Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน11 สิงหาคม 2551
ฉะปตท.ผูกขาดสูบกำไรก๊าซ จี้รัฐเลิกลดสรรพสามิตน้ำมัน             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

   
search resources

ปตท., บมจ.
Oil and gas




เวที ‘ปตท.ตอบคำถามที่สาธารณะอยากรู้’ ระอุ ผู้บริหารปตท. จับมือโบรกเกอร์รุมถล่มตัวแทนองค์กรผู้บริโภคยับ กล่าวหามั่วข้อมูล อ้างบุญคุณสร้างธุรกิจพลังงานของชาติจนแข็งแกร่งกลับเจอข้อหาปล้นชาติ ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสวนหมัดสูบกำไรจากการใช้อำนาจผูกขาดธุรกิจก๊าซฯ ยันราคาน้ำมันยังลดได้อีก ส่วนก๊าซฯไม่ขาดแคลน อย่ามาอ้างว่าอุดหนุนราคา นักวิชาการแนะรัฐทบทวนมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันหลังราคาตลาดโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ชี้ราคาน้ำมันดิบโลกคงไม่ต่ำกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรล

วานนี้ (10 ส.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดงานราชดำเนินเสวนาครั้งที่ 8/2551 เรื่อง “10 คำถามที่สาธารณะอยากรู้จาก ปตท.?” โดยมีวิทยากร คือ นายสรัญ รังคสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บมจ.ปตท., นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บมจ.หลักทรัพย์ภัทร ที่ปรึกษาของปตท.ในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ , นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บก.นิตยสารสารคดี เป็นผู้ดำเนินรายการ

สำหรับเนื้อหาคำถาม 10 คำถาม จะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องกำไรของปตท.มาจากไหน, สูตรการคิดราคาน้ำมันทำไมต้องอิงราคาสิงคโปร์, ทำไมปตท.ถึงขายก๊าซฯให้บริษัทลูกในราคาถูกแต่ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ในราคาแพง, การขาดแคลนก๊าซแอลพีจีจริงหรือไม่, การส่งมอบทรัพย์สินของปตท.ตามคำสั่งศาล, การซื้อคืนปตท. ฯลฯ

บรรยากาศการเสวนาช่วงแรก ตัวแทนจาก ปตท. และบมจ.หลักทรัพย์ภัทร ได้กล่าวถึงคุณูปการของปตท.ต่อแผ่นดิน การสร้างองค์กรปตท.และเครือข่ายธุรกิจพลังงานทั้งโรงกลั่น ปิโตรเคมี จนแข็งแกร่ง มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างชาติ จากที่ตกอยู่ในสภาพเกือบล้มละลาย เช่น การเข้าไปฟื้นฟูโรงกลั่นไทยออยล์ บางจาก อีกทั้งยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน การแปรรูป ปตท. โดยนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังช่วยกระตุ้นให้ตลาดฯที่ซบเซาเพราะพิษเศรษฐกิจกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง แต่เวลานี้กลับถูกตั้งข้อหาว่าปล้นชาติ

ผู้บริหาร ปตท. ยืนยันว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นในปตท.ในปัจจุบัน ยังถือว่า ปตท. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 51%

การอ้างถึงสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของ ปตท. ถูกตอบโต้จากตัวแทนองค์กรผู้บริโภค ทันทีว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า ปตท.ไม่ใช่องคาพยพของรัฐ และการออกพ.ร.ก.กำหนดสิทธิประโยชน์ฯ หรือกฎหมายที่รองรับการแปรรูป ปตท. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่ปตท.อยู่ในตลาดฯ มานาน หากเพิกถอนจะเกิดความเสียหาย จึงพิพากษาให้แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากจากปตท.

