Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2534
รัฐมีนโยบาย แต่ยังไม่มีเครื่องมือ             
โดย นฤมล อภินิเวศ โสภิดา วีรกุลเทวัญ สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์
 


   
search resources

กระทรวงอุตสาหกรรม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Environment




ยุคนี้เป็นยุคสีเขียว ความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ตั้งดจทย์ใหญ่ให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ตั้งใจ ทว่าเป็นโจทย์ที่ไม่อาจละเลยเพราะตลอด 3 ทศวรรษแห่งการเดิบโตที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมได้บั่นทอนความสมบูรณ์และงดงามของสภาพดิน น้ำ อากาศลงอย่างขนานใหญ่ ทุกฝ่ายดูจะเห็นพ้องต้องกันว่า เวลาแห่งการแก้ไขมาถึงแล้ว มาตรการและยุทธวิธีสารพัดถูกคัดสรรขึ้นมามากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนั้นนับเป็นความหวังที่ดี แต่จะสำเร็จลุล่วงถึงขนาดที่ทำให้อุตสาหกรรมกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก้าวเดินไปอย่างควบคู่และแนบแน่นได้หรือไม่ ภาพความพยยามจากอดีตถึงปัจจุบันคงจะชี้ถึงแนวโน้มของทิศทางได้บ้างส่วนผลจริงนั้นก็ยังต้องรอดูกันต่อไป

ไม่มีทางสำเร็จหรอกเพราะทำงานไม่ครบวงจร อย่างเรื่องที่จะย้ายโรงงานย้ายได้อย่างไร ค่าใช้จ่ายเท่าไร แล้วลูกค้าที่จะหายไปหมดใครรับผิดชอบ ซ้ำไม่ใช่ว่าย้ายแล้วไม่ต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ต้องดูแลอยู่ดี อาจจะแพงขึ้นอีก…"

คำทำนายของแหล่งข่าวคนหนึ่งในวงการอุตสาหกรรมนี้ดูคล้ายจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อย แต่ก็คาดการณ์เอาจากสภาพปัญหาจริงที่รู้เห็นกันอยู่ในวงการ

นโยบายการโยกย้ายโรงงานขนาดกลางและเล็กแบ่งตามประเภทเข้าไปรวมกลุ่มกันอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อง่ายต่อการควบคุมด้านมลพิษให้ถูกต้องนับได้ว่าเป็นความพยายามทางหนึ่งของรัฐบาล ที่เริ่มต้นคำนึงถึงการพิทักษ์สภาวะแวดล้อมอย่างจริงจัง

ความพยายามนี้ไม่ได้เพิ่งปรากฏออกมาในรูปแบบนี้เพียงอย่างเดียว ยังมีอีกหลายหลากรูปแบบที่ทำมาก่อนหรือพร้อมๆ กันในระยะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแก้กฎหมายโรงงานเพิ่มอำนาจให้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเสนอแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจจัดการกับโรงงานที่ก่อมลพิษได้ หรือการสถาปนากองตรวจสอบสิ่งแวดล้อมโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมาในกรมโรงงานฯ หรือการดำริตั้งกองทุนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เหล่านี้เป็นนโยบายที่มีเป้าประสงค์อันเดียวกันคือ เพื่อก้ไขหรือบรรเทาปัญหามลภาวะที่เกิดจากอุตสาหกรรม

แต่ที่นโยบายอื่นๆ ไม่ค่อยจะมีเสียงสะท้อนกลับมามากเท่ากับนโยบายย้ายโรงงานอาจเป็นเพราะว่ารูปแบบอื่นๆ นั่นมีลักษณะเป็นนโยบายเชิงนามธรรมมากกว่า ตลอดจนไม่ค่อยจะกระทบกับนักอุตสาหกรรมโดยตรงเท่าไรนัก โดยเฉพาะการกระทบโดยตรงทางด้านการเงิน

จุดอ่อนใหญ่ของนโยบายการย้ายโรงงานนั้นอยู่ที่ว่า เอกชนเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมต้อง "จ่าย" ในอัตราค่อนข้างสูงจนเกินไป ทำให้แนงคัดค้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามาพลอยจะสูงและดังไปด้วย

