|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2551
|
|
สัญญาณหลักที่ธุรกิจเอสเอ็มอีพึงระวังหากต้องการให้กองทุนร่วมทุน หรือเวนเจอร์ แคปปิตอล สนใจร่วมทุนคือ ไม่มี 2 บัญชีในบริษัทเดียวกัน นโยบายต้องไม่เปลี่ยนไปมา คู่แข่งไม่มาก และผู้บริหารไม่ถือหุ้นหลากหลาย หากผิดเงื่อนไข โอกาสเลือกลงทุนในเอสเอ็มอี แทบเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์
ประสบการณ์เกือบ 10 ปี ของบริษัทวีเน็ท แคปปิทอล จำกัด ในฐานะกองทุนร่วมทุน ตระหนักดีเสมอว่า บริษัทเอสเอ็มอีในเมืองไทย ในปัจจุบันมีจำนวนหลายแสนบริษัท แต่กลับมีเพียงไม่กี่บริษัทที่ได้รับความสนใจจากบริษัทกองทุนร่วมทุน หรือ VCF (Venture Capital Fund) เพื่อร่วมลงทุน เหมือนอย่างเช่นบริษัทวีเน็ทที่ร่วมทุนไปเพียง 17 บริษัทเท่านั้น โดยใช้เงินร่วมทุนประมาณ 200 ล้านบาท
17 บริษัทที่บริษัทร่วมทุนไป ส่วนใหญ่เป็นบริษัทด้านไอที เป็นธุรกิจที่ณรงค์ อิงค์เนศ มีความรู้และประสบการณ์โดยตรง
ในปีนี้ณรงค์ผู้ก่อตั้งและประธาน จะเข้ามาช่วยเหลือและลงมือในทางปฏิบัติ มากขึ้น หลังจากที่ผ่านมามีบทบาทให้คำปรึกษาและสนับสนุนการทำงานของ โสภณ บุณยรัตพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทวีเน็ท แคปปิทอลเท่านั้น
ประสบการณ์ของณรงค์ที่เป็นทั้งผู้ประกอบการ เพราะเขามีธุรกิจของตัวเอง ภายใต้ชื่อ บริษัท เดอะแวลลูซิสเตมส์ จำกัด จำหน่ายสินค้าไอที อย่างเช่น ซีเกท ไมโครซอฟท์ ออราเคิล ซัน และอีกบทบาท หนึ่งทำธุรกิจกองทุนร่วมทุน
ด้วยคุณสมบัติที่มี 2 บทบาทนี้ทำให้เขารู้ว่าเอสเอ็มอีต้องการ "เงิน" และ "คำปรึกษา" เพราะเขารู้ดีว่า นอกเหนือจากการช่วยเหลือทางด้านการเงินและให้คำปรึกษาแล้ว ประสบการณ์ที่มีอยู่ของเขา จะช่วยคัดเลือกพันธมิตร โดยอาศัยเครือข่ายที่เขามีอยู่ในปัจจุบัน
วีเน็ทยังใช้จุดเด่นของตนเองที่เป็นบริษัทเอกชนมีความคล่องตัวในการทำงาน มีนโยบายที่ยืดหยุ่นกว่าธนาคารที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่ประเมินการทำงานโดยดูจากตัวเลขรายได้เป็นหลัก มากกว่าพิจารณาความเป็นไปได้ว่าบริษัทนั้นจะไปรอดหรือไม่
เงื่อนไขการลงทุนของบริษัทวีเน็ท จะเน้นลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีที่เริ่มต้นก่อตั้งใหม่ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลาง เพราะเขามองว่ากลุ่มนี้มีตลาดค่อนข้างมาก ที่ต้องการความช่วยเหลือ ประการสำคัญบริษัทเชี่ยวชาญลงทุน ในกลุ่มนี้มากที่สุด
นโยบายการเข้าไปร่วมถือหุ้นจะลงทุนด้วยเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทจนถึง 50 ล้านบาท และถือหุ้นตั้งแต่ 5 เปอร์เซ็นต์ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
"หากบริษัทถือหุ้นไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ วีเน็ทจะปล่อยให้พันธมิตรเป็นผู้บริหาร แต่ถ้าถือหุ้นเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ บริษัทจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและตรวจสอบบัญชี เพื่อดูแลการเงินอย่างใกล้ชิด"
