รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาการลักลอบซื้อทองคำเถื่อนด้วยการลดภาษีนำเข้าทองคำจาก
35% เหลือ 5% และประกาศยกเลิกคลังทองคำและระบบการนำเข้าแบบผ่านคลังทองคำที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เพื่อที่จะเข้าสู่วิธีการนำเข้าทองคำในลักษณะที่เสรีมากขึ้นการดำเนินนโยบายครั้งนี้ไม่ได้เป็นผลดีแก่ผู้ผลิตรายย่อย
เพราะยิ่งจะเพิ่มภาระต้นทุนการผลิตมากขึ้น วิธีง่าย ๆ ที่จะลดต้นทุนการผลิตของพวกเขาก็คือกลับไปสู่วัตถุดิบนอกระบบ
ส่วนผู้ผลิตรายใหญ่นั้นไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เพราะไม่ได้อยู่ในระบบนี้อยู่แล้ว
จำนวนทองคำที่ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทยในปี
2533 มีประมาณ 85,500 กิโลกรัมหรือ 85.5 ตันตามรายงานของ GOLD FIELDS MINERAL
SERVICES LTD. ซึ่งจัดเป็นประเทศที่มีการใช้ทองคำมากเป็นอันดับ 7 ของโลก
และคิดเป็น 4.3% ของปริมาณการใช้ทองคำในการทำเครื่องประดับทั้งหมดของโลก
ตัวเลขนี้เป็นปริมาณรวมของการใช้ภายในประเทศและการผลิตเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ
ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยมีอุปสงค์ในด้านทองคำสูงมาก
แต่ปรากฎว่าตัวเลขนำเข้าทองคำที่รัฐบาลอนุมัติมีเพียง 25 ตันหรือ 25,000
กิโลกรัมเท่านั้น
ทองประมาณ 60,000 กิโลกรัมจึงเป็นทองคำนอกระบบที่มีการลักลอบนำเข้าอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
หากจะถามว่าทำไมจึงมีการลักลอบนำเข้ากันอย่างมากมายเช่นนี้ อาจเป็นคำถามที่เชยไปเสียแล้ว
แหล่งข่าวจากบริษัทนำเข้าทองรายหนึ่งกล่าวว่า "คนที่ซื้อทองนอกระบบแต่ไหนแต่ไรก็ยังคงซื้อทองนอกระบบต่อไป
โดยไม่สนใจกับการปรับปรุงมาตรการเรื่องภาษีหรือเรื่องคลังทองคำของทางการแต่อย่างใด
เขาทำของเขามาอย่างนี้จนยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้"
ประเด็นเรื่องความเคยชินต่อความสะดวกในการซื้อทองคำเถื่อน ไม่ได้สำคัญไปกว่าประเด็นเรื่องโครงสร้างภาษีของรัฐบาล
ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตเครื่องประดับและอัญมณี โดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อยหันไปซื้อทองคำเถื่อนกันมาก
ประเกียรติ นาสิมมา กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ.จี.ดี โกลด์ ดีลเลอร์ จก.และเป็นตัวแทนของสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับเปิดเผยว่า
"แม้ทางการจะลดภาษีสำหรับผู้นำเข้าทองคำลงเหลือ 0% ผมคิดว่าไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าทองคำได้
เพราะเมื่อเปรียบเทียบการเสียภาษีของผู้ผลิตโดยผ่านช่องทางต่าง ๆ จะพบว่าถึงแม้จะเป็นผู้ผลิตเพื่อขายในประเทศและเลือกซื้อทองจากผู้นำเข้าที่จดทะเบียนผ่านคลังทองคำ
ก็ยังต้องเสียภาษีการค้า 3.3% หากซื้อจากผู้นำเข้าจดทะเบียนแต่ไม่ผ่านคลังทองคำ
ต้องเสียภาษีหลายอย่างรวมกันประมาณ 8.3% เพราะผู้นำเข้าต้องผลักภาระภาษีนำเข้า
5% มาให้ผู้ซื้อด้วย"
