คลังให้ประชัยร่วมบริหารทีพีไอเพียงในนาม ไร้อำนาจจัดการ ขณะที่ขุนคลังยอมรับ
อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่คนนี้รู้เรื่องบริษัทดีที่สุด ขณะที่เจ้าตัวยอมรับสภาพหลังคุยกับคลังวานนี้
ขณะที่ ทีพีไอยอมสูญรายได้ 100-200 ล้าน เพื่อปิดโรงงานทีพีไอ ระยอง ทั้งหมด ให้พนักงานร่วม
3,500 คน เข้ากรุงเทพฯ แสดงพลังร่วมต้านกฎหมาย 11 ฉบับ
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีคลัง เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)(ทีพีไอ) และฝ่ายลูกหนี้ คือนายประชัย
เลี่ยวไพรัตน์ วานนี้ (8 ก.ค.) ว่าคณะกรรมการผู้บริการแผนฯ ที่กระทรวงการคลังจะเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง
11 ก.ค.นี้ ได้คุยกับลูกหนี้ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ
เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี คณะกรรมการผู้บริหารแผนฯ ชุดใหม่ จะเริ่มดำเนินงานหลังจากมี
คำสั่งศาลล้มละลายกลาง 11 ก.ค.นี้
ประชัยรู้เรื่องทีพีไอดีที่สุด
"ผมยอมรับว่า คุณประชัยเป็นคนที่รู้เรื่องบริษัท ทีพีไอมากที่สุด ดังนั้น
เราก็ย่อมจะต้องขอความช่วยเหลือและความร่วมมือต่างๆ จากคุณประชัยอยู่นั่นเอง ซึ่ง
ตอนนี้ คุณประชัยก็เป็นลูกหนี้ที่ดี แล้วก็คงจะให้ความร่วมมือในการดำเนินงานเป็นอย่างดี"
ร.อ.สุชาติกล่าว
ทางด้าน พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้บริหารแผนฯ
กล่าวว่า การหารือกันวานนี้ คณะกรรมการผู้บริหารแผนฯ ขอความร่วมมือจาก นายประชัย
เรื่องการส่งต่อการทำงานจากผู้บริหารแผนฯ เดิม คือ นายประชัย สู่ผู้บริหารแผนฯ
ชุดใหม่ รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท อาทิ การเงิน การบริหารจัดการบริษัท
เพื่อให้การส่งต่องานคล่องตัวไม่หยุดชะงัก
พล.อ.มงคลกล่าวว่า คณะกรรมการทั้ง 5 คน ที่คลังแต่งตั้ง เพื่อบริหารแผนฯ เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง
ส่วนเรื่องจะให้แต่งตั้งคณะกรรมเพิ่มเติมหรือไม่ ขึ้นกับรัฐมนตรีคลังเท่านั้น
ให้ประชัยร่วมบริหารเพียงในนาม-ไร้อำนาจ
"สำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง CEO (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) นั้น ผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติงานคือคณะกรรมทั้ง
5 คนตามคำสั่งของศาลล้มละลาย ส่วนเรื่องที่คุณประชัยจะเข้ามาบริหารงานนั้น อาจจะเป็นเพียงแต่ในนามเท่านั้น
ซึ่งอาจจะมีตำแหน่งในบริษัท แต่จะไม่มีอำนาจในการบริหารงานในบริษัททีพีไอ"
พล.อ. มงคล กล่าว
ด้านนายประชัย ในฐานะฝ่ายลูกหนี้ กล่าว ว่าการที่เขาจะได้บริหารแผนฯ ต่อไปหรือไม่
ต้องดูข้อกฎหมาย และการบริหารแผนฯ อนาคต เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการผู้บริหารแผนฯ
ชุดใหม่ เขาคงไม่มีสิทธิทำอะไรทั้งสิ้น
นายนิพัทธ พุกกะณะสุต ที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง กล่าวถึงกรณีที่บริษัทเจ้าหนี้ต่างชาติ
คือ IFC และ KfW งดออกเสียงเลือกผู้บริหารแผนฯ ตัวแทนคลัง เนื่องจากเจ้าหนี้ 2
รายนี้ ไม่เห็นชอบคำสั่งศาลล้มละลายกลาง เป็นสิทธิที่จะสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเจ้าหนี้ต่างประเทศยังยืนยันจะร่วมมือการดำเนินงานของทีพีไอ และพอใจที่คลังดูแลการบริหารแผนฯ
ครั้งนี้ เชื่อมั่นว่า คณะกรรมการผู้บริหารแผนฯ ที่คลังแต่งตั้ง จะมีศักยภาพบริหารแผนฯ
ได้แน่นอน
ยอมสูญกว่า 100 ล้านร่วมค้าน กม.ขายชาติ
นางพรรณนิภา เหล่าศิริพจน์ ผู้จัดการแผนกประชาสัมพันธ์ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
จำกัด (มหาชน) (ทีพีไอ) เผย ว่าวันนี้ (9 ก.ต.) ทีพีไอจะปิดบริษัทฯ ทุกแผนก ทั้งส่วนจังหวัดระยอง
สำนักงานใหญ่กรุงเทพ ฯ และที่สระบุรี โดยหยุดดำเนินกิจการทุกอย่าง 1 วัน เนื่องจากพนักงานทีพีไอ
พร้อมใจกันที่จะเดินทางไปลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อร่วมแสดงความจำนงที่จะให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมาย
11 ฉบับ ซึ่งเป็นเสมือนโซ่ตรวนพันธนาการคนไทยทั้งชาติ
