|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2551
|
|
เมื่อหลายฉบับก่อนผมเคยเล่าถึงสงครามปืนไฟ ซึ่งนำไปสู่การที่ฝรั่งเข้ามายึดประเทศของเมารีไปครอง ตรงนี้ผมจะขอเล่าต่อว่าฝรั่งกลายมารบกับเมารีได้อย่างไร ก่อนที่ฝรั่งจะมาตั้งรกรากที่ใดนั้นผมต้องขออธิบายสักนิดว่า การยึดอาณานิคมของอังกฤษ ประเทศในยุโรปหลายประเทศ ยกเว้นฝรั่งเศสนั้นไม่ได้ทำโดยรัฐบาลของชาตินั้นๆ อย่างที่เราเข้าใจกัน แต่จะกระทำโดยบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานการค้าทางทะเลจากรัฐบาล เช่น บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษที่เป็นคนยึดแคริบเบียนอินเดีย และทำสงครามฝิ่นกับจีน เมื่อยึดได้ก็จะประกาศเขตการค้าทำให้ชาตินั้นๆ เป็นอาณานิคมไปโดยนิตินัย เพราะในยุคนั้นการค้าทำตามแนวคิดที่ว่าปักธงลงบนแผ่นดินใดชาตินั้นถือเป็นเขตการค้าของชาตินั้นๆ นอกจากนี้บริษัทเหล่านี้มีสิทธิว่าจ้างทหารจากกองทัพบกและเรือไปเป็นกองอาสาของบริษัท เพื่อเอาไปรบกับคนพื้นเมืองและโจรสลัด ซึ่งทหารที่ย้ายไปรับงานเอกชนโดยมากจะเป็นนายทหารที่ไม่ก้าวหน้าในหน้าที่ นอกจากนี้บริษัทการค้าทางทะเลยังได้รับสิทธิจาก รัฐบาลในการเลื่อนยศทหารได้เอง และเมื่อได้รับยศใหม่แล้วก็จะได้ศักดิ์และสิทธิเท่ากับทหารในราชการ
เมื่อพูดถึงบริษัทที่เกี่ยวกับการยึดนิวซีแลนด์ ผมขอเกริ่น ถึงสมัยสงครามนโปเลียนสงบใหม่ๆ มีพี่น้องเชื้อสายสกอตตระกูลเวคฟิลล์สามคนต้องออกจากราชการมาทำงานเอกชนพี่ใหญ่ เอ็ดเวิร์ดเป็นอดีตนักการทูต ไปทำงานกับบริษัทที่ได้สัมปทานแคนาดา คนรอง วิลเลียม นายทหารบกเป็นทหารอาสาให้กับจักรพรรดิบราซิลและรัฐบาลสเปนและน้องเล็ก อาเทอร์ ราชนาวีก็ออกไปทำงานปราบโจรสลัดในแคริบเบียนให้กับบริษัทอีสต์อินเดีย ในที่สุดสามพี่น้องก็เอาประสบการณ์และเส้นสายออกมายกระดับตัวเองจากลูกจ้างเป็นเจ้าสัว เวลานั้นบริษัทนิวซีแลนด์ซึ่งก่อตั้งในปี 1825 กำลังจะหมดทุน เพราะหวังผูกขาดการค้าไม้กับปลาวาฬ แต่กว่าจะได้รับสัมปทานก็ปาเข้าไปปี 1837 ซึ่งรอการอนุมัตินานถึง 12 ปี ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจขายหุ้นให้กับเวคฟิลล์ไปบริหาร การบริหารของเวคฟิลล์นั้นมีสภาพเหมือนกับบริษัทพัฒนา ที่ดิน ในขั้นแรกบริษัทได้เจรจากับเจ้า เต ราวปาราฮา ซึ่งปกครองเกาะเหนือตอนล่างและเกาะใต้ตอนบน เพื่อขอซื้อที่ดิน จากนั้นทางบริษัท กลับไปทำการโฆษณาในอังกฤษ ซึ่งพวกเขาก็จะเริ่มวางแปลนว่า เมืองกับท่าเรือจะอยู่ตรงไหน จากนั้นก็จะเปิดโครงการต่างๆ เช่น บ้านเดี่ยว ฟาร์ม เอสเตท ทำไร่
