Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2534
MMC สิทธิผล ฝ่าพายุภาษี             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

 
Charts & Figures

ตลาดส่งออกต่างประเทศของบริษัทเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล
ตลาดหน่วยราชการของบริษัทเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล
เปรียบเทียบยอดขายรถยนต์มิตซูบิชิกับยี่ห้ออื่นๆ ตั้งแต่ปี 2531-ก.ค. 2534
ใครเป็นใครในตระกูลลี้อิสสระนุกูล
อาณาจักรโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์มิตซูบิชิที่แหลมฉบัง


   
search resources

เอ็มเอ็มซี สิทธิผล
วัชระ พรรณเชษฐ์
Automotive
Mitsubishi




"มิตซูบิชิ" เป็นรถค่ายญี่ปุ่นค่าเดียวที่ไม่ร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มสยามและ AIGOT ในกรณีรุกรัฐบาลปรับภาษีการค้าใหม่สำหรับรถยนต์ภายในประเทศ และมิตซูบิชิยังสวนกระแสด้วยการลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ครบวงจรแห่งที่สามที่แหลมฉบังเบื้องลึกของนโยบาย "เดินตามหลังผู้ใหญ่… " ทำให้ตระกูลลี้อิสสระนุกูลอยู่ได้ในทุกสถานการณ์การเมือง มิหนำซ้ำยังได้ประโยชน์จากการลดภาระต้นทุนต่ำเป็นกลยุทธ์สำคัญขยายตลาดในไทยและต่างประเทศอีก้วย โดยมีแม่ทัพใหญ่ "มาซานาโอะ อูเอดะ" ที่บริษัทแม่ส่งมาเสริมเขี้ยวเล็บด้านส่งออกในยุคก้าวกระโดดแห่งทศวรรษที่สี่ของ เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล!!

รถมิตซูบิชิคูเป้คันกะทัดรัด สีขาวเจิดจ้ารุ่นแฮทช์แบคนับร้อยๆ คัน กำลังอยู่ระหว่างการประกอบจากโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังของบริษัทเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล มองดูแว่บเดียวรถคันนี้ดูไม่ต่างจากรถยุโรปหรืออเมริกา แต่ที่สำคัญมีราคาถูกแทบไม่น่าเชื่อว่าจะทำส่งออกขายต่างประเทศแคนาดาเพียงคันละ 5,500-6,000 เหรียญเท่านั้น

รถคันเล็กๆ คันดังกล่าวได้เป็นพาหนะพาชื่อเสียงของบริษัทในไทยอย่างเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล ไปสู่ตลาดโลกเป็นรายแรกของประเทศไทย และได้ทำให้บริษัทนี้นำหน้าคู่แข่งในเชิงกลยุทธ์การส่งอกสู่ตลาดต่างประเทศด้วยการยริหาร้นทุนได้ต่ำด้วยขนาดใหญ่ของตลากและการผลิต จนกระทั่งกลายเป็นศูนย์กลางใหญ่ผลิตและส่งออกรถมิตซูบิชิแลนเซอร์และรถกระบะรุ่นแอล 200 แห่งเอเชีย

"เขาฉลาดมากที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรทุกตัวเพื่อส่งออกและผลิตในประเทศ" เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่ประจำอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง วิเคราะห์ให้ฟังถึงการลดภาษีที่เป็นวิธีการหนึ่งของการบริหารต้นทุนการผลิตได้ต่ำของบริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล หรือ "เอ็ม เอ็ม ซี"

ในปีที่แล้วเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลจ่ายภาษีและค่าใช้จ่ายนำเข้า 1,818.4 ล้านบาท โดยเป็นค่าขอซื้อวัตถุดิบ 11,657 ล้านบาท ถึงแม้บริษัทจะจ่ายภาษีการค้าและแจ้งงบกำไรขาดทุนครบถ้วนทุกอย่างก็ตามบริษัทก็ยังคงขายรถยนต์ในราคาต่ำกว่าคู่แข่งได้นั่นเป็นเพราะ

หนึ่ง-เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลใช้สิทธิ BONDED WAREHOUSE สำหรับรถยนต์ที่ส่งไปขายยังต่างประเทศแคนาดาและประเทศอื่นๆ ทำให้ไม่ต้องชำระภาษีอากรขณะนำเข้า และเมื่อส่งออกยังได้รับการชดเชยภาษีอากรจากยอดเอฟโอบี "ตัวนี้ทำให้ต้นทุนส่งออกเขาต่ำ" แหล่งข่าวกล่าว

BONDED WAREHOUSE หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทไม่ลงเป็นสินค้านี้ เป็นมาตรการอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมการส่งออกที่เกินกว่า 80% สำหรับบริษัทจดทะเบียบเกินกว่า 10 ล้านบาทและชำระเต็มมูลค่าหุ้นเมื่อได้รับอนุมัติจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนได้แล้ววัตถุดิบทุกอย่างที่เอาเข้ามาผลิตในโรงงานนั้นก็จะได้รับยกเว้นภาษีอากร แถมยังได้รับการชดเชยภาษีอากรอีกด้วย

ในประเทศไทย คลังสินค้าทัณฑ์บนมีอยู่ 3 ประเภทคือ หนึ่ง-คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภททั่วไป สอง-ประเภทร้านค้าปลอดภาษี และสาม-คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทลงเป็นสินค้า

เป็นที่น่าสังเกตว่าโรงงานแห่งที่หนึ่งและแห่งที่สองของเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังนั้นมิได้ขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรจากบีโอไอ (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เนื่องจากถ้าเข้าไปอยู่ในอนุมัติของบีโอไอเมื่อใด เมื่อนั้นก็ต้องทำบัญชีรายงานถึงผลประกอบการอย่างละเอียด

