บอร์ดกฟผ.ฉลุย จ้างที่ปรึกษาแปรรูปแล้ว 6 ราย แบ่งเป็นไทย-ลูกครึ่ง 3 ราย ต่างประเทศ
3 ราย กระจายหุ้นมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท จากนักลงทุนไทย-ต่างชาติอย่างละครึ่ง
โดยที่ปรึกษาคิดค่าธรรมเนียม 1.9% ของมูลค่าหุ้นที่ขายประชาชนหรือประมาณ 114 ล้านบาท
เดินหน้าศึกษาทันที ก่อนตั้งเป็นบริษัทปลายปีนี้ และระดมทุนในตลาดหุ้น ไทยได้ช่วง
มี.ค. 2547 พร้อมปรับโครงสร้างบริหารแยกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจรองรับอนาคต ผู้ว่าฯกฟผ.แย้มอาจซื้อที่ดินโรงไฟฟ้าหินกรูด
นายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการบริหาร
กฟผ.ที่นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานวานนี้ (17 ก.ค.) ว่า
ที่ประชุมอนุมัติแผนจ้างบริษัทที่ปรึกษาการเงินแปรรูป กฟผ. ซึ่งคัดเลือกจากผู้ยื่นเสนอรวม
19 ราย แบ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินที่เป็นบริษัทไทย-ลูกครึ่ง 9 ราย และบริษัทต่างชาติ
10 ราย ผลคัดเลือกสรุปจ้างฝ่ายไทย-ลูกครึ่ง 3 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้
บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินซ์ ภัทร และฝ่ายต่างประเทศ
3 ราย ประกอบด้วย มอร์แกนสแตนเลย์ ซิตี้กรุ๊ป และ เจพี.มอร์แกน จากแดนมะกันทั้งหมด
เตรียมกระจายหุ้น 6 หมื่นล้านบาท
บริษัทดังกล่าวจะเริ่มศึกษาแผนแปรรูป กฟผ. เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทันทีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เหตุที่กฟผ.เลือกบริษัท 6 รายจากเดิมที่จะจ้างเพียง 4 ราย เนื่องจากเห็นว่าหลักเกณฑ์จ้างจะให้ค่าจ้างโดยคิดค่าธรรมเนียมจากการหักรายได้ขายหุ้นให้ประชาน
(Fee of Stock Floatation) 1.9% ของมูลค่าหุ้นที่จะขายหุ้นทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท
หรือ 30% ของมูลค่าทรัพย์ 2 แสน กว่าล้านบาทของหุ้น กฟผ. แบ่งขายเป็น 2 ส่วน คือ
ในประเทศ 3 หมื่นล้านบาท และต่างประเทศ 3 หมื่นล้านบาท การให้ 3 บริษัทดูแลบริหารเงินรายละหมื่นล้านบาท
น่าจะเหมาะสมมากกว่า
นอกจากนี้ ฝ่ายต่างประเทศบริษัทที่ได้รับ คัดเลือกครั้งนี้ มีความสามารถจัดการเรื่องหนี้
อีกรายมีความสามารถด้านตลาดทุน หากมีอีกรายช่วยดูอีกจะมีศักยภาพมากขึ้น เพราะค่าธรรมเนียม
ที่ กฟผ. ต้องจ่ายไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม คาดว่าการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นไทยจะเริ่มดำเนินการได้
ภายในไตรมาสแรกปี 2547 ปลายปีนี้จะเริ่มแปลงสภาพเป็นบริษัท
นายสิทธิพร กล่าวยอมรับว่าก่อนหน้านี้บริษัทที่ปรึกษาต่างชาติ กฟผ.รับพิจารณา
4 ราย คือ มอร์แกนสแตนเลย์ ซิตี้กรุ๊ป เจพี.มอร์แกน และเมอร์ริล ลินซ์ ภัทร โดยกฟผ.เสนอค่าธรรมเนียม
1.9% ของมูลค่าหุ้น กฟผ. ที่จะกระจายทั้งหมด ประมาณ 114 ล้านบาท ซึ่ง 2 รายที่รับข้อเสนอ
ดังกล่าว คือ มอร์แกนสแตนเลย์ กับซิตี้กรุ๊ป
ส่วนอีก 2 รายยื่นเสนอภายหลังให้เหตุผลว่า ต้องรอบริษัทแม่ให้คำตอบก่อน และทำหนังสือมาก่อน
กรรมการกฟผ.จึงเห็นว่าน่าจะให้อีกราย โดยตัดสินกันที่คะแนนรวม ซึ่งปรากฏว่าเจพีมอร์แกนได้คะแนนดีกว่าจึงได้รับคัดเลือกเป็นรายที่
3
แยก 4 กลุ่มธุรกิจมีผล1 ต.ค.
