- วงการโทรทัศน์ไทยรอสัญญาณรัฐไม่ไหว ขอลุยเดินหน้าทีวีดาวเทียมเต็มตัว
- พลิกสื่อสีเทากลายเป็นสื่อทรงอิทธิพลในยุคดิจิตอลต่อทั้งภาคสังคม การเมือง และการตลาด
- ชี้กฎหมายล้าหลัง เชื่องช้า คือตัวถ่วงการเติบโตวงการทีวีไทยให้ตามหลังกระทั่งเวียดนาม
เวทีการสัมมนา "ปัจจุบันและอนาคตของเคเบิลและแซทเทิลไลต์" หรือ Now & Next Satellite ที่จัดขึ้นโดยกรุ๊ปเอ็ม และมายด์แชร์ กลุ่มเอเยนซียักษ์ใหญ่ในการให้บริการด้านสื่อโฆษณา และการลงทุนด้านการสื่อสารการตลาด ถือเป็นการรวมตัวกันของผู้เกี่ยวข้องกับอนาคตของสื่อทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี รอบด้าน นับตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐผู้ถือกฎหมาย เจ้าของสัมปทานเคเบิลทีวี สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย โอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี มีเดียเอเยนซี รีเสิร์ชเอเยนซี และเจ้าของสินค้าที่ให้ความสนใจในสื่อใหม่นี้
ประเด็นสำคัญของเวทีสัมมนา คือการร่วมกันเปิดทางสู่อนาคตของสื่อเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมในประเทศไทย สื่อที่ทั่วโลกเริ่มตื่นตัว โดยประเทศในภูมิภาคเอเชีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีสัดส่วนผู้ชมเคเบิลทีวีสูงถึงกว่า 90% เมื่อเทียบกับผู้ชมฟรีทีวีที่มีอยู่ไม่ถึง 10% แต่สำหรับในประเทศไทย จำนวนผู้ชมเคเบิลทีวี 2.5 ล้านครัวเรือน ถือเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของประชากรทั้งประเทศ ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงปากีสถาน เนื่องมาจากอุปสรรคนานาประการ โดยปัญหาใหญ่ที่สุดคือตัวบทกฎหมายที่จะเข้ามากำหนดขอบเขตในการทำธุรกิจ หลังจากพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา อนุญาตให้เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม สามารถโฆษณาได้ แต่ยังไม่มีผลสมบูรณ์ด้วยขาดกฎหมายลูก และขาดคณะกรรมการที่จะเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแล
แต่แม้อนาคตเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมในเมืองไทยดูเหมือนว่าจะยังคงมืดมนต่อไป แต่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสื่อที่เคยถูกมองว่าเป็นศูนย์รวมของสิ่งผิดกฎหมาย ตั้งแต่การให้บริการที่ขาดใบอนุญาต คอนเทนต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จนถึงเป็นช่องทางการโฆษณาสินค้าผิดกฎหมาย ให้กลายเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงมากขึ้น และเป็นสื่อทรงประสิทธิภาพในการสื่อสารทางการตลาดของสินค้าและบริการที่จะเข้าถึงลูกค้าอย่างตรงเป้า
ชี้ พ.ร.บ.วิทยุ-ทีวี 2551 เปิดช่องทีวีดาวเทียม - เคเบิลทีวี โฆษณาได้แล้ว
ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 28 กำหนดให้เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมสามารถมีโฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที โดยสามารถนำเวลาโฆษณาจากช่วงหนึ่งไปเพิ่มในช่วงเวลาใดๆ เกิน 6 นาทีได้ แต่เฉลี่ยตลอดทั้งวันจะมีโฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 5 นาที
