ยังไม่ถึงเวลาของโทนี่ที่จะรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพราะเขาต้องเรียนรู้สายงานให้กว้างขวางกว่านี้
" ชาตรี โสภณพนิช บิ๊กบอสส์ แห่งแบงก์กรุงเทพยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวถึง
"ชาติศิริ" ลูกชายวัย 33 ปี ขณะที่ชาตรีอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะลงจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ระหว่างสิ้นปี
2535 หรือสิ้นปี 2536
ความหมายสำคัญของการกำหนดตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่คนต่อไป อยู่ที่ทิศทางธุรกิจของแบงก์
ในสถานการณ์ที่ต้องแสวงหาตลาดเทรดไฟแนนซ์ใหม่ ๆ ในภูมิภาคนี้และการเพิ่มความสำคัญของธุรกิจวาณิชธนกิจในประเทศ
เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรโดยไม่ต้องเป็นภาระต่อเงินกองทุนมาก ๆ เหมือนสมัยก่อน
แบงก์กรุงเทพเติบโตมาจากธุรกิจไฟแนนซ์สินค้าเกษตรและสิ่งทอ แบงก์กำลังปรับทิศทางมาให้ความสำคัญด้านวาณิชธนกิจเพราะ
หนึ่งแบงก์สามารถทำกำไรได้โดยไม่ต้องเป็นภาระต่อฐานะเงินกองทุน ซึ่งทุกแบงก์กำลังตื่นตัวเรื่องนี้ตามกฎเกณฑ์ของบีไอเอส
สอง-แบงก์กำลังยกฐานะตัวเองจากแบงก์ท้องถิ่นสู่การเป็นแบงก์ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เน้นหนักตลาดแถบอาเซียน
ภาระกิจนี้ แบงก์กรุงเทพต้องการคนที่มีประสบการณ์ด้านวาณิชธนกิจ และสามารถเข้าใจเวทีการแข่งขันธุรกิจธนาคารระหว่างประเทศ
หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ต้องเป็นนักยุทธศาสตร์ธุรกิจการธนาคาร
ที่สำคัญต้องเป็นแบงก์เกอร์ ที่นักการเงินจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ในต่างประเทศรู้จักและยอมรับในความสามารถด้วย
เป็นที่ยืนยันจากปากชาตรีว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนเขาคือ "วิชิต
สุรพงษ์ชัย" นายธนาคารนักจัดสรรเงินวัย 48 ปี ผู้อยู่ในตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่
ที่มีผลงานโดดเด่นในฐานะ FUND MANAGER ผู้บริหารสำนักค้าเงินตราระหว่างประเทศ
ช่วยให้แบงก์กรุงเทพมีกำไรมหาศาล ท่ามกลางวิกฤตการณ์ลดค่าเงินบาทของรัฐบาลในปี
2527
ดังนั้นบทบาทของวิชิตจึงสำคัญขึ้นในสายตาของเจ้าสัวชาตรีและกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่กลายเป็น
"มือขวา" ของบิ๊กบอสส์แบงก์กรุงเทพในเวลาต่อมา
วิชิตเริ่มเข้าทำงานแบงก์กรุงเทพในปี 2520 หลังจากลาออกจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งให้เงินเดือนอัตราพิเศษขณะนั้น
8,000 บาทสำหรับหนุ่มนักเรียนนอกที่มีปริญญาเอกจาก UCLA ห้อยท้ายมาด้วย วิชิตจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ
รุ่นเดียวกับโสภณ สุภาพงษ์กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทบางจากปิโตรเลียม
จำกัด
"การที่ผมมายืนจุดนี้ได้ต้องให้เครดิตคุณบุญชู ตอนนั้นมีคนมาทาบทามผมให้ไปทำงานที่แบงก์
แต่เมื่อแรกผมปฏิเสธไป เพราะผมมีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมมาตลอดจะให้ผมไปทำงานธนาคารหรือ
