|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2551
|
|
อาหารแช่แข็งกลายเป็นเสบียงก้นครัวของผู้คนตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกนับแต่การถนอมอาหารโดยวิธีแช่แข็งอย่างรวดเร็ว (Quick-freezing Method) ของ Clarence Birdseye ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร
ในปี 1924 Birdseye สังเกตพบ "การแช่แข็งอย่างรวดเร็วโดยธรรมชาติ" จากภูมิปัญญาของชนเผ่าไอนุซึ่งเชี่ยวชาญการตกปลา ขึ้นมาจากใต้แผ่นน้ำแข็งในสภาวะอากาศหนาวเย็นราว -40 องศา ของประเทศแคนาดา ในยุคที่ภาวะโลกร้อนยังไม่ได้คุกคามโลกของเราเหมือนเช่นทุกวันนี้ การแช่แข็งนั้นเกิดขึ้นแทบจะทันทีที่ดึงปลาขึ้นพ้นผิวน้ำ
กระนั้นก็ตาม ที่จริงแล้ววิธีการแช่แข็งอาหารอย่างรวดเร็วนี้ถูกจุดประกายขึ้นจากรสชาติและความสดที่ยังคงอยู่ราวกับปลาที่เพิ่งจับขึ้นมาใหม่ๆ แม้จะผ่านการแช่แข็งมานานกว่าเดือนแล้วก็ตาม ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของของเหลวที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งภายในเวลาอันรวดเร็ว เป็นผลให้น้ำที่เป็นองค์ประกอบในตัวปลาเปลี่ยนสถานะเป็นน้ำแข็งก่อนที่ผนังเซลล์จะถูกทำลาย ซึ่งเท่ากับเป็นการหยุดปฏิกิริยาชีวะเคมีภายในเซลล์รวมถึงช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย
หากเทียบกับวิธีแช่แข็งแบบเดิมที่ค่อยๆ ลดอุณหภูมิลงอย่างช้าๆ แล้วระยะเวลากว่าที่ปลาจะถูกแช่แข็งจนได้ที่ก็นานพอที่จะทำให้ผนังเซลล์แตกและกระบวนการย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตเริ่มดำเนินไปอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยนไป
แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การประดิษฐ์ Quick Freeze Machine ก่อนที่จดสิทธิบัตรในอเมริกาเป็นนวัตกรรมการถนอมอาหารที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดแบบครบวงจรทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิตและ ด้านการตลาดขยายตัวกลายเป็นธุรกิจอาหารแช่แข็ง สารพัดชนิดในเวลาต่อมา
ปัจจุบันอาหารแช่แข็งได้ทวีบทบาทในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะการมีส่วนช่วยทุ่นเวลาช่วงเช้าอันรีบเร่งของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นที่ไหนจะต้องทำอาหารเช้าอีกทั้งเตรียมเบนโตะหรืออาหารกล่องสำหรับเป็นมื้อกลางวันที่อร่อยถูกปากและมีรูปลักษณ์ชวนรับประทานให้แล้วเสร็จทันเวลาก่อนที่ลูกๆ และสามีจะออกจากบ้าน
กระทั่งวันที่ 30 มกราคม 2008 เกี๊ยวซ่าแช่แข็งตกเป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับและเป็นข่าวที่สื่อโทรทัศน์ทุกช่องติดตามรายงานอย่างใกล้ชิด โดยเริ่มจากคำประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคมในกรณีที่มีผู้ป่วย 10 รายในจังหวัด Chiba ทางตะวันออก และจังหวัด Hyogo ทางตะวันตกของญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการอาเจียน อย่างรุนแรงหลังจากบริโภคเกี๊ยวซ่าแช่แข็งผลิตจาก โรงงาน Tianyang Food ในประเทศจีน ที่นำเข้า โดยบริษัท JT Foods และ Japanese Consumers' Co-operative Union หรือที่รู้จักกันในชื่อ CO-OP จึงได้เรียกเก็บคืนเกี๊ยวซ่าแช่แข็งและอาหารแช่แข็งประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 25 รายการจากท้องตลาดทั่วประเทศ พร้อมกันนั้นประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลและรายการอาหารที่อยู่ในข่ายไม่ปลอดภัยทั้งหมดได้ทางโทรศัพท์สายตรงและเว็บไซต์ ของกระทรวงสาธารณสุขฯ
ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าดังกล่าว พบสารกำจัดศัตรูพืช Methamidophos ปนเปื้อนมากับผักกุยช่ายในเกี๊ยวซ่าแช่แข็งปริมาณสูงถึง 130 ppm* (จากระดับปกติที่อนุญาตให้มีได้ไม่เกิน 0.3 ppm) ซึ่งมากกว่าปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้กว่า 400 เท่าและยังตรวจพบสารตัวเดียวกันจากตัวอย่าง ของเหลวที่ผู้ป่วยอาเจียนออกมา