จะเห็นได้ว่าความยืดหยุ่นและกฎที่ วีเน็ทกำหนดขึ้นนั้นจะแตกต่างจากธนาคาร และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือกองทุนวรรณ ที่มีนโยบายถือหุ้นไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงาน แต่วีเน็ทจะพิจารณาธุรกิจว่าต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบใด
แม้ว่ากองทุนร่วมทุนในภาคของเอกชน ธนาคาร หรือรัฐ จะมีวิธีการที่แตก ต่างกันเพียงใดก็ตามแต่เป้าหมายก็คือ การนำบริษัทร่วมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือขายกิจการต่อให้บริษัทอื่นๆ โดยกองทุนร่วมทุนจะได้รับผลตอบแทนจาก การขายหุ้น หรือเงินปันผลเมื่อบริษัทเหล่านั้นเข้าตลาดหลักทรัพย์
แต่การจะไปถึงจุดหมายปลายทางของกองทุนร่วมทุนจะต้องใช้เวลา และความอดทนไม่น้อย โดยเฉพาะวีเน็ทที่มีนโยบายสนับสนุนกลุ่มธุรกิจที่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ เขาต้องใช้เวลา หรือรอให้บริษัท แข็งแรง ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี
ด้วยนโยบายที่ยืดหยุ่นของบริษัท ที่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายว่าในแต่ละปีจะต้องร่วมทุนกี่บริษัท หรือใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ แต่บริษัทจะแสวงหาโอกาสเสมอโดยไม่เร่งรีบ จึงทำให้บริษัทไม่มีความกดดันในการทำงานจนเกินไป
บริษัทสร้างทางเลือกให้กับตัวเองอยู่เสมอด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรจัดกองทุนร่วมทุนใหม่ๆ อย่างเช่นล่าสุดบริษัท ได้ร่วมจัดตั้งบริษัทใหม่ ชื่อว่า บริษัท ไทยฟู้ด แอนด์อินโนเวชั่น วีซีเอฟ จำกัด เกิดจากความร่วมมือ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย บริษัท เจแปน เอเชีย อินเวสเมนท์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 47.62 เปอร์เซ็นต์ ลงทุน 100 ล้านบาท ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธนาคารเอสเอ็มอี) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือหุ้นรายละ 50 เปอร์เซ็นต์และลงทุนรายละ 50 ล้านบาท บริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด ถือหุ้น 4.76 เปอร์เซ็นต์ ถือหุ้น 10 ล้านบาท
บริษัทแห่งนี้ใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 210 ล้านบาท และให้บริษัท วีเน็ทฯ เป็นผู้จัดการลงทุน
ก่อนหน้านี้หลายปี บริษัทจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตร จัดตั้งกองทุนเพื่อถือหุ้นในบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ ชื่อว่า บริษัท ไทยออโต้โมทีฟ วีซีเอฟ จำกัด ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท 6 แห่ง ปัจจุบันมี 3 บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งวีเน็ทได้ขายหุ้นทั้ง 3 บริษัทออกไปแล้ว ส่วนที่เหลือยังถือหุ้นอยู่ในปัจจุบัน
วิธีการจัดตั้งกองทุนหลายรูปแบบนี้ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง อย่างเช่น ธุรกิจรถยนต์ อาหาร ธุรกิจที่สร้างนวัตกรรมใหม่ ทำให้มีทิศทางที่ชัดเจนในการร่วมทุน
ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย ทำให้วีเน็ทฯ สามารถคัดเลือกธุรกิจเอส เอ็มอี โดยพิจารณาคุณสมบัติ 4 เรื่องหลัก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่บริษัทจะไม่เข้าร่วมทุนคือ
1. บริษัทหนึ่งแห่ง แต่มีการใช้ 2 บัญชี แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส เป็น การทำผิดกฎหมาย เพราะเป้าหมายบริษัท จะต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต
2. เจ้าของธุรกิจมีนโยบายหรือแผนธุรกิจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
3. คู่แข่งไม่มาก
4. ผู้บริหารหลักต้องไม่ถือหุ้นหลากหลาย หรือเข้าไปถือหุ้นทั้งในบริษัทหลัก และบริษัทย่อย
"บริษัทจะไม่ลงทุนในบริษัทย่อย เพราะมองว่ามีผลประโยชน์บางอย่างอยู่ในนั้น แต่บริษัทจะเลือกลงทุนในบริษัทหลักเท่านั้น" โสภณบอกกับ "ผู้จัดการ"
การพบปะกันครั้งแรก บริษัทจะไม่เริ่มพูดคุย หรือปล่อยให้เอสเอ็มอีเล่าให้ฟัง แต่จะพิจารณาจากแผนธุรกิจสั้นๆ เช่น บริษัททำอะไร วิธีการจำหน่ายสินค้า วิธีกระจายสินค้า ซึ่งแผนธุรกิจจะคล้ายกับ พิมพ์เขียว หลังจากนั้นเมื่อบริษัทสนใจก็จะเริ่มคุยลงรายละเอียด
แม้ว่าบริษัทจะมีประสบการณ์มาก มาย หรือมีเงื่อนไขในการคัดเลือกธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อร่วมทุนแล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมา ก็ยอมรับว่ามีหลายๆ บริษัทที่เข้าไปร่วมทุน แล้วไม่ประสบความสำเร็จก็มีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในยุคที่ธุรกิจดอทคอมได้รับ ความนิยมอย่างมากในช่วงปี 2543-2544 มีบริษัทหลายแห่งที่ไปไม่ถึงฝัน
วีเน็ทรู้ดีว่าการทำธุรกิจในรูปแบบของกองทุนร่วมทุน หรือ high risk high return แต่ก็มีความท้าทาย เพราะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่ทว่าหากธุรกิจประสบความสำเร็จ ก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงเช่นเดียวกัน
เพราะประสบการณ์ของวีเน็ทมองว่า หากบริษัทต้องลงทุนจัดตั้งบริษัทเอง บริษัทจะเกิดได้เพียง 1 แห่งในช่วงระยะเวลา 10 ปีเพราะต้องดูแล แต่กรณีให้ความช่วยเหลือในรูปแบบกองทุนร่วมทุน สามารถลงทุนได้หลายๆ บริษัทพร้อมๆ กัน เพราะยังเชื่อมั่นว่าเอสเอ็มอีต้องการกองทุนร่วมทุนเข้าไปช่วยเหลือ และมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจมาก่อน
ระยะการดำเนินงาน 8 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้รับผลตอบแทนจากการดำเนินงานกว่า 1,300 ล้านบาท กับบริษัทที่วีเน็ทฯ เข้าไปถือหุ้นมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ณรงค์พึงพอใจกับผลตอบแทนดังกล่าว
ในต่างประเทศ เวนเจอร์ แคปปิตอล มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ช่วยผลักดันธุรกิจให้เกิด เหมือนเช่น ยาฮู และไมโครซอฟท์ ที่ได้โอกาสเช่นนั้นมาแล้ว แต่เวนเจอร์ แคปปิตอล ในเมืองไทย คงไม่สามารถ ใช้โมเดลของต่างประเทศสวมลงในธุรกิจเอสเอ็มอีได้ เพราะวัฒนธรรมและสไตล์การทำงานที่แตกต่าง
เหมือนเช่นบริษัทวีเน็ทที่ต้องใช้ความอดทนสูงและใช้เวลาในการรอคอยเพื่อเก็บเกี่ยวผลตอบแทนร่วม 10 ปี
|
|
|
|
|