"ศุลกากรอย่างเราดูแลแค่ยอดบัญชีวัตถุดิบ อย่างอื่นเราก็ไม่ขอดูแต่กรณีบีโอไอเขาดูหมดทั้งยอดการผลิต ภาษีเงินได้และอื่นๆ ซึ่งลงลึกลงไปในรายละเอียดที่เจ้าของเขาไม่อยากให้รับรู้" แหล่งข่าวในกรมศุลกากรเล่าให้ฟัง

คดีค้างคาข้ามปีระหว่างเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลกับกรมสรรพากร ที่ประเมินภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมทั้ง 75.5 ล้านบาท ขณะนี้รอการตัดสินของศาลฎีกาคดีหนึ่ง 63.2 ล้านบาท และอีกคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางและคณะกรรมการอุทธรณ์ 12.3 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้โรงงานที่ลาดกระบังทั้งสองแห่ง ก็ได้ยื่นขอส่งเสริมจากบีโอไอพร้อมกับโรงงานแห่งที่สามที่จะเกิดขึ้นที่แหลงฉบัง เพื่อขอสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีอากรนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ

นอกจากนี้ เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลยังใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภททั่วไป ในกรณีที่ยังไม่เอาสินค้าออกจากโรงงานลาดกระบังก็ยังไม่ต้องจ่ายภาษี แต่ถ้าเอาสินค้าออกมาวันไหนก็ใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันนั้นเป็นเกณฑ์ ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าประเภทที่ถือเอาวันที่เรือเข้าเป็นเกณฑ์ เช่นถ้าเรือเข้า 1 พ.ย. ถึงแม้จะไปออกของอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ต้องถืออัตราแลกเปลี่ยนในวันที่เรือเข้า 1 พ.ย.

"เขาดูได้ว่าเดือนไหนมีทีท่าว่าค่าเงินดอลลาร์จะสูงขึ้น เขาก็รีบเอาของออกมาก่อน แต่ถ้าเดือนหน้าค่าเงินลดค่าต่ำลง เขาก็จะเก็บไว้ก่อนแล้วไปออกของเดือนหน้า ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินต่ำและเสียภาษีก็ต่ำด้วย" แหล่งข่าวศุลกากรเล่าให้ฟัง

ในอดีตเมื่อปี 2531 ต้นทุนการซื้อชิ้นส่วนซีเคดีที่นำเข้าจากบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น โดยเฉลี่ยแล้วเคยเพิ่มขึ้นประมาณ 6-8% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยนจาก 130 เยนมาเป็น 125 เยน

นอกจากนี้ เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลยังได้รับส่วนลดภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ถึง 50% จากการใช้สิทธิพิเศษทางการค้าของอาเซียน "ASEAN PTA" (ASEAN PREFERENTIAL TRADING ARRANGEMENTS) โดยบริษัทเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลไรับสิทธิพิเศษเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนเฉพาะรถยี่ห้อเดียวกันในกลุ่มประเทศอาเซียน (ONE BRAND COMPLEMENTATION) หรือเรียนง่ายๆ ว่า "BRAND TO BRAND"

"เราเป็นเจ้าแรกของอาเซียนที่ได้รับ PTA BRAND TO BRAND นี้ " วัชระ พรรณเฃษฐ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่บริษัทเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลเล่าให้ฟัง

บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่นในญี่ปุ่นหรือเรียกสั้นๆ ว่า "เอ็ม เอ็ม ซี " เป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนได้แก่ มาเลเซียซึ่งมีโรงงานทำตัวถังรถยนต์อยู่บ้างที่ทำร่วมกับโปรตอน ฟิลิปปินส์ทำโรงงานผลิตเกียร์อัตโนมัติ และอินโนเซียที่ผลิตระบบส่งกำลังเช่น เพลา ชิ้นส่วนบางอย่างที่เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลทำร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าหากเป็นที่ยอมรับคุณภาพบริษัทก็สามารถถือได้ว่าเป็น LOCAL CONTENT ที่ทำเพื่อส่งออก และต้นทุนก็ต่ำลงเมื่อมีการผลิตมากและประหยัดค่าขนส่งเช่น เคยสั่งซื้อจากญี่ปุ่นแต่มาเลเซียทำได้ บริษัทก็จะนำเข้าชิ้นส่วนเหล่านี้จากมาเลเซียโดยใช้รถบรรทุกสิบล้อขนส่งมา

การบริหารต้นทุนที่ต่ำได้จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง ปัจจุบันได้เริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้แรงงานน้อยลงเช่นหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในบางขั้นตอนการประกอบรถยนต์บ้างแล้ว ในอนาคตอาจทำให้เกินการว่างงานขึ้น ขณะที่มีผลดีต่อการเจริญเติบโตของบริษัท

ในประเทศไทย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่นได้ร่วมลงทุน (JOINT VENTURE) กับกลุ่มคนไทยตระกูลลี้อิสสระนุกูล โดยครั้งแรกเข้ามาถือหุ้นในนามของบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรี ตั้งโรงงานบริษัทสหพัฒนายานยนต์และถ่ายทอดเทคโนโลยีกับความรู้ความชำนาญในอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ให้ในการพัฒนาขบวนการผลิตด้วย

