เศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตไปได้ดีเพียงไรขึ้นอยู่กับความสอดคล้องกันระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ,
สังคม และประชาธิปไตยด้วย
ในส่วนของการพัฒนาด้านการเงินนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่นโยบายการแลกเปลี่ยนเงิน
เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเงินมีผลต่อต้นทุนสินค้าสั่งเข้า, การลงทุน, ภาวะเงินเฟ้อ
ฯลฯ ของกัมพูชา
และผู้ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาดังกล่าวนี้ก็คือ "UNITED NATIONS TRANSITIONAL
AUTHORITY IN CAMBODIA หรือ UNTAC ซึ่งเป็นหน่วยการที่ควบคุมการทำงานของกระทรวงหลักทั้ง
5 ของประเทศคือ กระทรวงต่างประเทศ, กลาโหม, มหาดไทย, สื่อสาร, และการเงิน
UNTAC ต้องจัดการกับปัญหาเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากกัมพูชาไม่มีนโยบายแลกเปลี่ยนเงิน
ไม่มีกระทั่งนโยบายด้านการเงิน
กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก มีประชากร 8.5 ล้านคน รายได้ประชากรต่อหัวอยู่ระหว่าง
150-200 ดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นรายได้ของผู้ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจเท่านั้น
ในขณะที่ประชากรที่อยู่นอกเขตนี้มีอยู่ถึง 9 ใน 10 อัตราภาษีและรายได้คิดเป็น
2% และ 5% ตามลำดับ ซึ่งเป็นเปอร์เซนต์ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราเดียวกันนี้ของประเทศที่ด้อยพัฒนามากที่สุดซึ่งอยู่ที่ระดับ
15-25%
ยิ่งไปกว่านั้น กัมพูชายังได้แก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณเพราะประเทศในยุโรปตะวันออกเลิกให้เงินกู้ยืมอย่างง่าย
ๆ ด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อซึ่งมีอยู่ 10% กว่า ๆ ก่อนปี
1989 พุ่งขึ้นมาเป็น 100% ในปี 1990 และ 150% เมื่อปีที่ผ่านมา
กัมพูชาจึงพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศจากระบบที่มีการวางแผนจากส่วนกลางมาเป็นระบบที่อิงกับตลาด
เริ่มมาจากปี 1985 ด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและมีการผนวกกิจการกับต่างชาติ
นอกจากนั้นยังมีการยกเลิกการควบคุมราคาและการให้เงินอุดหนุน รวมทั้งแก้ไขระบบแลกเปลี่ยนที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วย
แต่การปล่อยวางของรัฐบาลนี่เองกลับทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นขึ้นอย่างกว้างขวางในสมัยนายพลลอนนอล,
ความไร้ประสิทธิภาพของกลไกรัฐและค่าจ้างแรงงานต่ำขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น
แต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือความเปลี่ยนแปลงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับเรียลในเดือนมกราคมปี
1991 อัตรานี้เป็น 1 ดอลลาร์ต่อ 610 เรียล ในเดือนสิงหาคมอัตราเปลี่ยนไปเป็น
1,315 เรียลต่อดอลลาร์ แล้วลงมาอยู่ที่ 350 เรียลต่อดอลลาร์เมื่อปลายปี ก่อนที่จะสูงขึ้นมาอีกเป็น
1,200 เรียลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
การที่จะหาคำตอบสำหรับความผันผวนนี้ก็ไม่ใช่จะทำได้ง่าย ๆ เพราะเงินเรียลไม่มีอัตราเงินต่างประเทศหนุนอยู่
และไม่มีตลาดสำหรับเงินเรียลนอกกัมพูชาด้วย
ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนไปมาก็ไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นที่จะสรุปเป็นสาเหตุได้
นักเศรษฐศาสตร์จึงได้สร้างทฤษฎีหลายทฤษฎีขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์นี้
ทฤษฎีแรกคือทฤษฎีปริมาณเงินซึ่งมีอยู่ว่าความรวดเร็วของการค้าขายระหว่างกันของเงินตราสองสกุลจะถูกกำหนดโดยความแตกต่างของการใช้เงินทั้งสกุลนั้น
ถ้าอัตราการใช้เงินของประเทศหนึ่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอีกสกุลหนึ่ง ค่าของเงินสกุลแรกก็จะตกลง
ในทางกลับกัน ถ้าปริมาณของเงินในประเทศหนึ่งเพิ่มขึ้นไม่มากพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินตราอีกสกุลหนึ่ง
ค่าเงินของประเทศนั้นก็จะสูงขึ้น
อีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อในความต้องการ คือเชื่อว่าอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นกำหนดโดยความนิยม
ค่าเงินเรียลที่อิงอยู่กับเงินดอลลาร์นั้นเป็นผลมาจากการที่ผู้ถือเงินดอลลาร์อยู่ในมือต้องการซื้อเงินเรียลในราคาเท่าไหร่
ในกรณีของเงินที่แลกเปลี่ยนในตลาดโลกไม่ได้อย่างเงินเรียลนั้น ความต้องการเงินจะถูกกำหนดโดยปริมาณของการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ
ซึ่งในภาวะที่กัมพูชายังใช้ระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างปิดอยู่ หากความต้องการเงินเรียลมีมากเกินไปก็จะส่งผลถึงอัตราแลกเปลี่ยนทันที
แต่คำอธิบายที่แท้จริงนั้นง่ายกว่าทฤษฎีทั้งสอง และเป็นเรื่องที่โยงอยู่กับปัจจัยสามประการ
ประการแรก คือ กัมพูชาไม่ได้พิมพ์เงินของประเทศตน แต่พิมพ์ในรูปของธนบัตรโซเวียต
ประการที่สอง หลังการเซ็นสัญญาสันติภาพแล้วรัฐบาลได้ร่วมทุนกับธนาคารต่างชาติ
2 แห่ง ฉะนั้นธนาคารทั้งสองจึงต้องนำเงินจากธนาคารแห่งชาติของกัมพูชามาดำเนินการ
ปัจจัยประการที่สาม คือความต้องการเงินเรียลที่สูงขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อมีการแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์
เพราะกิจกรรมด้านการเงินทุกอย่างเกิดขึ้นในรูปเงินดอลลาร์ แต่แทนที่ธนาคารต่างชาติทั้งสองแห่งที่อยู่ในกัมพูชาจะปล่อยเงินเรียลออกมาในระบบก็กลับนิ่งเฉย
ทำให้ธนาคารกลางขาดเงินสดแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเงินขาดสภาพคล่องได้
ภาวะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนการเข้ามามีบทบาทของ UNTAC เสียอีก คือในสมัยของฮุนเซน
รัฐบาลของฮุนเซนประสบปัญหาการขาดดุลด้านงบประมาณเมื่อประเทศในยุโรปตะวันออกหยุดให้เงินกู้ยืม
แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการเก็บภาษีเพิ่มไม่ได้อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจของประเทศก็ยังไม่พัฒนาเท่าใดนัก
นอกจากนั้นการเปลี่ยนตัวอย่างรวดเร็วไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่อิงกับตลาด โดยไม่มีการควบคุมรายได้ของรัฐที่ตกลง
เพราะกำไรส่วนใหญ่อยู่ในมือของเอกชนก็ทำให้ปัญหายิ่งแย่ลง และที่ร้ายกว่านั้นก็คือหากระดมเงินเข้าไปสนับสนุนภาครัฐล้มเหลวก็อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการสร้างสันติภาพในแถบนี้ได้เช่นกัน