ปัญหาที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ เรื่องของที่ดินแห่งใหม่ที่หาไม่ได้ง่ายๆ และยังต้องมีข้อพิจารณาด้านราคา ปัญหาสาธารณูปโภค สาธารณูปการว่ามีความพร้อมเพียงใด ปัญหาการต้องหาแรงงานใหม่ที่อาจจะขาดความชำนาญในงาน มีคุณภาพไม่เหมาะสมหรืออาจเลยเถิดไปถึงการต้องหาตลาดขายสินค้าใหม่ ฯลฯ เหล่านี้คือปัญหาอันไม่น่าพิสมัยอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุน

อย่างไรก็ตามแม้จะมีจุดอ่อนอยู่มากจนหลายคนกล่าวว่า นโยบายนี้ไม่มีความสมเหตุสมผลในทางปฏิบัติแต่การคิดย้ายโรงงานนั้นก็มีสาเหตุที่มา ที่มีน้ำหนักไม่น้อยทีเดียว อีกทั้งได้มีส่วนสร้างให้เกิดการแสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังมากขึ้น

การพัฒนาอุตสาหกรรมเมื่อยุคเริ่มแรกพร้อมๆ กับการถือกำเนิดขึ้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (ยังไม่มีคำว่าสังคม) เป็นเรื่องจองการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า ตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงว่าโครงสร้างของอุตสาหกรรมสมันนั้นก็เป็นเรื่องของการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายนั่นเอง

กระบวนการผลิตระดับนี้ทิ้งกากเสียออกมาทั้งในรูปของการปนเปื้อนกับน้ำ ปนเปื้อนในอากาศ และในรูปของเสียที่ไม่มีอันตรายมากนัก เพราะเป็นของเสียประเภทสารอินทรีย์อันย่อยสลายได้ ประกอบกับการที่จำนวนสถานประกอบการยังมีน้อยและตั้งกระจัดกระจายกัน ถึงแม้มีมลพิษออกสู่ภายนอกกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติก็ยังพอที่จะรับมืออยู่ จึงไม่เคยมีการนึกถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมกันเลยในสมัยนั้น นอกจากเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปให้เต็มที่เท่านั้น

"ทุกคนคิดว่าสิ่งแวดล้อมมีความสามารถในการย่อยสลายหรือดูดกลืนของเสียต่างๆ ได้ก็ปล่อยทิ้งให้เป็นภาระของสิ่งแวดล้อมไป ในการวางแผนอุตสาหกรรมไม่ได้คิดถึงผลกระทบด้านนี้ คิดแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะผลิตได้ถูกที่สุด ตรงนี้เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจด้วย การแข่งขันสูงมาก ถ้าคนหนึ่งทำอีกคนไม่ทำก็ไม่เท่าเทียม ไม่มีใครยอมทุกคนผลักภาระออกสู่ส่วนรวม" ศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแห่งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกล่าว

จากการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมที่ดำเนินไปอย่างสัมฤทธิผลทั้งในเชิงปริมาณและโครงสร้างการผลิต เป้าหมายที่พัฒนาไปจากการทดแทนการนำเข้าสู่การส่งเสริมการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันนั้นได้ทำให้การอุตสาหกรรมขยายตัวโดยรอบด้าน

จากข้อมูลของกรมโรงงาน จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการจากกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อปี 2512 มีทั้งสิ้น 631 โรง ได้เพิ่มขึ้นเป็น 19,691 โรง ในปี 2522 และเมื่อถึงปี 2532 ก็ได้เพิ่มขึ้นอีกเป็น 51,500 โรง คิดเป็นอัตราเพิ่มสูงประมาณ 80 เท่าในระยะเวลาเพียง 20 ปี

ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแง่ประเภทอุตสาหกรรมก็คือ แต่เดิมกิจการส่วนใหญ่จะเป็นประเภทที่ทำการผลิตเกี่ยวกับอาหาร เสื้อผ้า สินค้าอุปโภคบริโภค แต่ภายหลังกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตโลหะ สารเคมี เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์การขนส่ง ฯลฯ ประเภทของการผลิตสินค้าขั้นกลางและขั้นพื้นฐานเหล่านี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นรวมกันมีถึงประมาณ 8,000 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก

อุตสาหกรรมที่เป็นการผลิตในขั้นกลางเหล่านี้นี่เองที่เป็นตัวสร้างสภาพมลภาวะให้เข้มข้นขึ้นเพราะของเสียที่ทิ้งออกมาในรูปต่างๆ นั้นปนเปื้อนด้วยสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายมากกว่าสารอินทรีย์หลายเท่าตัว พร้อมๆ กับที่อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นนับเท่าทวีคูณ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรมในเมืองไทยก็ได้เริ่มต้นปรากฏออกและยิ่งทวีความรุนแรงเรื่อยมาเสมือนหนึ่งเป็นทางที่ขนานกันไป

ยิ่งการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น อุตสาหกรรมหนักก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่องความวิกฤตของปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งเด่นชัดไม่ว่าจะมองด้วยแง่มุมทางสถิติหรือด้วยการสัมผัสรับรู้

สภาพน้ำที่เน่าเสียมากขึ้นไม่เฉพาะมีสารอินทรีย์ใรปริมาณมากเท่านั้นแต่ยังมีสารพิษด้วย

จากการประมาณการของสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ชี้ว่าในปีนี้มลภาวะของน้ำที่ปล่อยจากอุตสาหกรรมนั้นจะมี (BOD) BIOLOGICAL OXIGEN DEMAND สูงถึง 500,000 ตัน ส่วนใหญ่มาจากโรงงานน้ำตาล สุรา เบียร์ เครื่องดื่ม และกระดาษ

ส่วนสารพิษที่เจือปนกับน้ำเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมประเภทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุประเภทเหล็ก โลหะ แบตเตอรี่ โรงงานโซดาไฟ และโรงฟอกย้อม มีทั้งสารตะกั่ว ปรอท สังกะสี นิเกิล โครเมียม ทองแดง

เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่านที่มีการกระจุกตัวของโรงงานอยู่ถึง 50% ก็ต้องรับน้ำเสียในรูปของ BOD จากภาคอุตสาหกรรมถึงประมาณ 30,000 ตัน ในแต่ละปี

ส่วนมลพิษทางอากาศตจากอุตสาหกรรมมีทั้งสารโลหะหนักที่ระเหนออกมา ก๊าซอันตรายต่างๆ ตลอดจนถึงฝุ่นละออง

ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของฝนกรดนั่นเกิดมาจากโรงไฟฟ้าเป็นสำคัญ ในขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์นั่นเกิดจากอุตสาหกรรมหลายประเภทรวมกัน ซึ่งทาง TDRI ก็ได้ประมาณไว้ว่าในปีนี้จะมีการปล่อยออกมารวมกันแล้วมากถึง 34 ล้านตัน

สามารถทำร้ายร่างกายมนุษย์พร้อมกับทำลายชั้นบรรยากาศและสภาพอากาศโดยทั่วไป เป็นสภาวะที่หนักหน่วงขึ้นทุกทีและมีปริมาณที่เกิดขีดมาตรฐานหลายๆ ชนิด สำหรับปัญหากากของเสียอันตรายยังค่อยข้างเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ก็เป็นปัญหาที่เปิดตัวเองอย่างรวดเร็วและรุนแรง

จากอุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ ในระยะหลัง มักจะมีสาเหตุมาจากสารอันตรายทั้งสิ้น ตามตัวเลขประมาณการปัจจุบันกากสารอันตรายถูกทิ้งออกมาปีละประมาณ 2 ล้านตันอยู่แล้วจากทุกๆ ส่วน โดยกากประเภทโลหะหนักและเคมีอันตรายที่มีผลกระทบกับสภาพแวดล้อมมากกว่าชนิดอื่นส่วนใหญ่ล้วนมาจากภาคอุตสาหกรรม

"ปัญหาสมดุลธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เสียไปของเมืองไทยก็เหมือนกับทั่วไป ต่างประเทศที่เขาพัฒนาอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ร้อยสองร้อยปีที่แล้วเกิดปัญหาน้ำเน่า ดินมีสารพิษ การผลิตอาหารเสียสมดุล พวกนี้ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรปสัมผัสมาก่อนทั้งนั้น และเขาก็ตระหนักไปก่อนแล้วซึ่งปัญหาแก้ได้ถ้าย้อนไป 30 ปีก่อนบ้านเราก็ยังไม่มีพิษ พออุตสาหกรรมเกิดธุรกิจบริการก็เพิ่มเข้ามาสอดรับเมืองโตขึ้น คนมาก เกิดน้ำเสีย เกิดอะไรต่างๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมถ้าพูดขึ้นมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วกับเดี๋ยวนี้ต่างกัน เมื่อก่อนคงไม่มีใครฟังเพราะไม่เห็นปัญหา ขณะที่ตอนนั้นอเมริกาหรืออังกฤษเขาอยู่ขั้นที่แก้ปัญหาจนลดลงแล้ว" สราวุธ ชโยวรรณ ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

รูปธรรมแห่งการคำนึงถึงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในวงการอุตสาหกรรมเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2512 ด้วยการถือกำเนิดขึ้นของพระราชบัญญัติโรงงานโดยในมาตรา 39 หมวด 6 ได้กำหนดหน้าที่สำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานไว้ว่าจะต้องจัดใหม่มีการกำจัดสิ่งปฏิกูล การระบายน้ำทิ้ง และการระบายอากาศ ซึ่งตามกฏกระทรวงฉบับที่ 1 ที่ได้ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ระบุประเภทโรงงานที่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ถึง 98 ประเภทด้วยกัน

ข้อบังคับนี้เป็นการควบคุมมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ในบทเฉพาะกาลของกฎหมายเองจึงได้กำหนดผ่อนปรนเอาไว้ให้โรงงานมีเวลาถึง 1 ปี ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่นี้ ซึ่งผลของกฎหมายถือได้เป็นคลื่นการปฏิวัติลูกย่อมๆ ของวงการอุตสาหกรรมเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้วก็มีแต่เพียงโรงงานขนาดใหญ่เท่านั้นเองที่ปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนโรงงานขนาดกลางและเล็กนั้นยังคงมีปัญหามาจนถึงปัจจุบันโดยที่ระบบการบังคับให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ก็ค่อนข้างจะไร้ประสิทธิภาพ

ความไม่พร้อมของทางราชการในการควบคุมดูแลโรงงานนั้นมีอยู่ทั้งในระดับของอำนาจและเครื่องมือ

หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมโรงงานก็คือ กรมโรงงาน แต่เดิมในการขอใบอนุญาตตั้งโรงงานนั้นเอกชนจะต้องส่งแบบระบบการจัดการมลภาวะไปให้ตรวจสอบพร้อมกัน

แต่ต่อมาเนื่องจากมีปัญหาความล่าช้ามากจึงมีการปรับระเบียบให้รวบรัดขึ้น การขออนุญาตจึงเพียงแต่ใช้ลายเซ็นของวิศวกรโรงงานเป็นเครื่องรับรองไว้ก่อน จากนั่นอีก 3 เดือนวิศวกรค่อยส่งแบบให้ตรวจสอบและต่อเมื่อมีการก่อสร้างระบบไปประมาณ 6 เดือน - 1 ปี เปิดดำเนินกิจการแล้วเจ้าหน้าที่จากกรมก็จะติดตามไปตรวจสอบ

ด้วยการลดขั้นตอนเช่นนี้ น้ำหนักของงานจึงเทมาขึ้นอยู่กับขั้นของการดูแลติดตามตรวจสอบค่อนข้างมาก และนี่เองเป็นจุดที่ทำให้มีปัญหาอย่างยิ่งเนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานนั้นมีอยู่น้อย (ปัจจุบันมีเพียง 30 คนเท่านั้น) การติดตามทำได้ไม่ทั่วถึงช่องทางการเลี่ยงกฎหมายของโรงงานจึงเกิดขึ้นในรูปแบบอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการละเลยไม่ก่อสร้างระบบบำบัดเลย หรือบางรายอาจจะก่อสร้างแต่เลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่ตรงกับแบบที่เสนอไปหรือมิเช่นนั้นแม้จะมีระบบก็อาจจะไม่มีการเดินระบบหรือเดินแต่ไม่สม่ำเสมอ ฯลฯ

จากนั่นระบบการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับข้าราชการที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจก็คืออีกขั้นตอนหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาเพื่อเป็นหลักประกันการปลอดโทษ

"รัฐมักจะบอกไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่ไปตรวจ ก็มีส่วนถูก แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ ที่ไม่มีใครกล้าพูดให้ชัดเจนก็คือ เมื่อเกิดหลักเกณฑ์ใหม่อันนี้ขึ้นมารัฐบาลออกกฎหมายทันทีก็ไม่มีคนตามทัน ไม่มีใครรู้ไม่มีใครทำเป็น คนที่จะมาทำระบบก็เลยเป็นข้าราชการนั่นเองพวกวิศวกรที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ ความจริงคือตรงนี้ ราชการออกแบบเอง ตรวจเอง รับรองเองทุกอย่างเองหมดไม่ต้องผ่านใคร แล้วใครจะรู้ว่าได้ผลแค่ไหน" แหล่งข่าวอดีตข้าราชการรายหนึ่งเล่าให้ฟัง

ทางด้านหน่วยงานอื่นๆ ที่พอจะเกี่ยวข้องบ้าง เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็คือ ในส่วนของการตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีหน้าที่ประกาศเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ หรืออาจจะให้ความเห็นเป็นข้อแนะนำได้บ้างในบางเรื่อง ทว่าไม่มีอำนาจบังคับแต่อย่างใดทั้งสิ้นจึงไม่อาจร่วมมีบทบาทในการควบคุมได้

เป็นที่ยอมรับกันอยู่ว่าอุตสาหกรรมรายใหญ่ๆ คือผู้ที่มีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่โรงงานเหล่านี้จะมีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของตนเอง ก่อสร้างขึ้นเพื่อจัดการกับน้ำทิ้งที่มาจากการผลิตก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ แม้ว่าอาจจะมีปัญหาในทางคุณภาพที่ไม่ถึงมาตรฐานบ้างแต่ก็ยังดีกว่าโรงงานขนาดเล็กลงมาซึ่งทิ้งกากเหลือของตนโดยไม่มีการดูแลแต่อย่างไร

แม้ว่าตามหลักความถูกต้องทางกฎหมายโรงงานทุกขนาดจะมีหน้าที่เช่นเดียวกันแต่ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงแล้ว การละเมิดของโรงงานระดับเล็กนี้ก็เป็นที่ "รู้ๆ กัน" อยู่โดยทั่วไปในวงของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาครัฐเอง แต่ก็นับเป็นเรื่องที่ "ทำอะไรไม่ได้" มากนัก

ข้ออ้างหลักสำหรับโรงงานที่ไม่ทำตามกฎหมายก็คือความไม่พร้อมทางด้านเงินทุน เนื่องจากในการจัดสร้างระบบบำบัดจะต้องใช้ทั้งที่ดิน เทคโนโลยีรวมถึงการจัดการเดินระบบและทั้งหมดก็ต้องใช้เงินซึ่งเท่ากับเพิ่มต้นทุนการผลิต

"ถ้าต้องสร้างโรงกำจัด สำหรับโรงงานขนาดกลางหรือเล็กแล้ว เขาเท่ากันมีโรงงานซ้อนโรงงานค่าใช้จ่ายจะสูงมาก ต้องใช้เทคโนโลยีซึ่งบางทีในการกำจัดใช้เทคโนโลยีสูงมาก สูงกว่าในกระบวนการผลิตที่ทำอยู่เสียอีก เช่น โรงงานชุบโลหะเหล็ก น้ำเสียของเขาจะประกอบไปด้วยโลหะจำนวนมาก ซึ่งถ้าจะบำบัดน้ำก็ต้องมีการเติมเคมี ไม่ใช่แบบธรรมดาที่เติมออกซิเจนหรือใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายก็เพียงพอแล้ว แบบนี้เขาก็ปฏิบัติไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องของความเลวร้ายอะไร แต่เป็นการพยุงธุรกิจของตนเองเอาไว้" ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมชี้แจงถึงความซับซ้อนของปัญหา

ความเป็นไปไม่ได้ดังกล่าวนี้คือภาวะที่เรียกได้ว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างแท้จริง โดยที่รัฐเองก็จำยอมต้องผ่อนผันให้มากกว่าที่จะเด็ดขาดลงไปทั้งนี้เพราะการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมก็ถือว่าเป็นนโยบายของรัฐในอีกด้านหนึ่งด้วย และนี่ก็คืออุปสรรคอีกประการหนึ่งในการที่จะจริงจังต่อการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