โครงการสร้างภาษีแต่เดิม คำนวณภาษีนำเข้าทองคำไว้ 35% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงอย่างมาก
ๆ ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2534 ให้ลดภาษีตัวนี้ลงเหลือ
5% เท่านั้น
อันที่จริงกระทรวงการคลังมีความคิดที่จะยกเลิกไปเลย หรือคิดภาษีเป็น 0%
แต่กรมศุลกากรต้องการให้คงไว้ 5%
ผู้นำเข้ารับอนุญาตผ่านคลังทองคำ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการประกาศยกเลิกคลังทองคำและไม่ต่ออายุให้ผู้นำเข้าเหล่านี้
สามารถนำเข้าทองคำได้ตามโควต้าที่ได้รับจากกระทรวงการคลังโดยไม่ต้องเสียภาษี
ผู้ที่เป็นผู้จ่ายภาษีคือผู้ซื้อทองคำจากคลังทองคำซึ่งตั้งอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย
สำนักงานใหญ่ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อที่เป็นผู้ผลิตรายย่อย, รายใหญ่, ผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ
ต่างมีอัตราภาษีที่ต้องจ่ายอย่างไม่เท่าเทียมกัน
สำหรับผู้ที่ซื้อทองคำผ่านคลังทองคำ ในกรณีของผู้ผลิตเพื่อส่งออกไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
5% ส่วนผู้ผลิตในประเทศต้องเสียภาษีนำเข้า 5% นี้แล้วยังมีภาษีการค้าอีก
3.3% รวมแล้วประมาณ 8.3%
ภาษีการค้าตัวนี้จะถูกหักเก็บ ณ ที่จ่าย คือที่คลังทองคำ ธนาคารกรุงไทย
หมายความว่าผู้นำเข้ารับอนุญาต 3 รายที่คลังทองคำจะเป็นผู้เก็บภาษีตัวนี้
เมื่อลูกค้าต้องการ QUOTE ราคาทองจะมีให้ 2 ราคา คือราคาสำหรับผู้ผลิตเพื่อส่งออกซึ่งไม่มีภาษีทั้งนำเข้าและการค้าและผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศซึ่งจะบวกภาษีการค้าเข้าไปด้วย
ภาษีการค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศต้องเสีย 3.3% นี้คิดเป็นมูลค่ารวม
9,000-10,000 กว่าบาทแล้วแต่ราคาทองคำแท่งในแต่ละช่วงเวลา
ภาษีการค้าตัวนี้ในปีหน้าเมื่อมีการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเสียในอัตรา
7% แทนที่จะเป็น 3.3%
เท่ากับว่าปีหน้าผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศต้องเสียภาษีเพิ่มเป็น 12%
ภาษีมูลค่าเพิ่มตัวนี้ผู้ผลิตสามารถขอคืนได้ โดยผู้ที่จะมารับภาระแทนคือผู้บริโภคเท่ากับผู้ผลิตฯ
จะเสียแต่การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตัวนี้คงเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่ไม่น้อย
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกหรือเพื่อจำหน่ายในประเทศต่างก็มีอัตราภาษีที่ต้องเสียอยู่ดีแต่ถ้าซื้อนอกระบบแล้ว
เรื่องภาษีไม่ต้องพูดกัน
ผู้ผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศสามารถขอคืนภาษีได้ตามมาตรา 19 ทวิ แต่ก็มีกระบวนการที่ยุ่งยากไม่น้อย
และใช้เวลานานประมาณ 1-2 เดือนเป็นอย่างช้า
ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการซื้อทองคำจากคลังทองคำของทางการ
พ.ศ. 2534 ซึ่งนำมาใช้แทนระเบียบเมื่อปี 2532 นั้นมีการจำแนกผู้นำเข้าทองคำประเภทต่าง
ๆ ดังนี้
กลุ่มแรก ผู้รับอนุญาตให้นำทองคำเข้ามาจำหน่ายในคลังทองคำของทางการ หมายถึงตัวแทนจากสมาคมฯ
ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับซึ่งก่อน 15 ตุลาคมมีตัวแทนอยู่
3 รายคือ บ.เอ.จี. ดี โกลด์ ดีลเลอร์ จำกัด , บริษัท โกลด์ ยูเนียน จำกัด
และบริษัท พัฒนชาติ จำกัด กลุ่มนี้สามารถนำเข้าทองคำจากต่างประเทศมาขายได้หรือซื้อทองคำจากผู้รับอนุญาตฯ
รายอื่นได้
แต่ตอนนี้อายุสัญญาหมดลงแล้วและกระทรวงการคลังไม่ต่อสัญญาใหักับตัวแทนจำหน่ายทั้ง
3 รายนี้อีกต่อไปและอนุญาตให้มีการจำหน่ายทองคำ ณ คลังทองคำของทางการถึงวันที่
14 พฤศจิกายน 2534 เท่านั้น
เท่ากับว่าผู้รับอนุญาตนำเข้า 3 รายนี้ไม่สามารถนำเข้าผ่านคลังทองคำได้อีกต่อไป
แต่จะไม่มีผู้รับอนุญาตนำเข้าในกลุ่มนี้อีก
กลุ่มสอง ผู้ใช้ทองคำเพื่อผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าต่อกรมศุลกากร
ผู้ใช้ทองคำฯ กลุ่มนี้สามารถซื้อทองคำได้จากคลังทองคำของทางการ หรือซื้อจากต่างประเทศได้โดยตรงโดยปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าของกรมศุลกากร
กลุ่มสาม ผู้ใช้ทองคำเพื่อผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
กลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกับกลุ่มสอง คือสามารถซื้อทองจากต่างประเทศได้โดยตรง
และให้ปฏิบัติตามข้อบังคับของพรบ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522
กลุ่มสี่ ผู้ใช้ทองคำเพื่อผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งไม่ได้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ
และไม่ได้อยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก กลุ่มนี้ค่อนข้างมีระเบียบบังคับอยู่หลายประการ
คือ
- ไม่สามารถนำเข้าได้ด้วยตัวเอง
- จะต้องซื้อทองคำจากคลังทองคำของทางการ
- ต้องมีหลักประกันมาวางตามสัญญาประกันที่ทำกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- ทองคำที่ซื้อไปจากคลังทองคำของทางการ ต้องนำไปผลิตและส่งออกให้เสร็จสิ้นภาย
ใน 6 เดือนหรือไม่เกิน 1 ปี
- ต้องคำนวณปริมาณทองคำที่ส่งออกตามสูตรของกรมศุลกากร
- ต้องแจ้งรายการการซื้อและการส่งออกต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลังทุก 3 เดือน
กลุ่มห้า ผู้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายภายในประเทศหรือผู้ใช้ทองคำเพื่อการอื่น
แบ่งเป็น
ประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งมีระเบียบคล้ายกลุ่มสี่คือไม่สามารถซื้อจากต่างประเทศได้โดยตรงให้ซื้อจากผู้รับอนุญาตนำเข้าฯ
ผ่านคลังทองคำของทางการ ดดยแสดงหลักฐานหรือแจ้งวัตถุประสงค์ในการซื้อต่อผู้ขายและเจ้าหน้าที่คลังทองคำของทางการทุกครั้ง
ผู้ซื้อในกลุ่มสอง และสาม คือผู้ใช้ทองคำที่ค่อนข้างมีเงินทุนพอสมควรสามารถตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ
ได้หรือมีโรงงานอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก พวกนี้จัดเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งประมาณการว่ามีอยู่ราว
10 กว่ารายเป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ และมักจะนำเข้าทองคำมาใช้ทำากรผลิตเองแทนที่จะซื้อจากคลังทองคำของทางการผู้ผลิตในกลุ่มนี้ได้แก่บริษัทกลุ่มบิวตี้
