|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2551
|
|
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
เรื่อง ดิอีโคโนมิสต์ 14 สิงหาคม 2551
วิกฤติสินเชื่อโลกเริ่มต้นจากสหรัฐฯ แต่ยุโรปอาจกลับกลายเป็นแพะรับบาป
ช่วยไม่ได้ที่ชาวยุโรปจะรู้สึกว่าเป็นฝ่ายถูกทำร้าย ความตกต่ำของตลาดบ้านและที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดวิกฤติในตลาดสินเชื่อ หากจะให้ยุติธรรม สหรัฐฯ ก็ควรเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาที่ตัวเองเป็นต้นเหตุ แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยความที่สามารถฝ่าคลื่นลมมรสุมได้ดีกว่า ซึ่งแม้กระทั่งตัวสหรัฐฯ เองก็อาจคิดไม่ถึง ทำให้ GDP ของสหรัฐฯ ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อสิ้นปี 2007 และกลับเติบโตในอัตรา 2% ต่อปีในไตรมาสที่สองของปีนี้
แต่ยุโรปกลับเป็นฝ่ายที่กำลังต้องดิ้นรน เพื่อให้จมูกอยู่เหนือน้ำ ตัวเลขเศรษฐกิจที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมพบว่า เศรษฐกิจในเขตยูโรหดตัวลง 0.8% ต่อปีในไตรมาสที่สองของปีนี้ ซึ่งนับเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2001 ดูเหมือนสถานการณ์ คงจะไม่ดีขึ้นในเร็วๆ นี้ ผลสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของภาคการ ผลิตและการบริการในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิดเสมอ ปรากฏว่าตกลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ความเชื่อมั่นของธุรกิจลดต่ำลงอย่าง มากในทั้ง 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน คือเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี
เป็นความจริงที่ในไตรมาสสองที่ผ่านมา GDP ตกลงในทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตตลอดทั้งปีของทั้งสาม การที่เศรษฐกิจอิตาลีตกต่ำลงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ แม้กระทั่งในเวลาที่เศรษฐกิจโลกสดใสกว่านี้ แต่อิตาลีก็มักจะต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรักษาการเติบโตอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน GDP ของสเปนถูกคาดว่าจะสะดุด ในขณะที่สเปนกำลังช็อกกับฟองสบู่ แตกในตลาดบ้าน แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือการที่ฝรั่งเศสกับเยอรมนี ก็พลอยก้าวถอยหลังไปด้วย ทั้งๆ ที่ 2 ประเทศนี้ดูจะแข็งแกร่งกว่าเพื่อนๆ ในยูโรโซนด้วยกัน
ความจริงแล้วการลดลง 2.0% ต่อปีของ GDP เยอรมนีในไตรมาสสอง ได้ทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีดูแย่ไปกว่าความเป็นจริง การก่อสร้างที่เติบโตสูงมากในไตรมาสแรกของปีนี้ ทำให้ การเติบโตในไตรมาสที่หนึ่งของเยอรมนีดูสูงมากผิดปกติ ดังนั้น การที่การเติบโตลดลงในไตรมาสที่สองจึงนับว่าเจ๊ากันไป อย่างไร ก็ตาม ยังคงมีสัญญาณที่น่าวิตกหลายอย่าง การส่งออกซึ่งเป็นตัว ผลักดันเศรษฐกิจของเยอรมนีกำลังเริ่มออกอาการไม่ค่อยดี VDMA กลุ่มอุตสาหกรรมใน Frankfurt ชี้ว่า คำสั่งซื้อสินค้าวิศวกรรมของเยอรมนี ในเดือนมิถุนายนลดลง 5% จากเมื่อ 1 ปีก่อน ส่วน คำสั่งซื้อจากต่างประเทศก็ลดลง 7%
