"กัมพูชา ประเทศเล็ก ๆ ที่มีปัญหาความบอบช้ำของสงครามกลางเมือง มีสถาบันการเงินหลายแห่งเสนอตัวอยากเข้ามาทำธุรกิจที่นั่น
ออกจะตลกเมื่อคิดในมุมกลับว่า กัมพูชายังไม่พร้อมเลยสำหรับการมีกิจการธนาคาร"
ระบบธนาคารในกัมพูชาปัจจุบันเป็นเครื่องสะท้อนถึงสภาพที่เป็นอยู่ในส่วนอื่น
ๆ ของประเทศได้ดี อย่างธนาคารกลางของกัมพูชาและธนาคารแห่งอื่นของรัฐ ซึ่งแทบจะไม่มีอำนาจควบคุมหรือกำหนดอัตราดอกเบี้ย
หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจการเงินมีแต่ความสับสนยุ่งเหยิงไปทั้งระบบทีเดียว
และสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะลักษณะความไม่แน่นอน ซึ่งปรากฏขึ้นทั่วไปอีกทั้งยังสร้างความหวดกลัวในจิตใจของชาวกัมพูชาด้วย
และแม้ว่าความหวาดกลัวดังกล่าวจะมีแนวโน้มลดลงไปบ้าง หลังจากที่สมเด็จนโรดมสีหนุได้กลับประเทศกัมพูชาอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
แต่กว่าที่การเมืองในกัมพูชาจะพ้นจากภาวะอึมครึมไปอย่างจริงจังก็คงหลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ปกครองประเทศแล้ว
นอกจากนั้นสถานะของรัฐบาลพนมเปญชั่วคราวซึ่งขาดอำนาจในการบริหารประเทศอย่างเต็มที่ก็เป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง
ด้านธนาคารกลางเองกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างระบบธนาคารที่ทันสมัยขึ้น
และขจัดระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมืดไปเสีย แต่กลับต้องเผชิญอุปสรรคขัดขวางที่ยิ่งใหญ่กล่าวคือ
ชาวกัมพูชาเองไม่มีความเชื่อถือในสกุลเงินตราของตน โดยทุกครั้งที่มีเงินเรียลในมือเป็นจำนวนมาก
จะต้องเร่งเปลี่ยนไปเก็บในรูปของดอลลาร์หรือทองคำ หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้แทน
ทั้งนี้ก็เพราะว่าพวกเขาไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องฝากเงินไว้กับธนาคารซึ่งให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 100%-150%
ในส่วนการลงทุนจากตางประเทศนั้นแบบแผนต่าง ๆ ถูกบิดเบือนไป จากการที่มีแต่พ่อค้าที่หวังกอบโกยกำไรตอบแทนอย่างรวดเร็ว
กับนักเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในทัศนะของนักลงทุนแล้ว สภาพความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรากับภาวะเงินเฟ้อที่สูงลิ่วเช่นนี้
เป็นปัจจัยสำคัญที่บีบให้พวกเขาต้องมองแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น การขาดกฎหมายธนาคารพาณิชย์ยังสะท้อนด้วยว่า ธนาคารกลางขาดฐานอันแข็งแกร่ง
ในขณะที่บรรดานักการธนาคารผู้หิวเงินต่างดาหน้าเข้าสู่พนมเปญ ผู้บริหารของธนาคารกลางของกัมพูชารายหนึ่งถึงกับบอกว่า
"ในเวียดนามและลาวนั้นมีกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้อยู่ แต่ที่กัมพูชา คุณคิดอยากจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น"
จุดนี้เองที่ทำให้นักลงทุนบางส่วนจ้องฉวยโอกาสในห้วงเวลาที่ระบบการเงินยังผันผวนอยู่
อย่างกิจการ "แคนาเดีย โกลด์ แอนด์ ทรัสต์ คอร์ป" ที่สร้างความสับสนในธุรกิจการเงิน
จนถึงขั้นที่นักการธนาคารรายหนึ่งตั้งคำถามว่า "กิจการแห่งนี้ประกอบธุรกิจธนาคารหรือว่าเป็นเพียงนักค้าทองกันแน่?"