กฤษณพร เสริมพานิช รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า แม้กฎหมายจะระบุให้มีการโฆษณาได้ แต่จำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.จัดตั้งอนุกรรมการขึ้นมากำหนดรายละเอียดเสียก่อน ซึ่งตามกฎหมายเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ขึ้นมาเป็นผู้ดูแล แต่เมื่อมีการแก้ไขมาใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 กลับกำหนดให้มีการรวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ เข้ากับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เป็น กสทช. แล้วจึงตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูแลในส่วนนี้ แต่วันนี้รัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการปรับโครงสร้างคณะกรรมการ กทช. ให้เป็น กสทช. ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงทำให้การตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูแลการโฆษณาทางเคเบิลทีวียังเกิดขึ้นไม่ได้
รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์กล่าวว่า เคเบิลทีวีคงสามารถมีโฆษณาได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แต่การที่ยังไม่มีผู้ควบคุมดูแลนั้น ผู้โฆษณาและเจ้าของสถานีต้องระมัดระวัง มีความรับผิดชอบต่อกฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายด้านอาหารและยา
ด้านวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เคเบิลทีวีในประเทศไทย ถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่สามารถมีโฆษณาได้ ส่งผลไปถึงการเติบโตของธุรกิจเคเบิลทีวีเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่เวลานี้ถือว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อกฎหมายเปิดให้สามารถโฆษณาได้ รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กทช.ที่จะต้องคณะอนุกรรมการจำนวน 22 คนขึ้นมารับผิดชอบดูแล ซึ่งขณะนี้มีรายชื่อคณะกรรมการจำนวน 16 คนที่เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการตามตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เหลืออีกเพียง 6 คนที่รัฐบาลจะเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า หากการเมืองไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ อีก
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท กล่าวว่า เมื่อกฎหมายเปิดกว้างและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ให้สามารถมีโฆษณาได้ จะส่งผลให้การแข่งขันจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาร่วมแข่งขัน เพราะกฎหมายอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นในธุรกิจนี้ได้ถึง 25% ช่องรายการจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะสามารถแบ่งงบโฆษณาราว 5-10% จากฟรีทีวีได้
นายกฯ เคเบิลมั่นใจธุรกิจรุ่ง คาด 5 ปีผู้ชมพุ่งถึง 10 ล้านครัวเรือน
เกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้ธุรกิจเคเบิลทีวีเติบโตได้ช้าเนื่องจากกฎหมายล่าช้า มิใช่ปัญหาด้านสภาพเศรษฐกิจ เพราะเมื่อพิจารณาจากการเติบโตของธุรกิจเคเบิลทีวีในต่างประเทศ ทั้งเวียดนาม และฟิลิปปินส์ที่สภาพเศรษฐกิจยังตามหลังประเทศไทย แต่กลับมีการเติบโตของธุรกิจเคเบิลทีวีที่สูงกว่าเมืองไทย ซึ่งเมื่อกฎหมายเปิดให้สามารถโฆษณาได้ เชื่อว่าจำนวนผู้ชม 2.5 ล้านครัวเรือนในวันนี้ จะเพิ่มเป็น 5 ล้านครัวเรือนภายในเวลา 2 ปี และเพิ่มเป็น 9-10 ล้านครัวเรือนภายในเวลา 5 ปี
