|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
นักการเงินชี้อันตรายรัฐบาลส่งคนคุมแบงก์ชาติ เหตุภาพเศรษฐกิจถูกอำพราง นักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจขายหุ้นต่อเนื่องกว่า 9 หมื่นล้าน ลดความเสี่ยง หวั่นบริหารเงินลูกค้าเสียหาย ขณะที่รัฐบาลยังเมินเสียงท้วงติง เตือนหากยังดื้ออาจขายทุกราคา
ในที่สุดทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีที่ประกอบด้วย วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ปรเมธี วิมลศิริ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เว้นแต่มนู เลียวไพโรจน์ ที่ได้มีการถอนตัวไป
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะตำแหน่งประธานที่ทีมปรึกษาที่เป็นประธานในองค์กรเอกชนหลายแห่ง แต่รัฐบาลชุดนี้ยังคงเดินหน้าต่อ
อีกทั้งทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายก 4 คน ที่ได้รับความไว้วางใจจากสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเรียกใช้บริการคือ คณิศ แสงสุพรรณ นอกจากจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ยังได้รับเลือกให้อยู่ในทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกอีกตำแหน่ง
หากนับรวมคนที่มาจากสายกระทรวงการคลังที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยที่แต่งตั้งไปเมื่อ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีทั้งพรชัย นุชสุวรรณ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และอดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงกรรมการอีก 5 คน ประกอบด้วย จรุง หนูขวัญ คณิศ แสงสุพรรณ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ และชัยเกษม นิติสิริ
แม้ว่าตัวเจ้ากระทรวงการคลัง รวมถึงประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยบางคนจะยังติดคดีหวยบนดิน เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมไม่เป็นปัญหาหากเป็นคนในรัฐบาลนี้
เมื่อทุกอย่างบรรลุเป้าหมายจากนี้ไปองค์กรที่แข็งข้อต่อรัฐบาลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย คงไม่สามารถดื้อดึงต่อแนวทางของรัฐบาลอีกต่อไป
โควตาแบงก์ชาติได้แค่ “จรุง”
แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามาเป็นกรรมการในแบงก์ชาตินั้น ฝ่ายของแบงก์ชาติเสนอรายชื่อได้เท่ากับรายชื่อที่กระทรวงการคลังเสนอมา แต่สุดท้ายต้องไปขึ้นอยู่กับคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งเป็นคนที่มาจากกระทรวงการคลังแต่งตั้ง 5 คนที่เลือกมาเป็นคนของแบงก์ชาติคนเดียวคือจรุง หนูขวัญ อดีตรองผู้ว่าการ ที่เหลือเป็นคนของคลัง
“เสียงของแบงก์ชาติมี 5 คลังมี 7 เมื่อไหร่ก็แพ้วันยังค่ำ อีกทั้งคนในบอร์ดแบงก์ชาติชุดใหม่อย่างคุณคณิศ แสงสุพรรณ ยังกลับไปเป็นทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกอีก โดยมีดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของแบงก์ชาติมาโดยตลอดนั้น ลองคิดดูว่าอีกไม่ช้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในแบงก์ชาติบ้าง โดยเฉพาะตำแหน่งผู้ว่าการฯ”
การแต่งตั้งบุคคลที่มาจากสายกระทรวงการคลังล้วนแล้วแต่มีข้อกังขามากมาย ถามว่าข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ที่ประชุมในแบงก์ชาติจะไม่ไหลไปสู่กระทรวงการคลังเลยหรือ รัฐมนตรีคลังก็คิดคดีหวยบนดินโดยมารยาทต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงอีกหลายคนที่เข้ามาเป็นบอร์ดก็ถูกคดีเดียวกัน หากเกิดความเสียหายขึ้นมาภายหลังการแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกนั้นจะแก้ปัญหาอะไรได้