ขณะเดียวกันบอร์ดยังอนุมัติปรับโครงสร้าง กฟผ.ใหม่ เพื่อรองรับการแปรรูปโดยแยกเป็นธุรกิจ
4 กลุ่ม ได้แก่ โฮลดิ้ง กลุ่มพัฒนา กลุ่มปฏิบัติการโรงไฟฟ้า และกลุ่มระบบส่ง ซึ่งโครงสร้างดังกล่าว
กฟผ. จะมีรองผู้ว่าการเพิ่มเป็น 13 คน จากปัจจุบัน 11 คน พร้อมตั้งระดับรองบริหาร
อาทิ ตั้งนายเฉลิมชัย รัตนรักษ์ เป็นรองผู้ว่าการอาวุโสกลุ่ม พัฒนา นายณรงค์ สีตสุวรรณ
เป็นรองผู้ว่าการอาวุโสกลุ่มผลิตไฟฟ้า นายคำผุย จีราระรื่นศักดิ์ รองผู้ว่าการอาวุโสกลุ่มระบบส่ง
โดยขึ้นตรงกับผู้ว่าการ ซึ่งต่อไปจะเปลี่ยนเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อตั้งเป็นบริษัท
จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โครงสร้างบริหารดังกล่าวจะเริ่มมีผลทางปฏิบัติ 1 ตุลาคมนี้
เล็งซื้อที่หินกรูด-เจรจาลดค่าไฟฟ้า
นายสิทธิพรกล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาผลเจรจากับบริษัทยูเนี่ยนเพาเวอร์ดีเวลลอปเมนท์
จำกัด ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าหินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งบริษัทยูเนี่ยนพร้อมจะย้ายสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าไป
จ.ราชบุรี ล่าสุดยังคงเจรจาราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งหลักการต้องไม่แพงเกินกว่าที่กฟผ.สร้างเองบวกต้นทุนเดิมที่หินกรูดลงทุนไปแล้วเพื่อให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายเอกชน
คาดว่าผลการเจรจาน่าจะมีข้อยุติที่ดี ราคาน่าจะเจรจาลดลงได้อีก จากที่ล่าสุดตกลงราคา
ขาย 1.70 บาทต่อหน่วย เนื่องจากมีการพิจารณาเรื่องของที่ดิน ซึ่งหากกฟผ.รับซื้อจะตัดมูลค่านี้ออกได้ไม่รวมคิดในค่าไฟฟ้า
จะทำให้ค่าไฟถูกลง
"กฟผ.จะดูว่าถ้าซื้อแล้วมีประโยชน์ก็น่าซื้อ เพราะที่ดินในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เหมาะสมในไทยมีไม่กี่ที่
อนาคตก็ไม่แน่นอน ถ้ากฟผ. ซื้อ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท ก็ไม่ต้องนำส่วนนี้ไปรวมในค่าไฟ"
นายสิทธิพรกล่าว
สำหรับกรณีบริษัทกัลฟ์เพาเวอร์ อิเล็กทริก จำกัด ผู้สร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก ขณะนี้
กำลังเจรจาอยู่ โดยบริษัทเสนอที่ตั้งย้ายจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ไป จ.สระบุรี ยังเสนอจะเพิ่มการผลิตเป็น
1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งคงต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง แต่กฟผ. จะพิจารณาส่วน 700
เมกะวัตต์ก่อน หากเสนอเพิ่มต้องดูราคาที่เสนอเป็นหลัก หากค่าไฟต่ำ 90 สตางค์ต่อหน่วยเท่าโครงการสาละวินก็จะ
รับซื้อทันที