|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
แบงก์ชาติฮึดสู้ ต้านการเมืองคุกคาม รองผู้ว่าฯ ลั่นขอแค่อิสระในการใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน ส่วนที่เหลือพร้อมให้ความร่วมมือกับคลังกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ย้ำยังเน้นดูแลปัจจัยเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ย เชื่อจีดีพีตามเป้า 4.8-5.8% ขณะที่ รมช.คลังมือใหม่นั่งไม่ติด สวนควรคุยในที่ลับ ยันต้องลดดอกเบี้ยปล่อยบาทอ่อนค่า ส่วนประชาธิปัตย์ทำงานอืดกรณีเลี้ยบตั้งบอร์ด ธปท.ผิดกม. ล่าสุดจะยื่น ป.ป.ช.
ในงานสัมมนา "ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ทางเลือก...ทางรอด" จัดโดยคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ที่ รร.เรดิสัน กรุงเทพฯ วานนี้ (7 ส.ค.) นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร้องขอความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน จากกระทรวงการคลังและรัฐบาล โดยชี้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระด้านนโยบายา
"ขณะนี้ปัจจัยภายนอกทั้งราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลก กดดันเศรษฐกิจไทยค่อนมากอยู่แล้ว ทุกฝ่ายไม่ควรจะสร้างปัจจัยซ้ำเติมไปมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นและเรื่องการเมือง" นางอัจนากล่าวและยอมรับว่า ธปท.พร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงการคลังในการการวางแผนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เนื่องจาก ธปท.ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายที่จะมาตั้งนโยบายเศรษฐกิจของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องทิศทางดอกเบี้ยนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่เพราะสามารถเห็นแตกต่างกันได้ แต่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ได้คำนึงถึงเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอยู่แล้วว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งที่ผ่านมาเศรษฐกิจน่าจะรับได้ และถ้าลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ก็ไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องได้อย่างไรหากความเชื่อมั่นไม่มี
"การวัดผลของการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยจะต้องมองในระยะยาว เพราะการตัดสินใจในวันนี้กว่าจะส่งผลก็ต้องใช้เวลา 4-8 ไตรมาส ดังนั้นถ้าหากในอนาคตเศรษฐกิจแย่ลงหลังจากที่มีการขึ้นดอกเบี้ยก็คงไม่สามารถบอกได้ว่า มาจากการขึ้นดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเศรษฐกิจประกอบด้วยหลายๆ ปัจจัย"
ทั้งนี้ กนง.จะประชุมครั้งถัดไป ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ หลังเมื่อ วันที่ 16 ก.ค. ได้มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร(อาร์/พี) ระยะ 1 วัน จาก 3.25% เป็น 3.50% เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี
รองผู้ว่าฯ ธปท.ยังกล่าวถึง 6 มาตรการ 6 เดือน ของรัฐบาลด้วยว่า คงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงขณะนี้ยังเป็นตัวบั่นทอนอำนาจซื้อของประชาชนอยู่ต่อไป แต่คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวได้ในระดับใกล้เคียง หรือน้อยกว่าไตรมาสแรกที่โต 6% เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 ยังคงขยายตัวได้ดี โดยขยายตัวประมาณ 6.9% เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วง คือการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงในไตรมาส 2 แต่ถือว่าดีกว่าในครึ่งแรกปี 50 ที่ติดลบ 3% ขณะที่การส่งออกยังเป็นปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ
"ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอย่างเดียวคือ อัตราเงินเฟ้อสูงซึ่งหากปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานๆ เช่น ระดับ 5-6% ประมาณ 2-3 ปี ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการดูแลเรื่องเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2-3% ได้ ก็จะส่งผลให้ไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้" นางอัจนาย้ำ
ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมช.คลัง กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐมีอิสระในการใช้เครื่องในการดำเนินนโยบาย แต่ไม่ควรมีอิสระมากเกินไป ตนเห็นว่าปัญหาความเชื่อมั่น ปัญหาซับไพรม์ ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อสูง ใช้การปรับเพิ่มดอกเบี้ยแก้ปัญหาไม่ได้ดีที่สุด ควรปรับลดดอกเบี้ยมากว่า โดยเห็นว่าดอกเบี้ยร้อยละ 2 และปล่อยให้ค่าเงินบาทออ่อนค่าลง อยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มการส่งออก
"กระทรวงการคลังและ ธปท.ไม่ควรออกมาให้ความเห็นที่ขัดแย้งกันในเชิงนโยบาย และหากรัฐบาลมุ่งเน้นการบริหารงานเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต การดำเนินนโยบายการเงินการคลังก็ควรจะต้องสอดคล้องกันไป หากจะทะเลาะกันต้องพูดเป็นการภายใน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมีจุดยืนของตนเอง และต้องยอมที่จะนิ่ง" นายสุชาติกล่าวและว่า นโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมาถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ หากดำเนินนโยบายผิดทางรัฐบาลก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่หากนโยบายถูก แต่นำไปปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลก็ต้องหาผู้รับผิดชอบด้วยเช่นกัน และในเร็วๆ นี้จะหารือกับนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจพร้อมรองผู้ว่าฯ ธปท.เพื่อรับทราบกรอบความคิดและการดำเนินงานของ ธปท.ว่ามีปัญหาและมีความประสงค์อย่างไร
เช้าวันเดียวกัน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กล่าวผ่านรายการวิทยุในฐานะคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้มีปัญหาจริง แต่ไม่ได้ถึงขั้นวิกฤติรุนแรงตามที่มีการพูดกัน ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ควรใช้มาตรการที่รุนแรง เช่น ชะลอการลงทุน ปรับขึ้นดอกเบี้ย ชะลอการบริโภคภายในประเทศ บีบสถาบันการเงินไม่ให้ปล่อยกู้ เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม
"แนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าฯ ธปท. และไม่ควรไปก้าวก่ายการทำหน้าที่ของ ธปท.เพราะมีอำนาจตามกฎหมาย ขณะเดียวกันทีมที่ปรึกษาก็จะให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลว่าควรจะทำอย่างไร ถ้าแนวนโยบายไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล เป็นเรื่องของนโยบาย...จะไม่ชอบใจใครแล้วไปเที่ยวปลดคงไม่ได้หรอก" นายณรงค์ชัยกล่าว
นายณรงค์ชัย กล่าวถึงกระแสต่อต้านการเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลว่า จะไม่ถอนตัวออกจากการเป็นที่ปรึกษารัฐบาลแม้จะมีกระแสเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ในบริษัทเอกชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่สำคัญคือทำให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทุกแห่งเข้าใจถึงปัญหาให้ตรงกันก็จะสามารถกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี
ปชป.ขู่ซ้ำ ฟ้อง ป.ป.ช.เชือดเลี้ยบ
นายกรณ์ จาติกวาณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รมว.คลังเงา กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเป็นบอร์ด ธปท.ว่า ตั้งใจว่า จะยื่นเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาในกรณีดังกล่าว ส่วนนายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค กล่าวว่า หากพบว่า มีความเสียหายให้แก่รับก็จะร้องต่อ ป.ป.ช.และแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้กับคนที่ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
"ผมไม่ได้ขู่ แต่อยู่ที่กระทรวงการคลังจะให้ความร่วมมือส่งเอกสารคำสั่งของ รมว.คลังให้เราได้เร็วแค่ไหน หากจะกั๊กไว้ก็อาจจะช้าหน่อยหากไม่กั๊กก็เร็ว" นายถาวรกล่าว
|
|
 |
|
|