ระบบ Core Banking ใหม่ป่วน ทำหนี้เสีย ธอส. ครึ่งปีแรกพุ่งทะลุ 11% เร่งปรับระบบติดตามหนี้เป็นแบบรวมศูนย์ ควบเตรียมจ้างบริษัทนอกช่วย เร่งเติมสภาพคล่อง จับมือขายหนี้ 500 ล้านบาทให้ บตท.
ในช่วงแรกของการใช้ระบบ Core Banking ใหม่ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่เปลี่ยนวิธีนับหนี้ค้างชำระจากระบบงวดค้างเป็นระบบนับวันสะสม (Day Pass Due หรือ DPD) ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ความผิดพลาดทางเทคนิคจากหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานที่หักค่างวดจากบัญชีเงินเดือนล่าช้า รวมไปถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ค่าครองชีพสูงขึ้น เป็นเหตุผลที่ทำให้ตัวเลขหนี้เสียของ ธอส. ในครึ่งปีแรกพุ่งสูงถึง 68,991 ล้านบาท หรือ 11.84% จากปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 5.81% โดยมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 34,523 ล้านบาท ต่ำกว่าปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 45,309 ล้านบาท จนกระทบทำให้กำไรสุทธิลดลง 4.47% เหลือเพียง 727 ล้านบาท เนื่องจากภาวะโดยรวมของเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ผันผวน แต่ ธอส. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐยังคงมีนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยเหลือลูกค้า
กำไรที่ลดลงมาจากกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์ IAS39 จำนวน 4,092 ล้านบาท ซึ่งหากต้องตั้งสำรองให้ครบตามเกณฑ์ในปีนี้จะต้องกันสำรองหนี้เสียถึง 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธอส. ได้เสนอกระทรวงการคลังขอเลื่อนการกันสำรองไปถึงปี 2555 แต่จะทยอยสำรองปีละ 20% ของเงินที่ต้องสำรองทั้งหมด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินงาน เนื่องจาก ธอส. ยังไม่มีการเพิ่มทุน ซึ่งในครึ่งปีแรก ธอส. กันสำรองไปแล้ว 4,092 ล้านบาท
นอกจากนี้โครงการสินเชื่อบ้านหลังแรก สินเชื่อสวัสดิการแก่สมาชิก สปส. และ กบข. ที่ยังทำไม่ได้ตามเป้า ทั้งหมดทำให้ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส. คาดว่า ทั้งปีนี้ไม่น่าจะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้า 95,000 ล้านบาท แต่อาจจะทำได้เพียง 80,000 ล้านบาทเท่านั้น
ขรรค์กล่าวว่า ธอส. จะเร่งแก้ปัญหาหนี้เสียให้เร็วที่สุด เช่น การปรับระบบการติดตามหนี้มาเป็นแบบรวมศูนย์ จัดซื้อระบบใหม่ และการว่าจ้างหน่วยงานภายนอกมาช่วยติดตามหนี้ การระบุสถานะหนี้บนใบแจ้งหนี้ เพื่อแจ้งให้ลูกค้าทราบ การแยกค่าเบี้ยประกันมาหักบัญชีในภายหลังจากที่หักค่างวดไปแล้ว ซึ่งหากแก้ไขตัวเลขหนี้เสียให้ลดลงได้ ก็จะช่วยลดภาระการกันสำรองหนี้ กลับมาเป็นผลกำไร ธอส. แทน
อีกแนวทางหนึ่งที่ ธอส. ใช้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินงาน คือ การทำซีเคียวริไทเซชั่น หรือขายหนี้ ซึ่ง ธอส. เคยมีแผนจะนำหนี้ 5-6 แสนล้านบาทออกไปขายนักลงทุนต่างชาติ เพื่อระดมทุนประมาณ 40,000 หมื่นล้านบาท แต่เพราะภาวะตลาดทุนโลกยังไม่เอื้อ ธอส. จึงขายหนี้ให้กับตลาดในประเทศก่อน โดยจับมือกับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ซึ่งทำให้หน้าที่เป็นตลาดรองรับซื้อสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ ในวงเงิน 500 ล้านบาท ซี่ง ธอส. ทำหน้าที่เป็นตลาดแรกในการพิจารณาปล่อยกู้ในวงเงินกู้ขั้นต่ำรายละ 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยกู้ได้ไม่เกิน 85% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย ภายใต้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 แบบ ได้แก่ คงที่ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.99% คงที่ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.99% และคงที่ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.99% หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR -0.25% ระยะเวลากู้ไม่เกิน 30 ปี เฉพาะหลักทรัยพ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น คาดว่าจะได้รับความสนใจเป็นอย่างดีในช่วงนี้ ซึ่งภาวะดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น ซึ่ง ธอส. จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการให้บริการนี้ด้วย ในอัตรา 0.75%ของวงเงินปล่อยกู้ต่อราย แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนในฟากของ บตท. ก็สนใจที่จะจับกับสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อซื้อหนี้ในลักษณะนี้เพิ่มเติมด้วย โดยมีความพร้อมที่จะบริหารหนึ้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
|