จันทร์ สุรามิตรลืมตาดูโลกมาได้ 63 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าชีวิตของเขาเพิ่งจะได้เริ่มต้นอย่างแท้จริงเมื่อประมาณ
5 ปีมานี้เอง พร้อม ๆ กับการเข้ามาของโครงการพัฒนาที่สูงสามหมื่นโครงการอันเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกองอนุรักษ์ต้นน้ำ
กรมป่าไม้กับกองควบคุมการใช้ยาในทางที่ผิดแห่งสหประชาชาติ (UNDCP) ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวเขา
โดยคำนึงถึงหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย
ภายในเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา การทำลายป่าไม้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย
ๆ ในภาพรวมพื้นที่ป่าจึงลดลงกว่า 30% เฉพาะในภาคเหนืออันเป็นเขตป่าต้นน้ำลำธารที่สมบูรณ์ที่สุดก็มีการบุกรุกป่าสูงสุดด้วย
พื้นที่ป่าต้นน้ำมีเหลืออยู่เพียงประมาณ 12.5 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งคิดเป็น
18% ของพื้นที่ลุ่มน้ำ อัตรานี้ต่ำกว่ามาตรฐานทางวิชาการไป 10%
ปรากฏการณ์การตื้นเขินของแม่น้ำใหญ่สายปิง วัง ยม น่าน คือสิ่งบอกเล่าถึงความเกี่ยวพันของป่ากับน้ำได้เป็นอย่างดี
และเรื่องราวในชีวิตของจันทร์ สุรามิตรก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ความเกื้อกูลสัมพันธ์ระหว่าง
ธรรมชาติกับมนุษย์นั้นซ้อนทับอยู่ด้วยกันอย่างไม่อาจแยกออกได้ การรุกรานต่อกันย่อมหมายถึงการรุกรานต่อตนเอง
จันทร์เป็นชายไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง เขาเกิดบนภูสูงทางตอนเหนือของแผ่นดินไทย
ก่อนที่ยุคสมัยแห่งการพัฒนาจะเริ่มตั้งต้นถึง 30 ปี สมัยนั้น วิถีชีวิตของคนดอยยังค่อนข้างแยกขาดออกจากคนพื้นราบและศูนย์กลาง
รัฐเองก็ก้าวล่วงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเพียงบางเรื่อง มีฝ่าเท้าจากภายนอกไม่กี่คู่เท่านั้นที่เหยียบย่างไปถึงบ้านของจันทร์และพวกพ้อง
ชาวเขาใช้ชีวิตอยู่แนบข้างและควบคู่กับป่ามาแต่ไหนแต่ไร อาศัยและอยู่รอดด้วยการ
"ใช้ทรัพยากรทั้งหลายภายในป่านั้น ตั้งแต่ที่ดิน ไม้ น้ำ พืช สัตว์
หรือกระทั่งใช้เป็นที่พึ่งพิงทางวิญญาณ การเกษตรกรรมชนิดที่ได้รับการขนานนามว่า
"ไร่เลื่อนลอย" หรือ "ไร่หมุนเวียน" คือรูปแบบหนึ่งของการใช้ทรัพยากรเพื่อความอยู่รอด
และแน่นอนว่า คือส่วนหนึ่งของชีวิตโดยรวมด้วย
ในครั้งนั้น การแผ้วถางโค่นล้มมวลไม้แล้วใช้ที่ดินปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร
โยกย้ายไปตามเขาลูกแล้วลูกเล่าจึงคือแบบแผนอันเป็นปกติ ไม่ใช่พฤติกรรมร้ายและไม่ใช่วิถีแห่งการทำลายดังเช่นที่มีการให้ความหมายในปัจจุบัน
ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ที่ต่างออกไปย่อมทำให้คุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลื่อนไหลปรับแปรไปด้วย
ตัวเลขสถิติการสูญเสียป่าในภาคเหนือออกจะน่ากลัว ลำพังส่วนที่ราษฎรบุกรุกก็มากถึง
700,000 กว่าไร่แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับภูมิภาคอื่น เช่น ภาคใต้ที่มีสถิติเป็นอันดับรองลงไป
พื้นที่ที่ถูกบุกรุกก็มีเพียงประมาณ 100,000 ไร่เท่านั้น น้อยกว่าถึง 6 เท่าตัว
จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป้าหมายการผลิตเบี่ยงเบนไปสู่การค้า
แต่รูปแบบการใช้ที่ดินยังด้อยประสิทธิภาพเช่นเดิม ถึงแม้เทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น
มีการใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ก็เป็นเทคโนโลยีที่ขาดความหลากหลาย มีลักษณะแปลกปลอมจากสภาพธรรมชาติ
เมื่อปัจจัยต่าง ๆ ไม่สมดุลกัน ผลลัพธ์ย่อมหนีไม่พ้นการมีปัญหา
จันทร์บอกว่าเขาเริ่มเห็นป่าหมดเมื่ออายุประมาณ 40 ปี สายน้ำลำธารเริ่มมีขนาดเล็กลง
และคนข้างล่างพากันบอกด้วยว่ามีสารเคมีเจือปน ในฐานะคนเล็ก ๆ เขาไม่มีทางออกอะไร
แท้จริงแล้วแทบไม่ได้นึกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่พบนั้นเป็นปัญหาที่ต้องการทางออกหรือไม่ด้วยซ้ำไป
จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปพูดคุย อธิบายและชี้ถึงปัญหา ความเข้าใจก็กระจ่างขึ้นมาอย่างง่ายดาย
"เจ้าหน้าที่พูดคุยด้วย 2-3 ครั้งผมก็เริ่มเข้าใจ แต่ก็ยังไม่เชื่อนักตามที่เขาอธิบายว่าป่าไม้ช่วยดูดซับน้ำ
ทำให้เกิดน้ำ ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ จนกระทั่งวันหนึ่งออกไปดูวัวที่เลี้ยงไว้ในป่า
ตอนนั้นเดือนเมษายนอากาศร้อนมาก ผมหลบไปนั่งใต้ต้นไม้แล้วก็เริ่มนึกได้ว่า
ใต้ร่มไม้ชุ่มชื้นจริง ๆ เอื้อมมือไปเปิดเอาใบไม้ที่ทับถมอยู่ออกก็ได้เห็นว่าดินบริเวณนั้นเปียกและเป็นสีดำดีจริง
ๆ ผมเลยเห็นจริงว่ามีป่าก็มีน้ำ เห็นความสำคัญแล้วที่จะต้องสงวนรักษาป่าเอาไว้"
ชายชราผู้ยังแข็งแรงยิ่งกล่าว
บ้านขุนสาในที่จันทร์เป็นสมาชิกร่วมอยู่ด้วยคือ หนึ่งในจำนวน 60 หมู่บ้านอันเป็นพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาตามโครงการพัฒนาที่สูงสามหมื่น
หมู่บ้านนี้สังกัดตำบลโป่งสา อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านอื่น ๆ
ที่ร่วมโครงการส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
โครงการนี้ออกจะแหวกแนวอยู่สักหน่อย เพราะมุ่งพัฒนาชุมชนในเขตลุ่มน้ำซึ่งตามปกติแล้วกรมป่าไม้ไม่เคยยอมรับ
และที่ผ่านมามักคิดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อการโยกย้ายเอาคนลงมาเสมอ ในการจะรักษาป่าหรือฟื้นฟูลุ่มน้ำก็มุ่งไปที่การปลูกต้นไม้เพิ่มร่วมกับการเน้นงานป้องกันปราบปรามมากกว่า
ไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของราษฎรเท่าไรนัก ทว่าสำหรับโครงการนี้จุดเน้นกลับอยู่ที่การพัฒนาคน
ปรับปรุงชุมชน สร้างชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้น โดยทิ้งให้เป้าหมายเรื่องการรักษาป่าต้นน้ำเป็นความหวังซึ่งแอบแฝงอยู่ลึกไปอีกขั้นหนึ่ง
แนวทางเช่นนี้มีความหมายทางนามธรรมที่สำคัญหลายประการด้วยกัน ไม่เพียงแต่สะท้อนว่า
ราชการเริ่มมองเห็นค่าของชีวิตไพร่ฟ้า-เห็นค่าของชาวเขาผู้เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกีดกันสิทธิมาโดยตลอด
แต่ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือ เรื่องของการให้ความเชื่อมั่นว่า เมื่อผ่านการเรียนรู้แล้ว
ราษฎรนั่นเองจะเป็นผู้จัดแบบแผนชีวิตของตนเองให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมได้