"บทบาทของเคเบิลทีวีที่มีต่อสังคมไทยเริ่มเด่นชัดมากขึ้น วันนี้ ASTV แสดงให้เห็นว่ายิ่งใหญ่เพียงใดในการทำให้ตลาดจานดาวเทียมเติบโตอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ชมในเขตกรุงเทพฯที่มีอยู่ราว 3 แสนครัวเรือน เชื่อว่าอีกราว 2-3 ปีจะสามารถเติบโตทันทรูวิชั่นส์แน่นอน"
นายกสมาคมเคเบิลทีวีฯ กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของเคเบิลทีวีที่เคยถูกมองเป็นสื่อสีเทา ที่รวมของสิ่งผิดกฎหมายถูกลบล้างหมดสิ้นแล้ว วันนี้สมาคมฯ จึงเดินหน้าเพื่อสร้างความเติบโตให้ธุรกิจ มีการดำเนินการทั้งในกรุงเทพฯ และกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ โดยในส่วนกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นจุดที่เป็นปัญหามาโดยตลอด เวลานี้กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้สามารถพาดสายเคเบิลได้ทั่วทั้งจังหวัด เสริมด้วยการเช่าสายไฟเบอร์ออฟติกในการส่งสัญญาณ จะช่วยให้ตลาดเคเบิลทีวีในกรุงเทพฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว เพิ่มขึ้นได้ราวเท่าตัวได้แน่นอน ขณะที่ในส่วนภูมิภาค มีการรวมกลุ่มผู้ให้บริการในเขตจังหวัดชลบุรีจำนวน 16 รายให้เป็นรายเดียว ดูแลสมาชิกกว่า 2 แสนครัวเรือน เสริมศักยภาพธุรกิจเคเบิลทีวีให้แข็งแกร่งขึ้น
"ธุรกิจเคเบิลทีวีต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพการบริการ เพราะหากเมื่อสามารถมีโฆษณาหารายได้ จะดึงดูดให้ต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา หากผู้ประกอบการในประเทศไม่มีความเข้มแข็ง เชื่อว่าจะมีสภาพไม่ต่างจากร้านโชว์ห่วยที่ล้มหายตายจากในวันนี้"
นอกจากนั้นหากเคเบิลทีวีสามารถโฆษณาได้ ก็จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถเข้าหาแหล่งเงินทุนเพื่อยกระดับคุณภาพขึ้นได้ รอเพียงกฎหมายคลอดออกมาดูแล มั่นใจว่าคุณภาพของเคเบิลทีวีที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ จะไม่ต่างไปจากทรูวิชั่นส์
"เคเบิลทีวีคือวิวัฒนาการของสื่อแห่งอนาคต โทรทัศน์สามารถออกอากาศได้มากถึง 200-300 ช่อง ที่มีความชัดเจนในกลุ่มผู้ชม ผมตั้งความหวังว่ากฎหมายจะออกมาเอื้อให้ธุรกิจเคเบิลทีวีเดินหน้าได้ โดยสมาคมเคเบิลทีวีฯ จะขอเป็นตัวนำ รัฐบาลเดินตามหลัง เชื่อว่าเราจะสามารถพัฒนาเคเบิลทีวีให้ทัดเทียมนานาประเทศได้แน่นอน"
ชี้อนาคตผู้ผลิตมืออาชีพไหลจากฟรีทีวี แนะเคเบิลท้องถิ่นเร่งพัฒนา สร้างจุดแข็ง
หากจะกล่าวถึงผู้บุกเบิกของสื่อทีวีดาวเทียมในเมืองไทย ต้องกล่าวถึงเครือเนชั่น และช่อง Nation Channel สถานีข่าวที่เริ่มออกอากาศตั้งแต่กลางปี 2543 นับถึงวันนี้รวมกว่า 8 ปี มีผู้ชมมากกว่า 3 ล้านครัวเรือน ผ่านสายตาผู้ชมถึง 12 ล้านคน อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ถึงวันนี้แม้ช่องทีวีดาวเทียมมีรวมกว่า 60 สถานี แต่ก็ยังมีช่องว่างให้สถานีใหม่ๆ ที่จะเจาะผู้ชมในกลุ่มนิชต่างๆ เกิดขึ้นได้อีกมาก อาทิ ช่องเกษตรกร, ช่องละครไทย, ช่องไอที, ช่องจราจร, ช่องติวสำหรับนักเรียนระดับมัธยม, ช่องกรุงเทพฯ, ช่องออกแบบตกแต่งบ้าน ฯลฯ
ในส่วนของผู้ผลิตรายการ อดิศักดิ์ ชี้ว่า พ.ร.บ.วิทยุและโทรทัศน์ฉบับ 2551 นี้ จะมีกฎหมายที่กำหนดให้เจ้าของสถานีของสถานีโทรทัศน์ 3, 5, 7, และโมเดิร์นไนน์ ต้องผลิตรายการเองส่งผลให้ผู้ผลิตรายย่อยต้องหลุดออกจากผังรายการ จุดนี้จะเป็นโอกาสให้กับค่ายเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ซึ่งทางสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายการอิสระรวมกลุ่มกันมาเปิดช่องใหม่ในเคเบิลทีวี ซึ่งมั่นใจในศักยภาพได้ว่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีไม่แพ้ผู้ผลิตรายใหญ่