ความสัมพันธ์ระยะยาวนับ 30 ปีกับมิตซูบิชิ มอเตอร์สแห่งญี่ปุ่นนั้นถือเป็นสินทรัพย์อันล้ำค่าของตระกูลลี้อิสสระนุกูล สายสัมพันธ์นี้ก่อกำเนิดขึ้นในปี 2504 นับตั้งแต่เกิดบริษัทสิทธิผล มอเตอร์กับบริษัทสหพัฒนายานยนต์ซึ่งทำหน้าที่ตัวแทนจำหน่ายและโรงงานประกอบรถยนต์จนกระทั่งปี 2530 จึงได้ควบกิจการทั้งสองเข้าด้วยกันภายใต้ชื่อใหม่ว่า "บริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล"

ในปี 2532 เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลเพิ่มทุนจาก 50 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาท และบริษัทได้กู้เงินจำนวน 800 ล้านบาทและเพิ่มเงินกู้อีก 1,200 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายโครงการผลิตเครื่องยนต์ เกียร์และโครงการแหลมฉบังที่จะทำอุตสาหกรรมครบวงจรด้วย

การเปิดยุทธศาสตร์ขยายตลาดโลกของบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่กดดันให้มิตซูบิชิต้องก้าวรุกไปข้างหน้าให้เร็วขึ้นรับสถานการณ์โลกนั่นก็คือ ค่าเงินเยนที่แข็งตัวมากในตลาดการเงินโลก ราคาที่ดินและค่าจ้างแรงงานสูงมากในญี่ปุ่น การเริ่มเปิดตลาดการค้าเสรีในประเทศไทยรวมทั้งความสามารถในเชิงการแข่งขันของธุรกิจคู่แข่งอ่อนด้อยลง ล้วนสร้างโอกาสดีให้แก่มิตซูบิชิในการขยายตลาดการส่งออก

"เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า JOINT VENTURE PARTNER ทั้งสองฝ่ายจะต้องได้ประโยชน์ทั้งคู่ เขาคงจะไม่มาทำกับเราหรอกหากเขาเสียประโยชน์หรือไม่ได้อะไร มันไม่ใช่การบริจาคหรือมูลนิธิ แต่นี่คือการทำธุรกิจ เราเองถ้าอยู่คนเดียวโดยไม่มีเขามาร่วมด้วย เราคงไม่มีปัญญาทำรถยนต์ได้" วัชระ พรรณเชษฐ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่บริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลกล่าวถึงการถือหุ้นไทย-ญี่ปุ่น 52:48

ด้วยขนาดและทรัพยากรของบริษัทเอ็ม เอ็ม ซี แห่งญี่ปุ่นซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีการลงทุนขนาดใหญ่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนนี้ ทำให้เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อป้อนตลาดโลกได้

"จุดหนึ่งที่เราได้เปรียบคือว่า หลังจากมิตซูบิชิให้เราเป็นแหล่งผลิตการส่งออกแล้ว รถสองรุ่นที่เราได้แน่ๆ โดยที่บริษัทมิตซูบิชิที่ญี่ปุ่นยกให้เราผลิตผู้เดียว คือ แลนเซอร์ แชมป์ และกระบะแอล 200 ขณะที่ญี่ปุ่นเขาก็ทำรถรุ่นอื่นๆ ต่อไป" วัชระเล่าให้ฟัง

ฉะนั้นการสนับสนุนด้านเงินทุนและเทคโนโลยีเครื่องจักรทั้งหมด ที่ผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าว จึงถูกย้ายมาไว้ที่โครงการใหม่ที่แหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ทำให้ผู้บริหาร เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลต้องขอสิทธิพิเศษยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากบีโอไอ ทั้งๆ ที่ในอดีตโรงงานแห่งที่หนึ่งและแห่งที่สองที่ลาดกระบังนั้นไม่เคยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรจากบีโอไอเลย

การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยไม่ได้อยู่ในระยะเริ่มต้นอีกแล้ว หลังจากต้องเผชิญกับความล้มเหลวตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกจนถึงฉบับที่หก ซึ่งขนาดของตลาดและกำลังการผลิตเติบโตเร็วมาก จากปี 2524 ที่ยอดขายรวม 89,135 คัน ผ่านไป 10 ปี ยอดขายทะลุหลัก 3 แสนกว่าคัน

ในโลกที่มีการแข่งขันสูงนี้ทุกประเทศถูกเกณฑ์ให้พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและกลยุทธ์การตลาด ปัจจุบันตลาดโลกเป็นที่ตักตวงผลประโยชน์ความสำคัญของการส่งออกไปยังตลาดโลกเศรษฐกิจในปัจจุบันเปิดกว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านๆ มา ไม่สามารถจะอยู่เฉยได้

" มร.อูเอดะ เข้ามานั้นเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บหรือพลังของบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อก้าวไปสู่การทำธุรกิจทั่วโลก GLOBALIZATION" วัชระ พรรณเชษฐ์ เอ่ยถึง "อาจารย์" ที่เขาต้องเรียนรู้อีกมากในโลกธุรกิจทุกวันนี้

การที่มิตซูบิชิ มอเตอร์สส่งรองประธานคนที่หนึ่ง (EXECUTIVE VICE PERSIDENT, INTERBUSINESS) อย่างมาซานาโอะ อูเอดะ มาบุกเบิกตลาดส่งออกของไทยไปทั่วโลกนั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้กัลยาณี พรรณเชษฐ์ ซึ่งบริหารงานอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลขึ้นไปสู่ตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท แล้วให้อูเอดะซึ่งเคยทำหน้าที่ประธานนี้อยู่ตั้งแต่ปี 2527 ลงไปสวมบทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานนี้กัลยาณีต้องบินไปเซ็นสัญญาโอนอำนาจหน้าที่นี้ให้แก่อูเอดะเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมก่อนเกิดการปรับภาษีรถยนต์ใหม่

