*-มิตซูบิชิ เดินหมากเด็ดด้วยกลยุทธ์ Cross Segment
*-ปูทางขยายฐานลูกค้ารับ มิตซูบิชิ ปาเจโรสปอร์ตใหม่
*-โตโยต้า ชิ่งตลาด PPV เพิ่มรุ่น-ออปชั่น ข้ามไปกินเค้กก้อนเดียวกับฮอนด้าซีอาร์วี-เชฟโรเลต แคปติวา
คงไม่ต้องบอกว่าการแข่งขันของตลาดรถยนต์บ้านเราเข้มข้น ร้อนแรง ขนาดไหน โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์อย่างนี้ ยิ่งทำให้อุณหภูมิร้อนจนแทบปรอทแทบแตก ค่ายรถยนต์ต้องเปลี่ยนแผนการรบใหม่ ด้วยการขยับเข้าไปแข่งกับคู่แข่งต่างเซกเมนต์ ซึ่งกรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่มิตซูบิชิ ส่ง สเปซ แวก้อน รถยนต์ในกลุ่มอเนกประสงค์ หรือ MPV (Multi Purpose Vehicle) มาชิงส่วนแบ่งในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลางมาแล้ว สำหรับครั้งใหม่นี้มิตซูบิชิ ก็ทำอีหรอบเดิมด้วยการส่งปาเจโรตัวใหม่ เข้ามาหวังกินรวบทั้งตลาด PPV (Pick-up Passenger Vehicle) และ SUV (Sport Utility Vehicle) เรียกว่าตลาดรถยนต์วันนี้เริ่มเข้ายุคการแข่งขันที่เรียกว่า Hyper Competition อย่างแท้จริง
มิตซูบิชิ คืนชีพตลาดรถปิกอัพดัดแปลงหรือ PPV (Pick-up Passenger Vehicle) วางกลยุทธ์ Cross Segment ด้วยการดึงโมเดล อิมเมจท์ มิตซูบิชิ ปาเจโร SUV (Sport Utility Vehicle) รุ่นใหญ่ของตัวเองมาสวม หวังขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นจาก PPV ขึ้นไปคลุมตลาดกลุ่มเอสยูวีดังกล่าว เป็นกลยุทธ์เดียวกับที่โตโยต้า ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นจาก ฟอร์จูนเนอร์ คาดทำให้ตลาดปิกอัพดัดแปลง และ SUV กลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะฟากโตโยต้า เองก็เพิ่งมีการปรับโฉมฟอร์จูนเนอร์ใหม่ พร้อมการเพิ่มไลน์อัพ ผลิตภัณฑ์เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าด้วยรุ่นขับเคลื่อน 2 และ เกียร์ธรรมดา
มิตซูบิชิพลิกโฉมPPV เทียบชั้น SUV รุ่นใหญ่
กลยุทธ์การ Cross Segment ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กับการกลับเข้าสู่ตลาดรถ PPV ของมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ที่กำลังจะเปิดตัวในสัปดาห์นี้ เป็นการดึงเอาส่วนที่มีชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และรูปทรง ของรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโร รถยนต์ในเซกเมนต์ SUV ขนาดใหญ่ ทั้งมีชื่อเสียง และตำนานอย่างมากของแบรนด์มิตซูบิชิ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เข้าสวมในโมเดล ปิกอัพดัดแปลง รุ่นใหม่
ที่ผ่านมา ในเซกเมนต์ PPV ของมิตซูบิชิ ทำตลาดในโมเดลชื่อ จี-แวกอน เป็นการพัฒนาจากพื้นฐานมิตซูบิชิ สตราด้า ปิกอัพรุ่นก่อนหน้านี้ โดยมิตซูบิชิ สามารถทำยอดขายรถโมเดลดังกล่าวไปประมาณ 8,000 คันในช่วง 5 ปีก่อนจะหยุดสายการผลิตตามโมเดล มิตซูบิชิ สตราด้า ในขณะที่โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทยกลับสามารถทำยอดขายฟอร์จูนเนอร์รถยนต์ในเซกเมนต์เดียวกันได้มากถึง 16,000 คัน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