"พวกโรงงานขนาดกลางขนาดเล็กถึงกฎหมายบังคับให้ทำ มีบทลงโทษปิดโรงาน พวกนี้ก็บอกว่ายอมให้ปิด เขาเลือกที่จะเลิกกิจการถ้าจะต้องทำระบบบำบัดเองเพราะค่าลงทุนจะมากกว่ากำไรเขาพูดกันอย่างนี้" แหล่งข่าวนักอุตสาหกรรมกล่าว

ตามหลักการสากลเป็นไปได้ยากอยู่แล้วสำหรับการที่จะให้โรงงานระดับย่อมมีระบบบำบัดมลพิษของตนเอง ทางปฏิบัติที่ยึดถือกันอยู่ก็คือจะต้องใช้ระบบรวมแล้วโรงงานเป็นผู้จ่ายค่าบำบัดนั้นตามหลักการที่ว่า POLUTERS PAY PRINCIPLE

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามที่จะใช้แนวทางนี้เข้ามาบรรเทาปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังก้าวไปไม่ได้ไกลเท่าที่ควรเพราะสภาพของการตั้งโรงงานที่กระจัดกระจาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ได้วางระบบผังเมืองให้ดีตั้งแต่แรก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการวางท่อน้ำเสียหรือการขนส่งกากของเสียต้องสูงมากกว่าปกติ การจะตั้งโรงบำบัดรวมขึ้นสักแห่งหนึ่งจะหมายถึงเงินงบประมาณก้อนโต ซึ่งรัฐไม่มีความพร้อมในแง่นี้

ส่วนอีกวิถีทางหนึ่งที่พอจะทดแทนได้คือการให้เอกชนเข้ามาลงทุน ที่ผ่านมาก็มีการริเริ่มที่จะทำหลายครั้งแต่การเจรจาตกลงด้านผลตอบแทนก็หาจุดลงตัวไม่ได้ มาตรการที่จะเป็นหลักประกันด้านจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการยังคงไม่มี ขณะเดียวกันผู้ลงทุนก็ไม่อาจตั้งอัตราการบริการให้สูงได้เพราะจะยิ่งกระทบถึงจำนวนลูกค้า รวมทั้งรัฐบาลเองก็ไม่ยินยอมด้วย

"ความคิดที่ว่าใครเป็นผู้ก่อมลภาวะผู้นั่นต้องรับภาระ ไม่ใช่ของง่ายที่จะทำให้เป็นจริง จุดยากที่สุดคือ ต้นทุน คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องจะมองได้หลายแง่มุมมาก ยากที่จะชี้ชัดลงไป ในการผลิตสินค้าอย่างหนึ่งตั้งแต่ชั้นคิดค้น กระบวนการผลิต ผู้ใช้ทุกคนเกี่ยวข้องหมด ใครละจะเป็นผู้รับภาระ ผู้บริโภคก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน" ศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์ศานต์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษของสวล. ให้ความเห็น

ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียรวมที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมของไทยนั้นมีอยู่เพียงแห่งเดียวคือ ที่โรงงานปรับคุณภาพน้ำส่วนกลางของกรมโรงงาน ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2518 โดยรัฐบาลได้ใช้เงินจากกองทุนพยุงราคาน้ำตาลจำนวน 21 ล้านบาทเป็นงบประมาณ ทั้งนี้เนื่องจากในระหว่างปี 2515-2516 นั้นมีการระบายน้ำทิ้งเป็นจำนวนมากจากโรงงานน้ำตาลลงสู่แม่น้ำแม่กลองถึงขนาดที่ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำบริเวณนั้นเป็น 0 และเกิดภาวะเน่าเสียตลอดลำน้ำตอนล่าง