การเสวนาเริ่มร้อนระอุตั้งแต่เปิดประเด็นแรกเรื่องกำไรของปตท.มาจากไหน ผู้บริหารของ ปตท. และบมจ.หลักทรัพย์ภัทร ได้แสดงสีหน้าท่าทีดูแคลนและโต้แย้งข้อมูลของผู้แทนองค์กรผู้บริโภคว่า ไม่รู้เอาข้อมูลมาจากไหน กำไรเป็นแสนล้านสองแสนล้าน เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

นายสรัญ ชี้แจงว่า ยอดขายของปตท. ปี 2550 ตกประมาณ 1.55 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 97,803 ล้านบาท หรือคิดกำไรต่อยอดขาย เพียง 6.5% เท่านั้น เม็ดเงินกำไรที่ได้มาต้องนำไปลงทุนใหม่เพื่อสู้กับต่างชาติ ซึ่งการลงทุนของปตท. คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“หรือจะให้ต่างชาติเข้ามาครองเหมือนที่ผ่านมา หรืออยากให้เป็นเช่นนั้น ถ้าปตท.ไม่ทำ ใครจะทำ” นายสรัญ กล่าว

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ ปตท. อธิบายถึงที่มาที่ไปของกำไร ปตท.ว่า มาจากหลายธุรกิจในเครือ โดยกำไรส่วนที่ 1 มาจากการทำธุรกิจโดยตรง 35,517 ล้านบาท คิดเป็น 36% ของกำไรสุทธิ, กำไรจากการขายหุ้นบริษัทในเครือ 4,859 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของกำไรสุทธิ และส่วนที่ 2 กำไรจากบริษัทที่ปตท.ไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ ทั้งสำรวจและผลิต โรงกลั่น และปิโตรเคมี 57,427 ล้านบาท คิดเป็น 59% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น และได้รับเงินปันผลเพียง 19,000 ล้านบาท

ขณะที่ นางสาวสารี ชี้ว่า กำไรเกือบแสนล้านของปตท. มาจากการผูกขาดการทำกำไรจากก๊าซฯ เป็นหลัก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่มีองค์กรใดเข้ามาตรวจสอบดูแลโดยตรง กรรมการนโยบายและกรรมการบริหารในกิจการพลังงาน จำนวนไม่น้อยมีผลประโยชน์ทับซ้อน สวมหมวกหลายใบ คือเป็นทั้งบอร์ดปตท. และผู้กำกับดูแล จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณะได้อย่างไร

เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า เวลานี้ ปตท.เป็นคนกลางผูกขาดการซื้อก๊าซจากผู้รับสัมปทานและผูกขาดการจำหน่ายก๊าซฯ ให้ผู้ใช้ก๊าซฯโดยบวกค่าหัวคิว และยังเลือกปฏิบัติขายก๊าซให้โรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท. ในราคาไม่รวมค่าผ่านท่อประมาณ 150 บาท ซึ่งราคาถูกกว่าที่ขายให้ กฟผ. ในราคา 180 บาท

นอกจากนั้น รายได้จากค่าสัมปทานขุดเจาะก๊าซฯความจริงแล้วประเทศชาติน่าจะได้ส่วนแบ่งมากกว่านี้ ผลตอบแทนที่เป็นอยู่ไม่ได้สะท้อนผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ของรัฐ ซ้ำยังมีการขยายเวลาสัมปทานออกไปโดยที่ยังไม่หมดอายุอีกด้วย

ขณะที่นายสรัญ ไม่ได้ตอบคำถามการซื้อขายก๊าซของโรงแยกก๊าซปตท.และกฟผ.ที่มีราคาแตกต่างกัน แต่ให้ข้อมูลว่า ราคาก๊าซที่ปตท.ขายให้กฟผ.ดูแลโดยแรคกูเลเตอร์ (คณะกรรมการกำกับฯ) ซึ่งสัดส่วน 90% เป็นราคาเนื้อก๊าซที่ปตท.ส่งผ่านจากผู้ได้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซฯ ไปยัง กฟผ. โดยมีการเกลี่ยราคาจากแหล่งต่างๆ ที่แตกต่างกันให้ออกมาเป็นค่าเฉลี่ย อีกประมาณ 10% คือ ค่าผ่านท่อ ส่วนปตท.ได้แต่ค่าดำเนินการประมาณ 1% เท่านั้น