ปรากฏการณ์ความสำเร็จของโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ส่วนหนึ่งมาจากการปรับมาใช้กลยุทธ์ Cross Segment ในช่วงเปลี่ยนโมเดลรถ PPV จากสปอร์ตไรเดอร์ มาเป็นฟอร์จูนเนอร์นั้น โตโยต้าก็ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ ด้วยการดึงเอารูปทรง และคุณสมบัติส่วนสำคัญต่างๆ ของ โตโยต้า แฮริเออร์ SUV รุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียงของโตโยต้า ช่วงนั้นมาติดตั้งในฟอร์จูนเนอร์ ทำให้นอกจากจะเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มที่ชื่นชอบการใช้รถประเภทปิกอัพดัดแปลงแล้ว ยังสามารถข้ามเซกเมนต์ไปแชร์ส่วนแบ่งคลาดจากรถในกลุ่ม SUV ได้อีกด้วย
ด้วยราคาที่ต่ำกว่าโตโยต้า แฮริเออร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นำเข้าจากผู้นำเข้าอิสระราคาอยู่ที่คันละกว่า 2 ล้านบาท แต่ฟอร์จูนเนอร์เปิดตลาดด้วยราคาล้านเศษๆ ทำให้กลุ่มลูกค้าของแฮริเออร์ หันกลับมามองโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์เพิ่มมากขึ้น แม้จะให้หรูหรา และคุณสมบัติไม่เทียบเท่าทั้งหมด แต่ราคาที่ต่างกันกว่าล้านบาทก็สามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากพอสมควร ขณะที่ลูกค้าในกลุ่ม PPV ก็รู้สึกถึงภาพลักษณ์ที่เหนือกว่ารถปิกอัพดัดแปลงรุ่นอื่นๆ ในตลาดไม่ว่าจะเป็น อีซูซุ มิว 7 , ฟอร์ด เอเวอร์เรสต์ หรือ ทีอาร์ แวกอนของกลุ่มไทยรุ่ง
ปาเจโร สปอร์ต รถปิกอัพดัดแปลงรุ่นใหม่ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ก็ถือว่าเดินกลยุทธ์ Cross Segment ในรูปแบบใกล้เคียงกับฟอร์จูนเนอร์ รูปทรงที่มีการเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ ไม่แตกต่างจาก มิตซูบิชิ ปาเจโร เอ็กซีด SUV รุ่นใหญ่ สักเท่าใด และมีการใช้ชื่อโมเดลร่วมกันคือ ปาเจโร แต่ใช้ชื่อรุ่นเป็นสปอร์ต เท่านั้น ก่อนหน้านี้มิตซูบิชิ เปิดตัว ปาเจโร เอ็กซีด ในราคากว่า 3 ล้านบาท ขณะที่ ปาเจโร สปอร์ต มีราคาเพียงกันละล้านเศษๆ เท่านั้น
มิตซูบิชิ คงหวังจะยกภาพลักษณ์ PPV ขึ้นไปเจาะกลุ่มลูกค้า SUV ขนาดใหญ่ด้วย นอกเหนือจากการมุ่งเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารถปิกอัพดัดแปลงทั่วไป ซึ่งก็จะทำให้ตลาดของ ปาเจโร สปอร์ตใหม่มีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นด้วย จารุกร เรืองสุวรรณ ผู้ชำนาญการอาวุโส ผ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด บอกว่า การเปิดตัว ปาเจโร สปอร์ต จะเป็นการต่อยอดความแข็งแกร่งของรถกลุ่มเอสยูวี
สำหรับมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต นั้นจะมาพร้อมกับ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และขับเคลื่อน 2 ล้อ เครื่องยนต์จะมีให้เลือกทั้ง 2 ขนาดคือดีเซลคอมมอนเรล 2500 ซีซี. และ 3200 ซีซี. ซึ่งเป็นเครื่องยนต์บล็อกเดียวกับปิกอัพ มิตซูบิชิ ไทรทัน ที่ทำตลาดอยู่ในเวลานี้ แต่มิตซูบิชิจะใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ Super Select 4WD ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับที่ใช้ในรถมิตซูบิชิ ปาเจโร เอ็กซีด เพื่อให้สะท้อนภาพลักษณ์ของรถ SUV รุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียงดังกล่าว
ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีทางเลือกให้กับลูกค้ากับมิตซูบิชิ ปาเจโรสปอร์ต น่าจะส่งผลให้มิตซูบิชิ มองข้ามไปถึงการเจาะตลาดในเซ็กเมนท์รถยนต์ SUV ขนาดคอมแพ็กต์ ของฮอนด้า ซีอาร์วี และเชฟโรเลต แคปติวาอีกด้วย เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าปาเจโรสปอร์ตให้เพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้งมิตซูบิชิ เองก็ไม่มีรถยนต์ในเซกเมนต์ SUV ขนาดคอมแพ็กต์อยู่แล้ว จังไม่ต้องกังวลว่าจะมีการทับซ้อนเซกเมนต์กันเอง
จะว่าไปแล้วมิตซูบิชิ ก็ใช่ว่าจะพึ่งเริ่มใช้กลยุทธ์ Cross Segment เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ มิตซูบิชิได้ Cross Segment รถยนต์มิตซูบิชิ สเปซแวแกน รถในเซกเมนต์เอนกประสงค์ หรือ MPV ข้ามไปเจาะตลาดรถยนต์นั่งขนาดกลาง เป็นเซกเมนต์ที่มีการแข่งขันกันรุนแรงพอสมควรจาก 3 ค่ายใหญ่คือ โตโยต้า คัมรี่, ฮอนด้า แอคคอร์ด และนิสสัน เทียน่า ซึ่งมิตซูบิชิ ไม่มีผลิตภัณฑ์เซกเมนต์นี้อยู่ในตลาดเมืองไทย
โดยมิตซูบิชิ เปลี่ยนแนวทางการสื่อสารการตลาดกับกลุ่มลูกค้าใหม่ จากเดิมที่ใช้การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เกี่ยวกับคุณสมบัติของรถยนต์เอนกประสงค์ พุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้ใช้รถยนต์แบบครอบครัว เป็นนำเสนอผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่ใช้ Messege สื่อว่า “อึดอัด...กับรถซีดาน ?” โดยเนื้อหาของภาพยนตร์โฆษณาแสดงให้เห็นถึงภาพของผู้บริหารที่ถูกบีบรัด คล้ายๆกันกับการต้องทนอึดอัดอยู่ในรถซีดานขณะเดียวกันก็มีผู้บริหารอีกหนึ่งคนที่เลือก มิตซูบิชิ สเปซ แวกอน ก็จะฉายภาพของความกว้างขวาง สะดวกสบาย และคงความหรูเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริหารในยุคใหม่ที่ไม่ได้ติดกับภาพลักษณ์เดิมๆที่ว่าผู้บริหารจะต้องนั่งรถซีดานเสมอไป