ทีนี้พอเริ่มขายโครงการแล้วคนที่มาซื้อก็จะเดินทางไปตั้งรกรากในนิวซีแลนด์ และปัญหา ที่บริษัทนิวซีแลนด์ต้องเจอคือความไม่พอใจของลูกค้าที่เสียเงินมาซื้อโครงการ เพราะผู้ขายก็โฆษณาเสียเกินจริงว่านิวซีแลนด์คืออังกฤษใหม่ โครงการที่วาดไว้ก็แสดงบ้านเมืองบนที่ราบและมีตึกรามบ้านช่องสวยงาม เพราะไปลอกแบบเอาตึกกับถนนสวยๆ ในลอนดอนมา ทีนี้พอผู้ซื้อข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงนิวซีแลนด์เข้าจริงๆ ก็คงมีความรู้สึกเหมือนคนที่ไปซื้อบ้านจัดสรรที่เจ้าของเขาทิ้งโครงการตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ บางครั้งผู้ซื้อประท้วงไม่เอาที่ดินที่จองไว้ เพราะในโครงการอ้างว่าจะได้ที่ราบเหมาะกับการปศุสัตว์กลับไปเจอป่าชายเลนหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ
พอโดนประท้วงมากๆ เข้าบริษัทต้องลงทุนเพิ่ม ในขั้นแรกคือไปซื้อที่ดินสวยๆ จากเมารีแต่พอทำแบบนี้สถานการณ์การเงินก็เริ่มติดตัวแดง เพราะ ที่เก่าขายไม่ออกส่วนที่ใหม่ก็ไม่ได้เงินเพราะต้องเอามาชดเชยให้ลูกค้าเก่า ทางบริษัทจึงหาทางออกโดยการขอแลกที่เก่ากับเมารี ซึ่งต่อให้โง่อย่างไร ชาวบ้านก็คงไม่ยอม เมื่อเจรจากับชาวบ้านไม่ได้ผลบริษัทก็เข้าไปหาเจ้าราวปาราฮาคนเก่า พร้อมกับเอาปืนจำนวนมากและเงินทอง ข้าวของสวยๆ จากยุโรปไปกำนัล เจ้าเมารีเห็นแก่ของกำนัลเลยยอมให้ฝรั่งมาทำการยึดหมู่บ้านที่อยู่บนทำเลสวยๆ แล้วไล่ที่ชาวบ้านให้กลับเข้าป่า ต่อมาเจ้าเมารีคนเดิมก็เป็นหนึ่งในเจ้าเมารีที่ไปลงนามยอมเป็นเมืองขึ้นอังกฤษในปี 1840 เพราะเชื่อว่าสนธิสัญญาหมายถึงการที่อังกฤษจะรับรอง อธิปไตยและที่ดิน ซึ่งไปยึดมาจากเผ่าอื่น
ทีนี้พอสนธิสัญญาไวตังกิมีผลบังคับใช้ การซื้อขายที่ดินต้องกระทำผ่านกรมที่ดิน ไม่ใช่ไปหาซื้อกับเมารี เอาตามใจชอบ ตระกูลเวคฟิลล์นั้นจึงใช้เส้นสายที่มีเข้า เจรจากับรัฐมนตรีทบวงอาณานิคมจนได้ข้อตกลงว่าทางทบวงให้บริษัทนิวซีแลนด์ประเมินและทำแผนที่เขตที่บริษัทต้องการสัมปทาน คือเกาะเหนือตอนล่างและเกาะใต้ตอนบนและตะวันออก คิดเป็นพื้นที่เกือบ 60% ของประเทศ จากนั้นจึงนำไปให้กรมที่ดินออกโฉนดและ ตีราคาเพื่อนำไปประมูลสัมปทาน พอได้รับสัมปทาน บริษัทนิวซีแลนด์ก็เลยมาแนวใหม่คือ เอาโฉนดและสนธิสัญญามาไล่ที่หรือกดซื้อที่ดินที่เมารีครอบครองอยู่ในราคาไม่เป็นธรรม
ปัญหามาถึงจุดสุกงอมในปี 1843 เมื่ออาเทอร์ เวคฟิลล์ เกิดถูกใจเขาไวราว ซึ่งห่างจากเมืองเนลสันไป 25 กิโลเมตร เพราะเหมาะแก่การทำปศุสัตว์ แต่ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของเจ้าโนโฮรัว อนุชาของเจ้าราวปาราฮา ซึ่งถ้าฝรั่งไปยึดที่ชาวบ้าน เจ้าเมารียังไม่เดือดร้อนเท่ากับมายึดที่ของตน ซึ่งเจ้าราวปาราฮาจึงนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อกรมที่ดินและศาล ซึ่งศาลขอให้ยอมความ แต่ปรากฏว่าอาเทอร์ไม่ยอมเจรจาและขู่ว่าจะเอาทหาร 300 นาย มาไล่เจ้าเมารี โดยอ้างว่าตนซื้อ ที่มาจากนักล่าปลาวาฬ ถ้าดูจากหลักฐานก็คงบอกได้ไม่ยากว่าอาเทอร์เล่นไม่ซื่อ เพราะคงไม่มีนักล่าปลาวาฬ ที่ไหนดั้นด้นมาซื้อที่ดินในป่าเขาห่างไกลจากท่าเรือเป็นร้อยๆ ไมล์ ที่จริงแล้วเจ้าราวปาราฮานั้นเป็นคนละโมบ ถ้าบริษัทนิวซีแลนด์ยอมจ่ายเงินให้สักก้อน เจ้าเมารีก็คงยอมยกเขาไวราวให้ แต่ด้วยความโลภของฝรั่งที่คิดจะไปยึดที่ดินฟรีๆ เลยกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่างเมารีกับฝรั่ง