"วันนี้โมเดิร์นไนน์ ได้เริ่มขยายสัดส่วนรายการที่ผลิตขึ้นเองมากขึ้น ขณะเดียวกันทาง ททบ.5 ก็กำลังเตรียมการอยู่ ผู้ผลิตรายย่อย และผู้ผลิตอิสระ จะต้องหาช่องทางใหม่ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาคอนเทนต์ของเคเบิลทีวีให้มีคุณภาพทัดเทียมฟรีทีวี"
อดิศักดิ์ยังกล่าวถึงเคเบิลทีวีตามท้องถิ่นต่างๆ ว่า ควรเร่งพัฒนาคอนเทนต์ที่ผลิตในท้องถิ่นของตน และเพิ่มศักยภาพทีมผู้ผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อสร้างจุดแข็งของตนในพื้นที่ โดยคอนเทนต์ที่ควรจะพัฒนาขึ้น ประกอบด้วย ช่องข่าวท้องถิ่นสำหรับชุมชน, ช่องกิจกรรมท้องถิ่นบริการชุมชน, ช่องข่าวธุรกิจ SMEs-OTOP ท้องถิ่น, ช่องบันเทิง และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยคอนเทนต์ต่างๆ เหล่านี้ควรวางรูปแบบโดยการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตรายการร่วมกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นนั้น ๆ
ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างความแข็งแกร่งในระดับท้องถิ่นให้กับเคเบิลทีวีท้องถิ่นแล้ว ในส่วนกลาง อดิศักดิ์กล่าววว่า ในอนาคตผู้ให้บริการเคเบิลทีวีอาจมีการรวมกลุ่มกันเพื่อซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูงจากต่างประเทศ เช่น ภาพยนตร์แข่งกับทรูวิชั่นส์ แน่นอน หากผู้ให้บริการเหล่านี้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะเมื่อสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้
ทีวีดาวเทียม สื่อ Blue Ocean "ชาลอต" มั่นใจ พา "มีเดียฯ" ทุ่มสุดตัว
อีกหนึ่งผู้ให้บริการสถานีทีวีดาวเทียมรายแรกๆ ของประเทศไทย มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ในยุคที่ยุวดี บุญครอง เป็นหัวเรือขับเคลื่อน เคยสร้างความฮือฮาด้วยการเปิดช่อง T-Channel สถานีเพลงลูกทุ่งเต็มรูปแบบขึ้น แม้ตลาดเพลงลูกทุ่งจะมีฐานผู้ฟังที่กว้างใหญ่ทั่วประเทศ แต่สุดท้ายเมื่อเปลี่ยนถ่ายสู่ยุค ชาลอต โทณวนิก อดีตแบงเกอร์หญิงแนวหน้าของเมืองไทยที่เชี่ยวชาญด้านการเงินสูง เข้ามาดูแล มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ก็ยอมทิ้งเงินลงทุนไปราว 150 ล้านบาท ยุติการทำหน้าที่เป็นโอเปอเรเตอร์ช่อง T-Channel ด้วยเหตุที่มองไม่เห็นอนาคตของธุรกิจที่ไม่สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ แปลงสภาพเป็นการรับจ้างผลิตช่อง T-Channel ให้กับทรูวิชั่นส์ แต่วันนี้เมื่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ ชาลอต จึงรวบรวมทีมงานและคอนเทนต์จากพันธมิตรทางธุรกิจ อย่างช่อง 7 สี และดึงทีมข่าวจากอดีตกองบรรณาธิการข่าวไอทีวีบางส่วน เปิดสถานีทีวีดาวเทียมขึ้นอีกครั้ง
ชาลอต โทณวนิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดีย จำกัด กล่าวว่า วันนี้โอเปอเรเตอร์ทีวีดาวเทียมสามารถอยู่รอดและสร้างโอกาสเติบโตได้จากการหาโฆษณา รวมเป็นถึงจัดกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ได้ ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าทีวีดาวเทียมจะสามารถเติบโตได้อีกมาก เพราะรูปแบบการออกอากาศที่ส่งสัญญาณไปยังผู้ให้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่น ทำให้มีจำนวนผู้ชมทั่วประเทศมากถึง 2.5 ล้านครัวเรือน รวมถึงลักษณะการออกอากาศช่องทีวีดาวเทียมแต่ละช่องที่มีคอนเซปต์ชัดเจน เช่น ช่องข่าว ช่องเพลง ช่องหนัง หรือช่องวาไรตี้ ทำให้สามารถเห็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนกว่าฟรีทีวีที่มีการวางผังรายการหลากหลายในแต่ละวัน
