แบงก์ชาติ ออกโรงปฏิเสธกรณีไฟเขียวให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินฝาก
ระบุเป็นเรื่องปกติที่แต่ละแบงก์สามารถทำได้ แต่ห้ามคิดในอัตราที่สูงเกินความจำเป็น
และต้องแจ้งลูกค้าก่อนล่วงหน้า 10 วัน เพื่อให้เจ้าของบัญชีรับทราบ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ฝากเงิน
ร้องเรียนได้หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ล่าสุดพบธนาคารไทย-เทศที่เก็บค่าธรรมเนียมแล้วรวม
6 แห่ง
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
กล่าวถึง กรณีที่ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีเงินฝากว่า
ธปท.ไม่ได้สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์จัดเก็บ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว
ตามหนังสือเวียนที่ธปท.ทำถึงธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2541 เรื่องระเบียบในการเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี
ทั้งนี้ ธนาคารสามารถเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย และให้ธนาคารพาณิชย์มีหนังสือแจ้งไปถึงลูกค้าที่เข้าข่ายถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีทราบล่วงหน้า
10 วันก่อนวันเก็บค่าธรรมเนียม เนื่องจากลูกค้าอาจเปิดบัญชีไว้ และไม่มีการเคลื่อนไหว
หรือลูกค้าอาจจะลืมปิดบัญชี
"โดยปกติแล้ว ธนาคารพาณิชย์จะพิมพ์ข้อความระบุไว้ในสมุดคู่ฝากว่า หากบัญชีใดที่ไม่มีการเคลื่อนไหว
หรือจำนวนเงินฝากลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมในการรักษาบัญชีได้
ซึ่งธนาคารถือว่าข้อความดังกล่าวเป็นการแจ้งเตือนลูกค้าแล้ว แต่ประชาชนอาจลืม และธปท.เห็นว่าการแจ้งลักษณะดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนา
จึงขอให้ธนาคารมีหนังสือแจ้งโดยตรงไปถึงลูกค้าล่วงหน้าก่อน 10 วัน เพื่อลูกค้าจะได้ปิดบัญชีหรืออาจย้ายรวมบัญชีได้ทัน"
นางธาริษา กล่าวว่า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีมีมาก่อนหน้านี้แล้ว
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำในปัจจุบัน และทำให้ธนาคารต้องหา
รายได้เพิ่มด้วยการคิดค่าธรรมเนียม รักษาบัญชีจากประชาชนผู้ฝากเงิน แต่ประชาชนอาจรู้สึกว่า
ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำอยู่แล้วและยังต้องมาเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนเห็นว่า ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเรียกเก็บสูงเกินไป
สามารถแจ้งต่อธปท.ได้ เพื่อจะตรวจสอบว่ามีเหตุผลสมควรหรือไม่และขอความร่วมมือผู้ฝากเงินช่วยสำรวจเงินฝากของตนเองด้วย
หากบัญชีใดไม่มีการเคลื่อนไหวให้ปิดบัญชี เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม
สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีรูปแบบต่างกัน ขึ้นอยู่กับฐาน
ลูกค้า ซึ่งจะเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ในต่าง ประเทศบางแห่งหากไม่มีการเคลื่อนไหวใน
12 เดือนจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี ส่วนบางแห่งหากวงเงินไม่ถึง 500 บาท
จะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ดอกเบี้ยของพันธบัตรช่วยชาติที่โอนผ่านธนาคารพาณิชย์ มีการเก็บค่าธรรมเนียม
ด้วยนั้น นางธาริษา กล่าวว่า ขอไปตรวจสอบรายละเอียดของการออกพันธบัตรอีกครั้งหนึ่งว่าสัญญาของพันธบัตรเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (16 ก.ค.) ธปท.ได้เรียก พนักงานของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมาหารือ
พร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินฝากดังกล่าว
จากการสำรวจล่าสุด ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการหมุนเวียน
หรือมีเงินฝากเฉลี่ยน้อยกว่าเกณฑ์ที่แบงก์กำหนดไว้ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย
เรียกเก็บ 50-100 บาทต่อปี ในกรณีที่เงินฝากน้อยกว่าปีละ 500 บาท ธนาคารสแตนดาร์ด
ชาร์เตอร์นครธน เก็บ 20 บาทต่อเดือน กรณีที่มีเงินฝากน้อยกว่าปีละ 5,000 บาท และธนาคารเอเชีย
เก็บ 20 บาท กรณีที่มีเงินฝากน้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท (ตารางประกอบข่าว)
ด้านนางชาลอต โทณะวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า
ขณะนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังไม่มีแผนที่จะพิจารณาคิดค่าธรรมเนียมในการรักษาบัญชีเงินฝากแต่อย่างใด
แต่ธนาคารจะหันไปหารายได้ประเภทอื่นเข้ามาทดแทนรายได้ดอกเบี้ยที่หายไป เช่น รายได้ค่าบริการให้กับลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบาย
เป็นต้น