ในเวลาที่บริษัทรถยนต์หลายแห่งกำลังคิดปรับแผนการด้านผลิตภัณฑ์กันใหม่ เพื่อต่อสู่กับราคาน้ำมันที่ผันผวน แต่เจอเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด หรือจีเอ็มกลับไม่รอช้า เดินแผนรุกตลาดรถยนต์ไทย ชิ่งไปถึงประเทศแถบอาเชียน ด้วยรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ๆ ทั้ง เอทานอล ไบโอดีเซล ไฮโดรเจน จนถึงก๊าซ NGV ทั้งๆ ที่สถานการณ์ตลาดรถยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาของบริษัทแม่คือ เจอเนอรัล มอเตอร์ ไม่สู้ดีนัก ภายใต้แคมเปญและนโยบายการตลาดทั่วโลกใหม่ในชื่อ GM next
GM next คือ การปรับทิศทางการตลาดใหม่ที่จะถูกนำมาใช้กับรถยนต์ภายใต้กลุ่มGMทั่วโลกในทศวรรษใหม่ หลังจากดำเนินธุรกิจรถยนต์มาจนครบ 100 ปี โดยจะเป็นกลยุทธ์การร่วมมือเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้ยานยนต์ที่ใช้พลังงานอย่างประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จีเอ็ม ระบุว่า ความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีตนั้นไม่สำคัญเท่า นวัตกรรมยานยนต์ที่จีเอ็มกำลังจะสร้าง และพัฒนาเพื่ออนาคต ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ยานยนต์ระบบอีเฟล็ก ยานยนต์ไฮบริด ที่สามารถใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นแหล่งพลังงานโดยตรง รวมทั้งเทคโนโลยี ฟิว เซล
ริชาร์ด แวกอเนอร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่นบอกว่า การเติบโตของจีเอ็มในประเทศไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด และเป็นส่วนหนึ่งของการมุ่งเน้นเพื่อขยายฐานของจีเอ็มในตลาดใหม่ของจีเอ็มในภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ที่ผ่านมาจีเอ็มประเทศไทย ภายใต้แบรนด์เชฟโรเลต ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการขยายตลาดรถยนต์ในไทย ทั้งนี้เป็นผลมาจาก การตัดสินใจที่รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ เป็นวิธีการรุกตลาดของ จีเอ็มประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น ด้วยการรุกตลาดรถเซ็กเมนท์รถยนต์อเนกประสงค์ หรือเอ็มพีวีของรถรุ่น ซาฟิรา ภายใต้แบรนด์เชฟโรเลต และเป็นการเปิดตลาดที่ท้าทาย เนื่องจากในช่วงนั้นรถยนต์เอ็มพีวี แทบจะไม่มีให้เห็นในตลาดเลย ขณะที่จีเอ็มก็สามารถทำยอดขายรถรุ่นนี้ได้มากถึง11,622คันตั้งแต่เริ่มเปิดตัว
สิ่งที่สะท้อนถึงการตอบสนองตลาดได้ทันกันสถานการณ์ ยังแสดงออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะด้านผลิตภัณฑ์ เพราะรถยนต์เชฟโรเลต ของจีเอ็มประเทศไทย เป็นรายแรกๆ ที่เติมกลยุทธ์ส่งเสริมการขายด้วยเทคนิคด้านการเงิน เชฟโรเลตเป็นผู้ประเดิมทำแคมเปญ บอลลูนเปย์เมนท์ กลวิธีหนึ่งที่ช่วยลดภาระค่าผ่อนชำระค่างวดรถยนต์แต่ละเดือน ทำให้เชฟโรเลต สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ที่ต้องการมีรถยนต์ไว้ใช้งาน จนปัจจุบันเกือบทุกค่ายรถยนต์ต้องออกแคมเปญเดียวกันเพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มนี้
แคมเปญดาวน์ 0% เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถเรียกกำลังซื้อจากลูกค้ากลุ่มที่ไม่มีเงินก้อน เพื่อดาวน์รถ ซึ่งแคมเปญนี้ในช่วงแรกค่อนข้างถูกวิจารณ์ว่า จะส่งผลกระทบต่อราคารถยนต์มือสอง แต่เชฟโรเลตก็สามารถทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่องจากแคมเปญดังกล่าวเช่นกัน