เจมส์ ของพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล, แพรนด้าจิวเวลรี่ ของปรีดา เตียสุวรรณ, เอสเซ็กอินเตอร์เนชั่นแนล
จากสหรัฐฯ, บิจูร์ ดามูร์ ของสันติ โฮ เป็นต้น กลุ่มบริษัทเหล่านี้ถือเป็นรายใหญ่
จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอทุกราย
ผู้ผลิตรายใหญ่กลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยจากแนวโน้มการยกเลิกคลังทองคำของทางการแม้วาจะไม่มีทางเลือกที่จะซื้อจากคลังทองคำฯ
เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหาวัตถุดิบ แต่โดยปกติพวกเขาก็ไม่ได้ซื้อจากแหล่งนี้อยู่แล้ว
ส่วนผู้ผลิตรายย่อยคือกลุ่มสี่ซึ่งประมาณว่ามีอยู่ 300-400 ราย และกล่าวกันว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ซื้อทองคำนอกระบบมากที่สุดเพราะปัญหาเรื่องระเบียบที่เคร่งครัดรัดกุมข้างต้น
ทั้งนี้มีการจับกุมการซื้อทองคำนอกระบบได้หลายรายในช่วงปีที่ผ่านมา ในช่วงปี
2530 มีการจังทองแท่งักลอบนำเข้าได้ 45 กิโลกรัมมูลค่า 15.93 ล้านบาท ปี
2531 จับได้ 218.40 กิโลกรัมมูลค่า 104.98 ล้านบาท และเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม
2531- มิถุนายน 2532 จับได้รวม 223.73 กิโลกรัม
กรมศุลกากรรายงานด้วยว่าสถิติการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นที่มีการจับกุมได้
แรงจูงใจสำหรับผู้อาสาลักลอบนำเข้ามีอยู่ค่อนข้างสูง ผู้ลักลอบนำเข้ามาขายจะได้กำไรสูงถึงกิโลกรัมละ
200,000 - 300,000 บาท และการลักลอบเที่ยวหนึ่ง ๆ สามารถนำเข้ามาได้ประมาณ
10-20 กิโลกรัม
แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้นำเข้าทองคำได้อย่างถูกกฎหมาย และมีการจัดตั้งคลังทองคำของทางการขึ้น
ซึ่งช่วยให้โครงสร้างการซื้อขายทอคำเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับมีลักษณะที่แน่ชัดมากขึ้นกว่าเดิม
แต่มาตรการนี้ก็ไม่สามารถกำจัดการซื้อทองคำนอกระบบให้หมดสิ้นไปได้
ผู้ผลิตรายย่อยในกลุ่มสี่ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องภาษีและสัญญาประกันด้วย
ประเกียรติเล่าว่า "หากผู้ผลิตรายย่อยต้องการวัตถุดิบ 5 กิโลฯ เพื่อเอาไปทำการผลิต
จะต้องเอาภาษีของทองคำ 5 กิโลฯ ไปวางแล้วเอาทองมาผลิต เมื่อส่งออก 5 กิโลฯ
จึงจะขอคืนภาษีได้ ระยะการขอคืนอยู่ระหว่าง 1-2 เดือน ซึ่งผู้ผลิตคงจะรอไม่ได้เพราะการค้าต้องดำเนินไปตลอด
เรื่องเงินค้ำประกันนี่เป็นปัญหามากทีเดียว"
ภาษีตัวนี้คือภาษีนำเข้า 5% ซึ่งสามารถขอคืนได้ในภายหลังแต่ใช้เวลานานและมีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน
นี่เป็นกรณีสำหรับผู้นำเข้าเพื่อใช้ทองคำเป็นวัตถุดิบในการผลิตและส่งออก
นอกจากนี้ยังมีหลักประกันตามสัญญาประกันกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคือหนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์ในวงเงิน
5% ของมูลค่าทองคำที่ผู้ผลิตรายย่อยจะซื้อจากคลังทองคำของทางการ
