|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
โฆษณาของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชุดใหม่ที่มีเนื้อหาว่า “29 ส.ค.นี้ เตรียมพบกับ พีทีที อี 85 พลัส พลังแห่งอนาคต...ที่คุณมั่นใจ” ได้ส่งแรงสะเทือนไปยังค่ายรถยนต์ในไทยไม่น้อยทีเดียว
แม้จะไม่ใช่เรื่องประหลาดใจนัก เพราะจริงแล้วทั้ง ปตท. และบางจาก ต่างเป็นแนวร่วมสำคัญของภาครัฐในการที่จะผลักดันแก๊สโซฮอล์ อี 85 ให้เกิด เนื่องจาก พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้อี 85 ให้เป็นวาระแห่งชาติ แถมเคยกล่าวไว้เมื่อหลายเดือนมาแล้วว่าจะรีบเปิดตู้จ่ายน้ำมันให้ได้เร็วๆนี้ เพื่อให้สาธารณชนเห็นว่าโครงการอี 85 เกิดแน่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ค่ายรถยนต์ผลิตรถออกมารองรับให้ขับเคลื่อนตลาด และพลังงานทางเลือกใหม่นี้ไปพร้อมๆกัน
เวลาผ่านไปไม่ทันไร ปตท.ก็กระเด้งสนองนโยบายได้อย่างทันใจ พร้อมกับมีแผนว่าภายใน 3 เดือนข้างหน้า ปตท. จะสามารถขยายสถานีบริการน้ำมันที่มีหัวจ่าย อี 85 ได้จำนวน 15 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีแผนจะเปิดสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่ายแก๊สโซฮอล์ อี 85 ประมาณ 2-3 แห่งในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการเกิดของโครงการอี 85 เร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ทั้งที่ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. และกลุ่มผู้บริหารจากบริษัทในเครือ ร่วมเดินทางไปดูงานการใช้เอธานอล 100% ในรถยนต์ ณ ประเทศบราซิล พร้อมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ทว่า ทางฟากผู้ผลิตรถยนต์กลับไม่ได้มั่นใจในทิศทางการขับเคลื่อนครั้งนี้ ในทางตรงกันข้ามมีคำถามตามมาว่า เหตุใดปตท.จึงเร่งร้อนเปิดตัวอี 85 อย่างรวดเร็ว ทั้งที่ค่ายรถยนต์บ้านเรายังไม่พร้อม จะมีเพียงวอลโว่เท่านั้นที่สามารถใช้น้ำมันประเภทนี้ได้ ที่สำคัญอย่างว่าแต่น้ำมันอี 85 เลย เอาแค่อี 20 ก็ยังมีรถยนต์ใช้น้ำมันประเภทนี้ได้ไม่ครบทุกยี่ห้อ อีกทั้งรัฐยังตระหนักดีว่ากว่าผู้ประกอบการรถยนต์ส่วนใหญ่จะมีความพร้อมผลิตรถยนต์รองรับอี 85 ก็อีก 2 ปีข้างหน้า
ที่สำคัญก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนโครงการอีโคคาร์ ถึงขนาดวางแผนให้เป็นโปรดักส์ แชมเปี้ยนตัวที่สองรองจากรถปิกอัพ ด้วยการให้แรงจูงใจลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งทั่วไปที่กำหนดไว้ 25% เหลือเพียง 17% สำหรับอีโคคาร์ ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์หลายค่ายได้เดินหน้าโครงการนี้กันไปบ้างแล้ว และหากรัฐจะผลักดันรถยนต์ที่ใช้ อี 85 จริงๆก็คงจะต้องปรับแผนการลงทุนใหม่หมด เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้การส่งเสริมการใช้ อี 85 โดยกระทรวงการคลัง ออกมาตรการด้านภาษีดังนี้
1.ยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ อี 85 ที่มีลักษณะเฉพาะและเป็นอุปกรณ์หลักเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน อี 85 และไม่มีการผลิตในประเทศเป็นการชั่วคราว 3 ปี 2.ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อี 85 ลงเหลือร้อยละ 25,30, และ 35 ตามขนาดเครื่องยนต์คือไม่เกิน 2000 ซีซี มากกว่า 2000-25000 ซีซี และมากกว่า 25000-3000 ซีซี ตามลำดับ ซึ่งเท่ากับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อี 20 และ 3.ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน อี 85 เหลือ 2.5795 บาทต่อลิตร จาก 3.6820บาทต่อลิตรในปัจจุบัน
