่มีเครื่องแกงสำเร็จรูปหรือผงปรุงสำเร็จเหมือนสมัยนี้ รสชาติก็เลยดีกว่า หลายจานผมยังมีความทรงจำติดอยู่ที่ปลายลิ้น" ความทรงจำดีๆ จากก้นครัว เมื่อวันวานบ่มเพาะให้ชลณัฐกลายเป็นคนช่างสรรหาของอร่อยทาน ในวันนี้

จากที่เคยยึดติดกับอคติที่ว่าการทำอาหารเป็นงานแม่บ้าน แต่วันนี้ ชลณัฐยอมรับว่าเขาคลั่งไคล้การทำอาหารมาก ถึงขนาดเคยลงคอร์สเรียนทำสปาเกตตีซอสเนื้อที่โอเรียนเต็ลทั้งที่ทำเป็นอยู่แล้ว เพียงเพื่อเช็กว่ารสชาติของโอเรียนเต็ลอร่อยจริงไหมและมีเคล็ดลับอะไรบ้าง โดยเคล็ดลับที่ได้เรียนรู้เพิ่มจากครั้งนั้นก็ถูกนำมาใช้ในการแสดงเสน่ห์ปลายจวักครั้งนี้ด้วย

เส้นสปาเกตตีผัดคลุกเคล้ากับซอสบาลองเนสตามสไตล์อิตาเลียนแท้ หาใช่ถูกราดไว้บนเส้นเหมือนอเมริกันสไตล์ แล้วจึงทยอยนำขึ้นมาเสิร์ฟทีละจานจนหมดกระทะอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีคำพูด เชฟมือสมัครเล่นก็รับรู้ได้ถึงความสำเร็จจากเมนูเด็ดจานนั้น

ใครจะไปรู้ ในอนาคตผู้บริหารวัยย่างเข้า 49 ปี ผู้นิยมไอเดียแปลกใหม่คนนี้อาจเปลี่ยนมาใช้ห้องครัวสร้างบรรยากาศผ่อนคลายและเป็นกันเอง แทนห้องคาราโอเกะ หรือสนามกอล์ฟเหมือนผู้บริหารคนอื่น และลองหันมาใช้เสน่ห์ปลายจวักมัดใจลูกค้า ...เหมือนกับที่มัดใจนักข่าวไปแล้วหลายคน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us