อารักษ์ รัตนนาม หัวหน้าแผนกคลังทองคำธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า "เดือนหนึ่ง
ๆ มีผู้ผลิตรายย่อยมาซื้อทองคำจากคลังทองคำไม่ต่ำกว่า 120 รายซื้อได้รายละตั้งแต่
1, 5, 10 และ 20 กิโลกรัมแล้วแต่ว่าจะได้รับอนุม้ติจากกระทรวงการคลังมาเป็นจำนวนเท่าไหร่"
เขายืนยันด้วยว่า "ที่ผ่านมาผู้ผลิตรายย่อยได้ใช้ประโยชน์จากการมีคลังทองคำของทางการอย่างมาก
ๆ ผู้ผลิตรายใหญ่ก็มีมาซื้อบ้าง แต่เป็นจำนวนน้อยหรือบางเดือนก็ไม่มีเลยตอนนี้คลังทองคำไม่มีทองคำเหลืออยู่อีกแล้ว
เพราะผู้นำเข้าทั้งสามรายต่างหมดสัญญากับกระทรวงการคลังแล้ว และกระทรวงฯ
ก็ยังไม่ได้ต่ออายุให้แต่อย่างใด"
อย่างไรก็ดี ที่คลังทองคำก็มีผู้ซื้อรายใหญ่เป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกที่มาซื้ออย่างสม่ำเสมอในจำนวนตั้งแต่
10-200 กิโลกรัม ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 ราย
อารักษ์กล่าวว่า "ตั้งแต่ตั้งคลังทองคำมายังไม่เคยมีปัญหากับฝ่ายใดเลย
ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบเรียบธนาคารฯ ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงการคลังทุกอย่าง"
ในการประกาศยกเลิกคลังทองคำ และระบบการนำเข้าทองคำผ่านคลังทองคำของทางการนั้น
กระทรวงการคลังยังไม่ได้แจ้งให้คลังทองคำที่ธนาคารกรุงไทยทราบ แม้แต่ 3 บริษัท
นำเข้ารับอนุญาตก็ยังไม่ได้รับการแจ้งโดยหนังสืออย่างเป็นทางการ
แหล่งข่าวในสมาคมค้าทองคำ สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ และสมาคมเพชรพลอยเงินทองต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า
"มาตรการของกระทรวงการคลังนี้จะทำให้ผู้ผลิตรายย่อยได้รับความเดือดร้อนกระทบกระเทือนหนัก"
สมาคมฯ ทั้งสามได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อสนับสนุนให้มีระบบคลังทองคำต่อไป
ก่อนที่จะมีการเปิดให้บริษัท MOCATTA&GOLDSMID จากอังกฤษเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าทองคำเพียงรายเดียวเมื่อเดือนมีนาคม
2531 นั้นรัฐบาลไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าทองคำมาเป็นเวลายาวนานถึง 8 ปี
ในช่วงนั้นอุตสาหกรรมส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเติบโตขึ้นอย่างมาก ๆ
ตั้งแต่ปี 2529 ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 13.16 พันล้านบาทเทียบกับปี
2528 ซึ่งมีมูลค่าอยู่เพียง 8.5 พันล้านบาท เท่านั้นความต้องการในเรื่องวัตถุดิบก็เพิ่มสูงตามขึ้นไปด้วย
แต่ในเวลานั้นรัฐบาลยังไม่ได้อนุญาตให้มีการนำเข้าทองคำขณะที่ความต้องการใช้ทองคำเพื่ออุตสาหกรรมส่งออกมีสูงมาก
จังหวะนี้เองที่กรมศุลกากรเริ่มรายงานการจับกุมผู้ลักลอบนำทองคำเข้ามาในประเทศได้
และตัวเลขการจับกุมก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณการใช้ทองคำและการส่งออกเครื่องประดับและอัญมณีที่ใช้ทองคำเป็นวัตถุดิบก็เพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ ด้วย
เมื่อมีการอนุญาตให้บริษัทโมคัตต้า (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทลูกอขง MOCATTA&GOLDSMID
