Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2535
"3 ปีที่ผ่านมารัฐลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์รักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว609 ล้านบาท"             
 


   
search resources

Auditor and Taxation
อุดร จารุรัตน์
Environment




ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สาธารณชนตื่นตัวรวมทั้งความเข้มงวดของรัฐที่มีมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียต่อสิ่งแวดล้อมต้องยินยอมที่จะลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม โดยการติดตั้งระบบเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อมเข้ามาในโรงงาน อันเป็นต้นทุนที่ถือเป็นภาระใหม่สำหรับธุรกิจที่ละเลยสิ่งเหล่านี้มาเนิ่นนาน

ใน พรบ. สิ่งแวดล้อมปี 2535 ที่เพิ่งเริ่มใช้เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาได้กล่าวถึงมาตราการส่งเสริมในหมวด 5 มาตรา 94 ว่าให้แหล่งกำเนิดมลพิษหรือผู้รับจ้างให้บริการ มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือจากทางราชการ โดยการขอรับความช่วยเหลือด้านอากรขาเข้าสำหรับการนำเข้าเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุที่ไม่สามารถจัดหาได้ในประเทศ โดยให้ผู้นำเข้ายื่นคำขอรับการส่งเสริมต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

พรชัย ธรณธรรม ผู้อำนวยการกองควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมมลพิษได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ว่ายังไม่ได้มีการตกลงกันในเรื่องขั้นตอนต่าง ๆ แต่ในกรณีเรื่องการขอลดภาษีอากรสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อมมีประกาศของกระทรวงการคลังในเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ของการขอลดภาษีสำหรับเครื่องจักรประเภทที่รักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 แล้ว

โดยในระยะแรก ๆ ได้ลดภาษีให้ครึ่งหนึ่งของอัตราปกติหรือเหลือ 10% ของมูลค่าสินค้าขึ้นอยู่กับว่าอย่างไหนจะต่ำกว่ากัน และต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2534 ได้ลดอัตราภาษีลงไปอีกเหลือร้อยละห้าของมูลค่าสินค้าที่นำเข้า

อุดร จารุรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการด้านวิชาการในการพิจารณาเครื่องจักรวัสดุ และอุปกรณ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อมเล่าถึงที่มาของแนวคิดนี้ว่า

"ตอนแรกเราก็เริ่มจากว่าถ้าโรงงานมีความคิดที่จะกำจัดของเสียก่อนออกสู่บรรยากาศเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะว่าการสร้างระบบบำบัดต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงโดยที่โรงงานไม่ได้กำไรจากการสร้างมีแต่เสีย พอสร้างไปแล้วก็ยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีกเช่นค่าไฟฟ้า ค่าสารเคมี"

อุปกรณ์ที่สามารถขอลดภาษีอากรได้แก่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย อากาศเสีย ของเสีย ขยะ อุปกรณ์ที่ใช้ลดหรือป้องกันเสียงรบกวนจากต้นกำเนิดเสียง ในกิจการอุตสาหกรรม รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย วิเคราะห์ ตรวจวัดและติดตามผลเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

ผู้ที่มิทธิในการยื่นขอลดภาษี คือผู้นำเข้าเครื่องจักรเพื่อไปใช้ในกิจการของตนเอง หรือบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์ที่มีหลักฐานการซื้อขายกับผู้ใช้และได้แสดงสถานที่ติดตั้งใช้งานของกิจการนั้นที่กำหนดเงื่อนไขนี้ เพื่อให้เจ้าของอุตสาหกรรมได้รับผลประโยชน์จากการลดภาษีโดยตรงมิใช่ตกเป็นกำไรของบริษัทตัวแทนจำหน่ายที่นำเข้าสินค้า

ขั้นตอนในการขอลดภาษีนั้นจะต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ เช่น แคตาล็อกสินค้าที่สั่งซื้อและใบกำกับสินค้า (INVOICE) และเอกสารต่าง ๆ ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงงานและรักษาสิ่งแวดล้อม ที่มีปลัดกระทรวงวิทย์ฯ เป็นประธาน

เมื่อคณะกรรมการได้รับเรื่องแล้วจะส่งให้อนุกรรมการไปพิจารณารายละเอียดและเดินไปตรวจสอบที่โรงงานว่ามีการติดตั้งจริงหรือไม่ หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบจากอนุกรรมการแล้วจึงส่งต่อไปให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้ง

ระยะเวลาของการพิจารณาจะยาวแค่ไหนก็สุดแท้แต่ความพร้อมของเจ้าของกิจการนั้นในการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้คณะอนุกรรมการไปตรวจสอบได้ หากทุกอย่างดำเนินไปอย่างไม่ติดขัดคือ เจ้าของกิจการสามารถติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อให้คณะกรรมการไปตรวจสอบได้ว่านำไปใช้งานด้านรักษาสิ่งแวดล้อมจริง จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่เกินสองเดือน

"คณะอนุกรรมการมีหน้าที่พิจารณาเครื่องจักรว่าใช้ประโยชน์ได้จริงมั๊ย เข้าข่ายที่จะลดมลพิษจากของเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงงานหรือไม่ อยู่ในกฎเกณฑ์ที่ได้ลดหรือเปล่า รวมทั้งพิจารณาว่าได้มีการติดตั้งจริงหรือไม่" อุดร จารุรัตน์ ชี้แจง