เป็นต้น
ส่วน CHA RIENG ผู้ว่าการธนาคารกลางของกัมพูชาเผยว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายธนาคารพาณิชย์ซึ่งช่วยจัดระบบการธนาคารให้พ้นจากความยุ่งเหยิงวุ่นวาย
โดย CHA RIENG ชี้ว่ากฎหมายดังกล่าวอิงอยู่กับระเบียบข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทย
แต่ปรับให้เหมาะกับสภาพเงื่อนไขของกัมพูชา ซึ่งที่จริงแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผูกขาดคำแนะนำอย่างเงียบ
ๆ แก่กัมพูชามาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จนสร้างความสงสัยแก่นักการธนาคารต่างชาติในพนมเปญบางคน
ในประเด็นความเหมาะสมสอดคล้องของระบบกฎหมายไทยกับเงื่อนไขแวดล้อมของกัมพูชา
นักการธนาคารรายหนึ่งให้ความเห็นว่า "กัมพูชาควรจะปรับเอาแง่มุมที่ดีจากระบบธนาคารหลาย
ๆ ระบบมาใช้มากกว่า" ซึ่งสะท้อนถึงความหวาดกลัวว่ากฎหมายใหม่นี้จะจำกัดการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
และทำให้ธุรกิจของพวกเขาต้องสะดุดลง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คิดว่ากว่าที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผลในเชิงปฏิบัติอย่างเต็มรูปนั้น
คงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยสองหรือสามปีทีเดียว "ถ้าหากเราสามารถปรับใช้กฎหมายธนาคารได้แล้ว
ระบบธนาคารในประเทศจะเดินหน้าไปด้วยดี แต่หากไม่สามารถปรับใช้ได้ครบถ้วน
100% แล้วผลลัพธ์ก็จะกลับกลายเป็นตรงกันข้ามเลยทีเดียว" CHA RIENG กล่าวและเสริมในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายว่า
"ธนาคารกลางได้เชิญตัวแทนจากธนาคารต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม และอธิบายชี้แจงถึงประเด็นสำคัญตามข้อกฎหมาย
รวมทั้งขอร้องให้พวกเขาปฏิบัติตาม"
เท่าที่ผ่านมารัฐบาลพนมเปญได้อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้าไปประกอบธุรกิจธนาคารภายในประเทศพอสมควร
โดยในเดือนธันวาคม 1991 ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาได้ออกใบอนุญาตประกอบการแก่ธนาคารต่างชาติ
11 แห่ง เป็นกิจการร่วมทุนกับธนาคาร 9 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการพาณิชย์กัมพูชา,
ธนาคารกสิกรกัมพูชา, ธนาคารเพื่อการพัฒนากัมพูชา, แคนาเดีย โกลด์ แอนด์ ทรัสต์
คอร์ป, นาวา โค ออฟ ฮังการี, ฮอค ฮัว ออฟ ซาราวัค, ธนาคารกสิกรไทย, กิจการของไทยภายใต้ชื่อ
"นามคิป" และกิจการของเจ้าชายจักรพงศ์ผู้เป็นพระโอรสของสมเด็จนโรดมสีหนุ
ส่วนกิจการที่เข้าไปตั้งสาขาอย่างเต็มรูปมี 2 รายคือ ธนาคารกรุงเทพสาขาพนมเปญ
และธนาคารทหารไทยสาขาเกาะกง นอกจากนั้น ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด และแบงก์อินโดสุเอซก็เริ่มเข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนด้วย
หลังจากที่ธนาคารทั้ง 11 แห่งได้รับใบอนุญาตประกอบการแล้ว ปรากฏว่ามีกิจการ
2 แห่งคือนาวา และ นาม คิป ได้ขอถอนตัวออกมา โดยมีกิจการอีก 5 แห่งเข้าไปขอดำเนินการธุรกิจเพิ่มเติม
ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, แบงก์ อินโดสุเอซ, ธนาคารนครหลวง และกิจการเอกชนอีก
2 แห่งคือ รอยัล กัมโบเดีย แบงก์ และธนาคารพัฒนาเชิงพาณิชย์แห่งกัมพูชา