การถือกำเนิดขึ้นของโรงงานปรับปรุงคุณภาพน้ำแห่งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่งทั้งในแง่ของการก้ไขลำน้ำแม่กลองให้ดีขึ้นได้ และในแง่การจัดการที่รัฐสามารถเรียกเก็บเงินที่ใช้จ่ายไปคืนจากโรงงานต่างๆ ที่ระบายน้ำลงสู่โรงปรับคุณภาพน้ำได้ และในปัจจุบันกลุ่มโรงงานน้ำตาลก็เป็นผู้ดูแลโรงบำบัดนี้เองด้วยหลังจากที่กรมโรงงานต้องเป็นผู้บริหารงานอยู่นานถึง 10 ปี

ส่วนระบบการจัดการกากของเสียรวมก็มีอยู่เพียงแห่งเดียวเช่นกันคือ ศูนย์บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมแสมดำ ตั้งอยู่ในเขตบางขุนเทียนเกิดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ลงทุน เริ่มเปิดบริการตั้งแต่กลางปี 2531 ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท เอสจีเอส เอ็นไวรอนเมนทอลเซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนผู้เช่าช่วง

"การที่ทางโรงงานขนาดกลางกับขนาดเล็กทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่ทางกรมโรงงานต้องผ่อนผันให้ด้วย เจตนาดีว่าเขาไม่มีทางทำจริงๆ แต่ทีนี้พวกโรงใหญ่ ทำไปนานๆ ก็ชักท้อเหมือนกันไม่อยากเดินเครื่อง เพราะรู้สึกว่าถูกปล่อยให้ทำอยู่ฝ่ายเดียว เสียค่าก่อสร้างไปแล้วยังเสียค่าไฟอีกทุกๆ เดือน โดยบางครั้งโรงงานเล็นั่นก็อาจจะผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน เป็นคู่แข่งกัน แต่ต้นทุนกลับต่ำกว่ามาก ความไม่เป็นธรรมตรงนี้เป็นปัญหามาก รัฐบาลควรจะต้องประกาศให้ชัดเจน" สุจินต์ พนาปวุฒิกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท วอเตอร์ แอนด์ เอนไวรอนเมนท์ คอนซัลเต้นท์ จำกัดบอกเล่าถึงปัญหาที่โยงตามมาอีกอย่างเป็นลูกโซ่

นอกจากอุตสาหกรรมใหญ่จะมีข้อเกี่ยงงอนโดยอ้างอุตสาหกรรมเล็กแล้ว อุตสาหกรรมเล็กเองก็มีข้อเกี่ยงงอนโดยอ้างชุมชนอีกทอดหนึ่งเช่นกัน

ปัญหาที่ซับซ้อนทบกันในลักษณะนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยจะต้องหาทางออก เพราะถ้ามีเป้าหมายที่จะรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีก็ต้องควบคุมมลภาวะที่มาจากทุกแหล่ง ซึ่งแท้จริงแล้วทุกคนและทุกส่วนสร้างมลภาวะขึ้นมาด้วยกันทั้งสิ้น การจัดระบบบำบัดรองรับจึงถือว่าเป็นสาธารณปโภคตัวหนึ่ง เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องริเริ่มจัดให้มีขึ้น

แต่กรอบการบังคับของกฎหมายไทยก็ยังคงครอบคลุมไม่ถึงส่วนของชุมชนทั่วไป

"ถ้าผมเป็นจะประกาศเลยว่า หนึ่งโรงงานขนาดใญ่ต้องทำทุกแห่งถ้าตั้งอยู่นอกนิคม คือถ้าอยู่ในนิคมก็ไปเสียให้นิคมจำกัด แต่ถ้าเดี่ยวๆ จะต้องทำให้เรียบร้อย และสองพวกขนาดกลางขนาดเล็กที่อยู่กับชุมชนจะต้องผลักดันพร้อมกันเลย ทำทั้ง 2 ส่วน แบบนี้จะได้ไม่มีทางซัดกันอีก เสียทุกคนเหมือนกันหมด แต่ข้อที่จะต้องระวังก็คือ รัฐบาลต้องประกาศราคาออกมาให้ชัด บ้านอาศัยราคาหนึ่งแต่อาบอบนวดจะต้องอีกราคาหนึ่ง ให้เกิดความเป็นธรรมและชัดเจน" สุจินต์ พนาปวุฒิกุลเสนอแนวทาง