การ Cross segment ดังกล่าวของมิตซูบิชิ ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่ถือว่าอยู่ในช่วงปลายโมเดล อีกทั้งแนวโน้มตลาดรถยนต์อเนกประสงค์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดรถยนต์นั่งกลับยังขยายตัวได้ดี ดังนั้นด้วย Messege ที่ถูกตอกย้ำผ่านภาพยนตร์โฆษณารวมไปถึงการสื่อสารทางการตลาดผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทำให้กลยุทธ์ Cross segment ในครั้งนั้น สร้างยอดขายให้กับรถยนต์ในรุ่นนี้ จากเดิมที่ขายได้เดือนละ 80 คัน ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 100 คัน ขณะที่ตัวเลขขายรวมของรถรุ่นนี้ในปีที่ผ่านมา ทำได้ 637 คัน แต่เมื่อถูกตอกย้ำด้วยกลยุทธ์ Cross segment ก็ทำให้ยอดขาย 6 เดือนของปีนี้ทำได้แล้วกว่า 1,049 คัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด
ฟอร์จูนเนอร์ผู้สร้างตำนานCross Segment
โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์นั้น หลังจากประสบความสำเร็จด้านยอดขายอย่างท่วมท้น และมีการปรับโฉมใหม่ในแบบไมเนอร์เชนจ์ไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ฟอร์จูนเนอร์ใหม่ ยังคงโครงสร้างรูปทรงเดิมไว้ และมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างเช่น กระจังหน้า ไฟท้าย และปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ช่องแอร์สำหรับที่นั่งผู้โดยสารแถวที่ 3 จากด้านข้างที่วางแขนไปอยู่บนเพดาน รวมถึงปรับเปลี่ยนระบบที่เคยเป็นจุดอ่อนเดิมคือ เบรก มีการเพิ่มขนาดจานเบรกให้ใหญ่ขึ้น พร้อมกับการเพิ่มรุ่นผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองลูกค้าได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ไขจุดอ่อนของรุ่นเดิมในเรื่องอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เนื่องจากฟอร์จูนเนอร์ มีเครื่องยนต์เพียง 2 รุ่นคือ ดีเซล D4D 3.0 ลิตร ขับเคลื่อน 4 ล้อและ เบนซิน 2.7 ลิตร VVT-I ขับเคลื่อน 2 ล้อ ทำให้กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบสมรรถนะเครื่องยนต์ดีเซลไม่มีทางเลือกสำหรับระบบขับเคลื่อน หรือลดอัตราสิ้นเปลืองในยุคน้ำมันดีเซลราคาแซงน้ำมันเบนซิน แต่ในขณะที่คู่แข่งไม่ว่าจะเป็น อีซูซุ มิว 7 , ฟอร์ด เอเวอเรสต์ และ ทีอาร์ แวกอน ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมีให้เลือกทั้งรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อและ 4 ล้อ
ทำให้ฟอร์จูนเนอร์ใหม่ มีการเพิ่มอีก 2 รุ่นคือ ดีเซล D4D 3.0 ลิตร ขับเคลื่อน 2 ล้อ และรุ่น ดีเซล D4D 3.0 ลิตร ขับเคลื่อน 4 ล้อเกียร์ธรรมดา นอกจากนี้ยังเสริมด้วยรุ่นท้อป รุ่น ดีเซล D4D 3.0 ลิตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่มีการติดตั้งระบบนำทางด้วยดาวเทียว และเครื่องเล่นดีวีดี เสริมเข้าไปด้วย
การเพิ่มไลน์อัพ ผลิตภัณฑ์ของโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ เป็นการช่วยขยายกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโตโยต้า คาดว่าฟอร์จูนเนอร์ใหม่จะมียอดขายราวเดือนละ 1,500 คันเป็นอย่างต่ำ หรือปีละประมาณ 18,000 คัน เนื่องจากโตโยต้าหวังจะใช้ฟอร์จูนเนอร์ใหม่ Cross Segment เข้าไปแชร์ส่วนแบ่งตลาดจากกลุ่มผู้ใช้รถในเซกเมนต์รถ SUV ขนาดคอมแพ็กต์ ซึ่งเป็นตลาดของฮอนด้า ซีอาร์วี และเชฟโรเลต แคปติวา
