|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2551
|
|
"U Chiangmai" เป็นบูติกโฮเต็ลหรูแห่งใหม่ล่าสุดของเชียงใหม่ ที่กวิน กาญจนพาสน์ หรือ Kevin ทายาทธุรกิจบริษัทธนายง ทุ่มทุนสร้างเพื่อเป็นต้นแบบของบูติกโฮเต็ลที่จะขยาย Pipeline อีก 10 แห่งภายในสามปีข้างหน้า ภายใต้ชื่อเชนโรงแรมแบรนด์ "U Hotel & Resort"
พลันที่รถจอดเทียบฟุตบาธริมถนนราชดำเนิน บูติกโฮเต็ล "U Chiangmai" ก็ปรากฏอยู่หลังกำแพงขาวที่เปิดช่องเดินใต้อาคารอนุรักษ์คุ้มข้าหลวงเก่าแก่อายุร้อยปี ออกแบบเป็น Resident Lounge ให้เป็นพื้นที่ต้อนรับลูกค้าด้วยโซฟายาวกับหมอนอิงหลายใบให้นั่งคุยนั่งกอดเล่นระหว่าง Check in ซึ่งลูกค้ามาเวลาไหนก็ Check out เวลานั้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง
U Chiangmai ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เชียงใหม่ บนถนนราชดำเนิน เป็นทำเลสำคัญที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมล้านนาเก่าแก่ ถือเป็นเขตอนุรักษ์สำคัญของ เชียงใหม่ โดยเฉพาะคุ้มข้าหลวงท่านแรกของเชียงใหม่อายุนับร้อยปี ซึ่งเจ้าของคือ รองอำมาตย์เอก พระราชนายกเสนี (เมือง ทิพยมณฑล) ต่อมาที่ดินผืนงามนี้ตกเป็น ของจุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติ ปี 2547 ซึ่งเป็นทายาทแลนด์ลอร์ดอย่างจรัญ กิติบุตร กับบู่ทอง ทิพยมณฑล
"จริงๆ แล้ว โรงแรมเรามีประวัติ ศาสตร์มีจุดเด่นอยู่ที่อาคารโบราณหลังนี้ที่อายุร้อยปี ถ้าเข้าไปข้างในจะเห็นรูปภาพ เก่า ห้องหับดั้งเดิม โดยที่แห่งนี้เคยเป็นคุ้มข้าหลวงท่านแรกของเชียงใหม่ สังเกตให้ดีตรงจั่วของคุ้มจะมีตราลัญจกรเป็นรูปพระอาทิตย์ในกรอบสามเหลี่ยมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลทิพยมณฑล เราไม่รื้อแต่สร้างเป็นล็อบบี้ แล้วสร้างอาคารใหม่ ล้อมรอบ" สุธรรม ศิริทิพย์สาคร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสถาปนิกนักบริหารที่คีรี กาญจนพาสน์ไว้ใจที่สุดคนหนึ่ง เล่าให้ฟังวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ผ่านมา
ที่ดินทำเลงามผืนนี้มีพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน ดึงดูดใจให้กวิน กาญจนพาสน์ ติดต่อขอเช่าระยะยาว 20 ปีเพื่อสร้างบูติก โฮเต็ล "U Chiangmai" ขนาด 41 ห้อง และบริหารจัดการโรงแรม โดยบริษัท Absolute Hotel Services (AHS) นำโดย โจนาธาน วิกลี่ย์ ประธาน AHS และทีมงาน เคยทำงานกับไมเนอร์ กรุ๊ป มีประสบการณ์ บริหารโรงแรมแมริออทมาก่อนก่อตั้ง AHS กิจการของตนเอง โดยผู้จัดการทั่วไปของ U Chiangmai คือ โยธิน อุทธะภู และผู้อำนวยการฝ่ายการขายและการตลาดคือ ชนัญญา ศิริสัมพันธ์