ตัวอย่างกรณีจังหวัดนนทบุรีบังคับให้ครัวเรือนต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย จนกระทั่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างขนานใหญ่ก็เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดซ้ำยังเป็นไปไม่ได้อีกด้วย ทั้งในแง่ของการที่ประชาชนจะยอมลงทุน และในแง่ของการสรรหาเทคโนโลยีมาใช้ และหากทางจังหวัดจะเข้มงวดจริงจังก็คงจะต้องคอยสอดส่องจับกุมผู้กระทำผิดกันมากมายทีเดียว

ปัญหาเรื่องเงินดูจะเป็นข้อติดขัดในทุกกระบวนการ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้เมื่อคิดเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตทั้งหมดจะมีสัดส่วนเป็นเพียงประมาณ 1-3% เท่านั้น

ปัญหาเรื่องเงินจึงไม่ได้ขึ้นกับปริมาณการจ่ายแต่อยู่ที่ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น ประกอบกับคนไทยยังไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมใหม่ที่ว่า สิ่งแวดล้อมที่ดีในยุคสมัยของการเป็นนิกส์นั้นต้องได้มาด้วยการจ่าย ลักษณะของการได้เปล่าหมดไปพร้อมๆ กับที่อุตสาหกรรมก้าวเข้าแทนที่เกษตรกรรมนั่นเอง

วัฒนธรรมใหม่นี้อาจจะต้องการเวลาในการหยั่งรากสักพักหนึ่งจนกว่าจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา

มิเช่นนั้นทางออกอีกทางหนึ่งก็คือการหันเข้าหาแนวความคิดใหม่ไปเลย นั่นคือเลิกแก้ปัญหาในแบบที่เรียกว่า END OF THE PIPE หรือการแก้ปัญหาที่ปลายท่อ แต่พยายามป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นเสียตั้งแต่แรกโดยไม่สร้างมลพิษขึ้นในกระบวนการผลิต

"ที่ภาคเอกชนจะสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้มีอยู่ 2 ทาง คือ หนึ่ง แนวทางที่เรียกว่า WASTEMINMIZATION และสอง WASTE PREVENTION คือ ถ้ามีมลภาวะเกิดขึ้นก็ต้องทำให้สะอาดก่อนที่จะปล่อยออกมาสู่ที่สาธารณะ หรือมิเช่นนั้นก็ใช้วิทยาการการผลิตที่ไม่ก่อมลภาวะเลยหรือก่อเพียงเล็กน้อยอย่างที่เรียกกันว่า CLEAN TECHNOLOGY" สราวุธ ชโยวรรณกล่าว

การตามแก้ปัญหาที่หมักหมมย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะทำเสร็จเพียงชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะปัญหานี้ไม่อาจจะแก้ที่ต้นตอด้วยการหันกลับคืนสู่สภาพสังคมลักษณะเดิมได้ ปรากฏการณ์และกระแสแห่งความตื่นตัวจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในขณะนี้นับได้ว่าเป็นเพียงขั้นจองการลองผิดลองถูกกับวิธีการต่างๆ เท่านั้นเอง ซึ่งหลายวิธีการอาจทำให้ยิ่งหลงทิศผิดทางมากขึ้นก็เป็นได้ (อ่านล้อมกรอบต่างชาติกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมไทย)

ทิศทางที่สวนกันระว่าเสถียรภาพของอุตสาหกรรมกับความคงอยู่ของภาวะแวดล้อมที่ดีนั้นเป็นเรื่องอันยากจะหาจุดประสานอยู่แล้ว การที่จะหวังเห็นสภาพแวดล้อมอันสวยงามให้กลับมาดังเดิมคงเป็นเรื่องที่ต้องวดหวังไปก่อน

อย่างไรก็ตามในภาวะที่ระดับความวิกฤตของปัญหาสิ่งแวดล้อมเองก็รุนแรงมาก อีกกระแสความตื่นตัวและตื่นกลัวของสังคมโดยรวมก็พุ่งสูงขึ้นแรงกดดันโดยธรรมชาติเช่นนี้ ย่อมไม่มีใครปฏิเสธและทัดทานได้ อย่างน้อย ณ วันนี้น้ำหนักของตาชั่งแห่งการให้ความสำคัญที่เอียงไปทางภาคอุตสาหกรรมโดยตลอดก็เริ่มถ่ายเทเปลี่ยนข้างแล้ว

…และนี่นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us