จีเอ็มประเทศไทย เริ่มดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการราวปี 2541 หรือประมาณเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันสามารถสร้างผลงาน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ และที่สำคัญคือสามารถแซงฟอร์ด ประเทศไทยได้ ทั้งๆ เข้ามาในตลาดทีหลัง ซึ่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเชฟโรเลตสามารถทำยอดขายรถยนต์รวมทุกประเภทได้ 1,704 คัน เป็นยอดขายที่เติบโตจากเดือนกรกฎาคมปีก่อน 6.2% ขณะที่ค่ายรถใหญ่ทั้งโตโยต้า อีซูซุ หรือนิสสัน ต่างมียอดขายลดลงแทบทั้งสิ้น
ขณะที่ยอดขายสะสมตั้งแต่มกราคมถึง กรกฎาคมนั้น เชฟโรเลตก็ยังสามารถทำยอดขายเติบโตได้ถึง 24.8% ด้วยปริมาณการขาย 14,244 คัน สูงกว่าภาพรวมตลาดรถยนต์ที่เติบโตเพียง 6.6% เท่านั้น และหากเทียบกับ ฟอร์ด ประเทศไทย คู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐอเมริกา ทว่า ในประเทศไทยตัวเลยยอดขายงช่วง 7 เดือนแรกของฟอร์ดกลับลดลงถึง 33.3% หรือมียอดขายแค่ 5,551 คัน เป็นความชัดเจนที่ชี้ให้เห็นความสำเร็จของเชฟโรเลตได้อย่างดี ทั้งนี้ยอดขายของเชฟโรเลตที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการเปิดตัวรถยนต์ที่ติดตั้ง CNG หรือที่เรียกกันว่าระบบก๊าซ NGV จากปลายสายการผลิต ทั้งเชฟโรเลต ออพตร้า ออพตร้า เอสเตท และปิกอัพโคโรลาโด
สำหรับการเปิดตัวรถยนต์ติดตั้งระบบ NGV จากโรงงาน พร้อมการรับประกันตัวเครื่องยนต์เช่นเดียวกับรถทุกรุ่นของเชฟโรเลต ทำให้รถทั้ง 3 รุ่นมีปริมาณการขายเกินความคาดหมาย โดยเฉพาะออพตร้า และออพตร้าเอสเตท ในเซกเมนต์รถยนต์นั่งขนาดเล็กนั้น ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าคิวจองรถเพิ่มขึ้น100% ทั้งๆที่เป็นช่วงปลายโมเดลของเชฟโรเลตทั้ง 2 รุ่น
จอห์น ธอมสัน รองประธานฝ่ายขาย การตลาดและบริการหลังการขาย ของเชฟโรเลตเซลส์ (ประเทศไทย(จำกัด) บอกว่ารถยนต์พลังงานทางเลือก เชฟโรเลตออฟตร้า CNG มียอดจำหน่ายสูงขึ้น และต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ยอดจำหน่ายออพตร้า CNG เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีถึง 590 คันคิดเป็นอัตราการเติบโต 65.12% ด้วยยอดขายทั้งสิ้น 1,496 คัน และเมื่อรวมทั้ง 2 ไตรมาสแรกของปี ออพตร้า CNG มียอดขายสูงถึง 2,402 คัน
ส่วนปิกอัพโคโรลาโด CNG นั้น แม้จะเป็นเพียงการทดลองตลาด ในเซกเมนต์ปิกอัพตอนเดียวด้วยจำนวนจำกัดเพียง 200 คันในปีนี้ เนื่องจากปิกอัพโคโรลาโดนั้นติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล ซึ่งการใช้งานร่วมกับก๊าซ NGV ยังเป็นการทำงานร่วมของน้ำมันดีเซลและก๊าซ แต่รถรุ่นนี้ก็มีปริมาณการจองเกินกว่ากำลังการผลิตด้วยเช่นกัน
เชฟโรเลต ประกาศว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาตัวเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลของ โคโรลาโด ให้สามารถรองรับการใช้ก๊าซ NGV ได้ 100% โดยไม่ต้องพึ่งน้ำมัน เพื่อตอบสนองตลาดกลุ่มที่ต้องการความประหยัดการใช้น้ำมัน ซึ่งแผนการนี้สอดคล้องกับการลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลของ กลุ่มจีเอ็มเมื่อต้นเดือนสิงหาคาที่ผ่านมา โรงงานดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนรวม 15,000 ล้านบาท และจะผลิตเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล ป้อนสายการผลิตปิกอัพโคโรลาโดของตัวเอง ทั้งขนาด 2500 ซีซี. และ 2800 ซีซี.