ส่วนสูตรการจ่ายค่าสัมปทานที่ผู้รับสัมปทานทำกับรัฐฯ ในแต่ละแห่งก็จะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลที่ดูความยากง่ายในการลงทุนขุดเจาะในหลุมก๊าซฯนั้นๆ

สำหรับประเด็นการขาดแคลนก๊าซฯแอลพีจี ตัวแทนองค์กรผู้บริโภค กล่าวย้ำว่า ปตท.ไม่ได้อุดหนุนราคาก๊าซฯ และปริมาณการใช้ก๊าซฯ กับที่ผลิตได้มีเพียงพอ

ผู้บริหารปตท. ยอมรับว่า ปริมาณการผลิตมีมากกว่าการใช้จริง แต่ว่านับจากเดือนเม.ย. ปีนี้เป็นต้นมาเริ่มตึงตัว และมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจนถึงบัดนี้แล้วประมาณ 130,000 ตัน คาดว่าสิ้นปีนี้คงถึงประมาณ 500,000 ตัน และปีหน้าอาจจะถึงล้านตัน ซึ่งราคาในตลาดโลก 900 กว่าเหรียญสหรัฐฯ ในประเทศประมาณ 300 กว่าเหรียญฯ ส่วนต่างตันละ 600 กว่าเหรียญฯ รัฐบาลให้ปตท.ต้องแบกรับไปก่อนแล้วจะค่อยหาทางชดใช้ในภายหลัง

ส่วนที่มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยเขียนบทความจับเท็จ ปตท.ว่า ไม่ได้นำเข้าก๊าซแอลพีจี โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรนั้น ผู้บริหารปตท. ชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่ไม่อัพเดท และดูจากเว็บไซต์ เท่านั้น พร้อมยืนยันว่า มีการนำเข้ามาจริง ทางกระทรวงพลังงาน ได้ทำจดหมายมาขอบคุณปตท.ด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องราคาน้ำมันที่อิงราคาสิงคโปร์นั้น นางสาวสารี กล่าวว่า เป็นการคิดที่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง และยืนยันว่าราคาน้ำมันยังลดได้อีกลิตรละ 5 บาท ซึ่งทางปตท.และหลักทรัพย์ภัทร ยอมรับว่าราคาน้ำมันไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่เห็นว่าการกำหนดราคาน้ำมัน ควรอิงกลไกตลาดโลก

ในตอนท้ายของการเสวนา ปตท. ระบุว่า ได้จัดทำรายการทรัพย์สินที่ต้องคืนรัฐตามคำสั่งศาลฯ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เรียบร้อยทั้งหมดแต่ได้รายงานต่อศาลทุกเดือน ซึ่งประเด็นนี้ ทางองค์กรผู้บริโภค ยังจะติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเนื่องจากทรัพย์สินที่ปตท.คืนให้แก่รัฐนั้น ตกประมาณ 1.6 หมื่นล้านเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผิดไปจากประมาณการภายหลังศาลมีคำสั่งอย่างมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเสวนาครั้งนี้ ปตท.และบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ได้อาศัยความได้เปรียบในด้านข้อมูลที่ตนเองยึดกุมอยู่และใช้ท่าทีรุกไล่ให้ตัวแทนผู้บริโภคซึ่งไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานเทียบเท่ากับปตท. แต่ทำหน้าที่ตั้งคำถาม ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคให้จนมุมและทำให้ดูเหมือนว่าข้อมูลที่องค์กรผู้บริโภคนำมาแสดงไม่มีความน่าเชื่อถือ ขณะที่ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ หากไม่นับนักข่าวที่มาทำข่าวแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นทีมของปตท.และหลักทรัพย์ภัทร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงตอนท้ายของการเสวนา นายบรรยง ได้ปรับท่าทีและยินดีที่จะให้มีการเปิดเวทีในลักษณะนี้อีก ถือเป็นการแลกเปลี่ยนและทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ขณะที่นายสรัญ ได้ปรับท่าทีใหม่หลังการยื่นโน๊ตจากทีมงานปตท. ที่ขอให้ใจเย็นๆ