แต่ดูเหมือนว่ากิจการธนาคารที่ต้องการเข้าไปดำเนินการในกัมพูชาจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย
ๆ ต่อมามีกิจการธนาคารและบริษัทต่างชาติอีก 39 รายที่เข้ามาขอใบอนุญาตประกอบการเพิ่มเติมอีก
และทำให้นักการธนาคารจำนวนไม่น้อยเริ่มอึดอัด เพราะไม่ได้คิดกันมาก่อนว่าจะมีคู่แข่งในธุรกิจแขนงนี้เป็นจำนวนมากถึง
50 แห่ง เมื่อเทียบกับตัวเลขรายได้ต่อหัวของประชากรและแบบแผนการออมภายในประเทศด้วยแล้ว
หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดรัฐบาลจึงยอมออกใบอนุญาตประกอบการมากขนาดนั้น
ซึ่ง CHA RIENG ให้คำตอบได้เพียงว่า "ธนาคารกลางได้ขอร้องให้กัมพูชาหยุดออกใบอนุญาตประกอบการเพิ่มเติมไปแล้ว
แต่ทางคณะกรรมาธิการยังคงดำเนินการต่อไป" ทว่า ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ
CHA RIENG เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการจำนวน 10 รายนั้นด้วย
ความสับสนเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของธนาคารกลางกับคณะกรรมาธิการการลงทุนต่างประเทศนั้น
ชี้ชัดถึงความไร้ระบบในการออกใบอนุญาตประกอบการธนาคาร เนื่องจากกระบวนการในการอนุมัตินั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงมากกว่าที่จะปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่วางไว้
ปกติแล้ว ขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบการธนาคารเริ่มต้นจากการยื่นแสดงความจำนงต่อคณะกรรมาธิการการลงทุนต่างประเทศแห่งกัมพูชา
เมื่อได้รับอนุมัติในหลักการแล้วจึงติดต่อกับธนาคารกลางเพื่อให้ประเมินความน่าเชื่อถือและความเหมาะสม
รวมทั้งจัดทำร่างข้อตกลง หลังจากนั้นจะส่งหลักฐานต่าง ๆ กลับไปยังคณะกรรมาธิการแห่งชาติ
เพื่อดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบการ โดยจะต้องให้สภาคณะรัฐมนตรีร่วมลงนามด้วย
ทว่า ในแง่การปฏิบัตินั้นกลับไม่ได้ดำเนินไปตามขั้นตอนข้างต้น ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งชี้ว่า
"การตัดสินใจว่าควรให้มีธนาคารกี่แห่งนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับธนาคารกลางเพียงแห่งเดียว
แต่ขึ้นอยู่กับกลุ่มที่มีอำนาจในการอนุมัติหลักการด้วย ในขั้นตอนแรกนั้นเป็นการตัดสินใจว่ากิจการธนาคารที่ขออนุมัตินั้นสมควรเข้ามาประกอบธุรกิจในกัมพูชาหรือเปล่า
เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงดำเนินการวิเคราะห์ในรายละเอียดเกี่ยวกับความเหมาะสม
ส่วนอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจที่ธนาคารมีอยู่ก็คือ การออกใบอนุญาตประกอบการเท่านั้น"
ปัญหาอีกประการหนึ่งในการประกอบธุรกิจธนาคารในกัมพูชาก็คือ ข้อจำกัดในเรื่องของเวลา
โดยหลังจากที่ได้รับอนุมัติในหลักการแล้ว กิจการธนาคารแห่งนั้นจะต้องเปิดดำเนินการได้ภายใน
2 เดือน มิฉะนั้นจะถือว่าขาดคุณสมบัติ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการลดจำนวนใบอนุญาตประกอบการลง
หรืออาจเป็นการป้องกันการขายใบอนุญาตประกอบการ หรืออาจเป็นการผลักดันให้ประกอบการธุรกิจแขนงนี้เป็นไปตามข้อตกลงและมีประสิทธิภาพ
ขณะที่นักสังเกตการณ์บางรายเห็นว่า เหตุผลที่แท้จริงก็คือ ทุกฝ่ายที่สามารถฉกฉวยประโยชน์จากช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องเร่งรีบก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