เดิมนั้นเชฟโรเลต โคโรลาโด ต้องพึ่งพาเครื่องยนต์ที่มาจากสายการผลิตของ อีซูซุ พันธมิตรของกลุ่มจีเอ็ม ดังนั้นเครื่องยนต์ที่มาจากโรงงานแห่งใหม่นี้ราวปี 2553 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีเครื่องยนต์รุ่นที่รองรับการใช้ก๊าซ NGV 100% ที่พัฒนาขึ้นเองด้วย
การประกาศเสริมไลน์รถยนต์ NGV ในเซกเมนต์ของรถยนต์ขนาดคอมแพ็กต์ ก็เป็นการตัดสินใจที่รวดเร็วของจีเอ็มประเทศไทย เชฟโรเลต อาวีโอ จะเป็นรถขนาดเล็ก 1400 ซีซี.ที่ติดตั้ง CNG ออกจากปลายสายการผลิตในปลายปี 2551 นี้ เป็นรถคอมแพ็กต์รุ่นแรกที่ติดตั้งระบบก๊าซ NGV และยังสามารถรองรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮฮล์ E20 ได้อีกด้วย ยิ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้รถรุ่นนี้มีความประหยัดสูงสุด
หากไม่นับรวมในเซ็กเมนท์รถ เอสยูวี หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อเอนกประสงค์ของ เชฟโรเลต แคปติวา แล้ว ในปลายปีนี้เชฟโรเลตจะเป็นค่ายรถยนต์ค่ายแรกที่ผลิตรถยนต์ พร้อมติดตั้งระบบ NGV กับรถเกือบทุกรุ่นที่ทำตลาด ทั้งรถยนต์นั่งขนาดคอมแพ็กต์, รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถปิกอัพ
ทั้งๆ ที่คู่แข่งรายใหญ่คือโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยนั้น เตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่น ลิโม หรืออัลติส ติดตั้งระบบ NGV ในเซกเมนต์รถยนต์นั่งขนาดเล็กปลายปีนี้ ส่วนค่ายอื่นๆ นั้นเช่น ฮุนไดมอเตอร์ ประเทศไทย ที่ทำตลาดรถยนต์ ฮุนไดโซนาต้า ติดตั้งระบบ NGV แต่ก็เป็นรถในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลาง ซึ่งเป็นคนละเซกเมนต์กับ เชฟโรเลต หรือมิตซูบิชิ ที่จะเปิดตัวแลนเซอร์ NGV นั้นแม้จะอยู่ในเซกเมนต์เดียวกับออพตร้า แต่กว่ามิตซูบิชิจะเปิดตัวก็ต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเชฟโรเลตทำยอดขายนำไปได้มากพอสมควร
นอกจากการรุกตลาดด้วยรถยนต์ที่สามารถใช้พลังงานทางเลือกประเภท ก๊าซ NGV แล้ว กลุ่มจีเอ็มประเทศไทยยังทุ่มงบประมารส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมโรดโชว์ตามหัวเมืองใหญ่ๆ โดยนำรถยนต์พลังงานทางเลือกที่ผลิตโดยกลุ่มจีเอ็มจากต่างประเทศมาแสดง ทั้ง แซเทิร์น วิว กรีนไลน์ ไฮบริด (Saturn Vue Greenline Hybrid) รถเอนกประสงค์ เครื่องยนต์ลูกผสมระหว่างเครื่องยนต์ใช้น้ำมัน และมอเตอร์ไฟฟ้า ที่จะเปิดตัวเชิงพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาในปี 2009 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า, เชฟโรเลต ทาโฮ (Chevrolet Tahoe) เป็นรถเอนกประสงค์เอสยูวี ไฮบริดขนาดใหญ่ และอิควิน๊อก รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน
เป้าหมายของการนำรถยนต์ดังกล่าวเข้ามาจัดแสดง เพื่อเป็นสัญญาณบอกถึงทิศทางในอนาคตจองแบรนด์เชฟโรเลต โดยกลุ่มจีเอ็มในประเทศไทย เกี่ยวกับการพุ่งไปในเรื่องการทำตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกมากยิ่งขึ้น พร้อมกับย้ำภาพของ แนวคิดการประหยัดพลังงาน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของนโยบาย GM next สิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจง่ายที่สุดคือ การนำเอารถยนต์พลังงานทดแทนที่ผลิตออกมาจริงให้สัมผัส
เหมือนกับเป็นการบอกให้ผู้บริโภคทั่วโลกรับรู้ว่า ก้าวต่อไปของจีเอ็มนั้น จะเข้าสู่ยุคของรถยนต์ที่เน้นพลังงานทางเลือกเป็นหลัก เป็นการแตกไปหาลูกค้าเซ็กเมนท์ใหม่ที่ต้องการความประหยัดสูง และชื่นชอบการใช้พลังงานทดแทน
ภาพที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งของนโยบาย GM next ในประเทศไทย เมื่อมีการประกาศความร่วมมือกับ ปตท. จำกัด(มหาชน) ในการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ตั้งแต่เอธานอลที่ได้มาจากเซลลูโลส การวิจัยพืชผลชนิดอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช้ทำเป็นอาหาร การขยายแหล่งพลังงานไบโอดีเซล การใช้ประโยชน์จากสาหร่ายโดยนำมาเป็นแหล่งไฮโดรเจน เอธานอล และ พลังงานไบโอดีเซล การพัฒนาการใช้ระบบเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ CNG แบบไบฟิว และ ดูอัลฟิว (DDF) และวัตถุดิบที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีไฮบริดต้นทุนต่ำ เซลพลังงาน และเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อประเทศไทย และกลุ่มอาเซียน
เมื่อประเมินสถานการณ์ของจีเอ็มประเทศไทยภายใต้แบรนด์เชฟโรเลต แม้จะมีส่วนแบ่งในตลาดยังเพียง 4-5% ต่อปี จากปริมาณตลาดรถยนต์รวม 600,000-700,000 คันต่อปี แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดรถยนต์ใหม่ในอนาคตอันใกล้ ที่เกิดจากสภาวะราคาน้ำมันถีบตัวสูง และการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และยุทธ์ศาสตร์ด้านผลิตภัณฑ์ด้วยการเน้นไปที่พลังงานทางเลือกมากขึ้น จะเป็นโอกาสสำคัญให้จีเอ็มสามารถพัฒนาทั้งแบรนด์และยอดขายในประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น และเมื่อรวมกับเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการ ที่มีจำนวนถึงกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ มากกว่าแบรนด์ที่อยู่ในตลาดมาก่อน เช่นมาสด้า และฟอร์ด และอาจรวมถึงนิสสัน ก็จะเป็นส่วนผลักดันให้เชฟโรเลต ภายใช้แนวคิดใหม่ GM next สามารถขึ้นมาทาบรัศมีของค่ายรถญี่ปุ่นรายใหญ่อย่าง โตโยต้า และฮอนด้าได้ในอนาคตด้วยเช่นกัน
|