ส่วนงานออกแบบพื้นที่ 800 ตร.ว. ของบริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบและตกแต่งภายในชื่อ SPA+A ได้จัดวาง layout plan แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนหน้าเป็นพื้นที่ให้บริการ Service มีพนักงานโรงแรม 52 คนให้บริการชนิด 1:1 เช่น Lounge Gym หรือศูนย์สุขภาพเปิด 24 ชม. ห้องอาหารและบาร์ "Eat&Drink" ที่เน้นอาหาร สไตล์ยุโรปและบาร์ชั้นสองที่เปิดโล่งเห็นถนนคนเดินได้อย่างมีชีวิตชีวา ห้องสมุดที่มีระบบอินเทอร์เน็ทไฮสปีด
ส่วนที่ให้บริการนี้ยังมีห้องสปา "U SPA" ตั้งอยู่บนชั้นสองของคุ้มข้าหลวงถือเป็น Day Spa ระดับโลก ที่ให้บริการนวดแบบ Swedish กับนวดแบบราชสำนัก ภายใต้กรรมวิธีการนวดผ่อนคลาย โดยใช้ passion ของน้ำมันหอมระเหยล้านนา อบอวลอยู่ภายในคุ้มไม้โบราณที่ห้องหับใหญ่น้อย 3 ห้องยังคงสภาพเดิมไว้อย่างสะอาดและสงบร่มเย็น
ส่วนพื้นที่ส่วนหลังเป็น Resident ห้องพัก 41 ห้อง แบ่งเป็นห้อง superior 29 ห้อง ซึ่งไม่มีอ่างอาบน้ำเหมือนห้อง Deluxe ที่มีอยู่ 12 ห้อง ทั้งหมดตั้งอยู่ในอาคารโรงแรมสูง 3 ชั้นและ 4 ชั้นตามกฎระเบียบ ในเขตอนุรักษ์บริเวณคูเมือง แต่ละห้องพักมีชานระเบียงสำหรับชมวิวที่สามารถเห็นสระว่ายน้ำใสสีมรกต ภายในห้องมี iPod และ DVD ให้เลือก ที่ห้องน้ำมีช่องแสงจากธรรมชาติลอดผ่านลวดลายต้นโพธิ์แบบล้านนาที่ออกแบบกลมกลืน
"ลายต้นโพธิ์เป็นลายแบบหลวงพระบางและล้านนานี้ เราให้ช่างประดับลาย ที่มีความสูงขนาด 3 ชั้น ไว้บนผนังตึก โดยให้แต่ละช่องกิ่งก้านต้นไม้เป็นช่องแสงให้ส่องลอดเป็นความสว่างตามธรรมชาติในห้องน้ำทุกห้อง แทนที่จะเจาะหน้าต่างให้เป็นกรอบหน้าต่างสี่เหลี่ยม เราก็ดีไซน์ให้เข้ากับข้างนอก" สถาปนิกมือเอกอย่างสุธรรมเล่าให้ฟัง
สำหรับกวิน กาญจนพาสน์ คุณพ่อ ลูกสองวัย 33 นำเสนอคอนเซ็ปต์ของ U Chiangmai บูติกโฮเต็ลขนาด 41 ห้อง ด้วยจุดเด่นให้บริการ room service ตลอด 24 ชั่วโมง และตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบ "ตามใจฉัน" (Customize) เช่น จะเลือกกินอาหารเช้าของห้องอาหาร eat&drink ได้ทุกเวลาทุกที่ หรือการให้ลูกค้าสามารถเลือกหมอนในห้องนอนได้หลากหลายชนิด เช่น หมอนขนห่าน หรือ micro fiber polyester หรือเม็ดโฟม แม้กระทั่งมีสบู่ให้เลือกใช้ถึง 4 กลิ่นด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโรงแรมแห่งแรกที่ทำแบบนี้
ยิ่งกว่านั้น U Chiangmai ยังได้ใช้ จุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งในย่านอารยธรรมล้านนาเก่าแก่มาสร้างกิจกรรมสันทนาการประจำวันแก่ลูกค้า โดยนำเดินชมพร้อมฟัง บรรยายเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tour) ให้ ด้วย พร้อมทั้งบริการจักรยานฟรีเพื่อขี่เที่ยว ซอกซอนไปตามถนนสายเก่ารอบๆ คูเมือง ได้เลย
"นี่คือคอนเซ็ปต์ของ U Hotel ที่เรากำลังขยายไปทำที่เมืองกาญจนบุรีและเขาใหญ่ ขณะนี้เรากำลัง study ที่ชะอำด้วย โดยทุกสถานที่จะต้องมีจุดขาย เช่น U Hotel ที่เชียงใหม่ก็มี Heritage Value แต่ละสถานที่ต้องมี value สักอย่างหนึ่ง เช่นที่เมืองกาญจน์ใกล้แม่น้ำแคว เราก็มีสถานที่จะทำโรงแรมแล้ว มันต้องมีเรื่องราว เป็น story ได้" สุธรรม ศิริทิพย์สาคร รองกรรมการผู้จัดการธนายงเล่าให้ฟัง
