Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2535
"ข้างหลังภาพของกำจร สถิรกุล"             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 


   
search resources

กำจร สถิรกุล
Crafts and Design




"เพียงภาพเดียวก็แทนคำพูดได้นับหมื่นคำ"

ภาพ "แม่ของลูก" โดยฝีมือวาดของกำจร สถิรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัทยูนิคอร์ด ได้สะท้อนถึงความรู้สึกลึกซึ้งที่มีต่อมารดาบังเกิดเกล้า "ห่วง สถิรกุล"

ภาพนี้กำจรได้วาดขึ้นเพื่อแทนคำพูดไว้อาลัยมารดาผู้ล่วงลับในหนังสืองานศพเมื่อปี 2526 ขณะที่มารดาอายุ 71 ปี ในภาพวาดนั้นได้สะท้อนถึงริ้วรอยแห่งชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งผ่านมรสุมชีวิตได้สำเร็จด้วยอารมณ์อันสุขุมเยือกเย็นและอ่อนเศร้า

งานวาดภาพเขียนจึงเป็นเสมือนหนึ่งสื่อความรู้สึกที่ดีในยามที่เขารู้สึกสูญเสียและโดดเดี่ยว แม้กระทั่งปัจจุบันนี้กำจรก็ยังรู้สึกเฉกเช่นนี้ และยังรักที่จะเขียนภาพแห่งความรู้สึกลึก ๆ ในใจ ภายหลังจากที่เขาต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไปอย่างขมขื่น

"ศัตรูให้ดูเหมือนแก้วนะลูก" คำสอนแม่ยังก้องหูและนับเป็นหลักปฏิบัติของอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติกำจรที่ไม่โต้ตอบข่าวร้ายใด ๆ และทำเสมือนศัตรูไม่มีตัวตนขณะที่มองทะลุผ่านไปเลย นับว่าเป็นการต่อสู้อันขัดแย้งภายในจิตใจตัวเองยิ่งนัก

กำจรเป็นบุตรชายคนที่สี่ของลูกแม่ห้าคน ซึ่งต่างก็ประสบความสำเร็จในชีวิตบั้นปลายโดยมีพี่ชายคนโตคือ ศ. กำธร สถิรกุล อดีตผู้บริหารคุรุสภา พี่สาวและน้องสาวคนเล็กเป็นนายแพทย์หญิง โดยเฉพาะพี่สาว พญ. วัชรี พงศ์พานิช มีความสามารถในการขีดเขียนหนังสืออย่างดีโดยมีผลงานลง "สตรีสาร" ส่วนพี่ชายอีกคนคือ ดร. กำแหง สถิรกุล เป็นถึงอดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย

ตระกูล "สถิรกุล" เป็นตระกูลเศรษฐีใหญ่ของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะตามประวัติศาสตร์การค้าของไทย อำเภอปากพนังเป็นเมืองท่าเทียบเรือที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของภาคใต้ฝั่งตะวันออก

มารดาของกำจรนับเป็นนักเรียนสตรีบ้านนอกรุ่นแรกที่เข้ามาศึกษาระดับมัธยมในกรุงเทพโดยเข้าเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในสมัยนั้นการเดินทางค่อนข้างลำบาก ต้องนั่งเรือแจวมีม่านกั้นมาที่ตัวจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วจึงต่อรถไฟอีกทอดหนึ่งเข้ากรุงเทพมหานคร

การที่มารดาของกำจรได้รับโอกาสทางการศึกษาสูงขณะที่เด็กบ้านนอกน้อยคนนักที่จะได้รับ ก็เพราะคุณยายซึ่งมีฐานะร่ำรวยจากกิจการร้านขายทองประจำอำเภอมีโลกทัศน์กว้างไกลจากการเดินทางติดต่อซื้อทองรูปพรรณจากกรุงเทพ และต้องการส่งเสริมให้หลานสาวมีทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติทางการศึกษา

จากพื้นฐานครอบครัวที่เห็นคุณค่าการศึกษา ได้ทำให้มารดาของกำจรส่งเสริมลูกทั้งห้าให้สำเร็จการศึกษาระดับสูง ทั้ง ๆ ที่ตนเองต้องเป็นหม้ายในวัยสาวที่มีอายุเพียง 28 ปี ต้องทำงานกิจการโรงสีแทนสามีที่ล่วงลับไปแล้ว และปกป้องลูกเล็กทั้งห้าจากภัยสงครามโลก ซึ่งขณะนั้นญี่ปุ่นบุกไทยโดยยกพลขึ้นบกที่นครศรีธรรมราช