ในประเทศนำเข้าทองคำได้เพียงรายเดียวนั้นปรากฎว่าต้องมีการแก้และร่างกฎหมายกันใหม่หลายฉบับเพื่อรองรับให้โมคัตต้าฯ
ดำเนินงานได้
โมคัตต้าต้องจำหน่ายทองคำภายใต้เงื่อนไขคลังทองคำของทางการคือบวกกำไรเข้าไปในราคาจำหน่ายทรอยออนซ์ละ
6 เหรียญสหรัฐ
นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้โมคัตต้าไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้จำหน่ายทองคำอย่างถูกต้องของทางการแต่เพียงรายเดียวในช่วงปี
2531-2532
เพราะราคาทองคำของโมคัตต้าจะสูงกว่าราคาตลาดโลกประมาณร้อยละ 1.6
ในช่วง 2 ปีที่ดำเนินการโมคัตต้าขายทองคำได้ประมาณ 2,000 กิโลกรัมเท่านั้น
ต่ำกว่าที่ขอโควต้าไว้อย่างมาก ๆ
แต่โมคัตต้าเองก็ม่สามารถขายได้ต่ำกวาราคาที่กระทรวงการคลังกำหนดคือบวกทรอยออนซ์ละ
6 เหรียญ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารของบริษัทด้วย
เมื่อสัญญาสิ้นสุดในปี 2532 ปรากฏว่าโมคัตต้าไม่ต่อสัญญา จึงเท่ากับยุติการเป็นการบริหารของบริษัทด้วย
เมื่อสัญญาสิ้นสุดในปี 2532 ปรากฏว่าโมคัตต้าไม่ต่อสัญญา จึงเท่ากับยุติการเป้นตัวแทนอย่างเป็นทางการรายเดียวไปโดยปริยาย
แหล่งข่าวในบริษัทนำเข้าฯ รายหนึ่งให้ความเห็นว่า "อุปสรรคอีกอย่างที่โมคัตต้าไม่ประสบความสำเร็จคือ
เป็นบริษัทต่างชาติซึ่งเพิ่งเข้ามาในเมืองไทยและไม่ค่อยคุ้นเคยกับพ่อค้า/ผู้ผลิตรายย่อยทำให้มีคนไปซื้อทองเป็นจำนวนน้อย"
โมคัตต้าแอนด์โกลด์สมิธเป็นบริษัทค้าทองคำและโลหะมีค่าที่เก่าแก่กว่า 300
ปีของอังกฤษ มีบทบาทเป็น MARKET MAKER ในตลาดโลหะมีค่าของลอนดอนที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก
ปัจจุบันบริษัทโมคัตต้าฯ อยู่ในเครือข่ายของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์หลังจากที่ซื้อโมคัตต้าฯ
มาจาก HAMBROS BANK เมื่อ 10 กว่าปีก่อน
หลังจากโมคัตต้าถอยออกไปแล้ว กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้สมาคมฯ ทั้งสามแห่งเข้ามาเป็นผู้นำเข้าทองคำรับอนุญาตแทน
โดยสมาคมฯ ได้แต่งตั้งบริษัทเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้
ประเกียรติเปิดเผยว่า "สมาคมฯ สามารถจำหน่ายทองคำผ่านคลังทองคำได้ตามเป้าหมายปีละ
16,000 กิโลกรัม เพราะสมาคมฯ ตั้งค่าเฉลี่ยของราคาทองคำสูงกว่าราคาตลาดโลกเพียงร้อยละประมาณ
0.6 เท่านั้น และแต่ละสมาคมฯ กำหนดนโยบายให้เพิ่มราคาซื้อขายกันไม่เกินทรอยออนซ์ละ
2.25 เหรียญสหรัฐบริษัทฯของสมาคมฯ ทำตัวเป็นเสมือนหนึ่ง NON PROFITUNIT"
จิรายุ อัสสานุวงศ์รองกรรมการผู้จัดการบริษัท พัฒนชาติ จำกัด กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "ผมไม่ทราบเหตุผลที่กระทรวงการคลังมีมาตรการยกเลิกคลังทองคำออกมาครั้งนี้
เลยการมีคลังทองคำเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตรายย่อยในแง่ที่ว่าเขาจะซื้อทองแท่งครั้ง
1 กิโลกรัม 5 หรือ 10 กิโลกรัมก็สามารถทำได้ มีบางรายมาซื้อวันละ 1 กิโลกรัมก็มีเพราะพวกเขาไม่มีทุนมาก
ๆ พอที่จะตุนทองคำไว้เองได้ ซึ่งการำทอย่างนั้นก็เสี่ยงต่อราคาผันผวนในตลาดโลกแต่การมีคลังทองคำนี่พวกเขาจะไม่มีความเสี่ยงตรงจุดนี้เลย"
