|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
-จับตาตลาดอสังหาฯช่วงโค้งสุดท้าย ราคาเหล็ก-น้ำมัน-เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยเสี่ยง
-แนวโน้มจัดสรรรายใหญ่ ทุนหนายังไปรอด เดินหน้าลงทุนต่อ กุมตลาดแย่งมาร์เก็ตแชร์รายย่อย
-ระวังผลพวงวิกฤตซับไพรม์ก่อมรสุมลูกใหม่กระทบตลาด หลังทุนนอกส่งสัญญาณจ่อขายหุ้นทิ้ง ดึงเงินกลับประเทศอุ้มบริษัทแม่
ทิศทางของอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ภาวะเงินเฟ้อ ราคาเหล็ก ราคาน้ำมัน รวมไปถึงเรื่องการเมืองยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกฝ่ายเห็นว่ามีผลต่อการเติบโตของตลาด แต่ที่น่าสังเกต คือ ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ต่อจากนี้อสังหาริมทรัพย์จะเป็นเวทีเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้น ยิ่งมีทุนหนากว่า ย่อมหมายความว่ามีความพร้อมที่จะกุมตลาด และพร้อมรับความเสี่ยงกับภาวะที่ผันผวนที่มีผลต่อธุรกิจได้มากกว่า
“ปัจจุบันมีดีเวลลอปเปอร์ทั้งตลาดรวม 600 ราย แต่มีเพียง 20 รายกลางและรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ราย และ 10 รายใหญ่ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์เท่านั้นที่มีบทบาทกุมมาร์เก็ตแชร์มากถึง 80% ของมูลค่าตลาดรวม” ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าว
วิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางตลาดในครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตเล็กน้อยเพียง 1-3% หรือประมาณ 70,000 ยูนิต แต่สิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจน คือ รายได้ของดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ในตลาด 5-6 รายจะเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม 10-15% โดยมากจากการไปดึงมาร์เก็ตแชร์มาจากดีเวลลอปเปอร์รายย่อย
อนาคตราคาเหล็ก-น้ำมัน-ปูนยังพุ่ง
ด้านต้นทุนสำคัญของการผลิต คือ เหล็กและน้ำมันในช่วง 4 เดือนหลังมีการคาดการณ์กันว่า การเพิ่มของราคาจะไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ในส่วนของราคาน้ำมัน ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ยังต้องจับตาดูนโยบายของจีนหลังจบกีฬาโอลิมปิกว่า จะเลิกพยุงราคาน้ำมันต่อหรือไม่ ซึ่งหากเลิกจะเป็นกลไกทำให้ดีมานด์การใช้ลดลง ราคาในตลาดโลกก็จะลดลงด้วย ส่วนวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทิศทางราคาเหล็กต่อจากนี้นอกเหนือจากอิงตามราคาน้ำมันแล้ว ยังต้องจับตาดูการเจรจาราคากับผู้ผลิตสินแร่และถ่านหิน ซึ่งเป็นวัตถุดิบของการผลิตเหล็กด้วยว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร อย่างไรก็ตามความผันผวนของราคาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไทยยังต้องนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตจากต่างประเทศ จึงต้องเสี่ยงกับความผันผวนในตลาดโลก ในขณะที่สถาพร เพชรทองคำ เลขานุการบริษัทและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาปูนซิเมนต์อาจปรับขึ้นอีก 5-10% เนื่องจากมีการลดกำลังการผลิตลงตามดีมานด์การใช้ปูนซิเมนต์ในตลาด จึงไม่เกิด Economy of Scale และทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
พายุลูกใหม่ “วิกฤตการเงิน”
มรสุมลูกใหม่ที่จะเข้ามากระทบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อจากนี้จะเปลี่ยนมาสู่วิกฤตการเงิน ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตซับไพรม์ในอเมริกา แม้จะยังไม่เห็นผลกระทบอย่างรุนแรงในขณะนี้ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณให้เห็นแล้ว เช่น กลุ่มเลห์แมน บราเธอร์ที่จะทยอยขายเงินลงทุนหรือเรียกเงินกู้คืนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยที่เคยเข้ามาลงทุน เพื่อนำเงินกลับไปช่วยเหลือบริษัทแม่ในอเมริกาที่ยังขาดทุนจากวิกฤตซับไพรม์ ซึ่งมานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออสังหาริมทรัพย์มากนัก เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนระยะกลาง ส่วนธีระชนมองว่า จะมีกระทบระยะสั้นต่อการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ที่มีการเสนอขายนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามไม่น่าจะมีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่มีนักลงทุนสถาบันเข้าไปถือหุ้นมากนัก เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว รวมไปถึงผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนยังอยู่ในระดับสูง นักลงทุนจึงยังไม่น่าถอนหุ้นกลับไปง่ายๆ
ลดเสี่ยงจับมือพันธมิตรรายใหญ่
สำหรับแนวทางการปรับตัวอีกวิธีหนึ่ง คือ การจับมือพันธมิตรเพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาว เช่น พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคที่จับมือเซ็นสัญญากับเครือซิเมนต์ไทย (SCG) เพื่อล็อกราคาวัสดุก่อสร้างเป็นเวลา 1 ปี และในปีที่ 2 จะปรับราคาขายขึ้นอีก 10% เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องต้นทุนที่ผันผวน โดยในปี 2551-2555 เพอร์เฟคฯ จะมีมูลค่างานก่อสร้างรวม 22,500 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนสินค้าของ SCG 45% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และความร่วมมือครั้งนี้ช่วยลดต้นทุนของเพอร์เฟคฯ ลง 10% และสามารถตรึงราคาขายเดิมไปได้อีก 1 ปี นอกจากนี้ยังร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน พร้อมทั้งให้ SCG เข้าไปบริการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้กับลูกบ้านเดิมของเพอร์เฟคผ่านบริการ Home Renovation Center ด้วย
เอพีเชื่อมั่นดีมานด์ลุยคอนโดต่อเนื่อง
แม้ภาวะตลาดคอนโดมิเนียมจะเริ่มลดความร้อนแรง หลังจากมีปัจจัยเรื่องต้นทุนการผลิตที่ผันผวนอย่างรุนแรง จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคอนโดมิเนียมที่มีรอบธุรกิจและระยะเวลารับรู้รายได้ยาวกว่าการพัฒนาโครงการแนวราบ แต่สำหรับดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่อย่างเอพีในครึ่งปีหลังยังคงเดินตามแผนที่จะพัฒนาคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่องอีก 5 โครงการ มูลค่ารวม 10,940 ล้านบาท ได้แก่ Rhythm รัชดา ราคาเริ่มต้น 9 หมื่นบาทต่อ ตร.ม. ซึ่งเป็นระดับราคาเริ่มต้นที่สูงที่สุดของย่านรัชดาในขณะนี้ โดยเป็นโครงการร่วมทุนกับแปซิฟิก สตาร์ ภายใต้แบรนด์ Rhythm แบรนด์ใหม่ ที่เจาะเซกเมนต์กลางระหว่าง Life และ The Address เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 30-40 ปี ขณะนี้มียอดขายตึก A แล้ว 80% , The Address พญาไท ราคาเริ่มต้น 4.5 ล้านบาท, คอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ ซ.สาทร 12 ราคาเริ่มต้น 3.5 ล้านบาท, คอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ ซ.สุขุมวิท 28 และ Rhythm รัชดา 2 ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินห้วยขวาง ราคา 8.8-9 หมื่นบาทต่อ ตร.ม.
|
|
|
|
|