"ถึงแม้ฉันจะมีมรสุมต่าง ๆ ในชีวิตมากแต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสุดยอดปรารถนาของฉันที่สมหวัง สิ่งนั้นคือลูก ๆ ทั้งห้า ลูกทุกคนเล่าเรียนดีมาก อยู่ในโอวาท จิตใจมีศีลธรรม ลูกชายสามคนไปอยู่โรงเรียนประจำที่วชิราวุธวิทยาลัย ทุกคนสอบซ้อมและสอบไล่ได้ที่หนึ่งทุกครั้ง เมื่อมีการสอบชิงรางวัลอะไรก็มักจะได้สมความปรารถนาเสมอ ต่อมาลูกชายทั้งสามสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศได้สามคน ไปอเมริกาสองคน อังกฤษหนึ่งคน ส่วนลูกสาวฉันส่งไปอยู่โรงเรียนประจำที่โรงเรียนราชินีล่างทั้งสองคน ลูกสาวคนเล็กเรียนจบเภสัชกรรมแล้วต่อแพทย์จุฬาฯ ส่วนคนโตจบแพทย์ศิริราช ต่อมาลูกสาวทั้งสองได้ไปทำโทต่อที่สหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน" บันทึกแห่งอดีตของห่วง สถิรกุลได้เล่าไว้ถึงความภูมใจที่มีต่อลูก ๆ

ในวัยเด็ก ขณะที่กำจรอายุ 4-5 ขวบ ได้ป่วยหนักเป็นไข้ไทฟอยด์ไข้ขึ้นสูงมาก เสมือนหนึ่งอยู่ใต้เงามัจจุราช มารดาของกำจรได้พยายามสุดชีวิตที่จะปกป้องชีวิตลูกน้อยอย่างไม่นึกถึงตัวเอง จนกระทั่งพ่อของกำจรเตือนสติให้นึกถึงตัวเองและลูกค้าคนอื่น ๆ โดยยกอุปมาอุปมัยว่ากล้วยเครือหนึ่งจะมีสักผลที่เสียไปก็ต้องยอม

"แม่ไม่ยอม และบอกว่าจะเอาลูกของแม่ไปเทียบกล้วยไม่ได้ แม่ไม่ยอมให้เสียไปสักคนเดียว แม่จะต้องเอาชีวิตแม่สู้ไว้ แม่รักษาน้องจนพ้นเขตอันตราย และพวกเราก็กลับจากตัวจังหวัด เห็นน้องชายคนเล็กผอมจนเหลือหนังหุ้มกระดูก ผมร่วงหมดต้องหัดเดินใหม่ เราสงสารน้องจนน้ำตาไหล" กำธร สถิรกุล พี่ชายคนโตบันทึกไว้

ความสงสารน้อง ทำให้พี่ ๆ รวบรวมภาพการ์ตูน "สโนไวท์" ของวอลท์ ดีสนีย์จากกระดาษหนังสือพิมพ์ที่เขาใช้เป็นกระดาษห่อของ โดยอุตส่าห์เก็บจากที่ต่าง ๆ จนครบจบเรื่อง เย็บเป็นเล่มเองด้วยด้าย เอามาให้กำจรดูแต่ด้วยความไม่ประสีประสาในวัยเด็ก ทำให้กำจรฉีกขาดหมด ทั้งที่พวกพี่ ๆ ยังหัดวาดภาพคนแคระทั้งเจ็ดยังไม่ครบทุกตัว แต่แม่ก็อธิบายว่าน้องยังเล็กไม่เข้าใจเรื่องราวและความสวยงามของภาพ อย่าโกรธน้องเลย

จากวันนั้นถึงวันนี้ กำจรเข้าใจความสวยงามและความอัปลักษณ์แห่งชีวิต เฉกเช่นเดียวกับจิตรกรที่จับเอาแสงเงาจากมุมมืดหรือมุมสว่างนำมาเขียนภาพบนผืนผ้าใบ เพื่อสื่อความรู้สึกอันปวดร้าวหรือชื่นชมต่อชีวิต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us