อูเอดะประสบความสำเร็จจนกระทั่งมีชื่อเสียงจากการบริหารตลาดส่งออกรถยนต์มิตซูบิชครั้งสำคัญ โดยเปิดความสัมพันธ์ครั้งแรกกับ มร.ไอค็อกค่า แห่งบริษัทไครสเลอร์ สามารถทำให้รถมิตซูบิชิมีอัตราการขยายตัวสูงสุดระหว่างรถญี่ปุ่นด้วยกันเองในรอบสิบปีที่ผ่านมา

ในอดีตช่วงปี 2531 ซึ่งเป็นระยะแรกของการเปิดตลาดส่งออกไทยไปยังประเทศแคนาดาในนามรถยี่ห้อดอดจ์โคลท์ 100 พรีมัธ โคลท์ 100 และอีเกิล วิสต้า 100 บีโอไอได้โดดอุ้มเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลโดยลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนซีเคดีจาก 112% เหลือ 11.2% กรณีที่เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลบ่นขาดทุนจากการส่งออกรถยนต์ไปแคนาดาคันละ 3 หมื่นบาทเพราะทุนชิ้นส่วนซีเคดีแพงขึ้นทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้ามา

"การมาเยี่ยมโรงงานครั้งนี้เพื่อดูว่ามีปริมาณส่งออกรถจริงตามที่แจ้งไว้หรือเปล่าและฟังคำชี้แจงจากมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศญี่ปุ่นว่าจะสามาถลดราคาชิ้นส่วนซีเคดีที่ซื้อได้หรือไม ่เพราะทางกระทรวงพาณิชย์เสนอหลักฐานว่าราคาชิ้นส่วนซีเคดีจากญี่ปุ่นไปประกอบในประเทศอื่นนั้นถูกกว่าซีเคดีที่ส่งมาขายในไทย แต่ทาง มร.อูเอดะ รองประธานบริษัทญี่ปุ่นบอกว่าลดราคาอีกคงทำได้ยาก แต่บริษัทแม่ได้ช่วยเหลือโดยการคงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 136 เยน/เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 120 เยน" อดีตรมว.บรรหาร ศิลปอาชาเปิดเผยในขณะที่เยี่ยมชมโรงงานที่ลาดกระบัง

นอกจากนั้นมรสุมข่าวลือยังพัดกระหน่ำในระยะนั้นด้วยว่า รถยนต์มิตซูบิชิที่ส่งออกไปแคนาดานานั้นไม่ได้มาตรฐานเพราะเหล็กไม่ใช่เหล็กกาวัลไนซ์ต้องถูกตีกลับมาขายราคาถูกๆ ยังประเทศลาวหรือเป็นแท็กซี่บ้าง เรื่องนี้ผู้บริหารเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

"กว่าเราจะส่งออกได้ต้องผ่านอนุมัติจาก CMVC (CANADIAN VEHICLES STANDARD) หนึ่งปีต้องส่งรถตัวอย่างไป 6 คันให้เขาทุบเผาไฟว่าพรมปูพื้นจะลุกไหม้ในกี่วินาที ระบบความปลอดภัยทุกอย่างต้องตรวจสอบให้ผ่านหมดจึงจะส่งออกได้" วัชระ พรรณเชษฐ์กล่าวถึงข่าวลือหนาหูในช่วงนั้น

การขาดทุนจากการส่งออกดังกล่าว ทำให้เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลได้ลดจำนวนรถที่ส่งออกไปขายยังที่บริษัท ไครสเลอร์ แคนาดา (ซี ซี แอล) จำนวน 2,097 คัน แล้วเพิ่มรถยนต์ที่ขายในประเทศ 1,217 คัน ทำให้บริษัทได้กำไรเกินกว่าที่คาดหมายไว้เป็นเงิน 229 ล้านบาท เมื่อหักเงินขาดทุนก็ยังขาดทุนสะสมอีก 298 ล้านบาท

ปัจจุบันเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลมียอดส่งออกไปแคนาดาตั้งแต่ปี 2531 ถึงปัจจุบันจำนวน 31,000 คัน ส่วนตลาดยุโรปที่เพิ่งเปิดปี 2532 มีการส่งออกไปที่ไซปรัสปีละ 600 คัน เพราะตลาดเล็ก โปตุเกสนั้นส่งออกรูปชิ้นส่วนและรถยนต์ทั้งคัน (ซีบียู) ประมาณ 5,000 คันต่อปี (ดูตารางประกอบ)

ตลาดส่งออกต่างประเทศของบริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล
ช่วงปี
ประเทศคู่ค้า
ผลิตภัณฑ์
จำนวน/คัน
2531-38 แคนาดา รถสำเร็จรูป 100,000
  โปตุเกส รถกระบะ L200 5,000
  ไซปรัส รถสำเร็จรูป 600
  มอลต้า รถยนต์ , ชิ้นส่วน  
  ลาว รถยนต์แลนเซอร์แชมป์ 300
  กัมพูชา รถยนต์แลนเซอร์แชมป์ 100
2533 อินโดนีเซีย รถบรรทุก FUSO 400

ผลประกอบการของเอ็ม เอ็ม ซี ในปีที่แล้วมีรายได้รวม 17,136 ล้านบาท และกำไรสุทธิสำหรับถึง 642 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 358.81 บาท