Methamidophos เป็นยาฆ่าแมลงกลุ่ม Organophosphate ตาม U.S. Environmental Protect Agency กำหนดให้ติดฉลาก "สารพิษอันตราย" บนขวด ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นจัดเป็นสารควบคุมพิเศษไม่สามารถซื้อขายได้อย่างเสรีเพื่อการเกษตร
เนื่องเพราะความรุนแรงทางพิษวิทยาของ Methamidophos ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Acetylcholinesterase อย่างถาวรโดยการซึมผ่านทางผิวหนัง ทางการหายใจ หรือดูดซึมจากกระเพาะอาหารสู่ร่างกาย
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสมดุลของนิเวศวิทยาหากตกค้างในระบบห่วงโซ่อาหารกล่าวคือ Methamidophos สามารถฆ่านกได้ แม้ในปริมาณต่ำ สะสมในเกสรดอกไม้ซึ่งตรวจพบได้ในน้ำผึ้ง เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ ตกค้างในดินเป็นระยะวลานาน เป็นต้น
นับตั้งแต่ปลายปี 2007 มีชาวญี่ปุ่นมากกว่า 3,000 รายทั่วประเทศเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อมๆ หลังจากบริโภค เกี๊ยวซ่าแช่แข็งดังกล่าว ซึ่งล้วนแต่เป็นอาการแสดงพิษเฉียบพลันของ Methamidophos แต่นับว่ายังเคราะห์ดีมาก เพราะก่อนหน้านี้พบว่าเคยมีรายงาน ผู้เสียชีวิตจากพิษ Methamidophos ในประเทศจีนมาแล้ว
หลังจากการสอบสวนอย่างละเอียดทางกรมตำรวจญี่ปุ่นตั้งข้อสันนิษฐานไปที่การปนเปื้อนจากโรงงานผลิตมากกว่ากรณีที่มีการแอบใส่ Methamidophos ในระหว่างการขนส่ง แม้จะมีรายงานว่าพบรูรั่วบนถุงตัวอย่างบางส่วนที่ถูกเรียกคืน เนื่องจากเส้นทางที่ใช้ลำเลียงสินค้าจากท่าเรือของประเทศจีนไปยังจังหวัด Chiba และ Hyogo นั้นต่างกัน อีกทั้งแยกเก็บสินค้าไว้คนละแห่ง
ในขณะที่ทางฝ่ายจีนแจ้งผลการตรวจสอบไว้ว่าไม่พบสารปนเปื้อนตามข้อกล่าวหา ยิ่งไปกว่านั้น ภาพบันทึกการทำงานจากกล้องวงจรปิดภายในโรงงานและการสัมภาษณ์คนงานทั้ง 55 คนก็ไม่พบพิรุธแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการจงใจแอบใส่เข้าไประหว่างการขนส่งภายในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า
บทสรุปเบื้องต้นในระยะ 2-3 เดือนหลังจากเกิดปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศนั้นคือ ภาครัฐของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมมือกันสอบสวนสาเหตุโดยละเอียดเพื่อหามาตรการป้องกันการเกิดปัญหาในทำนองนี้อีกในอนาคต
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการนำเข้าอาหารจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งชนิดและปริมาณ ทำให้การตรวจสอบอาหารอย่างทั่วถึงนั้นเป็นไปได้ยาก
แต่นั่นไม่ได้เกิด ผลดีต่อผู้บริโภคภายในประเทศ เพราะจากการตรวจสอบอย่างเข้มงวดขึ้น พบรายงานใหม่ที่น่าตกใจไม่น้อยโดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืช Diclorvos ซึ่งเป็นสารที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ Methamidophos ปนเปื้อนอยู่ในอาหารแช่แข็งจากประเทศจีน ซึ่งนำเข้าโดยบริษัท Maruha พร้อมกับการรายงานสารปนเปื้อนยากำจัดศัตรูพืชอีกอย่างน้อย 48 ชนิด
ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ยังระบุว่า มีการใช้ Methamidophos ในการปลูกพืชผักชนิดอื่นอีกอย่างเช่น บรอคโคลี อ้อย องุ่น ฝ้าย มันสำปะหลัง ฯลฯ ในประเทศจีน
อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่ข่าวนี้ไปคล้องจองกับข่าวเรื่องความปลอดภัยของสินค้าจีน ซึ่งกระฉ่อนมาจากมุมอื่นของโลกที่มีให้เห็นเป็นระยะๆ ก่อนหน้านี้เพียงแต่ปัญหาที่ว่าปะทุขึ้นกระชั้นใกล้ตัวเกินกว่าจะเพิกเฉยได้