U Hotel & Resort จึงมีความหมาย ของการบริหารจัดการบูติกโฮเต็ลที่มีขนาด 40-100 ห้อง มีลักษณะเป็น International Hotel Chain ที่มีเครือข่ายบริหารจัดการโรงแรมครอบคลุม กิจการบริษัท U Hotel & Resort นี้ถือหุ้นโดยธนายง 50% และ Absolute Hotel Services อีก 50% มีเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีแรกจะลงทุนเปิดบูติกโฮเต็ลแอนด์รีสอร์ตใน 10 แห่ง เริ่มต้นจาก U Chiangmai ที่เชียงใหม่ ส่วนที่เหลืออยู่ใน Pipeline ได้แก่ที่กาญจนบุรี เขาใหญ่บนเนื้อที่ 700 ไร่ ชะอำ ภูเก็ตที่หาดกมลา เชียงราย ปายในจังหวัดแม่ฮ่อง สอน และข้ามไปลงทุนที่หลวงพระบางในลาว เสียมราฐในกัมพูชา และฮานอยในเวียดนาม
"คอนเซ็ปต์การลงทุนทำโรงแรมของเราจะเป็นโรงแรมขนาดเล็กๆ หรือบูติก โฮเต็ล ปกติเราจะทำประมาณห้องพัก 75 ห้อง เมื่อเรารวมหลายๆ ที่ก็คาดว่าจะบริหารจัดการโรงแรมได้หลายร้อยห้อง ถ้าเป็นโรงแรมเล็กโรงแรมเดียวก็อาจจะไม่คุ้ม แต่เราต้องเปิดเป็นเชนหลายๆ บูติกโฮเต็ล เราจึงจะคุ้มและเราก็รับบริหารจัดการโรงแรมอื่นๆ ด้วย" สุธรรมเล่าให้ฟัง
สไตล์การลงทุนบูติกโฮเต็ลของ U Hotel ในยุคของกวิน ถึงแม้จะดูเล็กๆแต่ก็ใหญ่ทุนหนาและหนัก แบบตระกูลกาญจนพาสน์ อย่างไรก็ตาม ตรรกะการบริหารการลงทุนของทายาทธุรกิจธนายง อย่างกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ U Hotel & Resort กล่าวไว้ก็น่าคิดว่า
"การลงทุนขนาดนี้ไม่เยอะ แต่ถ้ารุ่ง จะทำต่อก็ได้"...งานนี้คล่องตัวทั้งเดินหน้าและถอยหลัง
แต่ใครๆ เขาก็ว่าเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียน โดยเฉพาะธุรกิจบูติกโฮเต็ลระดับห้าดาว ซึ่งเจ้าของทุนใหญ่ จากกรุงเทพฯ เช่นกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี กลุ่มวิรันดา และกลุ่มกาญจนพาสน์ต้องคิดหนัก เพราะการบริหารธุรกิจบูติกโฮเต็ลต้องเจ้าของทำเองจึงจะ เข้าใจ เพราะธุรกิจนี้ต้องมี character มีสไตล์ มีคอนเซ็ปต์ และมีเรื่องราวมาเป็นจุดขายที่แตกต่างตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์ แตกต่างกันได้ เช่น โรงแรมราชมรรคา ถือว่าเป็นบูติกโฮเต็ลที่ฉีกแนวคิดใหม่แห่งแรก โรงแรมเดอะเจดีย์ เชียงใหม่ at Niman ของราเชน อินทวงศ์ โรงแรมยางคำ และ Tamarind
แนวโน้มโครงการลงทุนจากทุนท้องถิ่นที่เป็นนักธุรกิจเชียงใหม่รุ่นใหม่ๆ ก็ทยอยเข้ามาในธุรกิจบูติกโฮเต็ล เพราะนักธุรกิจเชียงใหม่ที่มีที่ดินเป็นของตนเอง ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนขนาดใหญ่เป็นหลักร้อยหลักพันล้าน ขณะที่ทุนใหญ่จากกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มบริษัทเบียร์ช้าง และกลุ่มบริษัทธนายง ต่างก็ต้องการจับตลาดนี้เช่นกันแถบริมปิง ย่านช้างคลานและท่าแพ
ถึงเวลาในอนาคตอันใกล้ เชียงใหม่จะกลายเป็น Capital of Boutique Hotel ที่รู้ว่าจะขายอะไรให้กับแขกที่มาพัก?!
|
|
|
|
|