กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะ 8 แห่งอยู่ภายใต้การดูแลของกองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม
กทม. ได้แก่ สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนพระนคร สวนสราญรมย์ สวนสราญรมย์ สวนธนยุรีรมย์
สวนหลวงร.9 สวนน้ำบึงกุ่ม และสวนหนองจอก ส่วนอีก 1 แห่งคือ สวนคลองจั่นนั้นดูแลโดยการเคหะแห่งชาติ
ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีสภาพมลภาวะมากมายหลายด้าน ผู้คนใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในความรีบเร่ง-เคร่งเครียด
สวนสาธารณะคือความจำเป็นพื้นฐานประการหนึ่งที่จะต้องมีเพื่อรองรับการพักผ่อนหย่อนใจ
และเป็นสถานที่ออกกำลังกายสำหรับคนเมือง นั่นก็คือเพื่อประโยชน์ของสุขภาพทั้งทางจิตและทางการ
โดยเฉพาะกับคนระดับกลางและล่างที่ไม่มีกำลังซื้อหาการท่องเที่ยวตามสถานหย่อนใจต่างจังหวัด
ตามมาตรฐานที่ทางกองผังเมืองกำหนด โดยเฉลี่ยประชากรในกรุงเทพมหานคร 1,000
คนควรจะต้องมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจประมาณ 5 ไร่
ขณะนี้คิดรวมกันทุกแห่งแล้ว พื้นที่ของสวนสาธารณะในเขตกรุงเทพมีอยู่ประมาณ
1,600 ไร่เท่านั้น ในขณะที่จำนวนประชากรตามตัวเลขของทางการมีมากถึงกว่า 6
ล้านคน
"ตอนนี้ก็คือยังไม่เพียงพอ ยังต้องสร้างอีกมากเพราะว่าสวนสาธารณะถือว่าเป็นปอดของคนเมืองหลวง
ทางผู้บริหารก็มีนโยบายที่จะเพิ่มเสมอ ก็พยายามจะทำให้มากและดีด้วย เรียนตรงๆ
เลยว่า ถ้าหากมีที่ดินพร้อมทางกองสวนสาธารณะทำได้ทันที" ดำรง ริ้วเหลือง
ผู้อำนวยการกองสวนสาธารณะกล่าว
ปัญหาเรื่องที่ดินมีราคาแพงนับว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญของแผนการเพิ่มหรือขยายสวนสาธารณะ
เพราะในเขตกรุงเทพฯ ไม่มีที่ว่างเปล่าผืนใหญ่เหลืออยู่อีกแล้ว ส่วนใหญ่ล้วนมีเจ้าของครอบครองใช้สอยอยู่ทั้งสิ้น
ในการจะกำหนดพื้นที่ใดขึ้นมาเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่จึงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญหน้ากับผู้ใช้สอยประโยชน์อยู่ก่อน
แม้ว่าหน่วยงานของรัฐอาจจะทำการเวนคืนอย่างถูกต้องเป็นเรื่องเป็นราว ค่าเวนคืนนั้นก็เทียบกันไม่ได้กับมูลค่าของที่ดินในตลาด
ตลอดจนย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการหาที่อยู่แห่งใหม่ในเมืองหลวงอัดแออัดยัดเยียดหลังจากที่ต้องโยกย้ายออกไปจากที่อยู่เดิม
แต่การเพิ่งพื้นที่สวนสาธารณะก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมากด้วยเช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้นั้นความรุนแรงของภาวะมลพิษมีมากขึ้นผนวกกับกระแสแห่งการตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพและคุณภาพชีวิต
ยิ่งทำให้เสียงเรียกร้องหาสถานที่สงบร่มรื่นสีเขียวในท่ามกลางเมืองใหญ่ทวีความหนักแน่นมากขึ้น
ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ได้มีการวางแผนที่จะเพิ่มและปรับปรุงสวนสาธารณะขึ้นอีกประมาณ
8 แห่ง โดย 4 ใน 8 แผนงานคือ การปรับปรุงสวนสราญรมย์ การสร้างสวนสาธารณะริมน้ำป้อมพระสุเมรุ
สวนสาธารณะถนนรางน้ำ และสวนสาธารณะถนนรามอินทรา ทางกรุงเทพมหานครได้มีการจัดสรรงบประมาณเอาไว้แล้ว
ปัญหาในขั้นของการเวนคืนที่ดินทั้งที่ป้อมพระสุเมรุและที่ถนนรางน้ำนั้นเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมานาน
โดยที่ผู้อยู่อาศัยเก่าทั้ง 2 แห่งต่างก็ไม่ยอมรับแผนการของรัฐ ถึงไม่ได้มีการลุกฮือต่อต้านอย่างรุนแรงอะไร
อย่างเช่นกรณีของบางกะเจ้าแต่ก็ดื้อแพ่งไม่ยอมย้ายออก ทำให้การดำเนินการไม่อาจก้าวหน้าไปได้
ส่วนสวนที่ถนนรามอินทราไม่มีปัญหาก็เพราะว่า พื้นที่นั้นคือสถานที่ทิ้งขยะเก่าของกทม.
ก่อนที่จะย้ายไปยังอ่อนนุชเป็นที่ดินแห่งกองภูเขาขยะที่ไม่มีใครพิสมัย !
ก่อนปี 2530 กทม. มีสวนสาธารณะเพียง 5 แห่งเท่านั้น
สวนหลวง ร.9 สวนน้ำบึงกุ่ม และสวนหนองจอกถือกำเนิดขึ้นได้ในฐานะโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
60 พรรษา ซึ่งก็นับเป็นสิ่งที่ยังประโยชน์นานัปการให้กับประชาชนโดยส่วนรวม
ปี 2535 นี้เป็นวาระที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถจะทรงพระชนมพรรษาครบ
5 รอบเช่นเดียวกันและสวนสาธารณะแห่งใหม่ๆ ก็ได้รับการวางไว้เป็นโครงการเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นราชสักการะเฉลิมพระเกียรติแล้ว
แม้ที่ดินจะเป็นอุปสรรคใหญ่ในการสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ แต่การหายใจได้อย่างปลอดโปร่งของคนเมืองกรุงก็เป็นเรื่องจำเป็น