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความไว้เนื้อเชื่อใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเสมือนชนวนเหตุทำให้ผู้บริโภคในญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือนำเข้าจากแหล่งอื่นที่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงกว่า
แม้ในภาพรวมแล้วราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะกระเถิบตัวสูงขึ้นแต่หากคำนึงถึง Cost-effective แล้วสุขภาพย่อมสำคัญกว่าการคำนึงเพียงแค่ Cost ที่อาจจะช่วยประหยัดค่าอาหารได้ไม่กี่สิบกี่ร้อยเยน
กระนั้นก็ตาม เกี๊ยวซ่าแช่แข็งกลับมาเป็นข่าวใหญ่ในญี่ปุ่นอีกครั้งด้วยรายงานที่ระบุว่า พบผู้ป่วยด้วยพิษเฉียบพลันของ Methamidophos ในประเทศจีน หลังจากบริโภคเกี๊ยวซ่าแช่แข็งที่ผลิตจากโรงงาน Tianyang Food ซึ่งความชัดเจนของข้อเท็จจริงนี้มีน้ำหนักพอที่จะสนับสนุนข้อสันนิษฐานซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่า แท้จริงแล้วการปนเปื้อนนั้นมิได้เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งภายในประเทศญี่ปุ่นอย่างเช่นที่เคยสรุปไว้เมื่อหลายเดือนก่อน
แต่นั่นกลับไม่ใช่ประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนญี่ปุ่นเท่ากับการสืบทราบว่า ข้อเท็จจริงนี้ถูกปกปิดมาร่วมเดือนโดย Yasuo Fukuda นายกรัฐมนตรี และ Masahiko Koumura รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นเสียเอง
ทั้งที่ทางการจีนแจ้งเรื่องของเกี๊ยวซ่าแช่แข็งไปยังสถานกงสุลญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่งตั้งแต่เดือนมิถุนายนและยังได้รับการสำทับด้วยวาจาโดยตรงจากประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม Out-reach session ในวาระที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม G8 Summit** ที่ Toyako ในเกาะ Hokkaido เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
กระนั้นก็ดีการตอบรับคำขอร้องจากรัฐบาลจีน ที่ขอให้เก็บข้อมูลไว้เป็นการภายในด้วยเหตุผลที่ว่ากำลังอยู่ในระหว่างการสวบสวนหาสาเหตุ ซึ่งเกรงว่าอาจกระทบต่อภาพลักษณ์โอลิมปิกนั้นกลับถูกเปิดเผยออกมาก่อนหน้าพิธีเปิดโอลิมปิกเพียง 2 วัน
เจตจำนงอันดีในความพยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจนลืมตรรกะที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในประเด็นอันอ่อนไหวต่อสังคมญี่ปุ่นนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ยิ่งตอกย้ำข้อกังขาในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการบริหารงานราชการรวมถึงภาวะผู้นำในเวทีโลก
การพูดและยอมรับความจริงอย่างลูกผู้ชายเป็นสิ่งพึงกระทำเพื่อร่วมแก้ไขข้อผิดพลาด ซึ่งย่อมได้รับการสรรเสริญมากกว่าการแก้ต่างและหมกเม็ดที่มีผลต่อคะแนนนิยมแห่งรัฐนาวาไม่มากก็น้อย
ยิ่งไปกว่านั้น Seiichi Oota รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง เป็นอีกท่านที่ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เกี่ยวกับข่าวเกี๊ยวซ่าแช่แข็งกล่าวว่า "ผู้บริโภคในญี่ปุ่นนั้นจู้จี้" เป็นวาทะที่รัฐมนตรี Oota ต้องออกมาให้ความกระจ่างอีกครั้งว่า ไม่ได้มีเจตนาตามคำที่พูด แต่นั่นดูเหมือนจะกลายเป็นวจีกรรมที่ต้องแบกรับที่ก้องอยู่ในห้วงคำนึงของประชาชนญี่ปุ่นต่อไป
ระยะเวลาเพียงครึ่งปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงและสัจธรรมหลายประการที่สามารถเห็นเป็นรูปร่างบอกใบ้ผลลัพธ์สุดท้ายก่อนจะพบแสงสว่างที่ทางออกปลายอุโมงค์
หมายเหตุ :
* ppm ย่อมาจาก parts-per million เป็นการบอกระดับความเข้มข้นของสารเคมีในปริมาณที่น้อยมากๆ
** ประเทศสมาชิกในการประชุม G8 Summit ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี รัสเซีย ฝรั่งเศส รวมถึงสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
|
|
|
|
|