ผู้ผลิตรายย่อยเหล่นี้ไม่มีเงินทุนมากพอที่ะจสั่งนำเข้าจากต่างประเทศได้โดยตรง
เพราะผู้ขายในต่างประเทศจะขายทองคำล็อตละ 100 กิโลกรัมขึ้นไป หากขายต่ำลงมาก็จะคิดค่าใช้จ่ายและราคาสูงมากเพราะถือว่าเป็นคำสั่งซื้อที่เล้ก
ทองคำ 100 กิโลกรัมมีมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งสมาคมเพชรพลอยเงินทองยืนยันว่าผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะจมทุนครั้งละมาก
ๆ เช่นนี้ได้เป็นแน่
สมาคมเพชรพลอยฯ อ้างด้วยว่าการยกเลิกคลังทองคำจะผลักดันให้ผู้ส่งออกเหล่านี้หันไปซื้อทองคำเถื่อน
มีผลทำให้ระบบบัญชีของบริษัทกระทำได้ไม่ถูกต้องเนื่องจากขาดหลักฐานใบเสร็จรับเงิน
จิรายุกล่าวอีกว่า "3 บริษัทนำเข้ารับอนุญาตไม่ได้ดำเนินการหากำไรจากผู้ที่มาซื้อทองคำ
เพราะราคาที่เราตั้งไว้เปลี่ยนแปลงตามราคาตลาดโลกจริง ๆ ส่วนที่เราได้คือจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินและส่วนลดจากผู้ขายในต่างประเทศซึ่งเราสั่งครั้งละมาก
ๆ "
อานนท์ กฤติยานนท์ เจ้าหน้าที่ของบริษัทโกลด์ยูเนี่ยน จำกัดเปิดเผยว่า
"การขายทองในตลาดบ้านเราไม่สามารถหากำไรได้เกิน 1% เราต้องตั้งราคาตามตลาดโลก
ผู้ซื้อจะโทรฯ เข้ามาเช็คว่าวันนี้ราคาเท่าไหร่ แล้วเขาก็จะโค้ดราคาจากเราไปทำการตกลงกับลูกค้าในต่างประเทศที่จะสั่งซื้อของ
หรือบางทีก็ให้ลูกค้าโทรฯ มาเช็คราคาจากเราโดยตรง หากเราตั้งราคาสูงเขาจะรู้และต้องสอบถาม
ราคาทองคำที่นี่เป็นราคาตลาดโลกไม่ใช่ราคาเยาวราช"
ในการเจรจาต่อรองสินค้าระหว่างผู้ผลิตในประเทศและผู้ซื้อต่างประเทศ นั้นปัจจัยที่กำหนดราคาซื้อขายมี
4 อย่างคือ ก) ราคาวัตถุดิบหมายถึงโลหะมีค่า พลอย เพชร ไข่มุก ข) ค่าแรงงาน
ค) ค่าบริหารและ ง) กำไรที่ผู้ซื้อกำหนดให้
ประเกียรติเล่าว่า "ผู้ซื้อต่างประเทศเป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดโลกอยู่แล้ว
มักจะรู้อัตราราคาต่าง ๆ ดีกว่าผู้ประกอบการรายย่อยของไทย โดยทั่วไปผู้ซื้อต่างประเทศกำหนดกำไรมาตรฐานไว้
2%-6% ของมูลค่าที่สั่งซื้อ"
ตามโครงสร้างนี้จึงเป็นไม่ได้ที่จะมีการกำหนดราคาทองคำขึ้นมาเอง เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ในการเจรจาต่อรองกับผู้ซื้อต่างประเทศ
การซื้อทองคำจากคลังทองคำยังสามารถรับรองเปอร์เซ็นต์ทองได้ว่า 99.9% แน่นอน
โดยบริษัทผู้ขายในต่างประเทศจะมีใบรับประกันเปอร์เซ็นต์ทองกำกับทองคำแต่ละแท่งมาให้
ซึ่งในวันที่ "ผู้จัดการ" ไปสัมภาษณ์นั้น อานนท์โชว์ใบรับประกันของ
CREDIT SUISSE ให้ดู
บรรดาสมาคมฯทั้งสามแห่งต่างกล่าวอ้างว่าการมีคลังทองคำซึ่งให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ผลิตรายย่อยและกำลังได้รับความนิยมจากผู้ผลิตโดยทั่วไปนั้น
ชักนำให้ผู้ผลิตเข้ามาสู่ระบบการผลิตการค้าที่มีโครงสร้างชัดเจนแน่นอนมากขึ้น
และกลังมีการขยายการใช้ทองผ่านคลังทองคำให้กว้างขวางออกไปด้วย
ประเกียรติไม่ได้ปฏิเสธว่าคลังทองคำไม่ใช่ตัวขจัดตลาดมืด เขากล่าวว่า "ตลาดมืดค้าทองและเงินนั้นมีอยู่ในทุกหนแห่งทั่วโลก