"นี่คือสื่อ Blue Ocean ที่ยังมีผู้เข้ามาไม่มาก จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่นักการตลาดจะนำสินค้าหรือบริการของตนเข้ามาเจาะหาลูกค้าในสื่อนี้ ต้นทุนการใช้สื่อที่ถูกกว่าฟรีทีวีมาก แต่สามารถวางกลยุทธทางการตลาดได้หลากหลาย ตั้งแต่การเจาะลงเป็นพื้นที่ใดเฉพาะ หรือจะคิดรูปแบบรายการให้ตรงกับตัวสินค้า แม้ในอนาคตรัฐจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล วางกรอบการโฆษณา แต่ก็เชื่อว่ากฎเกณฑ์การโฆษณาของสื่อนี้ จะเปิดให้ทำได้มากกว่าฟรีทีวี"
แต่แม้จะเป็นสื่อที่มีแนวโน้มสดใส แต่ชาลอตก็ยังมองว่า ข้อด้อยของสื่อทีวีดาวเทียมคือประชาชนทั่วไปยังไม่มีความเข้าใจในสื่อใหม่นี้ ทั้งการจะรับชมได้อย่างไร ต้องเป็นสมาชิก หรือซื้ออุปกรณ์ใด ซึ่งโอเปอเรเตอร์ทุกค่ายต่างพยายามออกไปสร้างความเข้าใจให้กับตลาดผู้ชม นอกจากนี้ในส่วนของการโฆษณา มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ก็จะทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ให้กับโอเปอเรเตอร์ทุกรายในการหาโฆษณา หากเจ้าของสินค้าหรือบริการมีความสนใจลงโฆษณาในช่องทีวีดาวเทียมช่องใด หรือเคเบิลทีวีรายใด ไม่มีช่องทางในการติดต่อกับผู้ให้บริการเหล่านั้น ก็สามารถดำเนินการผ่านมีเดีย ออฟ มีเดียส์ได้ ถือเป็นการกระตุ้นตลาดให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นอีกทาง
ทรูวิชั่นส์ เปิด 15 ช่องรับโฆษณา เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้มีกำลังซื้อกลาง-สูง
หนึ่งผู้เล่นในธุรกิจทีวีดาวเทียมที่จะกล่าวข้ามไปไม่ได้ คือค่ายเคเบิลทีวีรายใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ทรูวิชั่นส์ ที่ได้รับผลดีจากพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ว่าด้วยการโฆษณาทางเคเบิลทีวี และแซทเทิลไลท์ทีวี สามารถทำการโฆษณาได้ชั่วโมงละไม่เกิน 6 นาที แต่เฉลี่ยทั้งวัน 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 5 นาที ต่อชั่วโมง ถือเป็นความสำเร็จของข้อเรียกร้องที่ผู้บริหารของค่ายโทรทัศน์บอกรับสมาชิกแห่งนี้พยายามผลักดันมาเป็นเวลาหลายปี
ความพยายามในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ บริการที่ถูกมองว่าเป็นสินค้าพรีเมียม ค่าบริการเดือนละหลักพันบาท ทำให้หาสมาชิกได้ไม่ง่ายนัก ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลซื้อลิขสิทธิ์รายการชั้นดีจากต่างประเทศ ทั้งภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ด การแข่งขันฟุตบอลลีกใหญ่ในยุโรป ทั้งพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ลาลีกา สเปน กัลโช่ ซีรีส์เอ อิตาลี ฯลฯ เพื่อดึงดูดให้จำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น แต่ความพยายามเหล่านี้ก็สร้างฐานสมาชิกได้เพียงหลักแสนครัวเรือน ซึ่งลำพังจำนวนสมาชิกหลักแสนราย คงไม่เพียงพอ ทรูวิชั่นส์ หรือยูบีซีจึงร้องขอให้มีโฆษณามาโดยตลอด เพื่อนำเงินส่วนนี้มาสนับสนุนในการลงทุนซื้อคอนเทนต์รายการดี ๆ มาเสนอแก่สมาชิก