"รถยนต์ที่ส่งไปยังประเทศแคนาดานั้นลดลงบ้างเป็นเพราะผลจากภาวะเศรษฐกิจของทั้งแคนาดาและสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยสู้ดีนัก อย่างไรก็ตามปีนี้เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลจะส่งรถยนต์มิตซูบิชิจำนวน 5,000 คันไปยังแคนาดา" มาซานาโอะ อูเอดะ ให้สัมภาษณ์หลังจากรับช่วงบริหารใหม่ๆ

การเปิดประตูการค้าอินโดจีนก็เป็นโอกาสที่พลาดไม่ได้ของมิตซูบิชิที่ผ่านมาการทำการค้ากับลาว เขมร เวียดนามเป็นแค่โครงการทดลองตลาดแถบนี้ โดยผ่านนักการเมืองเช่น ธนิต ไกรวุฒิ ส.ส.พรรคชาติไทยที่เคยสั่งรถไปขายเขมร 100 คัน ลาว 300 คันบ้าง

"บริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะส่งออกไปยังประเทศใดต่อไป แต่เท่าที่ศึกษาถึงศักยภาพทางธุรกิจแล้ว เวียดนามเป็นตลาดที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้" อูเอดะให้ทัศนะต่อสัญญารับรองการลงทุนอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้

แม้จังหวะที่อูเอดะเข้ามาบริหารในเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่คลี่คลายกลไกภาษีให้เอื้อต่อตลาดการแข่งขันเสรี แต่ความไม่แน่นอนก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในวิถีการเมือง ดังนั้นโครงการโรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่สามที่แหลมฉบังมูลค่ากว่า 14,000 ล้าน ที่รวมเอาบริษัทในกลุ่ม 14 แห่งไว้บนเนื้อที่ 643 ไร่ จึงจำเป็นจะต้องชะลอดูสถานการณ์ในอนาคตว่าควรขยายการลงทุนตามแผนการที่วางไว้หรือไม่?

เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล มีโรงงานประกอบรถยนต์มิตซูบิชิทั้งสิ้นสองแห่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีนบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำนิคมให้ข้อสังเกตว่าที่โรงงานของทางเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านมักถูกเชิญมาดูงานบ่อยๆ เพื่อโปรโมทภาพพจน์บริษัทในฐานะผู้ประกอบรถยนต์ส่งออก

ปัจจุบันโรงประกอบที่หนึ่งเป็นโรงงานประกอบรถยนต์ขนาดเล็กไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งหรือรถกระบะมีกำลังผลิต 4,350 คันต่อเดือน

ส่วนโรงประกอบที่สอง เป็นโรงงานประกอบรถบรรทุกใหญ่ มีกำลังผลิตประมาณ 1,250 คันต่อเดือน มีตลาดส่งออกรถบรรทุกสิบล้อ FUSO ไปยังอินโดนิเซีย 400 คัน

สำหรับโรงประกอบแห่งที่สามตั้งอยู่ที่แหลมฉบังซึ่งทอฝันว่าเป็นโครงการใหญ่รวมศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ครบวงจรมูลค่า 14,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 14 บริษัท (ดูตารางประกอบ) ทำเลที่ตั้งใกล้ท่าเทียบเรือสะดวกต่อการขนส่งลำเลียง ตามแผนการจะมีกำลังผลิตถึงเดือนละ 5 พันคัน โดยจะเริ่มดำเนินการประกอบได้ในเดือนเมษายนปี 2535 และจะสร้างงานให้คนไม่ต่ำว่า 500 คน โดยปีนี้ได้เตรียมคัดเลือกบุคลากรระดับปวช.ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเข้าทำงานส่วนหนึ่งอีกด้วย ทั้งนี้ต้นทุนค่าแรงงานจะต่ำกว่ากรุงเทพฯ

การเตรียมบุคลากรเอ็ม เอ็ม ซี ได้สนับสนุนด้านทุนจำนวน 50 ล้านและอาจารย์สร้างโรงเรียนวิศวกรรมยานยนต์แห่งแรกที่นครราชสีมาชื่อ "ศูนย์ชุณหะวัณ" และจัดตั้งศูนย์วิจัยและนโยบายการพัฒนาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

บริษัทในเครือที่เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลถือหุ้นใหญ่ที่จะย้ายไปมีเพียง 3 บริษัท คือ เอ็ม เอส ซี เอ็นจิ้น บริษัท เอ็ม เอส เอ คาสติ้ง แอนด์ ฟอร์จจิ้ง และบริษัทเอ็ม เอส สตีล ซึ่งร่วมกับสหวิริยาทำเป็นโรงงานผลิตเหล็กหล่อที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

อาณาจักรโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์มิตซูบิชิที่แหลมฉบัง
    ประเภทกิจการ ปีก่อตั้ง ทุนจด **สินทรัพย์ **รายได้ **กำไร
1 บ.เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล ประกอบ/ขาย 2530* 200 8,614 16,618 642
2 บ.เอ็ม เอส ซี เอ็นจิ้น ผลิตเครื่องยนต์ 2531 20 590 1,094 (.13)
3 บ.เอ็ม เอส เอ คาสติ้งแอนด์ฟอร์จิ้ง ผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ 2534 100 บริษัทใหม่ - -
4 บ.เอ็ม เอส สตีล   2534 - - - -
5 บ.ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสทรี ผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ 2520 62 793 1,171 43
6 บ.ไทยฮาร์เนส ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า 2528 10 118 232 10
7 บ.ไทยซัมมิท เอ็นจิเนียริง ผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วน 2531 50 123 82 .67
8 บ.ไทยซัมมิท พลาสติค อินเจ็คชั่น โมลดิ่ง            
9 บ.ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเนนท์ ผลิตอะไหล่พลาสติค 2530 30 237 855 15
10 บ.ซัมมิท แอดวานซ์ แมททีเรียล ผลิตชิ้นส่วน 2532 10 14 16 (2.5)
11 บ.แหลมฉบัง โอโตบอดี้ อินดัสตรี   2534        
12 บ.แหลมฉบัง โอโตชีท อินดัสตรี   2534        
13 บ.แหลมฉบัง โอโตวีล อินดัสตรี   2534        