และหนทางที่เร็วที่สุดได้แก่การซื้ออาคารสำนักงานเพื่อเปิดดำเนินการไปก่อน
อันเป็นการแสดงว่าคุณได้เข้ามาลงทุนอย่างเป็นทางการแล้ว ส่วนเรื่องที่จะประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์หรือไม่นั้น
ไม่ใช่ประเด็นปัญหาอะไร
แต่การที่ธนาคารถึงราว 50 แห่ง ต่างแย่งชิงกันเข้าไปตั้งสำนักงานหรือสาขาในกัมพูชากันยกใหญ่นั้นนับเป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อย
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากฐานรายได้ต่อหัวประชากรของชาวกัมพูชาด้วยแล้ว ตัวเลขดังกล่าวจัดได้ว่าไม่สมเหตุสมผลเลยทีเดียว
นักวิเคราะห์ทางการเงินในพนมเปญรายหนึ่งก็ชี้ว่า "ธนาคารส่วนใหญ่ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจที่นี่ต่างมุ่งหวังผลประโยชน์ระยะสั้น
มียกเว้นก็เฉพาะกิจการที่มีชื่อเสียงและมีรากฐานมายาวนานอย่างเช่น ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้,
บาร์เคลย์กับธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ บางแห่ง" ส่วนนักการธนาคารรายหนึ่งให้ทัศนะว่า
"คนส่วนใหญ่คิดกันว่าถ้าเปิดธนาคารได้สักแห่งแล้วก็จะทำธุรกิจอื่น ๆ
ต่อไปได้สะดวกขึ้น"
สิ่งที่น่าวิตกก็คือ ดูเหมือนว่าธนาคารกลางจะไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกลุ่มผลประโยชน์ต่าง
ๆ ที่เข้าไปในกัมพูชาเท่าที่ควร และไม่มีใครเต็มใจหรือสามารถให้คำอธิบายใด
ๆ ได้ชัดเจนเกี่ยวกับธนาคารระหว่างประเทศกัมพูชา (CAMBODIA INTERNATIONAL
BANK) และกลุ่มที่ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นพาราไดซ์ กรุ๊ปแห่งไต้หวัน
หรือกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังรอยัล กัมโบเดีย แบงก์ หรือธนาคารการพัฒนาเชิงพาณิชย์กัมพูชา
(CAMBODIA COMMERCIAL DEVELOPMENT BANK)
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางซึ่งเคยยึดถือแนวคิดสังคมนิยม จึงดูราวกับเป็นผู้ที่เปลี่ยนมาเชื่อว่า
ตลาดจะเป็นตัวกำหนดเองว่ากิจการแห่งใดควรจะคงอยู่หรือควรเปิดสำนักงานในเมืองหลวงได้
และเพราะเหตุผลที่ฟังดูง่าย ๆ นี้ ประกอบกับความไร้ระบบในเรื่องการธนาคารนี่เอง
ที่ทำให้ธนาคารไม่สูญเสียอะไรมากนักหากต้องปิดกิจการไป และนี่จึงเป็นเหตุผลประการสำคัญ
ที่ทำให้ผู้ที่ต้องการเข้าไปประกอบธุรกิจธนาคารในกัมพูชามีจำนวนมากมายอย่างที่ปรากฏ
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือว่า ความไร้ระบบดังกล่าวยังเป็นทางเปิดสำหรับนักธุรกิจทั้วไปที่ต้องการชิมลางกับธุรกิจแขนงนี้
โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะนักการธนาคารเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าธนาคารกลางของกัมพูชาและคณะกรรมาธิการการลงทุนต่างประเทศกำลังเล่นกับไฟ
เพราะหากปล่อยให้มีกิจการธนาคารเป็นจำนวนมาก ๆ แล้ว ในอนาคตกิจการขนาดเล็กที่ขาดความเชี่ยวชาญ
อาจถูกบีบบออกจากการแข่งขันจนต้องตกเวทีธุรกิจไป และเมื่อนั้นความปั่นป่วนย่อมเกิดขึ้น
โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับเงินฝากของลูกค้า
ข้อสรุปที่น่าจะเหมาะสมสำหรับประเด็นข้างต้น ดูเหมือนจะเป็นคำของผู้จัดการสาขาของธนาคารแห่งหนึ่งในพนมเปญที่ว่า
"ผมคิดว่าประเทศนี้ยังไม่มีความพร้อมสำหรับธนาคารพาณิชย์เลย"