ส่วนบทบาทของนักวิชาการอิสระ ในเวทีนี้ ทำได้เพียงตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือขององค์กรกำกับดูแลว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหนในขณะที่ต้องสวมหมวกหลายใบ

ทีมงานของสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งจัดงานนี้ ยอมรับว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เวทีเสวนามีการตอบโต้กันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับจากการจัดเวทีเสวนาเป็นครั้งที่ 8 (ติดตามข้อมูลที่ตัวแทนปตท.และองค์กรผู้บริโภค นำเสนอในงานเสวนาได้ในเว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวฯ)

แนะรัฐทบทวนลดภาษีสรรพสามิต

นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน เปิดเผยว่า ภาครัฐควรพิจารณาทบทวนมาตรการการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่รัฐบาลได้ประกาศลดไปและมีผลตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมาโดย แก๊สโซฮอล์ 95 จำนวน 3.88 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 ลด 3.83 บาทต่อลิตร ดีเซลลด 2.71 บาทต่อลิตรและบี 5 ลด 2.47 บาทต่อลิตร ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าราคาน้ำมันตลาดโลกได้ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติแล้วการสนับสนุนการใช้น้ำมันที่ถูกกว่าความเป็นจริงอาจเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนไม่เกิดการประหยัด และอาจมีผลกระทบต่อนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV เป็นต้น

“ จะเห็นว่ารถในกรุงเทพฯเริ่มติดแล้วพอน้ำมันลงแรงๆ รัฐต้องดูให้ดีว่ามันคุ้มหรือไม่ เข้าใจว่าที่ผ่านมาน้ำมันแพงมากเฉลี่ย 40 กว่าบาทต่อลิตรก็ไม่มีใครคาดคิดว่าน้ำมันจะลดลงแรงเช่นนี้แต่เมื่อลดแล้วก็ไม่เห็นจะเสียหายที่จะทบทวนเพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ภาษีสรรพสามิตที่ลดไปถือว่าค่อนข้างมากเกินไปรัฐน่าจะมองรายได้ของรัฐที่หายไปกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพราะหากไปส่งเสริมให้ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร”นายเทียนไชยกล่าว

ทั้งนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างมากถือว่าได้เข้าสู่ภาวะปกติระหว่างความต้องการ(ดีมานด์)และการผลิต(ซัพพลาย) เนื่องจากก่อนหน้านั้นซัพพลายตึงตัวซึ่งมีปัจจัยจากดีมานด์ที่เพิ่มผิดปกติจากความต้องการสต็อกน้ำมันของจีนเพื่อสำรองใช้ในกีฬาโอลิมปิค รวมไปถึงฤดูเฮอร์ริเคนที่รุนแรง ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศเหล่านี้เป็นแรงกดดันที่ทำให้การเก็งกำไรจากเฮดจ์ฟันด์ทำได้ง่ายขึ้นจึงดันให้ราคาน้ำมันพุ่งผิดปกติ

ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าความต้องการจากจีนจะชะลอตัวหลังกีฬาโอลิมปิก นอกจากนี้ตัวเลขรายการการบริโภคน้ำมันของสหรัฐฯก็ได้ปรับตัวลดลงจากผลของราคาที่แพง ทิศทางน้ำมันจึงอ่อนตัวอย่างมากโดยดูจากการซื้อขายดีเซลล่วงหน้าที่ราคาลดลงพอสมควร ประกอบกับฤดูเฮอร์ริเคนไม่รุนแรงในปีนี้จึงไม่มีแรงกดดันต่อซัพพลายเช่นอดีตทำให้ไม่มีปัจจัยหนุนให้เฮดจ์ฟันด์เข้ามาเก็งกำไรได้ง่ายและเมื่อเข้าสู่ฤดุหนาวปีนี้ราคาอาจจะกลับมาขึ้นบ้างแต่ก็เป็นการขึ้นที่เป็นปกติของช่วงสิ้นปีที่หลายประเทศจะสต็อกไว้ในช่วงฤดูหนาวเพื่อทำความอบอุ่น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us