Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2551
บทเรียน SMEs ที่ผูกอนาคตไว้กับอุตสาหกรรมใหญ่             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ไอ. ที. ซี. จำกัด

   
search resources

SMEs
ไอ. ที. ซี., บจก.
อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา




แนวคิดหนึ่งในการยกระดับ SMEs เมืองไทยคือการนำอนาคตไปผูกไว้กับอุตสาหกรรมใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ถูกวางนโยบายให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ แต่การจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเจาะเข้าไปให้ถูกจุด

หากนโยบายยกระดับประเทศไทยให้เป็น Detroit of Asia หรือศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของเอเชีย ก่อให้เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับโรงงานประกอบรถยนต์ของค่ายต่างๆ ที่เข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศไทยตั้งโรงงาน

นโยบายให้ประเทศไทยเป็น Kitchen of the World หรือครัวของโลก ก็น่าจะมีทิศทางเช่นเดียวกัน

แต่ SMEs ที่เข้ามาอยู่ในกระบวน การผลิตอาหารเพื่อการส่งออก กลับไม่สามารถมองเห็นบทบาทได้อย่างเป็นรูปธรรมนัก เพราะบริษัทผู้ผลิตอาหารส่งออกส่วนใหญ่ ล้วนเป็นบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจครบวงจร ผู้ประกอบการที่มีโอกาสเข้าไปมีส่วน ร่วมในขั้นตอนการผลิตของแต่ละบริษัทจึงเป็นลักษณะของ contract farming คือ เกษตรกรที่รับจ้างเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชอาหาร เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบเข้าโรงงานแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออกมากกว่า

อนาคตของเกษตรกรเหล่านี้ขึ้นอยู่กับราคาขายสินค้า ที่บริษัทผู้ผลิตอาหาร ซึ่งเป็นผู้รับซื้อ เป็นผู้กำหนดแต่เพียงฝ่ายเดียว

อาจมียกเว้นเพียงกรณีของบริษัท ไอ.ที.ซี.ที่ดูจะเป็น SME ที่เข้าไปมีบทบาทในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมนี้ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด

ไอ.ที.ซี.เป็นบริษัทผู้ให้บริการวางระบบ ติดตั้ง และดูแลรักษา ระบบทำ ความเย็นให้กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการในลักษณะนี้อยู่เพียงไม่กี่ราย การแข่งขันจึงมีน้อย

การจะได้หรือไม่ได้งานของบริการ ประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของผู้ว่าจ้างที่มีต่อผลงาน หรือประสบการณ์ของผู้ให้บริการมากกว่า

"ระบบทำความเย็นในอุตสาหกรรม อาหาร เป็นองค์ความรู้เฉพาะ ไม่เหมือนกับบริษัทที่ให้บริการวางระบบแอร์หรือไฟฟ้า ที่มีคนให้บริการอยู่ในตลาดแล้วจำนวนมาก" อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา กรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ที.ซี.บอกกับ "ผู้จัดการ"

เขาอธิบายว่าการวางระบบทำความ เย็นในอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากความรู้ ทางด้านวิศวกรรมแล้ว ผู้ให้บริการจะต้องรู้จักธรรมชาติของอาหารแต่ละประเภทเป็นอย่างดีว่าในการผลิต หรือการเก็บรักษาจะต้องมีตัวแปรอะไรบ้างที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นคงความสดใหม่ สะอาด รสชาติไม่เปลี่ยนแปลง และสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน โดยสภาพไม่เปลี่ยนแปลง

ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายในประเทศหรือเพื่อส่งออก

"ยกตัวอย่างเช่นไอศกรีม จะต้องตั้งอุณหภูมิขนาดไหนไม่ให้แข็งหรือเหลวเกินไป หรือเนื้อปลา กุ้ง หมู ไก่ จะเก็บรักษาอย่างไรให้ คงความสดไว้ได้นาน เมื่อต้องการนำไปบริโภค ซึ่งต้องทำให้อุณหภูมิ สูงขึ้นแล้ว ชิ้นเนื้อเหล่านั้นต้องไม่เหลวยุ่ยเป็นทิชชู แม้แต่ในกระบวน การแปรรูปในห้องที่คนงานกำลังทำงาน ซึ่งต้องมีอุณหภูมิต่ำ จะทำอย่างไรที่จะลดอุณหภูมิโดยที่ไม่ให้มีกระแสลมจากเครื่องปรับอากาศที่จะไปมีผลต่อชิ้นเนื้อที่กำลังถูกตัดแต่งอยู่"