เมื่อเมารีไม่พอใจฝรั่ง เจ้าเต แรงกิเฮอาตา หลานชายเจ้าแคว้นและแม่ทัพใหญ่จึงใช้กำลังทหารไปไล่ฝรั่งออกจากพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งชาวบ้านฝรั่งก็ไม่พอใจเพราะเสียเงินซื้อที่ดินจากบริษัทไปแล้วกลับมาโดนเมารีรื้อบ้าน คราวนี้อาเทอร์จึงไปแจ้งความกับผู้บังคับการตำรวจเนลสันให้ออกหมายจับและส่ง ออกัสตุส ทอมสัน พร้อมทหาร ตำรวจ 60 นาย ไปช่วยอาเทอร์ในการยึดที่ดินและจับกุมเจ้าเมารี เมื่อไปถึงตำหนักของเจ้าเมารี ทั้งอาเทอร์และออกัสตุสแสดงความกักขฬะทันที เมื่อเจ้าเมารีแสดงไมตรีโดยการยื่นมือให้จับแต่ฝรั่งทั้งคู่กลับปฏิเสธและกรรโชกเจ้าเมารีพร้อมเอากุญแจมือออกมาขู่ ขณะที่เถียงกันอยู่ทอมสันจึงเรียกพลทหารที่รออยู่ข้างนอกให้เข้ามาช่วย พลทหาร ฝรั่งคนหนึ่งจึงชักปืนออกมายิงไปโดนธิดาของเจ้าเมารีกับภรรยาของแม่ทัพเมารีเสียชีวิต คราวนี้เมารีโกรธ เรียกทหารเมารีเจนศึกจากสงครามปืนไฟ 900 นาย มาสู้กับทหารเกณฑ์อังกฤษ แค่ 60 นาย ฝ่ายฝรั่งโดนล้อมจับทั้งหมด เมารีทรมานและประหารทหารฝรั่งทุกคน รวมถึงอาเทอร์ เวคฟิลล์ ผู้ละโมบ และออกัสตุส ทอมสัน ผู้กักขฬะ
ปัญหาดังกล่าวทำให้ทางอังกฤษต้องส่งผู้แทนมาตัดสินคดี จึงพบว่าทางบริษัทผิดจริง ตั้งแต่การขายที่ดินโดยมิชอบกับพฤติกรรมก้าวร้าวของอาเทอร์และออกัสตุส จึงสั่งปลดผู้บังคับการตำรวจเนลสันที่ออกหมายจับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทางศาลพิพากษาว่าเจ้าราวปาราฮาและแม่ทัพแรงกิฮาอาตา ผิดข้อหาฆ่าทหารที่จับได้ ซึ่งผิดธรรมเนียมการศึกของ อารยประเทศ โดยให้รอลงอาญาไว้ก่อน ถ้าดูการตัดสิน จริงๆ แล้วก็ต้องยอมรับว่า เป็นคำตัดสินที่เป็นธรรมและ ประนีประนอมที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม คำตัดสินนี้เป็นที่ไม่พอใจของทั้งสองฝ่าย เมารีมองว่าตนไม่ผิด ทำไมต้องโดนรอลงอาญา ในอดีตเวลาเมารีรบกันพอจับเชลย ได้ก็ประหารศัตรู แล้วตนผิดตรงไหน ส่วนพวกฝรั่งยิ่งไม่พอใจเพราะมองว่าคำตัดสินเข้าข้างเมารี เพราะฆ่าฝรั่งแล้วไม่โดนลงโทษ แถมที่ดินก็คืนให้เมารี ทำให้ทั้งสองฝ่ายมองหน้ากันไม่ติด ต่อมาเหตุการณ์ชนิดเดียว กันก็เกิดขึ้นที่ฮัตวัลเล่ย์โดยคู่กรณีเดิม เมารีจึงตัดสินใจใช้กำลังและกลายมาเป็นสงครามใหญ่รบพุ่งกันนานถึง 27 ปีทำให้ฝรั่งเข้ายึดประเทศนิวซีแลนด์ทั้งหมดจากเมารี ส่วนบริษัทนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นบริษัทเล็กๆ พอเกิดสงครามที่ดินก็ขายไม่ออกก็เลยเจ๊งไปในที่สุด
มาถึงทุกวันนี้ชาวเมารียังคงสู้เรื่องกรณีพิพาทกับฝรั่งต่อไป แต่พัฒนาไปสู้ในชั้นศาลแทน ซึ่งหลายครั้งเมารีก็เป็นผู้ได้รับชัยชนะและรัฐบาลนิวซีแลนด์ต้องมาชดใช้เงินให้กับชาวเมารี เนื่องจากความละโมบของบริษัทนิวซีแลนด์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน กว่าที่ชาวเมารีจะรู้ว่าทางออกของปัญหาไม่ใช่การใช้กำลัง แต่อยู่ที่การเจรจาต่อรองและพึ่งระบบการศาล ก็เสียที่ดินไปหมดแล้ว
|
|
|
|
|