แต่วันนี้สมาชิกทรูวิชั่นส์ที่เคยมีจำนวน 500,000 - 600,000 ราย เพิ่มขึ้นมาเป็น 1,300,000 ราย คิดเป็นจำนวนผู้ชมราว 5 ล้านคน จากการคอนเวนเจนซ์ทางธุรกิจกับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทรูมูฟ ที่ดำเนินการมากว่า 1 ปี และเมื่อกฎหมายเปิดให้สามารถโฆษณาได้ ทรูวิชั่นส์ จึงค่อนข้างมีความพร้อมในการเปิดช่องทางรองรับโฆษณาที่จะเริ่มหลั่งไหลเข้ามา
ธนสร จิรายุวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายขายโฆษณาและสปอนเซอร์ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ตลาดผู้ชมทรูวิชั่นส์ มีความชัดเจนในเชิงการตลาดว่า เป็นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ รายได้สูง และมีการศึกษา โดยจุดเด่นของสื่อเคเบิลทีวีที่แตกต่างจากฟรีทีวี คือ การใช้ความถี่ เพราะเป็นที่ยอมรับว่าจำนวนผู้ชมของทรูวิชั่นส์คงไม่มีทางมากเท่าฟรีทีวี แต่พื้นฐานของเคเบิลทีวี คือความถี่ของการนำเสนอ การรีรันคอนเทนต์รายการในแต่ละวัน แต่ละเดือน ที่จะทำให้โอกาสกลุ่มเป้าหมายจะเห็นโฆษณาใด ๆ มีบ่อยครั้งกว่า ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า กลุ่มเป้าหมายจะเห็นโฆษณา
ธนสร กล่าวว่า ทรูวิชั่นส์กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับ อสมท เจ้าของสัมปทาน เพื่อได้ข้อสรุปในรายละเอียดของการมีโฆษณาในรายการของทรูวิชั่นส์ โดยการเตรียมการกำหนดไดเรคชั่นเพื่อรองรับการโฆษณา จะเน้นไปที่คอนเทนต์ที่เหมาะสมหรับผู้ชมคนไทย ประกอบด้วย 3 กลุ่ม Thai Taste, Thai Fever และ International in Thai Style
"Thai Taste ในวันนี้คือรูปแบบรายการเรียลลิตี้โชว์ที่ถูกปลุกความนิยมได้สูงสุดจากอะคาเดมี แฟนเทเซีย ทรูวิชั่นส์จะมีการนำเสนอรายการเรียลลิตี้โชว์อีกหลายรูปแบบให้กับผู้ชม ขณะที่ Thai Fever เป็นเรื่องแฟชั่นที่ผู้ชมชาวไทยชื่นชอบ ซึ่งในเวลานี้คงไม่มีคอนเทนต์ใดจะยิ่งใหญ่กว่าฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และ International in Thai Style รายการภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งจากฮอลลีวู้ด พากย์ไทย ในช่อง True Movie Hits ที่จากการสำรวจพบว่า เป็นช่องที่ได้รับความนิยมสูงสุด เช่นเดียวกับช่อง True Inside ช่องบันเทิง ก๊อสซิป ที่ได้รับความนิยมสูงรองลงมา 3 กลุ่มนี้ จะเป็นจุดขายในการมองหากลุ่มเป้าหมายของการโฆษณา"
โดยทรูวิชั่นส์เตรียมเปิดโฆษณาในเฟสแรกจำนวน 15 ช่อง ซึ่งล้วนเป็นช่องที่ผลิตขึ้นเอง ประกอบด้วย 3 ช่องภาพยนตร์ และซีรีส์ 5 ช่องกีฬา 4 ช่อง สารคดีและรายการเด็ก และ 3 ช่องเอนเตอร์เทนเมนต์ ที่มั่นใจว่าสามารถเจาะเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายที่เจ้าของสินค้าและบริการต่าง ๆ มองหา
สำหรับเฟสต่อไปทรูวิชั่นส์จะเปิดโฆษณาสู่ช่องอินเตอร์ เช่น AXN, Cartoon Network, Discovery และ CNN ในอนาคต
เจ้าของสินค้ามั่นใจศักยภาพเจาะภูธร แต่ลังเลไร้กฎหมายควบคุม
มุมมองของเจ้าของสินค้าต่อสื่อทีวีดาวเทียม กัลยาณี อู่เจริญ Department Head- Happy Marketing Communications บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็น คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า บริการแฮปปี้ ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าประเภทเติมเงิน มีฐานลูกค้าในต่างจังหวัดมีจำนวนมาก ทำให้ดีแทคต้องสื่อสารถึงลูกค้าในต่างจังหวัดอยู่เป็นประจำ ปัจจุบันมีเพียงสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น วิทยุท้องถิ่น และป้ายโฆษณา ที่ล้วนมีศักยภาพไม่เท่ากับสื่อทีวี แต่การใช้สื่อทีวีจากส่วนกลางคงไม่คุ้มค่า การใช้สื่อเคเบิลทีวีถือเป็นสื่อที่น่าสนใจ