หากพิจาณาจากอัตราภาษีของรถยนต์ทั้ง 2 ประเภทแม้จะต่างกันพอสมควร แต่อย่าลืมว่าการลงทุนในโครงการอีโคคาร์นั้น ผู้ประกอบการต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด เนื่องจากภาครัฐได้กำหนดสเป็กของรถไว้ค่อนข้างละเอียด ไม่ว่าจะเป็น ต้องผลิตรถยนต์ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันไม่ต่ำกว่า 5 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร หรืออัตราสิ้นเปลืองต้องสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อลิตร, เครื่องยนต์ที่กำหนดไว้มี 2 ประเภทคือ เครื่องยนต์เบนซินไม่เกิน 1300 ซีซี และเครื่องยนต์ดีเซล ไม่เกินกว่า 1400 ซีซี. และต้องเป็นเครื่องยนต์ที่ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 4 ขึ้นไป นอกจากนี้ผู้ผลิตจะต้องมีกำลังการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ภายใน 5 ปีหลังเริ่มผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 100,000 คัน เป็นต้น
เรื่องนี้ทำให้บรรดาผู้ประกอบการรถยนต์ร้อนใจเป็นยิ่งนัก ถึงกับบอกว่าการออกนโยบายเช่นนี้อาจส่งผลต่อโครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ที่รัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมไปก่อนหน้านี้
“ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สนับสนุนนโยบายเรื่อง อี 85 แต่เราอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนว่า จะเอาแบบใด เพราะถ้ายังเดินหน้ากับ อี 85 ต่อไป เราก็สามารถผลิตรถออกมาป้อนตลาดได้ ซึ่งทำได้ง่ายกว่าอีโคคาร์เสียอีก เพราะแค่ปรับปรุงชิ้นส่วนบางอย่างเท่านั้น ขณะที่อีโคคาร์ต้องลงทุนทั้งโปรเจ็กต์ และเป็นการทำรถยนต์รุ่นใหม่ในเมืองไทย ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องนี้” เทียรี่ เวียดิว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ให้สัมภาษณ์ไว้กับ ประชาชาติธุรกิจ ฉบับจันทร์ที่ 11 – พุธที่ 13 สิงหาคม 2551
อย่างไรก็ตาม หากติดตามนโยบายเรื่องพลังงานของปตท. ในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าเพียงแค่เวลาปีกว่า ปตท.ได้ประชาสัมพันธ์เปิดตัวพลังงานใหม่ๆ ของตนออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น แก๊สโซฮอล์ 91 , อี 10, บี 5, NGV แต่ทั้งหลายทั้งปวงปรากฏว่าเป็นการใช้เงินที่ค่อนข้างสูญเปล่า และเหมือนกับไม่มีเป้าหมาย เพราะขณะที่ ปตท. ทุ่มเงินจำนวนมากในการโฆษณาผ่านสื่อชักชวนให้คนมาใช้พลังงานใหม่ๆ แต่กลับไม่มีการขยายช่องทางให้บริการพลังงานเหล่านั้นเพิ่มขึ้นเลย ขณะที่คนในปตท. ยังออกอาการ “งง” ด้วยเช่นกัน ถึงกับบอกว่า “ตอนนี้ตกอยู่ในสภาพจัดหัวจ่ายแทบไม่ถูก”
การเร่งรีบของทั้ง ปตท. และรัฐบาลในการปลุกปั้น อี 85 ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว คงจะมองเป็นอื่นไปไม่ได้เลยว่า งานนี้เป็นการทำเพื่อเอื้อต่อกลุ่มทุนการเมือง ดังที่ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว กล่าวคือ แม้ว่าภาพของอี 85 ดูเหมือนจะเป็นการช่วยชาวไร่มันสำปะหลังและอ้อยที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเอทานอลให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ เนื่องจาก แก๊สโซฮอล์ เป็นการนำเอทานอลมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ยิ่งตัวเลขตามหลัง “E” มากขึ้นเท่าไร สัดส่วนการใช้เอทานอลก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
แต่จริงๆแล้วผู้ที่กำเม็ดเงินอันมหาศาลของการใช้เอทานอลที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหาใช่ชาวไร่ ชาวนา แต่เป็นนายทุนเจ้าของโรงงานผลิตเอทานอลที่เป็นกลุ่มทุนการเมือง และนักธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น
|
|
 |
|
|