ที่ผ่านมานั้นฟอร์จูนเนอร์เองก็ถูกลูกค้านำไปเปรียบเทียบกับรถในเซกเมนต์ SUV คอมแพ็กต์ด้วยเช่นกัน แม้จะเป็นรถประเภทปิกอัพดัดแปลง แต่ฟอร์จูนเนอร์ก็มีการปรับเปลี่ยนระบบช่วงล่างใหม่ โดยเฉพาะช่วงล่างด้านหลังที่ไม่เหลือคราบของช่วงล่างปิกอัพที่เป็นประเภทแหนบซ้อน ขณะเดียวกันฟอร์จูนเนอร์กลับมีคุณสมบัติการใช้งานที่เหนือกว่า SUV คอมแพ็ตก์ทั่วไป คือเป็นรถเอนกประสงค์ 5+2 ที่นั่ง และสามารถใช้งานได้ทุกสภาพถนนไม่ว่าจะเป็นออนโรด หรือออฟโรด
ขณะที่ภาพยนตร์โฆษณาของฟอร์จูนเนอร์ใหม่ นอกจากจะบอกเล่าถึงรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังสอดแทรกการแก้จุดบกพร่องที่มีปัญหาก่อนหน้านี้ คือระบบเบรกและการเพิ่มฟังก์ชั่น ระบบความคุมความเร็วอัตโนมัติ ทำให้ฟอร์จูนเนอร์ใหม่มีสมรรถนะและคุณสมบัติสูงกว่ารถปิกอัพดัดแปลงอย่างเห็นได้ชัด และสามารถ Cross Segment ไปเทียบเคียงกับรถในกลุ่ม SUV คอมแพ็กต์ด้วย
อีกทั้งแนวโน้มตลาดรถปิกอัพดัดแปลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขยอดขายรถยนต์ของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ตลาดรถปิกอัพดัดแปลงโดยรวมลดลง 46.81% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมปีก่อน ด้วยปริมาณรวม 831 คันเท่านั้น โดยเฉพาะโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์นั้นที่ผ่านมาทำยอดขายได้ราวเดือนละ 1,000 คัน ดังนั้นการจะก้าวไปถึงเป้าหมาย 1,500 คันเดือนนั้น ฟอร์จูนเนอร์ ต้อง Cross Segment เพื่อไปเจาะตลาดส่วนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
เกมบุกPPVครั้งนี้สะเทือนถึงSUV
ด้วยสถานการณ์การแข่งขันรอบใหม่ของทั้งมิตซูบิชิ ปาเจโรสปอร์ต และโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ อาจไม่สะเทือนเพียงแค่คู่แข่งในเซกเมนต์รถปิกอัพดัดแปลง ที่ยังมีคู่แข่งอีก 2 รายคือ อีซูซุ มิว7 และฟอร์ด เอเวอเรสต์ เท่านั้น แต่คงจะกระทบชิ่งไปถึงตลาดรถ SUV คอมแพ็กต์ที่ฮอนด้า ซีอาร์วี กำลังขับเคี่ยวอยู่กับ เชฟโรเลต แคปติวา อีกด้วย
ในปี 2551 โตโยต้าทำยอดขายรถฟอร์จูนเนอร์เป็นอันดับ 1 ของตลาดเมื่อรวมตัวเลขทั้งเซกเมนต์รถปิกอัพดัดแปลง และรถ SUV ด้วยยอดขาย 14,013 คัน ตามมาด้วย ฮอนด้า ซีอาร์วี 8,432 คัน เชฟโรเลตแคปติวา 2,196 คัน อีซูซุ มิว7 1,296 คัน ฟอร์ด เอเวอเรสต์และ เอสเคปรวมกัน 811 คัน