ทั้งนี้เนื่องจากว่าอุปกรณ์ที่ขอลดอากรบางอย่างเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ในขั้นตอนของการผลิตมิใช่ขั้นตอนของการลดมลพิษ ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าอุปกรณ์ที่ลดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของโรงกลั่นน้ำมันจะไม่อนุมัติให้ลดภาษี เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของโรงกลั่นที่จะต้องผลิตน้ำมันให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด แต่ถ้าหากเครื่องจักรที่ลดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไปติดอยู่ที่ปล่องควันโรงงาน ตัวหลังนี้จะได้ลดภาษี เป็นต้น

ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควร ระหว่างผู้ขอลดภาษีกับคณะกรรมการ แม้หลายฝ่ายจะเห็นว่าการขจัดมลพิษที่ถูกต้องควรจะลดตั้งแต่แหล่งกำเนิด

แต่การพิจารณาของกรรมการจะอนุมัติได้เฉพาะเครื่องจักร หรืออุปกรณ์รักษาสิ่งแวดล้อมขั้นตอนของการขจัดมลพิษ เพราะถือว่าการปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิตให้มีคุณภาพเป็นสิ่งที่ธุรกิจนั้นต้องทำอยู่แล้ว เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งในเรื่องปริมาณและคุณภาพของสินค้าที่ผลิตออกมา แต่ในขั้นตอนของการขจัดมลพิษเป็นจุดที่ไม่มีผู้ใดได้รับผลประโยชน์

"โรงงานอุตสาหกรรมที่เขาปล่อยของเสียและสามารถนำไปกลั่นกรองได้ แต่ถ้าอีกบริษัทหนึ่งมาขอซื้อของเสียจากโรงงานนั้นมากลั่นกรองและเอาของที่ได้ไปขาย และบริษัทนี้มาขอลดภาษีเครื่องจักร ก็ไม่ได้ลดภาษีเช่นกันเพราะถือว่าเขาสั่งของนั้นมาเพื่อผลิตและได้กำไรจากการผลิตอันนั้น" หนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ กล่าว

อุปกรณ์และเครื่องจักรที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นพวกเครื่องกำจัดฝุ่นละออง ผ้ากรองฝุ่นสารเคมีที่ช่วยในการตกตะกอนและระบบบำบัดน้ำเสีย

ในปี 2532 เครื่องจักรวัสดุและอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมที่เสนอผ่านทางคณะกรรมการเพื่อขอลดภาษีมีมูลค่า 83,114,086.10 ล้านบาท จากจำนวนผู้ขอลดภาษี อุปกรณ์ด้านประหยัดพลังงาน 35 ราย ด้านสิ่งแวดล้อม 60 ราย ปี 2533 มีมูลค่า 161,483,433.55 ล้านบาทจากจำนวนผู้ยื่นขอ 91 ราย และเพิ่มมูลค่าเป็น 364,922,849 ล้านบาทจากจำนวนผู้ยื่นขอ 79 รายในปีถัดมา

"ผมว่าคนอาจจะไม่ค่อยทราบเท่าที่ควร เวลานี้คนที่ยื่นขอลดภาษีก็คือคนหน้าเก่าและคนที่นำเข้ามูลค่าสินค้าที่แพงมาก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงปูน โรงเหล้า เราอยากให้กระจายไปมากกว่านี้ เพราะการลดภาษีนี้เท่ากับว่ารัฐยอมเฉือนเนื้อตัวเองเพื่อสนับสนุนเอกชน"

ผู้อำนวยการกองควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวเชิญชวนให้โรงงานอุตสาหกรรมที่นำเข้าอุปกรณ์รักษาสิ่งแวดล้อมหันมาสนใจสิทธิพิเศษตัวนี้มากขึ้น

แม้ว่ามูลค่าสินค้าสูงถึงหลายร้อยล้านบาทจะเป็นตัวที่ชี้ให้เห็นถึงการที่อุตสาหกรรมยอมลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในระดับหนึ่ง แต่กระนั้นก็ตามสิ่งที่เป็นปัญหาของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็คือการมีระบบบำบัดแต่ไม่เดินเครื่อง เป็นผลให้ของเสียที่ปล่อยออกมาสู่สภาพแวดล้อมไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด

สาเหตุใหญ่ที่โรงงานอุตสาหกรรมเลือกที่จะหลบหลีกการเดินเครื่องหากเจ้าหน้าที่รัฐละเลยเนื่องจากต้นทุนที่จะต้องจ่ายเพิ่มไปกับค่าไฟฟ้า ตัวอย่างเช่นระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งประกอบด้วย เครื่องเติมอากาศ เครื่องสูบน้ำ ใบพัดหมุน 10 แรงม้า ระบบบำบัดแบบใช้จุลินทรีย์ซึ่งต้องหมุน 24 ชั่วโมง ค่าไฟฟ้าเดือนหนึ่งเกือบสองแสนบาท นับเป็นรายจ่ายที่มิใช่น้อยทีเดียว

"เคยมีคนเสนอมายังคณะอนุกรรมการว่าน่าจะมีการติดมาตรไฟฟ้าแยกต่างหากสำหรับระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้เจ้าของโรงงานจ่ายค่าไฟฟ้าในอีกราคาที่ถูกกว่าราคาปกติ เพราะถ้าไปลดให้แต่ด้านภาษีนำเข้าแต่ไม่ลดค่าไฟ หลายโรงสร้างแล้วก็ไม่ใช้ก็มีแต่สั่งมาเพื่อให้เห็นว่าระบบมีอยู่" อุดรกล่าวถึงมาตรการส่งเสริมอีกด้านหนึ่ง

มาตรการส่งเสริมด้านการลดภาษีอากรเครื่องจักรอุปกรณ์ที่รักษาสภาพแวดล้อม หรือการให้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ดี

แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องไม่ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเห็นว่า การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐถูกกว่าการลงทุนในการบำบัดของเสีย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us