หมายเหตุ : * เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 30 เป็นปีที่บริษัทเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลตั้งขึ้นจากการควบกิจการบริษัทสองแห่ง คือ บริษัทสหยานยนต์กับบริษัทสิทธิผลมอเตอร์

** ผลประกอบการในปี 2533

"โครงการประกอบรถยนต์ที่ทางสิทธิผลของบีโอไอมาตอนนี้ ยังไม่สามารถให้บัตรส่งเสริมฯ ได้เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ว่าบีโอไอจะให้การส่งเสริมในรายที่ผู้ขอมีผลประกอบการส่งออกไม่ต่ำกว่า 80% แต่ทางสิทธิผลส่งออกเพียงแค่ 70% เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าผิดหลักเกณฑ์" เจ้าหน้าที่บีโอไอกล่าวต่อไปว่า ทางผู้บริหารบริษัทได้ทำจดหมายยื่นถึงรมว.อุตสาหกรรมเพื่อขอบัตรส่งเสริมให้ทั้งโรงงานประกอบรถยนต์ลาดกระบังและแหลมฉบังด้วย

เดิมโรงงานประกอบรถยนต์แห่งแรกของเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลตั้งอยู่ที่พระปะแดง แต่ต่อมาได้ขายไปในราคาที่แบงก์กรุงเทพประเมินไว้ 27.3 ล้านบาท แล้วย้ายฐานการผลิตมาตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังซึ่งซื้อที่ดินไว้ตั้งแต่ปี 2521 ในเนื้อที่ 66 ไร่ หรือ 105,600 ตารางเมตรในราคา 20 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่ตั้งแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง

ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวของตลาดเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% ในปี 2532 ได้มีการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทแม่ญี่ปุ่นจำนวน 300 ล้านบาทเพื่อซื้อพื้นที่โรงงานเพิ่มอีก 66 ไร่และลงทุนอีก 70 ล้านปรับปรุงโรงงานผลิตด้านกันสนิมและสี เมื่อเสร็จในปีนั้นก็ทำให้บริษัทเพิ่มผลผลิตได้ถึง 27,600 คันต่อปี

แต่กำลังผลิตในปี 2532 ไม่เพียงพออีกแล้วในปี 2533 ผลรวมยอดจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิพุ่งสูงขึ้น 3 หมื่นกว่าคันและวัชระ พรรณเชษฐ์ กรรมการรองผู้จัดการได้ตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะปิดที่จำนวน 4 หมื่นคัน

"เราโตเป็นสี่เท่านับตั้งแต่ปีแรกที่ผมเข้ามาทำงาน ผมจำได้แม่นเลยว่าปี 2530 ขายได้เป็นจำนวน 10,101 คัน แต่ปีนี้เรากะว่าจะขายได้ 4 หมื่นคัน ซึ่งก็นับว่าโตเร็วมากทำให้พัฒนาบุคลากรหรือพื้นฐานต่าง ไม่ทันมันเร็วเกินไป ตอนนี้ผลผลิตเราเดือนละ 27 คันคือคน ปีหน้าเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า 5 หมื่นคัน ทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง" วัชระตั้งเป้าหมายไว้สูงพอควร

ปัจจุบันเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาร 14% และมีเป้าหมายทางการตลาดที่กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่วางไว้ว่า 3 ปีนับจากนี้ไปกิจกรรมทางการตลาดของบริษัทจะเป็นไปในเชิงรุกพื้นที่ให้ได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นไปถึง 20% ให้ได้ โดยยืนอยู่ได้แข็งแกร่งในภาวะปรับโครงสร้างภาษี

"ในอนาคตคาดว่ายอดขายในแต่ละปีจะสูงขึ้นเป็น 4 แสนคันต่อปี ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งทำให้สัดส่วนตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการใช้รถปิคอัพไม่ได้ลดลงอย่างรุนแรง ส่วนตลาดรถยนต์สำเร็จรูปบางส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่กระทบกระเทือนบริษัทเรา เพราะเป็นการนำเข้ารถยนต์ขนาดใหญ่ที่เน้นความหรูหรา ซึ่งไม่ใช่ตลาดเดียวกับรถยนต์บริษัท" อูเอดะกรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าวอย่างมั่นใจ

อย่างไรก็ตาม การนำเข้ารถยนต์สปอร์ตของค่ายสยามกลการและทำการตลาดและโฆษณาในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็เป็นที่จับตาของผู้บริหารรถมิตซูบิชิที่ได้รับผลกระทบในส่วนตลาดรถยนต์ขนาดเล็กบ้าง แต่เนื่องจากทุกวันนี้การนำเข้ายังมีปริมาณน้อยแต่ถ้าหากขยายตัวมากก็อาจมีการนำเข้ามาขายแข่งกันบ้าง

ในสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ประสิทธิภาพของการจัดการและการบริหารด้านการตลาด เป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทจะต้องมีการสะสมทรัพยากรบุคคลมืออาชีพในสาขาต่างๆ และปรับปรุงระบบการบริหารงานและโครงสร้างภายในบริษัทให้ก้าวทันการเติบโตของเศรษฐกิจสังคม