นักเศรษฐศาสตร์ของ Deutsche Bank ตรวจพบความรู้สึกท้อแท้ผิดหวังในหมู่ชาวเยอรมันต่อการที่เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลง เยอรมนีเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศร่ำรวยที่ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการที่ราคาบ้านทั่วโลกพุ่งสูง และเยอรมนีไม่เหมือนสหรัฐฯ เพราะเป็นประเทศเจ้าหนี้ผู้ป้อนเงินให้แก่ตลาดสินเชื่อโลก องค์การเพื่อความร่วมมือและความมั่นคงแห่งยุโรป หรือ OECD ชี้ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเยอรมนีสูงถึง 7.7% ของ GDP ในปีที่แล้ว ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของ Deutsche Bank เห็นว่ามีความเชื่อที่เกิดขึ้นภายในเยอรมนีว่า ในเมื่อเยอรมนีไม่ได้เป็นคนทำสิ่งที่เลวร้ายให้แก่เศรษฐกิจโลก ไม่ยุติธรรมเลยที่ต้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย แต่นักเศรษฐศาสตร์แย้งว่า ชาวเยอรมันลืมคิดไปว่า เยอรมนีเคยได้รับกำไรอย่างมากเมื่อครั้งที่เศรษฐกิจโลกรุ่งเรือง เนื่องจากการเฟื่องฟูของสินเชื่อ เพราะฉะนั้น เยอรมนีก็ไม่ได้อยู่นอกเกม เพียงแต่อยู่ในด้านของผู้ให้สินเชื่อไม่ใช่ผู้บริโภค
ส่วนอื่นๆ ที่เหลือของยุโรปแทบจะไม่มีภูมิป้องกันจากการที่ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นอย่างบ้าคลั่งได้ ราคา บ้านที่พุ่งสูงลิ่วในสเปน ไอร์แลนด์ และฝรั่งเศสในช่วงที่ตลาดบ้าน เฟื่องฟูสุดๆ นั้น ยังแพงเกินหน้าแม้แต่ราคาบ้านในสหรัฐฯ ที่เป็น ต้นเหตุของปัญหาวิกฤติในตลาดบ้านเอง คาดว่าไอร์แลนด์จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤติตลาดบ้านตกต่ำในครั้งนี้ โดยสถาบัน Economic and Social Research Institute ในกรุงดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์ คาดว่า GDP ของไอร์แลนด์ซึ่งเคยเติบโต 6% เมื่อปี 2007 อาจจะหดตัวลงในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ไอร์แลนด์มีขนาดเล็กเกินกว่าที่ปัญหาเศรษฐกิจของไอร์แลนด์จะพลอยฉุดรั้งเศรษฐกิจของชาติอื่นๆ ได้ แต่เศรษฐกิจของสเปนนั้นใหญ่โตพอที่จะสร้างความเสียหายในระดับที่มากพอๆ กันให้แก่ชาติอื่นๆ แม้ว่าสเปนจะมีสัดส่วนเพียง ประมาณ 1 ใน 8 ของ GDP เขตยูโร แต่ที่ผ่านมาสเปนมีสัดส่วน การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการสร้างงานมากกว่าประเทศอื่นๆ ใน เขตยูโรอย่างมาก ทว่าขณะนี้ผู้บริโภคของสเปนกำลังรามือ ยอดขายปลีกในสเปนลดลงแรงเกือบ 8% ในปีนี้เมื่อนับถึงเดือนมิถุนายน และอัตราการว่างงานก็กำลังเพิ่มขึ้น
ความตกต่ำของสเปนได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทในประเทศ ยูโรโซนด้วยกัน นักวิเคราะห์จาก Barclays Capital ชี้ว่า การส่งออกของเยอรมนีและอิตาลีไปยังสเปนชะลอตัวลงอย่างรุนแรงตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ส่วนการส่งออกของฝรั่งเศสไปยังสเปนก็เริ่มลดลงแล้วเช่นกัน ในขณะที่โอกาสที่จะหวังพึ่งการส่งออกไปนอกเขตยูโรมาชดเชยก็ดูมืดมน เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดูดีกว่าที่คาด ก็เป็นเพราะการที่สหรัฐฯ ลดการนำเข้า ส่วนอังกฤษ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอีกแห่งของตลาดยูโร เศรษฐกิจก็กำลังใกล้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ส่วนความหวังว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในยุโรปจะช่วยชดเชยการส่งออกที่ตกต่ำลงก็กำลังมลายไปเช่นกัน ถ้าเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีปัญหาน้อยกว่านี้ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และเงินเดือนในไตรมาสที่หนึ่ง จะทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา แต่เนื่องจากครั้งนี้เกิดปัญหาราคาอาหารและเชื้อเพลิงแพงด้วย ทำให้การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานแทบจะตามไม่ทันอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในเขตยูโร ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 4%