"การทำตลาดของแฮปปี้จะเน้นการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่นในอดีตเราเคยลอนช์ซิมม๋วนใจ๋ เฉพาะเขตจังหวัดภาคเหนือ หากสามารถใช้สื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่ครอบคลุมได้ถึง 18 จังหวัด โดยใช้งบประมาณไม่ถึงล้านบาท ถือว่าคุ้มค่ามาก นอกจากนั้นการโฆษณายังสามารถทำได้ในลักษณะอินเตอร์แอคทีฟ โดยจัดกิจกรรมร่วมกับช่องเคเบิลทีวีนั้นๆ ช่วยให้เราวัดฟีดแบ็กได้เป็นอย่างดี"
แม้เคเบิลทีวีท้องถิ่นจะเป็นสื่อที่น่าสนใจ แต่กัลยาณี ก็ยังมองว่า คงเป็นสื่อทางเลือกที่ต้องพิจารณากันมากกว่าสื่ออื่นๆ เนื่องจากปัญหาที่ยังไม่มีกฎหมายเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ ซึ่งในแง่เจ้าของสินค้าเองก็มีความกังวลว่า หากดำเนินการใด ๆ ไปอาจล้ำเส้นกฎหมายไป สร้างผลเสียงให้กับแบรนด์สินค้าได้
ขณะที่ ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ในฐานะผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า หากกฎหมายเปิดกว้างให้กับสื่อทีวีดาวเทียม นักการตลาดที่ดูแลสินค้าหรือบริการต่างๆ จะมีโอกาสในการใช้สื่อนี้ส่งเสริมแบรนด์ของตนได้เป็นอย่างดี บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ยูนิลีเวอร์ สามารถเปิดช่องทีวีดาวเทียมของตนขึ้นได้ สร้างเป็นรายการเกมโชว์ หรือละครซิทคอม ที่ผูกเรื่องกับการใช้สินค้าของตน
อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐกิตติ์ มองว่า ในมุมมองของนักการตลาดสื่อฟรีทีวียังจะเป็นสื่อหลักต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี ส่วนสื่อทีวีดาวเทียมจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ดีของนักการตลาดในอนาคตที่สามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างเฉพาะเจาะจงกว่าสื่ออื่น ๆ
ด้านมุมมองของมีเดีย เอเยนซี สุภาณี เดชาบูรณานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร และผู้อำนวยการกลุ่มกลยุทธ์การค้าและการลงทุนสื่อ กรุ๊ปเอ็ม กล่าวว่า แม้แนวโน้มสื่อเคเบิลทีวีจะเติบโตขึ้น ปรับภาพพจน์จากสื่อสีเทาให้กลายเป็นสื่อที่ได้รับการยอมรับจากผู้ชม และนักการตลาดได้ แต่เคเบิลทีวีคงไม่ได้แย่งผู้ชมจากฟรีทีวี รวมถึงคงไม่สามารถแย่งเม็ดเงินโฆษณาจากฟรีทีวีได้
"ในแง่การใช้เป็นสื่อด้านการตลาดของเคเบิลทีวี จะอยู่ที่การมองเป้าหมายของการใช้สื่อ มากกว่าจะทำหน้าที่สื่อสารวงกว้างเหมือนฟรีทีวี โดยในอดีตที่เคเบิลทีวียังไม่มีบทบาท การเข้าถึงเป้าหมายใดๆ มักจะมุ่งไปที่การจัดอีเวนต์ หรือการใช้สื่อวิทยุในท้องถิ่น แต่เมื่อเคเบิลทีวีมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ก็จะเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง"
สุภาณีกล่าวว่า การคาดการณ์ของกรุ๊ปเอ็ม อัตราการเข้าถึงของเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมในประเทศไทยในเวลานี้อยู่ราว 15% ของจำนวนครัวเรือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 25% ในเร็วนี้ โดยธุรกิจเคเบิลทีวีจะเติบโตได้ในอัตรา 50-100% และปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีการใช้เม็ดเงินในสื่อนี้ราว 100 ล้านบาท
|