อีกทั้งที่ผ่านมาแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลัง มองกันคนละมุมและหลายเรื่องที่คลังกับแบงก์ชาติเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะการควบคุมเงินเฟ้อด้วยดอกเบี้ยที่อีกไม่ช้าคณะกรรมการนโยบายการเงินก็จะครบวาระในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ แน่นอนว่าบอร์ดชุดใหม่ 7 คนจะมีคนของแบงก์ชาติอยู่ 3 คน อีก 4 คนเป็นอำนาจของบอร์ดแบงก์ชาติชุดใหญ่ที่จะเลือกเข้ามา จากนี้ไปการส่งสัญญาณดอกเบี้ยนโยบายคงอยู่ภายใต้การชี้นำของกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขายหุ้นไทยธนาคารและบอร์ดธนาคารนครหลวงไทยที่ยังค้างคาอยู่ ย่อมเป็นไปตามความต้องการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ปัญหานี้เป็นเรื่องของกฎหมายที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังเข้ามามีบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยมากเป็นพิเศษ หากต้องการให้แบงก์ชาติเป็นองค์กรอิสระ ที่ไม่ถูกภาคการเมืองลากไปสนองนโยบายจนอาจเกิดความเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจ อาจต้องมีการทบทวนกฎหมายกันใหม่
รอหม่อมอุ๋ยช่วย
แหล่งข่าวจากวงการธนาคารกล่าวว่า เมื่อโครงสร้างบอร์ดของแบงก์ชาติออกมาในลักษณะนี้ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่มีทั้งทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจมาใหม่ เชื่อว่าอีกไม่นาน ม.ร.ว.ปรีดิยาทร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คงต้องออกมาเดินเครื่องปกป้องแบงก์ชาติแน่ เห็นได้จากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ที่หม่อมอุ๋ยยืนข้างแบงก์ชาติเต็มตัวแม้จะต้องเห็นต่างจากดร.โกร่งที่เป็นเพื่อนรักกันก็ตาม เพราะที่ผ่านมาผู้ว่าการฯ คนปัจจุบันได้ทำงานร่วมกันหม่อมอุ๋ยมาตลอด
หลายนโยบายที่ผู้ว่าการฯ คนปัจจุบันทำอยู่ส่วนใหญ่เป็นแนวทางต่อเนื่องมาจากเมื่อครั้งหม่อมอุ๋ยเป็นผู้ว่าการฯ
ตอนนี้ต้องรอการตีความจากกฤษฎีกาว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีหวยบนดินนั้นจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ทั้งรัฐมนตรีคลังและกรรมการในแบงก์ชาติจำนวนหนึ่งก็ต้องหยุด แต่ถ้าทำหน้าที่ต่อไปได้ คลังก็จะมีบทบาทเหนือคนในแบงก์ชาติ รวมถึงการเดินเรื่องของพรรคฝ่ายค้านในเรื่องคุณสมบัติของคณะกรรมการคัดเลือกว่าจะขัดต่อพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับใหม่หรือไม่
อย่างไรก็ตามการตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่อย่าง สุชาติ ธาดาธำรงเวช ถือเป็นอีกหนึ่งในการเตรียมการหากสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสุชาติและสุรพงษ์เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลา ทำงานร่วมกับขุนคลังมาตลอด
“นิพันธ”เดินเครื่องลุยแบงก์ชาติ
แหล่งข่าวในวงการเงินกล่าวว่า การเดินเครื่องคุมแบงก์ชาตินี้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคงจะเป็นนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง แม้จะไม่เปิดตัวมากนักในรัฐบาลของไทยรักไทยเดิม แต่ผลงานค่อนข้างโดดเด่น โดยเฉพาะเรื่องกองทุนรวมวายุภักษ์ ที่ผ่านมานิพันธถูกสกัดจากแบงก์ชาติหลังจากที่คลังจะเสนอชื่อของเขาเป็นประธานกรรมการในธนาคารนครหลวงไทย
จากนั้นการเดินเครื่องอัดแบงก์ชาติในเรื่องการเพิ่มทุนไทยธนาคารที่สร้างความเสียหายถูกหยิบยกขึ้นมาต่อสาธารณะ แม้การขอให้คลังขยายเพดานการถือหุ้นของต่างชาติเกิน 49% เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการตอบรับ
คนที่มาจากสายคลังที่เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดแบงก์ชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นคนใกล้ตัวของทีมที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังทั้งสิ้น ดังนั้นการเคลียร์เส้นทางที่เคยเป็นอุปสรรคในอดีตต่อจากนี้ไปคงราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ปัญหาการแต่งตั้งบอร์ดของธนาคารพาณิชย์ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นใหญ่ หรือแม้แต่คดีต่าง ๆ ที่แบงก์ชาติยืนกระต่ายขาเดียวในธนาคารกรุงไทย รวมถึงแนวคิดเรื่องการนำเอาทุนสำรองทางการที่มีมากนำออกมาตั้งกองทุน
แรงบีบในแบงก์ชาติต้องขึ้นอยู่กับความอดทนของธาริษา วัฒนเกส ว่าจะรับได้มากน้อยเพียงใด หากต้องจำทนก็ต้องโอนอ่อนผ่อนตามนโยบายของรัฐบาล แต่ถ้าทนไม่ได้ก็ต้องลาออก ซึ่งคนที่จะเข้ามารับหน้าที่ต่อธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) อดีตรองผู้ว่าแบงก์ชาติพร้อมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามในธรรมเนียมปฏิบัติของแบงก์ชาติ หากการเมืองเข้ามาแทรกแซงมาก ผู้ว่าการฯ มักเลือกที่จะลาออกเพื่อเป็นการประท้วงและฟ้องต่อสาธารณะว่าเกิดอะไรขึ้น
ต่างชาติเผ่น
สิ่งที่เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งบอร์ดแบงก์ชาตินี้ รัฐบาลเดินหน้าท่ามกลางเสียงคัดค้านถึงความไม่เหมาะสมของตัวบุคคลที่เข้าไปรับตำแหน่ง แม้จะเป็นความสำเร็จในฝ่ายของรัฐบาลที่จะทำให้นโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนับจากนี้ไปเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล แต่ในอีกด้านหนึ่งความสำเร็จดังกล่าวกลับกลายเป็นภาพลบในสายตาของนักลงทุน
ผู้บริหารสถาบันการเงินรายหนึ่งกล่าวว่า เมื่อมองถึงบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้วถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 9 หมื่นล้านบาทแล้ว แม้หลายฝ่ายจะออกมาบอกว่าเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ตรงนี้จริงเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
แต่ความจริงอีกส่วนหนึ่งไม่มีการพูดถึงนั่นคือ สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในเวลานี้ นั่นคือเรื่องของธรรมาภิบาล การจัดคนเข้าไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์หรือแม้แต่ที่แบงก์ชาติถือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ
“อย่าลืมว่าประเทศต่าง ๆ มักจะยกให้ธนาคารกลางเป็นองค์กรอิสระจากรัฐบาล ตรงนี้จะส่งผลบวกต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่ช่วยลดความสุ่มเสี่ยงจากการบริหารประเทศของแต่ละรัฐบาล ซึ่งจะย้อนกับมาที่ราคาหุ้นของแต่ละบริษัทในท้ายที่สุด”
เมื่อรัฐบาลเข้าไปควบคุมทั้งตลาดหลักทรัพย์และแบงก์ชาติแล้ว ภาพการลงทุนทั้งหมดจะไม่สะท้อนความเป็นจริง ทำให้การบริหารความเสี่ยงของผู้จัดการกองทุนทำได้ลำบาก ส่งผลลบต่อการตัดสินใจว่าควรจะลงทุนเพิ่มหรือลดการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา สุดท้ายความเสี่ยงจะตกอยู่กับคนบริหาร ซึ่งเม็ดเงินส่วนใหญ่มาจากกองทุนในประเทศต่าง ๆ
หากภาพใหญ่ของประเทศถูกอำพราง ไม่สามารถสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงได้แล้ว โอกาสที่บริหารเงินแล้วขาดทุนจึงมีความเป็นไปได้สูง และจะส่งต่อไปถึงความน่าเชื่อถือของกองทุนในประเทศนั้น ๆ ก็จะหมดไป
“ที่ผ่านมาหุ้นพื้นฐานดีอย่าง PTT จากระดับ 400 กว่าบาท ไหลลงมาที่ระดับ 300 ก็ถือว่าถูกแล้ว แต่ยังไหลลงไปต่ำกว่า 240 บาทก็มี หุ้น BANPU จาก 500 บาทเหลือแค่ 370 บาทเป็นต้นหรือปูนใหญ่อย่าง SCC ไหลต่ำกว่า 170 บาทเข้าไปแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศที่พร้อมจะขายออกในทุกระดับราคา”
วันนี้คนที่เข้าไปรับของต่อจากฝรั่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยทั้งนั้นที่เข้าไปซื้อกว่า 7 หมื่นล้านบาท รับของต่อจากฝรั่งแล้วราคายังไหลลงต่อเนื่อง แน่นอนว่าพอร์ตลงทุนของรายย่อยเกือบทุกรายจะขาดทุน หากปล่อยให้ภาพรวมของประเทศเป็นอย่างนี้ต่อไป ไม่รู้ว่าหุ้น PTT ที่ราคา 200 บาทอาจแพงไปในสายตาของนักลงทุนต่างชาติก็เป็นได้
|
|
 |
|
|