ดีแทคโชว์ศักยภาพเครือข่ายความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศ จับมือช่อง 3 ส่งภาพนิ่งพร้อมข่าวผ่านระบบ
MMS ของดีแทค ผนึกเทคโนโลยีไร้สายกับการแพร่ภาพกระจายเสียง ก่อนพัฒนาไปสู่ภาพเคลื่อนไหวหรือวิดีโอ
คลิป สร้างแต้มต่อในการแข่งขันการรายงานข่าวทีวีที่ได้ภาพเร็วกว่าเทคโนโลยีอื่นด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า
นายปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจบริการเสริม บริษัทโทเทิ่ลแอ็คเซ็ส
คอมมูนิเคชั่นหรือดีแทคกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างดีแทคกับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง
3 ว่าดีแทคมอบโทรศัพท์มือถือโนเกีย รุ่น 3650 จำนวน 20 เครื่องโดย 18 เครื่องให้ช่อง
3 นำไปใช้ในงานข่าวด้วยการส่งข่าวผ่านระบบ MMS (Multimedia Messaging Service)
เนื่องจากดีแทคเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายเดียวที่มีเครือข่ายความเร็วสูง
GPRS ครอบคลุมทั่วประเทศ อีก 2 เครื่องให้บีอีซีไอ คอร์ปอเรชั่นนำไปใช้ในการพัฒนาบริการเสริมต่างๆ
"ดีแทคให้ทดลองใช้ 3 เดือน หลังจากนั้นจะมาคุยกันอีกครั้งถึงการคิดค่าบริการ"
ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นขั้นแรกของการประยุกต์ใช้งาน MMS ระหว่างดีแทคที่มีเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายกับช่อง
3 ที่มีความชำนาญด้านการแพร่ภาพกระจายเสียง คุณประโยชน์เด่นๆ ของการรายงานข่าวผ่าน
MMS คือการส่งภาพนิ่งที่ภายหลังจากการปรับแต่งของช่อง 3 แล้วมีคุณภาพที่ดีเพียงพอในการนำขึ้นจอทีวีเพื่อแพร่ภาพ
ขั้นต่อไปของการพัฒนาความร่วมมือไม่ได้หยุดแค่ภาพนิ่ง แต่จะเป็นภาพเคลื่อนไหวหรือวิดีโอสั้นๆ
10 กว่าวินาทีซึ่งจะทำให้การรายงานข่าวได้ทันใจรวดเร็วและเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ซึ่งเป็นการเปิดตลาดบริการเสริมลูกค้ากลุ่มองค์กรของดีแทค ด้วยเทคโนโลยี MMS ปัจจุบันมีคนใช้บริการมากถึง
6-7,000 ข้อความต่อวัน ซึ่งค่าบริการข้อความละ 10 บาท "ดีแทคมุ่งเน้นด้านนวตกรรมใหม่ๆ
บริการนี้เป็นการนำเทคโนโลยีไร้สายกับบรอดคาสติ้งมาบรรจบกัน"
ด้านนายสำราญ ฉัตรโท หัวหน้ากองบรรณาธิการ ฝ่ายข่าวช่อง 3 กล่าวว่า การรายงานข่าวผ่านระบบ
MMS โทรศัพท์มือถือนั้นถือเป็นการเสริมงานข่าวจากเทคโนโลยีปัจจุบันที่ใช้ไมโครเวฟ
ระบบดาวเทียม รวมทั้งเคเบิลใยแก้ว ซึ่งช่อง 3 ใช้เป็นระบบสื่อสัญญาณหลัก ซึ่งเทคโนโลยีเดิมยัง
มีความล่าช้าอยู่บ้างอย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการแข่งขันของสื่อทีวี
ซึ่ง ภาพถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขัน "ในวงการข่าวทีวี ใครส่งภาพได้เร็วกว่าถือเป็นผู้ชนะ"
โทรศัพท์มือถือ 18 เครื่องในช่วงแรกจะถูกนำ ไปใช้ในต่างจังหวัดเป็นหลักโดยกระจายไปยัง
8 ศูนย์ ข่าวทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี
สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ ยะลา ซึ่งเป็นการช่วยทีมงานในการรายงานข่าวจากสถานที่เกิดเหตุเข้าสู่ศูนย์ข่าวของกรุงเทพฯได้ทันที
โดยการรับส่งภาพข่าวและเสียงจากโทรศัพท์มือถือด้วยระบบ MMS จะใช้เวลาเพียงไม่เกิน
5 นาที ซึ่งส่วนงานที่จะนำมาใช้ช่วงแรกได้แก่ทีมข่าวอาชญากรรม ทีมข่าวการเมือง
ทีมข่าวเศรษฐกิจและทีมข่าวเฉพาะกิจ "ถึงแม้เป็นภาพนิ่งแต่อรรถรสการรับชมไม่ต่างจากภาพเคลื่อนไหว"
ด้านนายโชคศิริ รอดบุญพา กรรมการผู้จัดการบริษัท บีอีซีไอ คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการคอนเทนต์สาระและบันเทิงผ่านสื่อดิจิตอลกล่าวว่าปัจจุบันบีอีซีไอ
ให้บริการข่าวแก่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในลักษณะการส่งข้อความ (SMS News Alert) ดังนั้นในความร่วมมือกับดีแทคในการนำระบบ
MMS มาใช้ในกิจการข่าวของช่อง 3 ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการที่มีโทรศัพท์มือถือรองรับระบบ
MMS สามารถสมัครเป็นสมาชิกกับบีอีซีไอ เพื่อรับบริการภาพข่าวพร้อมเสียง (MMS News
Alert) ดังกล่าวได้เช่นกัน