ในเวลาที่เศรษฐกิจแข็งแรงดี ผู้บริโภคส่วนมากก็จะระมัด ระวังเรื่องการออมน้อยกว่าและใช้จ่ายมากกว่า (อัตราการออมใน เขตยูโรแทบไม่ขยับเลยมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว) แต่ในยามนี้เมื่อความ กลัวว่าจะตกงานระบาดไปทั่ว ผู้บริโภคยิ่งไม่มีใจที่จะจับจ่ายใช้สอย ยอดขายปลีกทั่วเขตยูโรลดลง 3.1% ปีนี้เมื่อนับถึงเดือนมิถุนายน แม้กระทั่งหากคิดจะกู้เงินมาเป็นค่าใช้จ่าย ธนาคารก็อาจจะไม่เต็มใจที่จะสนับสนุนความคิดนี้ การเติบโตของสินเชื่อกำลังลดลง และผลสำรวจของธนาคารกลางแห่งยุโรป (European Central Bank: ECB) พบว่า เงื่อนไขการปล่อยกู้เริ่มเข้มงวดมากขึ้น
ไม่แปลกที่ความเชื่อมั่นของธุรกิจจะกำลังลดลงและบริษัทกำลังลดการลงทุน การใช้จ่ายทางด้านทุนถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ บริษัทมักชอบที่จะลงทุนในเวลาที่บริษัทมีผลกำไรดี ความต้องการซื้อจากต่างประเทศมีสูง และมีความหวังว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะเกิดวิกฤติ ในตลาดสินเชื่อโลก แต่ธนาคารทั้งหลายก็ยังดูเหมือนยินดีที่จะให้เงินกู้แก่บริษัทสำหรับการก่อสร้างโรงงานและซื้ออุปกรณ์เครื่องจักร แต่กลับเข้มงวดกับการปล่อยกู้แก่ภาคครัวเรือน แต่มาถึงขณะนี้ แม้แต่เงินกู้ที่ปล่อยให้แก่บริษัทก็พลอยซบเซาลงไปด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าบริษัทกำลังลดการลงทุน
การที่ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์แพงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัท ในขณะที่คำสั่งซื้อก็กำลังลดลง
การที่เศรษฐกิจในเขตยูโรกำลังเซถลาเช่นนี้ส่งผลให้ธนาคาร กลางยุโรปอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ECB ได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปเป็น 4.25% เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เพื่อแสดงว่าจริงจัง กับการควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งพุ่งสูงทะลุอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่ 2% ไปแล้ว ผู้กำหนดนโยบายดอกเบี้ยของ ECB กลัวว่า ปัญหา เงินเฟ้อจะไม่ไปไหน ถ้าหากบริษัทและครัวเรือนใช้อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน เป็นมาตรฐานสำหรับการกำหนดระดับค่าจ้างแรงงาน และราคาสินค้าในอนาคต และพวกเขาเป็นฝ่ายถูกที่วิตกเช่นนั้น ในอิตาลีและสเปนค่าจ้างแรงงานกำลังเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่อัตราการ ว่างงานสูงขึ้น เนื่องจากสัญญาจ้างงานกำหนดให้แรงงานได้รับเงินชดเชยหากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเกินกว่าที่คาดหมาย
ข่าวดีคือราคาน้ำมันลดลง ซึ่งอาจหมายความว่า เงินเฟ้อ ในเขตยูโรได้พุ่งขึ้นถึงระดับสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงได้ต้องรอให้ถึงใกล้ปลายปีนี้ ECB คงจะลังเล ที่จะลดอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะแน่ใจได้ว่า อันตรายของเงินเฟ้อ ได้ผ่านพ้นไปแล้วจริงๆ กว่าจะถึงตอนนั้น เศรษฐกิจเขตยูโรอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยไปแล้วก็ได้ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า
ECB จะพยายามฟื้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 3.25% ในปีหน้า แต่ก่อนที่จะถึงวันที่ ECB ลดดอกเบี้ย ก็ยากที่จะมองเห็นว่าจะมีสิ่งใดอื่นอีก ที่อาจจะช่วยฟื้นการเติบโตของเขต ยูโรได้ จึงช่วยไม่ได้ที่ชาวยุโรปจำนวนมากจะพากันรู้สึกว่า พวกเขาสมควรจะได้รับในสิ่งที่ดีกว่านี้
|
|
|
|
|