ความเชื่อมั่นตรงนี้ย่อมมิใช่เกิดจากความว่างเปล่าหรือปรากฏขึ้นอย่างง่าย
ๆ แต่ต้องมีรากฐานของความเคารพและศรัทธาต่อสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ภูมิปัญญา"
ของคนที่เป็นชาวบ้านสามัญนั้นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้เชื่อว่าตนเองมีการศึกษาสูงเชื่อว่าตนคือ
เจ้านาย เป็นผู้ปกครองยากที่จะยอมรับแนวคิดนี้ได้
คงต้องชื่นชมปกรณ์ จริงสูงเนิน ข้าราชการของกรมป่าไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาที่สูงสามหมื่นในแง่นี้
เพราะประชาชนกว่า 10,000 คน ใน 60 หมู่บ้านต่างได้รับความเชื่อถือจากเขา
ได้รับโอกาสให้พัฒนาความคิดอย่างเป็นอิสระ เจ้าหน้าที่โครงการเพียงทำหน้าที่
เป็นผู้บอกเล่าถึงความรู้เชิงวิชาการเชื่อมโยงสาเหตุและผลลัพธ์ของการทำการเกษตรที่ทำให้สายน้ำแห้งหายและดินสูญสิ้นความอุดมสมบูรณ์
ชี้ปัญหาให้ปรากฏ จากนั้นก็เป็นเรื่องที่ชาวบ้านคิดและตัดสินใจเอง โครงการฯ
เพียงคอยเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำสำหรับทางออกที่ชาวบ้านเลือกแล้ว รวมทั้งอาจสนับสนุนช่วยเหลือบ้าง
เพื่อให้ทางออกที่ชุมชนจะลงมือทำนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้
เริ่มต้นจากปี 2530 ถึง เดือนมิถุนายน 2535 นี้ โครงการก็จะสิ้นสุดลงแล้ว
หลังจากที่ได้ร่วมประคองชีวิตของคนอย่างจันทร์ สุรามิตร และเพื่อนพ้องชาวดอยของเขาให้เริ่มเดินบนแนวทางใหม่อย่างมั่นคงมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว
เดี๋ยวนี้ไม่มีการโค่นล้มป่าทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป ถิ่นฐานมีความมั่นคงขึ้น
เด็ก ๆ พลอยมีโอกาสเล่าเรียนหนังสือ ในขณะที่พ่อแม่กำลังจะตั้งตัวได้เศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ทั้งที่พืชผักมีขายน้อยลง แต่ข้าวปลาอาหารก็ไม่ต้องหาซื้อมากอย่างแต่ก่อน
และเหนืออื่นใดธรรมชาติไม่ถูกทำลายดังเดิมแล้ว
รูปแบบการปลูกพืชที่เรียกว่าวนเกษตร คือการทำการเกษตรอย่างคำนึงถึงความสูงต่ำและความลาดชันของพื้นที่เลือกปลูกพืชให้เหมาะสม
เช่นบนพื้นที่สูงมาก ๆ ก็ปลูกเฉพาะประเภทไม้ยืนต้น บนพื้นที่ลาดชันก็มีการใช้พืชคลุมดิน
มีวิธีการปลูกเป็นแนวระดับป้องกันหน้าดินพัง ทั้งนี้โดยเน้นที่ความหลากหลายของประเภทพืชประกอบด้วย
และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีอันตราย
จันทร์เป็นคนแรก ๆ ของหมู่บ้านที่เห็นดีงามและก้าวสู่แนวทางวนเกษตรนี้
เริ่มจากความยุ่งยากทั้งจากการที่ผืนดินไม่สมบูรณ์พอเพราะถูกทำลายมายาวนานและทั้งได้รับการติฉินจากชาวบ้านร่วมหมู่บ้าน
แต่ทุกวันนี้ไร่ของเขาสมบูรณ์กว่าใคร ครอบครองที่ดินเพียง 7 ไร่เศษ ก็มีพืชให้กินให้ใช้เต็มอิ่ม
และเพียงพอต่อแรงงานแล้ว น้อยกว่าที่เคยครอบครองมาในสมัยของการทำแบบเลื่อนลอยถึงกว่าครึ่งหนึ่ง
ในเวลานี้บรรดาเพื่อนบ้านต่างหันมาเดินตามรอยเขาแทบทั้งหมู่บ้าน
จันทร์ สุรามิตร บอกว่าเขาเริ่มได้เห็นป่าฟื้นแล้ว น้ำซับ น้ำซึม น้ำห้วยก็มีไหลออกมามากขึ้น
สิ่งที่ได้เห็นในครั้งนี้เขารู้ดีว่ามีความหมายอย่างไรบ้าง เพราะไม่ใช่เพียงแต่ลมหายใจของขุนเขา
ป่าไม้และสายน้ำเท่านั้นหรอกที่ฟื้นคืนมา ชีวิตของเขาเองก็ได้ฟื้นมาด้วยเช่นกัน