? บัญชีก็ยังไม่เป็นเลย ก็เลยบอกปัดไปสองครั้ง" ดร. วิชิต เล่าให้ฟังจนในที่สุดครั้งที่สามหัวหน้าดำรงค์เชิญรับประทานอาหารร่วมกันแล้วพาไปพบบุญชู
"คุณบุญชูก็บอกว่าอยากได้คนมาช่วยงาน FUND MANAGEMENT คือการนำเอาเงินไปบริหารอย่างไรให้กำไรงอกงามผมก็บอกท่านว่าทำไม่เป็น
ซึ่งท่านก็ตอบกลับว่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกันเลยอยากจะได้ไปทำงานร่วมกันเพราะมันเป็นของใหม่
คุณสามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้จากที่คุณทำงาน ผมก็ถามหมดพวกหัวหน้าหน่วย ผมใช้เวลาเรียนรู้อยู่สองปี
ก็สามารถรู้ได้ว่า แบงก์บริหารเงินอย่างไร เข้าทางไหน ออกทางไหน ฉะนั้นเมื่อเงินไปไหน
ผมก็จะตามดูแล" ดร. วิชิตเล่าให้ฟัง
ขณะที่ดำรง กฤษณามระ กรรมการผู้อำนวยการดูแลงานประเภทแม่บ้านของแบงก์บทบาทการบริหารการเงินของวิชิต
สุรพงษ์ชัยก็ได้แสดงฝีมือที่พนักงานแบงก์และคนในวงการธุรกิจให้ความยอมรับสูงมากในพลังความคิดสร้างสรรค์และไม่หยุดนิ่ง
โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายที่จะเป็นธนาคารภูมิภาค
"ธนาคารกรุงเทพมองตัวเองว่าเรามีเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารภูมิภาค ไม่ใช่ธนาคารระดับโลก
เรามีประสบการณ์มานานเกี่ยวกับสาขาที่มีอายุมากที่สุดถึง 37 ปีมาแล้ว ตลาดที่เพิ่งเปิดเช่นตลาดอินโดจีนประเทศจีนก็เหมือนกับตลาดฮ่องกงเมื่อ
37 ปีก่อนที่ฮ่องกงยังไม่ได้เป็นฮ่องกงในปัจจุบันนี้ที่เราไปหว่านพืชเอาไว้และทำสำเร็จ"
วิชิตได้เล่าให้ฟัง
ปัจจุบันแบงก์กรุงเทพมีสาขาในต่างประเทศ 15 แห่งและสำนักงานตัวแทน 1 แห่งที่อยู่ภายใต้การบริหารของ
วิชิต สุรพงษ์ชัย ซึ่งเน้นความสำคัญของการบริหารข้อมูลเพื่อการตัดสินใจมาก
ๆ
"ความสำคัญของข้อมูลในตลาดมีการแข่งขันมากเรื่องนี้เราต้องไว และเราจะต้องสร้างระบบข้อมูล
การเก็บข้อมูลและประเภทของข้อมูลซึ่งเป็นหัวใจของการบริหารที่จำเป็นแบงก์กรุงเทพจะต้องทำในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น"
วิชิตเล่าให้ฟัง
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจการเมืองโลกได้เปลี่ยนโฉมหน้าโลกสังคมนิยมด้วย
"นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า" และการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่เปิดเสรีธุรกิจต่าง
ๆ ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศแถบอินโดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ยังล้าหลังอยู่มาก
ปี 2535 นี้ แบงก์กรุงเทพได้วางกลยุทธ์ขยายสาขาเพื่อแสวงหารายได้ในอินโดจีนและประเทศจีนถึง
5 แห่งที่โฮจิมินห์ กัมพูชา ซัวเถา กวางโจวและเซียะเหมิน โดยเน้นให้บริการด้านการโอนเงินระหว่างประเทศกับธุรกิจนำเข้า-ส่งออก
มากกว่าจะรับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากกฎหมายของจีนไม่เปิดโอกาสให้แบงก์พาณิชย์จากต่างประเทศเข้าไปลงทุนในเงินหยวนได้
ยิ่งในเมืองซัวเถา ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 20-30%
รวมทั้งเป็นเมืองท่าปลอดภาษีด้วยทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีจำนวนสูงมาก
และทำให้การลงทุนสร้างสาขาแบงก์กรุงเทพที่ซัวเถาถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วกว่าที่เวียดนาม
สำหรับที่สาขาซัวเถาแบงก์กรุงเทพใช้เงินลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
ตลาดอินโดจีนและตลาดที่มีพรมแดนติดต่อบริเวณลุ่มน้ำโขงที่เปิดขึ้น เป็นโอกาสของแบงก์กรุงเทพที่จะสามารถเข้าไปทำธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ที่ตัวเองมีฐานลูกค้าที่กว้างใหญ่และความชำนาญอยู่แล้วที่เมืองไทย
โดยเป็นสะพานที่เชื่อมโยงการค้าและการลงทุนระหว่างพ่อค้าไทยกับพ่อค้าในดินแดนที่เพิ่งเปิดใหม่ของลุ่มน้ำโขง
นอกจากนี้ วิชิตยังเล็งเป้าขยายสาขาไปยังมาเลเซีย ซึ่งจะมีกฎหมายเปิดกว้างให้เกิดธนาคารต่างประเทศขึ้นที่นั่นแต่ติดขัดที่มีขีดจำกัดหลายเรื่องในการประกอบธุรกิจ
เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียที่กำลังเปิดเสรีธนาคารอย่างรวดเร็วจนเป็นที่น่าสนใจและศึกษาของวิชิตอยู่
"พวกนี้เป็นจุดเตือนว่าเราจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ท่ามกลางการปรับตัวของโลกที่เปิดการค้าเสรี
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโซเวียต ยิ่งเป็นเรื่องยืนยันว่าถ้านักการเมืองคนใดจะดึงประเทศกลับไปสู่ยุคเดิม
ผมว่าคนนั้นต้องอยู่ไม่ได้ เพราะมันเลยจุดหนึ่งไปแล้ว" วิชิตเน้นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ
การเมืองของโลกสังคมนิยม
อนาคตอันสดใสของธุรกิจการค้าระหว่างประเทศซึ่งวิชิตชำนาญด้านนี้ กำลังจะเป็นฐานสำคัญของแบงก์กรุงเทพในยุคที่วิชิตจะเข้ามาบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนต่อไป
แต่สาขาต่างประเทศแถบสหรัฐและยุโรปของแบงก์กรุงเทพเริ่มมีปัญหาการประกอบการจนกระทั่งต้องมีการทบทวนนโยบายใหม่
ตามด้วยโลกแห่งสกลุเงินตราต่างประเทศกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ เมื่ออีซีร่วมกันเป็นตลาดเดียว
ซึ่งคาดกันว่าเงินสกุลหลัก ๆ จะเหลือเพียงดอลลาร์สหรัฐ อีซียูของยุโรป และเยนของญี่ปุ่นเท่านั้น
"ในสองปีที่ผ่านมาเราต้องมีการปรับตัวในด้านการประกอบธุรกิจในสหรัฐเพิ่มขึ้น
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับแบงก์บีซีซีไอก็เป็นข่าวครึกโครมมากในด้านมาตรการควบคุมต่าง
ๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐใช้คนคุมกับธนาคารสหรัฐเองหรือธนาคารต่างประเทศค่อนข้างเข้มงวดมาก
เราก็ปรับตัวตามนั้นได้ในยุโรปก็คล้าย ๆ กัน มันเป็นตลาดที่แข่งขันมากและเข้มงวดและมีเศรษฐกิจที่พัฒนาไปไกลมาก
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทศวรรษที่ 70 หรือ 80 เป็นยุคที่ธนาคารสหรัฐฯ ออกไปเปิดสาขาต่างประเทศมาก
เพราะว่าอยากจะ GLOBALIZE ไปทั่วโลก การที่จะเป็น GLOBALIZE นี้ไม่ใช่คุณใหญ่อย่างเดียวหรือคุณมีเงินมาก
ๆ เราต้องดูตัวเองว่าพร้อมในจุดไหนทิศทาง และนโยบายในเรื่องของการเป็นธนาคารภูมิภาคน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะกับแบงก์กรุงเทพ"
วิชิตกล่าวฐานะของแบงก์ในทางยุทธศาสตร์