แต่การแข่งขันในตลาดทั้ง 2 เซกเมนต์หลังจากนี้ จะมีชื่อ ปาเจโรสปอร์ตของมิตซูบิชิ สอดแทรกเข้ามา ในขณะที่สถานการณ์ของตลาดรถยนต์ปิกอัพ ดัดแปลงและ SUV คงจะเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากสภาวะราคาน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นที่สิ่งที่มิตซูบิชิต้องทำคือ การชิงส่วนแบ่งตลาด หรือยอดขายจาก ตลาดรวมปีละราวๆ 30,000 คัน แน่นอนว่าโตโยต้า ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 50% คงไม่ยอมปล่อยเค้กก้อนนี้หลุดมือแน่น อีกทั้งการปรับโฉมใหม่ของฟอร์จูนเนอร์ ซึ่งทำให้ตัวผลิตภัณฑ์มีความสดใหม่มากขึ้น เมื่อเทียบกับรถยนต์คู่แข่งในตลาด
รวมทั้งจุดแข็งในเรื่องเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการที่มีอยู่กว่า 300 แห่ง น่าจะส่งผลให้ฟอร์จูนเนอร์สามารถไปถึงเป้าที่วางไว้คือเดือนละ 1,500 คันได้ไม่ยาก โดยฟอร์จูนเนอร์ใหม่นั้นมีราคาเพิ่มต้นในรุ่นเครื่องยนต์ D4D ขับเคลื่อน 4 ล้อเกียร์ธรรมดา ที่คันละ 1,050,000 บาท ขณะที่รุ่นสูงสุด เครื่องยนต์ D4D 3.0 ลิตร เกียร์อัตโนมัตินั้นปรับราคาเพิ่มจาก 1,271,000 บาทเป็น 1,309,000 บาท ฟอร์จูนเนอร์รุ่นที่เพิ่มขึ้นมาใหม่คือ เครื่องยนต์ D4D 3.0 ลิตรขับเคลื่อน 2 ล้อราคาอยู่ที่ 1,249,000 บาท และรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ขับเคลื่อน 2 ล้อมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจาก 1,096,000 บาทเป็น 1,149,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรุ่นพิเศษที่ติดตั้งระบบนำทางด้วยดาวเทียมหรือเนวิเกเตอร์ ด้วยราคา 1,309,000 บาท
ส่วนมิตซูบิชิ นั้นในช่วงแรกของการเปิดตัวน่าจะผลักดันยอดขายกันได้ไม่ยากเย็นนัก แต่ภายหลังจากนั้น นอกจากการ Cross Segment แล้ว มิตซูบิชิ คงต้องมีกลยุทธ์ในการเสริมยอดขายให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งแคมเปญ และการจัดกิจกรรมให้ลูกค้าได้สัมผัสรถยนต์รุ่นใหม่อย่างใกล้ชิด
ขณะที่คู่แข่งในตลาดปิกอัพดัดแปลงอย่าง อีซูซุ มิว 7 นั้น ที่ผ่านมา แม้จะมียอดขายตกเป็นรองเจ้าตลาดอย่างมาก แต่อีซูซุ เองก็ยังคงไม่เน้นการตลาดที่หวือหวา โดยเฉพาะการแข่งขันในเรื่องราคา และที่ผ่านมาอีซูซุ ใช้กลวิธีผลักดันยอดขายด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ๆ เข้าไปในตัวผลิตภัณฑ์ เช่น การติดตั้งเครื่องเล่น DVD พร้อมจอมอนิเตอร์สำหรับที่นั่งผู้โดยสารด้านหลัง รวมถึงกล้องมองหลัง เพิ่มความสะดวกและความบันเทิงในการใช้งาน เพื่อทำให้ตัวผลิตภัณฑ์แตกต่างจากคู่แข่งมายิ่งขึ้น และอีซูซุ ก็ยังยึดนโยบายที่จะไม่แข่งขันในเรื่องราคา แม้จะมียอดขายตามหลังอยู่มากก็ตาม โดยมิว 7 มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,074,000 บาทในรุ่นเครื่องยนต์ซูเปอร์คอมมอนเรล 3.0 ลิตรขับเคลื่อน 2 ล้อ และ รุ่นสูงสุดคือ 1,224,000 บาท ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งเป็นราคาที่ไม่แตกต่างจากฟอร์จูนเนอร์ใหม่ ที่มีราคาเริ่มต้น 1,050,000 บาท