ตามโครงสร้างผู้บริหารระดับสูงของเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล (ดูตารางประกอบ) ระดับนโยบายบริษัทจะมีปริญญา ลี้อิสสระนุกูล ประธานบริษัทและกัลยาณี พรรณเชษฐ์ ประธานกรรมการทำหน้าที่ประสานงานในกิจการร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น เช่น บริษัท รังสิตสิทธิผล ซึ่งตั้งขึ้นรับผิดชอบโครงการขนส่งสินค้าสี่มุมเมืองมีการประมูลแข่งขันกับบริษัทธนบุรีพาณิชย์ ผู้จำหน่ายรถเบนซ์ และบริษัทสถานีขนส่งสินค้าชานเมือง

"โครงการขนส่งสินค้าสี่มุมเมืองนี้เป็นนโยบายบริษัทเลย คือ ท่านประธาน (กัลยาณี) และกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผนร่วมกันการที่ขยายตัวไปทำด้านนี้ต้องอย่าลืมสิว่าเราในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ทำได้ง่ายกว่า มันพัฒนาไปสู่ธุรกิจการขนส่งคมนาคมที่ช่วยแก้ปัญญาการจราจรได้" วัชระเล่าให้ฟัง

ส่วนอูเอดะได้บริหารบริษัทในเชิงนโยบายรุกก้าวไกลไปยังตลาดส่งออก โดยได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารภายในบริษัทให้มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น กระจายอำนาจความรับผิดชอบไปสู่ระดับกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งมีอยู่ 5 คน (ดูตารางประกอบ) แบ่งกันดูแลรับผิดชอบผู้อำนวยการฝ่ายหรือ "จีเอ็ม" (GENERAL MANAGER) 22 ฝ่ายซึ่งมีสัดส่วนคนไทย 16 คน ญี่ปุ่น 8 คน

หัวใจสำคัญทางด้านสายการผลิตและโรงงานมีผู้บริหารชาวญี่ปุ่นที่อยู่กับบริษัทตั้งแต่ยังเป็นบริษัทสหพัฒนายานยนต์จนถึงปัจจุบันนานนับสิบปีชื่อโมโตอากิ อีนูไก เป็นกรรรมการรองผู้จัดการใหญ่นั่งประจำอยู่ที่โรงที่หนึ่ง โดยมีรองเป็นคนไทยชื่อ บุญช่วย โชคดีวนิชวัฒนา ลูกหม้อเก่าของบริษัทเป็นจีเอ็ม

ส่วนทางสายการขายและการปฏิบัติการขาย ทาคาชิ มูราซาวา ที่เปรียบเป็นแขนขาของกรรมการผู้จัดการใหญ่ทำหน้าที่ดูแลตัวแทนจำหน่ายไม่ต่ำกว่าร้อยแห่งทั่วประเทศ โดยเน้นนโยบาย 3 ว่าด้วย SALESSERVICES และ SPAREPARTS

มืออาชีพคนไทยคนหนึ่งที่ทำงานตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดคนสำคัญก็คือ วิชัย พรรณเชษฐ์ ที่ไม่ได้เดี่ยวข้องกับสายบิดาของวัชระเพียงแต่ใช้แซ่จีนและนามสกุลร่วมกัน และเข้าร่วมทำงานกับเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลตั้งแต่ปี 2527 หลังจากลาออกจากผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัทยาชิโยด้า อัลลอยด์ วิลล์ที่เพิ่งทำงานได้ปีเดียว โดยก่อนหน้านี้ทำงานกับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย)ในตำแหน่งผู้จัดการแผนกขายคุมภาคถึง 13 ปี

"พี่โตเข้ามาทำงานที่นี่เพราะความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่เพราะความเป็นพรรณเชษฐ์" วัชระยืนยันหนักแน่น

ตลาดรถยนต์มิตซูบิชินอกจากการขายผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว การเจาะตลาดขายตรงแก่หน่วยงานราชการในปริมาณมากๆ ก็เป็นกลยุทธ์การบริหารตลาดในประเทศอย่างหนึ่ง ซึ่งโครงการพิเศษนี้เป็นแนวความคิดของกล้าหาญ ฮัดเจสสัน ผู้อำนวยฝ่ายอาวุโส ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากมีหน่วยงานราชการใหญ่ๆ เช่น ข้าราชการในสังกัด ก.พ. ซื้อรถไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4 พันกว่าคัน เนื่องจากราคารถที่ซื้อในปริมาณมากถูกมาก เช่น รถมิตซูบิชิ แลนเซอร์แชมป์ ขายเพียงคันละ 309,000 บาท (ไม่รวมแอร์) ทำให้เกิดความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันระหว่างรถมิตซูบิชิกับค่ายอื่นๆ

สายการบริหารอีกสายหนึ่งที่ผู้บริหารญี่ปุ่น มูเนโอะ มูราคามิ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ดูแลอยู่คือ สายเครื่องยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น VENDOR คู่ค้าที่เติมโตมาพร้อมกับเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลมอเตอร์ อาทิเช่น กลุ่มไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินดัสทรี ของพัฒนาจึงรุ่งเรืองกิจ และสรรเสริญ จุฬางกูร ที่กำลังผลิต 70-80% ป้อนส่งให้กับเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล และในอนาคตกลุ่มนี้ก็จะย้ายไปอยู่ที่โครงการครบวงจรที่แหลมฉบังด้วย

