ข้าวเคยเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยมาเป็นเวลานานและปัจจุบันก็ยังเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าส่งออกที่มีมูลค่าสูงติดอันดับ
1 ใน 5 ของสินค้าเกษตรกรรมส่งออกของไทย ตลาดสำคัญในเวลานี้คือประเทศในแถบตะวันออกกลาง
แต่ตลาดเอเชียนั้นก็ยังเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งอยู่เหมือนเดิม
นับแต่กลุ่มอัศวินวิจิตรแห่งแสงทองค้าข้าวบุกเบิกตลาดตะวันออกกลางสำเร็จเป็นรายแรกเมื่อ
10 กว่าปีก่อน พ่อค้าข้าวรายใหญ่ ๆ ก็มุ่งหน้าไปที่นั่นกันเป็นแถว
ถึงจะมีสงครามเกิดขึ้นที่อ่าวเปอร์เซีย ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้
ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดข้าวที่ใหญ่ที่สุดของไทยในเวลานี้ด้วย ข้าวที่ส่งไปก็เป็นข้าวเกรดดี
100% ข้าวหอมและระยะหลังมีการส่งไปเป็นแบบข้าวถุงด้วย
การส่งออกข้าวไปขายในตะวันออกกลางชะงักไประยะหนึ่ง ครั้งสงครามสงบก็เริ่มกันใหม่
การส่งออกข้าวไทยไปขายในตลาดตะวันออกกลางนั้นส่วนมากจะเป็นการติดต่อซื้อจากรัฐบาลในแต่ละประเทศ
รัฐบาลจะใช้ธนาคารกลางเป็นผู้เปิด LETTER OF CREDIT เข้ามายังธนาคารในประเทศไทย
การเปิดแอลซีนี้ บางประเทศก็จำเป็นต้องมีธนาคารต่างชาติเป็นผู้ค้ำประกัน
ในบางประเทศไม่ต้อง เช่น อิหร่านไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำ ฯ อิรักเคยไม่มีผู้ค้ำฯ
แต่ต่อมาต้องมี เป็นต้น
พ่อค้าข้าวไทยจะเป็นผู้รับตั๋วนั้นมาขายกับธนาคารอีกทอดหนึ่ง
ธนาคารในประเทศทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อ-ขายตั๋ว และมีผลพวงทางธุรกิจที่ได้มาด้วย
คือรับซื้อเงินตราต่างประเทศจากบรรดาพ่อค้าผู้ส่งออกเหล่านี้ และปล่อยสินเชื่อให้พวกเขาไปตระเตรียมหาสินค้าเพื่อนำส่งให้กับประเทศผู้ซื้อ
ส่วนที่ตลาดฮ่องกงนั้น มีการติดต่อซื้อขายข้าวในระดับสมาคม โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนรับหน้าเสื่อเป็นผู้เจรจากับสมาคมผู้นำเข้าข้าวฮ่องกง
และมีการเซ็นสัญญาซื้อข้าวหอมมะลิจากไทยตลอดปี 2535 เป็นจำนวน 2.5 แสนตัน
เพิ่มขึ้นจากปี 2534 ประมาณ 5 แสนตัน
นี่เป็น TRADE FINANCE แบบเก่าแก่ที่ยังคงทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับธนาคาร
เดชา ตุลานันท์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า "แบงก์กรุงเทพตอนนี้มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ
30% ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 560,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสินค้าข้าวเสียประมาณกว่า
10%"
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2534 กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ รายงานว่า มีการส่งข้าวออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นจำนวนทั้งสิ้น
2.7 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 20,040 ล้านบาท ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี
2533 ประมาณ 8%
ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกของภาครัฐบาลประมาณ 304,757 เมตริกตันและภาคเอกชนมี
2,445,387 เมตริกตัน
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมากลุ่มพ่อค้าส่งออกข้าวไทยนำโดยไพบูลย์ ควรทรงธรรม
กรรมการผู้จัดการ บ.ข้าวไชยพร ได้ลงนามเซ็นสัญญาขายข้าวให้องค์กรค้าข้าวอิรักหรือ
GRAIN BOARD ของรัฐบาลอิรักเป็นจำนวน 645,000 เมตริกตัน
ในการส่งมอบมีการทำสัญญาแยกเป็น 3 ฉบับ สัญญาที่ 1 เป็นข้าวของ 15% จำนวน
45,000 ตันซึ่งได้ทำการส่งมอบไปเรียบร้อยแล้วสัญญาที่ 2 จำนวน 200,000 ตันเป็นข้าวของ
15% ส่งมอบในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม และสัญญาที่ 3 เป็นข้าว 10-15%
จำนวน 400,000 ตันส่งมอบในปี 2535
เป็นสัญญาขายข้าวครั้งประวัติศาสตร์คือมีปริมาณมากและขายให้กับอิรัก ซึ่งเพิ่งจะแพ้สงครามอ่าวเปอร์เซียและเกิดการขาดแคลนอาหารบริโภคอย่างรุนแรง
สัญญานี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นในช่วงที่องค์การสหประชาชาติประกาศอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลอิรักในทั่วโลกแล้ว
แต่พ่อค้าไทยดูจะไม่หวั่นไหวในเรื่องนี้เท่าใดนัก
เดชาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานสินเชื่อของธนาคารฯ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "เท่าที่ผมทราบคือมีการส่งข้าวให้อิรักแล้ว 45,000 ตัน เป็นล็อตแรกซึ่งจ่ายเงินไปแล้ว
ผมเข้าใจว่าเป็นเงินด้อนที่ไม่อยู่ในการควบคุมของทางสหประชาชาติ ส่วนล็อตที่สองที่จะตามมาประมาณ
30,000 ตันกำลังเจรจาเพื่อาทางชำระหนี้กันอยู่ จริง ๆ แล้วเป้าหมายจะซื้อทั้งหมดประมาณ
200,00 ตัน"
เดชาปฏิเสธว่าเขายังไม่เห็นแอลซีของธนาคารกลางกรีซที่รัฐบาลอิรักอ้างว่า
ยอมยกเลิกการอายัดทรัพย์เพื่อให้รัฐบาลอิรักนำเงินมาซื้อข้าวไทยล็อตแรกในสัญญาที่
2 จำนวน 30,000 ตันแต่อย่างใด
ตามข้อเท็จจริงนั้น สหประชาชาติได้ปล่อยสินทรัพย์ของรัฐบาลอิรักมูลค่า
3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลอิรักนำเงินมาใช้ซื้ออาหาร
เครื่องอุปโภคและเวชภัณฑ์ แต่ธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯหลายแห่ง เช่น ธนาคารเชสแมนฮัตตัน
ในนิวยอร์กยังปฏิเสธที่จะเปิด L/C เป็นเหตุให้รัฐบาลอิรักไม่มีเงินสั่งซื้อข้าว
นั่นหมายความว่าสัญญาขายข้าวสัญญาที่ 2 ในปีนี้และสัญญาที่ 3 ในปีหน้า
ยังไม่แน่ว่ารัฐบาลอิรักจะเอาเงินจากที่ไหนมาชำระได้
มีบริษัทพ่อค้าส่งออกข้าวรายใหญ่หลายรายที่เข้าร่วมทำสัญญาส่งมอบข้าวให้อิรัก
645,000 ตันได้แก่ แสงทองฯ ไชยพรฯ นครหลวงฯ ฮ่วยชวน ธนาพรชัย เป็นต้น บริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นลูกค้า
TRADE FINANCE รายสำคัญของแบงก์กรุงเทพทั้งสิ้น