ส่วนฟอร์ด เอเวอเรสต์นั้น ก่อนหน้านี้พึ่งมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นเช่นเดียวกับอีซูซุ มิว 7 คือ เครื่องเล่น DVD พร้อมจอมอนิเตอร์ และยังมีการติดตั้งระบบนำทางด้วยดาวเทียมเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมานั้นฟอร์ด เคยใช้กลยุทธ์ด้านราคามาแล้วช่วงหนึ่ง ด้วยการเปิดตัวรุ่นพิเศษราคาเพียง 999,000 บาท แต่ในรุ่นปรับปรุงใหม่นี้ฟอร์ด ตั้งราคาไว้ค่อนข้างสูง โดยรุ่นต่ำสุดคือ เครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตร ขับเคลื่อน 2 ล้อราคาอยู่ที่ 1,183,000 บาท และรุ่นสูงสุดคือ 3.0 ลิตร ขับเคลื่อน 4 ล้อราคาอยู่ที่ 1,288,000 บาท แต่ก็มาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกคือระบบนำทางผ่านดาวเทียมครบชุด
ด้านคู่แข่งในตลาดที่เป็นรถยนต์เซกเมนต์ SUV คอมแพ็กต์นั้น ราคาของฮอนด้า ซีอาร์วี เริ่มต้นในรุ่น เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตรขับเคลื่อน 2 ล้อที่ 1,111,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ไม่แตกต่างจากรถในกลุ่มปิกอัพดัดแปลงนัก หรือแม้แต่ในรุ่นสูงสุดของฮอนด้าซีอาร์วี นั้นราคาอยู่ที่ 1,379,000 บาท สำหรับรุ่นเครื่องยนต์ 2.4 ลิตรขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งเป็นราคาที่ไม่แตกต่างจากฟอร์จูนเนอร์ใหม่ โดยเฉพาะในรุ่นสูงสุดที่มีราคาอยู่ที่ 1,309,000 บาท ที่มาพร้อมกับระบบนำทางผ่านดาวเทียม
เชฟโรเลต แคปติวา ก็เป็นคู่แข่งอีกรายหนึ่งที่ต้องได้รับผลกระทบจากการ Cross Segment จากรถในกลุ่ม PPV ครั้งนี้เช่นกัน อีกทั้งราคาของแคปติวา ก็ไม่แตกต่างจากคู่แข่งในเซกเมนต์ SUV ด้วยกัน โดยแคปติวารุ่นต่ำสุดคือเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร ขับเคลื่อน 2 ล้อ 1,189,000 บาท แต่เชฟโรเลต แคปติว่า มีจุดเด่นที่เหนือกว่า คู่แข่งที่เป็น SUV คอมแพ็กต์คือ มีการเพิ่มรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล พร้อมกับฟังก์ชั่นบางอย่างที่นำมาจากรถยนต์เอสยูวีระดับหรูเช่น ระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขาหรือเนินลาดชัน เป็นต้น ซึ่งแคปติวา เครื่องยนต์ดีเซลนั้นเป็นขนาด 2.0 ลิตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ และก็มีราคาสูงกว่าทุกรุ่นคือ 1,560,000 บาท
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบของรถยนต์ในกลุ่มปิกอัพดัดแปลง โดยเฉพาะมิตซูบิชิ ปาเจโรสปอร์ต และฟอร์จูนเนอร์ใหม่ที่สามารถ Cross Segment เข้ามาเฉือนเนื้อเค้กอีกก้อนหนึ่งของเซกเมนต์ SUV คอมแพ็กต์ที่มีฮอนด้า และเชฟโรเลต แคปติวาอยู่ในตลาด นอกจากนี้ยังสามารถกระโดดขึ้นไปเกี่ยวตลาดในกลุ่มรถยนต์ SUV ขนาดใหญ่อีกด้วย แต่ก็คงต้องตามติดการ Cross Segment ครั้งนี้ของมิตซูบิชิ ปาเจโรสปอร์ตว่าจะสามารถเดินตามรอยผู้นำตลาดอย่างโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ได้เพียงไร
|