"เราไม่มีนโยบายทำชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมดแต่อยากจะใช้กับ VENDOR ที่อยู่ในกลุ่มของเรามากกว่า เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของแต่ละหน่วยงานดีคู่ค้าของเราแต่ละแห่งจะไรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมิตซูบิชิ ไม่เฉพาะในเครือสิทธิผลเท่านั้น" วัชระในฐานะผู้ดูแลโฆษณาประชาสัมพันธ์อีกตำแหน่งหนึ่งกล่าวถึงหลักการ

อย่างไรก็ตาม เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลก็มีการลงทุนตั้งบริษัทในเครือผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่สำคัญในปี 2531 คือ บริษัทเอ็มเอสซี เอ็นจิ้น ซึ่งประกอบเครื่องยนต์เบนซิน เกียร์และเพลาป้อนบริษัทแม่ 99% ดังนั้นรายได้รายจ่ายจึงวนเวียนอยู่ในเครือประเภท "เข้ากระเป๋าซ้าย-จ่ายกระเป๋าขวา" มีรายรับ 1,112.7 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนรายจ่ายทั้งหมดเกิดการซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศและต้องเสียค่าภาษีและค่าใช้จ่ายนำเข้าชิ้นส่วน 167 ล้านบาท ทำให้ภายในสองปีนี้กิจการบริษัทขาดทุนสะสมปลายปี 1.5 ล้านบาท

"เหตุผลที่เราต้องตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเพราะบริษัทต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นสูงถึง 50% ขณะที่ค่าเงินเยนสูงขึ้น ทำให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน และเป็นการลดภาระภาษีนำเข้าที่สูงถึง 130% ด้วย" วัชระ กล่าวถึงเบื้องหลังการตั้งบริษัทนี้

บริษัทเอ็มเอสซี เอ็นจิ้นเกิดขึ้นเมื่อเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลต้องแยกตัวมาทำเอง โดยผละออกจากบริษัทอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่โครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ และขายหุ้นที่ถือไว้ 10% คืนแก่บริษัทสยามกลการ

นอกเหนือจากผู้บริหารระดับสูงชาวญี่ปุ่นแล้ว โครงสร้างผู้บริหารที่ปรับปรุงใหม่นี้ยังคงเพิ่มอำนาจหน้าที่สำคัญๆ ให้แก่ทายาทธุรกิจพี่น้องทั้งวัชระและวัชรี พรรณชษฐ์ด้วย

วัชระ พรรณเชษฐ์ในฐานะกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ดูแลสายธุรกิจต่างประเทศและโฆษณาประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสนับสนุนการขาย ซึ่งล่าสุดได้ ชยุตม์ ลี้อิสสระนุกูล ที่เพิ่งจบเศ่รษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจจากบอสตันสหรัฐและได้รับแต่งตั้งเป็นจีเอ็มบุกเบิกฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ (CUSTOMER RELATIONS DIVISION) ที่มุ่งจับกลุ่มเป้าหมายระดับสูงที่ซื้อรถราคาแพง เช่น รถยนต์มิตซูบิชิปาเจโร โดยจะเริ่มโครงการร่วมกับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยและห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเทศกาล

วัชระเป็นผู้บริหารสมัยใหม่ที่บ้าเรื่องสิ่งแวดล้อมมากๆ โครงการร่วมกับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยในเรื่องน้ำมันไร้สารตะกั่วและเรื่องเครื่องกรองไอเสียรถยนต์ซึ่งมีนโยบายให้ติดตั้งในต้นปี 2536

"ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราพัฒนาไปมากผู้บริหารต้องปรับตัวให้พร้อมและการทำงานเป็นทีมเวิร์กที่ผมทำอยู่เป็นระบบเปิด ผมไม่ชอบระบบห้องเพราะการสื่อสารกับคนอื่นจะตกลง" วัชระเล่าให้ฟัง

สำหรับวีชรี พรรณเฃษฐ์ หรือ "ตุ๊ก" น้องสาววัชระที่ร่ำเรียนจบบัญชีจากจุฬาฯ ก็เป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ที่ดูแลบัญชี ต้นทุนและการพัฒนาโครงการ นโยบายการรักษาต้นทุนให้ต่ำของบริษัท เป็นสิ่งที่วัชรีตระหนักดีและพยายามสร้างวินัยในการใช้จ่ายเงินของพนักงานบริษัททุกวันช่วงบ่ายจะพบวัชรีในโรงงานแห่งที่หนึ่งเพื่อดูแลบัญชีการเงินให้ถูกต้อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นคอยกำกับนโยบายอยู่

นอกจากนี้เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล ดร.ชาญชัย มุกสิกนิศากร หัวหน้าฝ่ายนโยบายศุลกากรระดับซี 8 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งรู้เรื่องระบบภาษีดีมากเข้ามาอยู่ด้วย โดยเสนอเงินเดือนผลตอบแทนสูงเท่ากับตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องพิกัดภาษีศุลกากรและประสานงานกับบีโอไอ

เท่าที่ผ่านมา ดร.ชาญชัยเป็นมือหนึ่งในด้านนี้ของกระทรวงการคลังทีเดียวแต่เมื่อเทียบรายได้กับผลประโยชน์ที่ได้รับใครๆ ก็ต้องไปจึงทำให้เกิดปัญหาสมองไหลอีกแล้ว" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังกล่าว

ในทศวรรษที่สี่ของยุคแห่งการปรับขยายโครงสร้างการบริหารเพื่อก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เป็นความเคลื่อนไหวในเชิงรุกของบริษัทเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลที่ต้องการมีการโยกย้ายเงินทุน เทคโนโลยีครั้งใหญ่ รวมทั้งระดมความมีประสบการณ์มืออาชีพระดับโลกและในประเทศเพื่อผลักดันให้โครงการแหลมฉบังที่เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก !!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us