ร่วมกับอีกหลายรัฐวิสาหกิจประท้วง
แม้ว่าการปิดโรงงานทีพีไอครั้งนี้ ในส่วนของระยองจะทำให้บริษัทฯสูญเสียรายได้ประมาณ
100-200 ล้านบาท แต่พก็ยอม เพื่อจะได้สิ่งคุ้มกว่าของประเทศชาติกลับคืนมา โดยจะออกเดินทางจากระยองเวลาประมาณ
09.00 น. ของวันนี้ เพื่อร่วมคัดค้านกฎหมายดังกล่าวเวลา ประมาณ 15.00 น.ซึ่งการคัดค้านครั้งนี้
พนักงาน การไฟฟ้านครหลวง การประปา และรัฐวิสาหกิจ อีกหลายแห่งจะร่วมเรียกร้องด้วย
แหล่งข่าวพันธมิตรคัดค้านกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ เผยว่าช่วงปี 2541-2542 รัฐบาลประชาธิปัตย์ออกกฎหมายไม่น้อยกว่า
11 ฉบับ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติ และลูกหลานไทย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มดังนี้
1. กลุ่มกฎหมายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาครอบงำแผ่นดินไทย
เช่น สามารถครอบครองแผ่นดินไทยได้ถึง 100 ปี และซื้อแผ่นดินไทยได้
2.กลุ่มกฎหมาย
พ.ร.บ. การประกอบการธุรกิจคนต่างด้าวที่เปิดทางให้ต่างชาติ และทุนข้ามชาติขนาดใหญ่และขนาดกลาง
เข้ามาแย่งทำลายการหากินของคนไทยในทุกแผนก ตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดต่างๆ ภาคบริการไปจนถึงร้านค้าย่อย
และพ่อค้าแม่ค้าในตลาด
3. กลุ่มกฎหมายล้มละลายและฟื้นฟู ที่ออกมาในลักษณะที่คนไทยนับล้าน ๆ คน ประสบความวิบัติทางเศรษฐกิจเป็นลูกหนี้นับล้านๆ
คน รวมถึงกิจการอุตสาหกรรมภาคบริการ และกิจการค้าเล็กๆ ของคนไทยถูกเจ้าหนี้ธนาคาร
ต่างชาติได้อาศัยกฎหมายที่เจ้าหนี้ได้เปรียบ ลูกหนี้ยึดที่ดิน บ้าน รถ ของลูกหนี้ได้ง่ายขึ้น
4. กลุ่มกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดทางให้ผู้บริหารประเทศและนักการเมืองบางคนแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบเอาสมบัติ
ของคนไทยทั้งชาติออกมาขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อปั่นหุ้นหาเงินเข้ากระเป๋าตนเอง
และพรรคพวก ซึ่งก็จะทำให้ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ สูงขึ้นอย่างมากมาย และในอนาคตข้างหน้าคนในชาติก็จะต้องซื้อน้ำ
ไฟฟ้า โทรศัพท์แพง จากต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้น หรือกลุ่มเศรษฐีไม่กี่ครอบครัว
5. กลุ่มพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2542 ทำให้ฝ่ายรัฐบาลออกเงิน
สมทบที่ต่ำกว่านายจ้าง และลูกจ้าง ถือเป็นการเบียดบังหลักประกันชีวิตของลูกจ้าง
ที่สมควรได้รับจากเงินกองทุน
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า การออกกฎหมายดังกล่าว ถือได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีมาตราใด
ระบุให้ออกกฎหมายให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองแผ่นดิน และอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีใครให้ออกกฎหมายให้ทุนข้ามชาติทำลายการทำมาหากินใหญ่น้อยของคนไทย
ไม่มีมาตราใดมีการออกกฎหมายให้เจ้าหนี้ได้เปรียบลูกหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ตลอดจนไม่มีมาตราใด
ในรัฐธรรมนูญให้เอารัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติออก มาขาย โดยไม่ถามประชาชนทั้งชาติด้วยการทำประชาพิจารณ์และประชามติเสียก่อน
ตามระบบประชาธิปไตย เท่ากับเป็นการปล้นสมบัติของคนไทยและลูกหลานอย่างถูกกฎหมาย
ที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายทั้ง 11 ฉบับมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
แต่ ผู้บริหารประเทศและนักการเมืองบางคนไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะบางฉบับพวกเขาสามารถหาผลประโยชน์อันมิชอบได้
พวกเราไม่อยากให้ต่างชาติครองแผ่นดิน ไม่อยากให้ต่างชาติครอบงำ การค้าและการทำกิน
ไม่อยากให้ใครเอาสมบัติของลูกหลานไทยไปขายในตลาดหลักหุ้นเพื่อปั่นเงินเข้าประเป๋าตนเอง
และคนไทยจะต้องจ่าย เงินค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์แพง พวกเราจึงได้ออกมาเรียกร้อง
และสนับสนุนให้รัฐบาลยกเลิก แก้ไขกฎหมายที่ทำร้ายคนไทยโดยเร็ว