จุดกำเนิดของ ไอ.ที.ซี.เริ่มจากเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว อภิชิต ล้ำเลิศพงศ์พนา พี่ชายของอภิชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดการ แผนกระบบทำความเย็นของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล บีกริมแองโก และได้ให้บริการระบบทำ ความเย็นให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่แล้ว เริ่มมองเห็นว่าอุตสาหกรรม อาหารของไทย กำลังมีอนาคตที่จะขยายตัวเติบโตต่อไปได้อีกมาก และขั้นตอนสำคัญในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร คือระบบทำความเย็นให้กับห้องเย็นในการเก็บรักษาอาหารไว้ให้ได้นาน ที่สุด คงความสดใหม่ สะอาด และ รสชาติคงที่มากที่สุด

ดังนั้นองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ห้องเย็นสำหรับการเก็บรักษาอาหารก็น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดที่กำลังขยายตัว ในปี 2525 อภิชิตจึงได้ชักชวนอภิชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นวิศวกรสนามให้กับบริษัท คูลลิ่งคอนโทรลแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง ให้มาร่วมกันจัดตั้งบริษัท ไอ.ที.ซี.ขึ้น เพื่อให้บริการวางระบบทำความเย็นให้กับโรงงานของผู้ผลิตอาหาร ทั้งที่เปิดดำเนินการอยู่ และกำลังจะมีรายใหม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ทั้งอภิชิตและอภิชัยมีพื้นฐานเป็นวิศวกรทั้งคู่ โดยอภิชิตจบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาเครื่องกล จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ ส่วนอภิชัยจบปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้ากำลัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ทั้งคู่เป็นคนอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พื้นฐานครอบครัวในวัยเด็กยากจน แต่ก็ดิ้นรนจนสามารถได้รับการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี

ความยากจนในอดีตเป็นแรงบันดาล ใจสำคัญให้ทั้งคู่กระโดดเข้ามาจับธุรกิจนี้ เพราะทั้งคู่มีความต้องการตรงกันตั้งแต่วัยเด็กที่จะมีกิจการเป็นของตัวเองเมื่อโตขึ้น

"เป็นเรื่องที่เหมาะเจาะลงตัว เพราะ หนึ่ง ผมกับพี่ชายมีความตั้งใจจะมีกิจการเป็นของตัวเองเหมือนกันอยู่แล้ว สอง เราทั้งคู่เป็นวิศวกร และสาม คือมองเห็นแล้ว ว่าอุตสาหกรรมอาหารในขณะนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มต้องโตขึ้นอีกมากในอนาคตก็เลยมาร่วมกันทำบริษัทนี้"

การทำงานช่วงแรกของทั้งคู่ในนาม ของบริษัท ไอ.ที.ซี.เป็นลักษณะเหมือนกับ งานพาร์ทไทม์ เพราะแม้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทขึ้นมาแล้ว แต่ทั้งคู่ยังมีงานประจำ ในฐานะลูกจ้างบริษัท เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยใช้เวลาว่างจากงานประจำมาให้บริการในนามของบริษัท ไอ.ที.ซี.

แม้ว่าจะเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ แต่การที่อภิชิตเคยเป็นผู้จัดการแผนกระบบทำความเย็นของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล บีกริม แองโก ได้ช่วยสร้างความ น่าเชื่อถือให้กับทั้งคู่ในการได้รับงานเข้ามา โดยลูกค้ารายแรกของ ไอ.ที.ซี.คือ บริษัทณรงค์แคนนิ่ง

หลังจากนั้น ไอ.ที.ซี.ก็ได้รับงานเพิ่ม ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากองค์การอุตสาห-กรรมห้องเย็นที่ให้ ไอ.ที.ซี.เข้าไปวางระบบ ให้กับห้องเย็นขององค์การที่ตั้งอยู่ 5 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงบริษัทผู้ผลิตอาหารเพื่อส่งออกรายใหญ่ของไทย ทั้งสหฟาร์ม เบทา โกร รวมทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทำงานให้กับ ไอ.ที.ซี.เต็มตัว

แต่งานที่ทำให้บริษัท ไอ.ที.ซี.เป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้น คือการที่สามารถชนะประมูลเข้าไปติดตั้งและดูแลระบบทำความ เย็นให้กับครัวการบินไทย ทั้งในและต่างประเทศ

ไอ.ที.ซี.นับว่าถือกำเนิดและเติบโตขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้ประกอบการอาหารของไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล เนื้อหมู เนื้อไก่ ตลอดจนผักและผลไม้ เริ่ม ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ

ดังนั้น เมื่ออุตสาหกรรมอาหารของ ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น กิจการของไอ.ที.ซี.จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ทั้งอภิชิตและอภิชัย คาดการณ์ไว้แล้วตั้งแต่เมื่อ 26 ปีก่อนที่คิดจะก่อตั้งบริษัท

วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งบริษัท เอกชนของไทยแทบทุกแห่งล้วนประสบกับปัญหาทางการเงิน จนหลายแห่งถึงกับล้มละลาย ซึ่งมีผลกระทบต่อ ไอ.ที.ซี.พอสมควร เพราะโรงงานหลายแห่งที่ปิดไปเป็นลูกค้าของ ไอ.ที.ซี. แต่ ไอ.ที.ซี.ก็ปรับตัวโดยเปลี่ยนบทบาทจากผู้ติดตั้งและวาง ระบบ ไปเป็นผู้ให้บริการบำรุงรักษาระบบให้กับโรงงานที่ยังเดินเครื่องผลิตอยู่แทน ซึ่งทำให้ ไอ.ที.ซี.สามารถผ่านพ้นวิกฤติ การณ์ดังกล่าวมาได้ โดยไม่ได้มีการปรับลดพนักงานลงแม้แต่คนเดียว

ปัจจุบัน ไอ.ที.ซี.มียอดขายเฉลี่ยปีละประมาณ 400-500 ล้านบาท มีพนักงานประมาณ 150 คน และมีโรงงานประกอบผลิตภัณฑ์ในระบบความเย็นเป็นของตนเอง เพื่อผลิตป้อนให้กับลูกค้า

นอกเหนือจากลูกค้าที่อยู่ในอุตสาห-กรรมอาหารแล้ว ไอ.ที.ซี.ยังขยายบทบาทออกไปให้บริการกับธุรกิจอื่นด้วย อย่างเช่นการออกแบบและจัดหาระบบ Thermal Ice Storage ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ออกแบบและติดตั้งระบบ Thermal Ice Storage ให้กับโรงพยาบาลบางกอกเนอสซิ่งโฮม จัดตั้งระบบให้กับร้าน "Select" Mini Mart สาขาต้นแบบจำนวน 10 สาขา ให้กับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ฯลฯ

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ไอ.ที.ซี.ประสบความสำเร็จในธุรกิจที่ทำ คือการคาดการณ์แนวโน้มของตลาดและมองเห็นถึงความต้องการในตลาดที่ยังขาดอยู่ได้ตรงจุด ประกอบกับเป็นธุรกิจที่มีความชำนาญอยู่แล้ว

ที่สำคัญ เมื่อธุรกิจของตนเองจำเป็น ต้องผูกอนาคตไว้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องมองให้เห็นและเข้าถึงหัวใจของกระบวน การผลิตในอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งเมื่อสามารถเจาะเข้าไปได้ ก็จะเป็นโอกาสอันดี ต่ออนาคตของกิจการ ที่จะสามารถขยายตัวไปได้ตามอุตสาหกรรมใหญ่

"แม้บริการของเราจะต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะ แต่ก็ไม่ได้มีความซับซ้อน เพราะ know-how ต่างๆ มีอยู่แล้วในตำราของต่างประเทศ เพียงแต่เรานำ know-how เหล่านั้นมาประยุกต์และออกแบบระบบให้เข้ากับอุตสาหกรรม หรือโรงงานแปรรูปอาหารต่างๆ ที่เราเป็นผู้ให้บริการ ออกแบบ ระบบให้ตรงกับผลิตภัณฑ์ของเขา มากที่สุด ช่วยให้เขาประหยัดต้นทุนทางด้านไฟฟ้ามากที่สุด ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ที่สำคัญคือการบริการหลังการขายที่ดีคอยดูแลระบบให้ต่อเนื่อง พร้อมไป ให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ทันทีที่เกิดปัญหา ขึ้นกับระบบความเย็นของแต่ละโรงงาน" อภิชัยอธิบายถึงจุดเด่นที่ทำให้โรงงานต่างๆ ต้องใช้บริการของ ไอ.ที.ซี.

นอกจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลากว่า 26 ปี ซึ่งเป็นเครื่องการันตี ความชำนาญของ ไอ.ที.ซี.แล้ว ไอ.ที.ซี.ยังได้รับรางวัลจากการส่งโครงงานระบบทำ ความเย็นที่ให้บริการกับลูกค้าไปประกวดหลายรางวัลด้วยกัน

ล่าสุด ไอ.ที.ซี.ได้รับรางวัลที่ 1 จากการส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ASHRAE Technology Award (ASHRAE-American Society of Heating Refrigeration and Air Conditioning Engineers, Inc.) หมวดอุตสาหกรรมและกระบวนการการผลิต (The Industrial facilities or Processes) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการประกวดจากประเทศ ต่างๆ ทั่วโลก

โดย ไอ.ที.ซี.ได้ส่งผลงานออกแบบ และติดตั้งระบบทำความเย็นให้กับโรงงาน แปรรูปเนื้อไก่ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงงานใหม่ล่าสุดของ CPF ไปประกวด

ไอ.ที.ซี.เป็นบริษัทของคนไทยรายแรกที่ได้รับรางวัลที่ 1 จากองค์กรนี้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us