ประเด็นคือรัฐบาลจะใช้โครงสร้างอย่างไรที่จะทำให้แข่งขันกับตลาดมืดได้ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องไปค้าในตลาดมืดหากว่ามีอำนาจในการแข่งขันเท่าเทียมกัน"
ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมหรือการแข่งขันอย่างเสรีเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการคลังให้ความสำคัญอย่างมาก
ๆ มาตรการยกเลิกคลังทองคำและระบบการนำเข้าโดยผ่านคลังทองคำที่กำหนดขึ้นในครั้งนี้ก็เพื่อรองรับนโยบายนำเข้าทองที่มีลักษณะเสรีมากขึ้น
เนื่องจากการซื้อขายผ่านคลังทองคำได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า จึงเป็นข้อครหาว่ามีการปฏิบัติอย่างไรไม่เท่าเทียมกัน
แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังกล่าวว่า "มันเป็นนโยบายลงมาจากท่านรัฐมนตรี"
กองนโยบายการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กท. การคลังได้มีหนังสือแจ้งไปยังลูกค้าที่ซื้อทองคำผ่านคลังทองคำของทางการประมาณ
100 กว่ารายว่าหากมีความประสงค์จะใช้ทองคำต่อไปก็สามารถนำเข้าทองคำจากต่างประเทศได้โดยตรงโดยขอจดทะเบียนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
หนังสือนั้นได้ระบุด้วยว่าอัตราอากรขาเข้าของทองคำ (เฉพาะพิกัดประเภทที่
71.08) ได้ลดลงจากที่เคยจัดเก็บอยู่ร้อยละ 35 เหลือเพียงร้อยละ 5 และในกรณีที่เป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกสามารถขอคืนอากรได้ตามมาตรา
19 ทวิ
เท่ากับว่าต่อแต่นี้ไป ผู้นำเข้าทองคำจะต้องเสียภาษีนำเข้า 5% และภาษีการค้ารวมภาษีเทศบาล
3.3% ทุกทอดที่มีการซื้อขาย
กรณีที่เป็นผู้ส่งออกสามารถคืนภาษีนำเข้า 5% ได้ตามมาตรา 19 ทวิ
กระทรวงฯ ดูเหมือนจะมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องการจัดเก็บภาษีให้เท่าเทียมกันอย่างมากแหล่งข่าวในกระทรวงฯ
กล่าวด้วยว่าตอนนี้มีผู้มาจดทะเบียนขอนำเข้าทองคำแล้วประมาณ 50 ราย
สมาคมเพชรพลอยเงินทองอ้างว่าเมื่อมีการประกาศนโยบายทองคำเสรีนั้นได้มี
13 บริษัทจดเป็นผู้นำเข้า แต่ไม่มีบริษัทใดเลยที่ได้นำเข้าทองคำ เพราะเป็นเรื่องไม่คุ้มในแง่ของดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในการเก็บรักษาทองคำ
ขณะที่กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับเรื่องการนำเข้าเสรีและการเก็บภาษี
กระทรวงฯ ก็มองว่าปัญหาทองเถื่อนเป็นหน้าที่ของกรมศุลกากรที่เป็นผู้ตรวจจับพูดง่าย
ๆ คือมีหน้าที่กันคนละอย่าง
เรื่องความเดือดร้อนและความเข้าใจในการทำธุรกิจของผู้ผลิตรายย่อยจึงไม่มีใครสนใจ
ไม่ได้อยู่ในหน้าที่ของฝ่ายใดที่จะเป็นผู้ส่งเสริม
จากนี้ไปผู้ผลิตรายย่อยจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นการนำเข้าทองคำแต่ละครั้งจะต้องมีมูลค่าสูงกว่าราคาในตลาดโลกไม่น้อยกว่า
9% ขณะที่ราคาสินค้าเมื่อส่งออกถูกผู้ซื้อต่างประเทศกำหนดไว้ไม่เกินกว่า
1% ของราคาตลาดโลก
ผู้ผลิตรายย่อยจะหาทางออกอย่างไรคงเป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้วทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมศุลกากร