Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2534
ปิ่นซื้อฟิลาเท็กซ์ เพื่ออะไร             
โดย สมชัย วงศาภาคย์
 

 
Charts & Figures

ตารางโครงสร้างการลงทุน
ทรัพย์สินที่ดินของเอกธนกิจหลังการเทคโอเวอร์ธนานันต์
ประมาณการงบการเงินรวมของฟิลาเท็กซ์ และบริษัทในเครือ


   
search resources

เอกธนกิจ
ฟิลาเท็กซ์
ปิ่น จักกะพาก
Investment




เพียง 7 ปี ฟิลาเท็กซ์ก็ถูกกลุ่มเอกธนกิจเทคโอเวอร์ไปเรียบร้อย ในราคากว่า 200 ล้านบาท หลังจากประสบปัญหาขาดทุน เอกธนกิจนำฟิลาเท็กซ์ซื้อท่าจีนต่อในราคา 255 ล้าน โดยคาดหวังว่าทรัพย์สินของท่าจีนจะสามารถทำกำไรให้แก่ฟิลาเท็กซ์ปีละกว่า 10 ล้าน ฟิลาเท็กซ์เป็นบริษัทในตลาดหุ้นขณะที่เอกธนกิจเข้าไปเกี่ยวขอ้งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึงร้อยละ 35 ของพอร์ตโฟริโอ ประเด็นคือกลุ่มเอกธนกิจซื้อฟิลาเท็กซ์ไปทำไม….

วิลเลียม เช็อกส์เปียร์เคยเขียนนวนิยาย "โรเมโอแอนด์จูเลียต" ไว้สุดแสนโรแมนติกยิ่งนัก ฉากเหตุการณ์เมื่อตัวละครเอก โรเมโอต้องพลัดพรากจากจูเลียต สาวคนรัก สร้างความรู้สึกปวดร้าวในจิตวิญญาณของผู้อ่านได้ดีมาก

เช็อกส์เปียรืได้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวทางจิตวิญญาณที่เป็นธาตุแท้ของมนุษย์ว่า ในห้วงภวังค์ของความรัก การได้สัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งที่รัก เป็นปิติทางจิตวิญญาณที่ทุกคนอยากได้รับและเมื่อต้องพลัดพรากจากกัน ก็เป็นสิ่งที่ปวดร้าว

พูดแบบชาวพุทธก็ต้องบอกว่า สัจธรรมที่เช็กส์เปียร์เสนอไว้ในนิยายเรื่องนี้ เป็นเพราะคนเรามักตกอยู่ในเงามืดของกิเลสมีการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนรัก เมื่อต้องพลัดพราก ก็เศร้าเสียใจ

ชาวพุทธจึงเสนอว่า การละวางซึ่งกิเลส และการหลุดพ้นจากจิตใจที่ยึดมั่นถือมั่น คือมรรควิธีที่จะนำไปสู่ความสงบทางจิตวิญญาณในทุกสภาวะ

แต่โลกธุรกิจ มักมีข้อเท็จจริงที่สวนทางกับชาวพุทธเสมอขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เช็กส์เปียร์สร้างไว้ในฉากนิยายอมตะของเขาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น "พ่อค้าแห่งนครเวนิช" ที่เช็กส์เปียร์ได้สร้างตัวละครอย่าง "ไชล้อค" พ่อค้ายิวที่แสนจะละโมบจิตวิญญาณเต็มไปด้วยกิเลส

ปัญหาของโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นในทุกตลาด มักเหมือนกันในประเด็นที่ว่าจะมีหนทางอย่างไรที่จะสร้างระบบธุรกิจให้ตั้งอยู่บนรากฐานของความสมดุล ระหว่างความต้องการกำไรกับข้อเรียกร้องทางศีลธรรม

บางกรณี อาจพบนักธุรกิจอย่างสมพงศ์ นครศรีแห่งกลุ่มอุตสาหกรรมบางกอกเคเบิลบุญยงค์ ว่องวาณิชแห่งกลุ่มอุตสาหกรรมแอลพีแลบอราตอรี่ ที่กำลังดำเนินธุรกิจบนรากฐาน ของความสมดุลระหว่างความต้องการกำไรกับข้อเรียกร้องทางศีลธรรมได้อย่างกลมกลืนน่าพิศวง

ทั่วไปแล้ว สังคมธุรกิจจะเต็มไปด้วยการแสวงหากำไรซึ่งเป็นผลทางรูปธรรมที่แสดงออกของความผูกมัดต่อผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของบริษัท และสิ่งนี้คือมาตรฐานของความถูกต้องที่ใช้วัดถึงคุณธรรมที่ผู้บริหารแสดงออกต่อสังคมภายนอก

เหตุการณ์การเข้าซื้อกิจการบริษัทฟิลาเท็กซ์ของปิ่น จักกะพากแห่งกลุ่มเอกธนกิจเมื่อต้นตุลาคม จุดมุ่งหมายสำคัญก็อยู่ที่การแสวงหาผลประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นของกลุ่มเอกธนกิจ

บริษัทเอกภาคและเอกธนกิจคือ 2 บริษัทที่เข้าซื้อฟิลาเท็กซ์ในสัดส่วนหุ้นร้อยละ 74 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด การซื้อขายครั้งนี้ได้กระทำผ่านตัวแทนผู้ซื้อคือเจเอฟ ธนาคมและตัวแทนผู้ขายคือธนชาติ

การซื้อขายตกลงกันในราคาหุ้นละ 30.50 บาท ซึ่งหมายความว่าเอกภาคและเอกธนกิจ ได้ลงทุนซื้อทรัพย์สินและหนี้สินของฟิลาเท็กซ์ด้วยวงเงินประมาณ 230 ล้านบาท

การชำระเงินค่าหุ้นคงจะกระทำกันเสร็จสิ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้านับจากวันเซ็นสัญญาตกลงในหลักการ

เอกภาคลงทุนซื้อในสัดส่วนสูงสุดประมาณร้อยละ 64 ที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นของเอกธนกิจ ความจริงแล้ว เอกภาคมีความสัมพันธืเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเอกธนกิจในฐานะผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่มเดียวกัน

ผู้ถือหุ้นของเอกภาคทั้งหมดเป็นสถาบันคือบริษัทร่วมบริหารธุรกิจและบิลบิส (ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนของเอกธนกิจที่จัดตั้งขึ้น) บริษัทเอกธนกิจ และพาริบาส์ เอสอีเอ (สิงคโปร์)

เอกภาคจัดตั้งขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียนสูงถึง 150 ล้านเพื่อใช้เป็นแขนขาในการลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินให้เอกธนกิจ เนื่องจากกฎหมายเงินทุนไม่อนุญาตให้บริษัทเอกธนกิจสามารถลงทุนในกิจการอื่น ๆ นอกเหนือจากการเงินมากกว่าร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียนในกิจการนั้น ๆ ด้วยเหตุผลเพื่อมิให้ภาระความเสี่ยงจากการลงทุนเกิดขึ้นกับเอกธนกิจมากเกินไป

กระนั้นก็ตามเนื่องจากเอกภาคและเอกธนกิจมีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน ผู้ซื้อฟิลาเท็กซ์ ที่แท้จริงก็คือเอกธนกิจที่มีปิ่นจักกะพากเป็นหัวเรือใหญ่นั่นเอง

ปิ่น โดยพื้นฐานเป็นวาณิชธนการที่สั่งสมประสบการณ์มาจากฝ่ายธนาคารสถาบัน่ของเชสแมนฮัตตันแบงก์(กรุงเทพฯ) ก่อนหน้าที่เขาจะเข้ามารับผิดชอบเต็มตัวในบริษัทเงินทุนยิบอินซอยของครอบครัวเมื่อ 10 ปีก่อน

และด้วยประสบการณ์ที่มองธุรกิจการเงินในอนาคตว่าวาณิชธนกิจจะเป็นสิ่งสำคัญในตลาดการเงินที่ความต้องการในตลาดจะมีสูงขึ้น ทำให้เขาเห็นลู่ทางการสร้างบริษัทเงินทุนยิบอินซอยให้มีช่องทางเฉพาะ (MARKET NICHE) ของตัวเอง โดยวิธีการจับคู่กับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศที่มีเครือข่ายและความชำนาญในธุรกิจวาณิชธนกิจ

สิ่งนี้คือที่มาของการฟื้นกิจการบริษัทเงินทุนยิบอินซอยเมื่อปี 2527 หลังจาก "กลุ่มพาริบาส์" แห่งฝรั่งเศส เข้าร่วมลงทุนประมาณ 17% ในบริษัทเงินทุนยิบอินซอย และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนเอกธนกิจหรือที่เรียกกันติดปากในตลาดการเงินว่า "ฟินวัน"

"ปิ่นเป็นคนที่ทำธุรกิจเชิงรุกมาก ๆ" นักการเงินคนหนึ่งพูดถึงสไตล์ของปิ่น ตัวอย่างการตอบตกลงกับแบงก์ชาติเพื่อเข้าซื้อกิจการ(หุ้น) 96% ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนานันต์ซึ่งประสบปัญหาหนี้เสียกว่า 2000 ล้านบาทและต้องใช้เงินลงทุนสูงนับพันล้านบาทภายใต้สถานการณ์ตลาดหุ้นตกต่ำ ขณะที่รายอื่นถอยออกมาหลังจากรับทราบถึงสถานะทางการเงินของธนานันต์ เป็นกรณีคลาสสิกที่แสดงความกล้าหาญของปิ่นที่ทุกคนในตลาดการเงินยอมรับ

ปิ่นได้รับการยอมรับจากตลาดการเงินวาณิชธนกิจของกรุงเทพฯ ในช่วง 2 ปีมานี้ ว่าเป็นคนที่ใช้ความชำนาญด้านอินเวสเมนต์แบงกิ้ง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์ของเอกธนกิจได้เก่งที่สุดคนหนึ่ง

"การลงทุนในหุ้นบริษัทอื่น ๆ มีถึง 10 บริษัท ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจหลักทรัพย์สังหาริมทรัพย์และเกี่ยวเนื่อง "นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บริษัทวิจัยแบร์ริ่งกรุงเทพฯ เปิดเผยการลงทุนในตลาดอิควิตี้ของเอกธนกิจ

สินทรัพย์สิ้นปี 2533 ของเอกธนกิจประมาณ 9 พันล้านบาทการตัดสินใจเข้าซื้อกิจการธนานันต์เป็นสปิงบอร์ด ที่ทำให้มูลค่าของสินทรัพย์เอกธนกิจพุ่งสูงขึ้นเกือบ 20,000 ล้านบาท ใหญ่ที่สุดในอุตสหากรรมเงินทุนและหลักทรัพย์ของไทย หลังจาก 10 ปีก่อนอยู่ในอันดับเกือบท้ายสุดของอุตสาหกรรมนี้

การเข้าซื้อกิจการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์ เป็นวิธีการที่ปิ่นใช้เป็นกลยุทธืดำเนินการมาตลอด หลังการปรับทิศทางฟินวันเมื่อปี 2527

5 ปีก่อน ปิ่นเข้าซื้อกิจการบริษัทหลักทรัพยืโกลด์ฮิลขณะที่อุตสาหกรรมตลาดหุ้นกำลังตกต่ำอย่างขีดสุด เขาร่วมลงทุนครั้งนั้นกับกลุ่มแบงก์กสิกรไทย จากนั้นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงก็เริ่มขึ้น โดยมีภควัฒน์ ฏดวิทพัฒนพงศ์อดีตนักเรียนทุนเอ็มบีเอาร์ตันของกสิกรไทยที่ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิแบงก์กสิกรไทยเป็นกรรมการผู้จัดการ

การดันเอกธำรงเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสำเร็จในอีก 3 ปีถัดมา ทำให้ "กำลังประสาน" เกิดขึ้นกับธุรกิจของเอกธนกิจทันที

ตลาดหุ้นในปี 2532 ปีเดียวกับที่เอกธำรงเข้าตลาดหุ้น กำลังอยู่ในช่วงเริ่มกลับมาร้อนแรง ปิ่นทำกำไรเข้าเอกธนกิจจากการค้าหลักทรัพยืโดยผ่านเอกธำรงที่เป็นทั้งนายหน้าและอันเดอร์ไรเตอร์หลักทรัพย์มากมาย

เป็นเวลาเกือบ 20 เดือนนับจากต้นปี 2532 อุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูที่สุดเวลานั้นมีอยู่ 2 อย่างคือ ตลาดหุ้นและเรียลเอสเตท ธุรกิจทั้ง 2 อย่างนี้ดำเนินไปอย่างคึกคักภายใต้วิธีการเดียวกัน คือเก็งกำไรกันอย่างสนุกสนาน

ปิ่นมองปรากฎการณ์เนื้ออก เขาสร้างกำไรส่วนใหญ่เข้าเอกธนกิจบนฐานของธุรกิจ 2 อย่างนี้เช่นกัน

ในอุตสหกรรมเรียลเอสเตท ปิ่นใช้บริษัทเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ เช่นบริษัทร่วมคณะไทยธุรกิจ บริษัทท่าจีน บริษัทเอกภาคเข้าซื้อที่ดินแปลงงาม ๆ และอาคารสำนักงานในย่านใจกลางเมือง โดยอาศัยการไฟแนนซ์จากเอกธนกิจและการจัดหาทุนจากตลาดเงินในฮ่องกง

การเข้าซื้ออาคารที่อยู่อาศัยอิเมอรัล (เดิมเป็นของพร - วนิดา สิทธิอำนวย) บนถนนวิทยุในราคาประมาณ 600 ล้านจากแบงก์กรุงเทพ (เจ้าหนี้ที่ยึดทรัพย์จากพร) ของบริษัทท่าจีน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น "เอกอาคาร" ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานให้เช่า และการซื้อสิทธิเช่าที่ดินว่างเปล่าอีก 1 แปลงขนาด 1 ไร่ครึ่งจากสำนึกงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นตัวอย่างของการเข้ามาไฟแนนซ์และจัดหาเงินทุนให้ของเอกธนกิจ

"ท่าจีนใช้แหล่งเงินกู้จากฮ่องกงเกือบ 500 ล้านในการลงทุนซื้อทรัพย์สินเหล่านี้" แหล่งข่าวในธุรกิจเรียลเอสเตลเล่าให้ฟัง

เอกธนกิจเข้าเสี่ยงในอุตสาหกรรมเรียลเอสเตทมากไม่ใช่น้อยประมาณการว่าประมาณ 30-35% ของฟอร์ตโฟริโอสินเชื่อถูกปล่อยให้แก่บริษัทลูกค้าที่ทำธุรกิจเรียลเอสเตท

ปิ่นฉลาดพอที่จะรู้ถึงความเสี่ยงในอุตสาหกรรมเรียลเอสเตทนี้ดี นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เขานำเอกธนกิจเข้ามาเกี่ยวข้องในบริษัทธนายงซึ่งเป็นบริษัทเรียลเอสเตทจดทะเบียนในตลาดหุ้นประมาณ 5% ด้วยวิธีการสวอปหุ้นกัน แม้ราคาจะถูกมากก็ตาม

ปิ่นนำเอกธนกิจลงมาลึกพอสมควรในอุตสหากรรมเรียลเอสเตท เขาจึงรู้ดีว่าภาระการตกต่ำและเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมนี้มีวงจรสลับไปมาที่ใช้เวลาแต่ละรอบไม่น้อยกว่า 5 ปี การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้จึงต้องหวังผลระยะยาวในยาวที่ตลาดตกต่ำ

เรียลเอสเตทตกต่ำมาปีกว่าแล้วนับตั้งแต่การเกิดวิกฤติการณ์ในอ่าวเปอร์เซีย นั่นหมายความว่ารอบการเฟื่องฟูจะกลับมาต้องใช้เวลาอีกกว่า 3 ปี

การเสริมสร้างฐานเงินทุนให้แข็งแรงและการรักษาที่ดินเปล่าอยู่ในมือให้ตลอดรอดฝั่ง จึงเป็นกลยุทธ์ของการรอคอยที่เหมาะสม

ปิ่นมองตรงนี้ทะลุ การตัดสินเข้าซื้อธนานันต์ เป็น STRA-TEGIC MOVE ตามเหตุผลนี้ด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากเหตุผลที่ธนานันท์มีเครือข่ายสาขาถึง 14 แห่งที่จะเป็นฐานสำหรับการระดมเงินออมและใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ครบ

กล่าวคือธนานันต์มีทรัพย์สินในรูปที่ดินว่างเปล่าในมือมากมายประมาณ 1400 ไร่ในเขตกรุงเทพฯ แต่ลแปลงอยู่ในบริเวณไพร์มแอเรียที่ราคาที่ดินกำลังขึ้นสูงมากเรื่อย ๆ ทั้งสิ้น เช่น ย่านถนนรามอินทรา และถนนบางนาตราด

"การทำโครงการพัฒนาที่ดินจากนี้ไปจะลำบากมากขึ้นการวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุมจะเป็นหัวใจสำคัญ" สุทธิพงศ์ จิราธิวัมน์ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาที่ดินกลุ่มเซ็นทรัลพูดถึงเทคนิคการบริหารโครงการที่ดินในอนาคต

สุทธิพงศ์เป็นน้องคนที่สิบเอ็ดของสัมฤทธิ์ประธานกลุ่มเซ็นทรัลอายุ 32 ปีมีพื้นฐานการศึกษาระดับบริหารธุรกิจเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยลองส์ไอแลนด์ สหรัฐฯ เขาเข้าร่วมงานกับครอบครัวเมื่อต้นปี 2530 โดยเป็นผู้จัดการโครงการพัฒนาที่ดินของเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา

"โครงการเซ็นทรัลพาร์คเพลสที่ถนนสาธร และโครงการวอเตอร์ฟร้อนที่ร่วมทุนกับกลุ่มโค้วยู่ฮะที่ภูเก็ต คือ 2 โครงการที่ผมรับผิดชอบอยู่" เขากล่าวถึงงานที่ทำกับครอบครัว

สุทธิพงศ์เล่าให้ฟังว่า ในช่วงเรียลเอสเตทเฟื่องฟู โครงการบางโครงการถูกเปิดขายเพื่อนำรายได้จากการขายมาไฟแนนซ์โครงการทั้งที่เจ้าของโครงการยังจ่ายค่าที่ดินไม่หมดเลยก็มี หรือในอีกกรณีหนึ่ง โครงการมีทุนจดทะเบียนต่ำขณะที่การไฟแนนซ์โครงการสูงมาก ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงถึง 10 เท่า

เขาชี้ให้เห็นว่าโครงการเหล่านี้ บริหารท่ามกลางความเสี่ยงที่สูงลิ่ว "เผอิญที่รอดตัวกันมาได้เพราะช่วงเวลานั้นแรงซื้อมีสูงมากซึ่งถ้าแรงงานซื้อตกเหมือนเวลานี้ รับรองไปไม่รอด"

สุทธิพงศ์เคยมีประสบการณ์ร่วมลงทุนกับกลุ่มของปิ่นในโครงการพัฒนาอาคารเอนกประสงค์ที่วอยอรรถการประสิทธิถนนสาธร มูลค่าประมาณเกือบ 5000 ล้านเมื่อต้นปี 2533

โครงการนี้กระทำขึ้นในนามบริษัทสิริธนสมบัติ ซึ่งเกิดจากการร่วมทุน 2 ฝ่ายคือกลุ่มของปิ่นในนามบริษัทเอกภาค เอกธนกิจและถนัด คอมันต์กับกลุ่มของเซ็นทรัล "ที่ดินแปลงนี้มีอยู่ 10 ไร่เซ็นทรัลกับถนัด คอมันต์เป็นเจ้าของที่ดินถือกันคนละครึ่ง" สิทธิพงศ์กล่าวถึงการร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ครั้งแรกระหว่าง กลุ่มเซ็นทรัลกับเอกธนกิจ

แต่การเกิดสงครามในอ่าวเปอร์เซียและความตกต่ำของอุตสาหกรรมเรียลเอสเตท ทำให้โครงการนี้ตอ้งเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด "เราทำโครงการนี้มาถึงขั้นออกแบบเสร็จเตรียมขอนุญาตก่อสร้างจากกรุงเทพมหานครแล้ว" สุทธิพงศ์พูดถึงขั้นตอนของงานในโครงการที่ต้องหยุดลงเมื่อปิ่นวางแผนซื้อฟิลาเท้กซ์ จึงดึงสุทธิพงศ์เข้าร่วมลงทุนและบริหารด้วย โดยเป็นทั้งกรรมการและกรรมการผู้จัดการฟิลาเท้กซ์ร่วมกับประภา สุมทรโคจรผู้บริหารระดับสูงคนหึ่งของเอกธนกิจ

สุทธิพงศ์รับผิดชอบบริหารฟิลาเท็กซ์ในธุรกิจเรียลเอสเตทขณะที่ประภาดูทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรมยางยืด

ฟิลาเท้กซ์เข้าเป็นบริษัทรับอนุญาตในตลาดหุ้นเมื่อกลางปีที่แล้วหลังจากเปิดดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางยืดมาตั้งแต่ปี 2528

บริษัทฟิลาเท็กซ์ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นบ่อยครั้งมาก กลุ่มที่ก่อตั้งจริง ๆ เมื่อปี 2527 คือพงศ์อิทธิ์ มโนมัยอุดมร่วมกับบริษัทไมวอลท์ อินเวสท์เม้นต์ของอิตาลี

การผลิตในปีแรกด้วยกำลังผลิตเพียงเดือนละ 47 ตัน ก็ประสบปัญหาต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราวเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น โดยพงศ์อิทธิ์ได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับอรรณพอัสโสรัตน์กุล พ่อค้ายางแห่งบริษัทไทยรับเบอร์เทรด

หลังจากอรรณพเข้าเทคโอเวอร์ก็เริ่มเดินเครื่องผลิตใหม่แต่ก็เจอปัญหาน้ำยางข้นขาดแคลนทำให้การผลิตต้องหยุดลงอีกเป็นครั้งที่สอง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นอิตาลีขายหุ้นทั้งหมดของตนให้อรรณพ

การผลิตเริ่มกลับเข้ามาใหม่ในช่วงปี 30-32 ในกำลังการผลิตเดือนละ 150 ตันสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรกติดต่อกัน 2 ปีถึง 21 ล้าน หลังจากการผลิตช่วง 2 ปีแรกประสบการขาดทุนสูงถึง 17 ล้านบาท ทำให้บริษัทเริ่มมีกำไรสะสมอยู่ 4 ล้าน

เมื่อการผลิตฟื้นตัวใหม่อย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปี ทำให้อรรณพมั่นใจในตลาดมาก เขาเพิ่มทุนจาก 75 ล้านเป็น 90 ล้านเพื่อซื้อเครื่องจักรขยายการผลิตอีก 2 สายการผลิตในปี 2532

1 สายการผลิตได้เพิ่มขึ้นในปีนั้น ทำให้กำลังผลิตเพิ่มเป็นเดือนละ 300 ตันปรากฎว่าในปีนั้นเอง เขาทำกำไรได้สูงถึง 12 ล้านบวกกำไรสะสมอีก 4 ล้านบาท ทำให้สิ้นปีนั้น ฟิลาเท้กซ์มีกำไรสะสมอยู่ถึง 16 ล้านบาท ทุน 90 ล้าน

อรรณพเตรียมนำฟิลาเท็กซ์เข้าตลาดหุ้นทันทีในปีรุ่งขึ้น โดยให้กลุ่มธนชาติ (ประกอบด้วยธนชาตเอกชาติ บริษัทสุพรรณิกา) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น (43%) ของฟิลาเท็กซ์ เป็นคนวางแผนทางการเงินและอันเดอร์ไรเตอร์

พร้อมกันนี้ สายการผลิตที่ 3 ซึ่งจะทำให้กำลังผลิตรวมเพิ่มเป็นเดือนละ 450 ตัน อรรณพวางแผนจะเดินเครื่องผลิตได้ในเดือนกันยายน ซึ่งมันจะสอดคล้องกันพอดีกับจังหวะเวลาที่บริษัทเข้าตลาดหุ้น

อรรณพมั่นใจแผนการนี้มาก ถึงกับประมาณกำไรของฟิลาเท็กซ์ในปี 33 ว่าจะสูงถึง 20 ล้านาบาท

"หุ้นของฟิลาเท็กซ์เหมาะต่อการลงุทนระยะยาวเนื่องจากอนาคตเส้นด้ายยางยืดแจ่มใส และความได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบ" อรรณพกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" เมื่อกลางปีที่แล้วอย่างมั่นใจในอนาคตของธุรกิจฟิลาเท็กซ์

แต่แล้วความหวังของอรรณพและธนชาติที่ปรึกษาก็พังทลายหลังหุ้นเข้าตลาดได้ไม่นาน สงครามตะวันออกกลางที่อ่าวเปอร์เซียก็ระเบิดขึ้น ราคาด้ายยางยืดในตลาดโลกดิ่งวูบลง

อรรณพต้องเลื่อนสายการผลิตที่ 3 ออกไปอย่างไม่มีกำหนดเกิดความระสั่าระสายในบริษัทเมื่อพนักงานระดับคีย์แมนคนหนึ่งในโรงงาน ลาออกไปพร้อมกับนำเทคโนโลยีการผลิตด้ายยางยืดไปขายต่อให้คู่แข่งชาวมาเลย์

ผลการประกอบการของฟิลาเท็กซ์สิ้นปี 33 มีกำไรเพียง 140,000 บาทเท่านั้น ไม่ถึง 10% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 20 ล้านด้วยซ้ำ และในปี 34 นี้คาดว่าจะกลับมาขาดทุนอีก 14 ล้านบาท

ปิ่นมองฟิลาเท็กซ์ตาเป็นมันทันที เขาศึกษาฐานะงบดุลขิงฟิลาเท็กซ์และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอย่างละเอียด หลังจากแจ้งให้ธนชาติทราบว่าเขาสนใจจะซื้อฟิลาเท็กซ์

จากการศึกษาปิ่นพบว่า ปัญหาหลักของฟิลาเท็กซ์ไม่ได้อยู่ที่ภาระหนี้สิน แต่อยู่ที่ควาไมม่มีประสิทธิภาพในการทำกำไร

วาณิชธนกรมือเซียนอย่างปิ่นรู้ดีว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการซื้อกิจการฟิลาเท็กซ์เลย "คุณต้องเข้าใจว่าสินทรัพย์ซ่อนเร้นที่สำคัญของฟิลาเท็กซ์คือการเป็นบริษัทอยู่ในตลาดหุ้นเพียงคุณตกแต่งบัญชีมันใหม่ให้สวยงาม แล้วเพิ่มทุนมันเข้าไปเพียงเท่านั้นมันก็จะกลายเป็นแหล่งระดมทุนขนาดใหญ่ที่ไม่มีดอกเบี้ยได้ทันที" นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากแบริ่งรีเสิร์ชวิเคราะห์เหตุผลเบื้องหลังการเข้าเทคโอเวอร์ฟิลาเท็กซ์ของปิ่น

เมื่อ 4 เดือนก่อน คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเรียลเอสเตทมีอาการหวั่นไหวกันมาก เมื่อทราบว่าตลาดหลักทรัพย์เข้มงวดเป็นพิเศาในการพิจารณารับบริษัทเรียลเอสเตทเข้าตลาดหุ้นเนื่องจาก เห็นว่าธุรกิจนี้มีช่องทางในการโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินเข้ากระเป๋าส่วนตัวผู้ถือหุ้นและสร้างราคาด้วยวิธีการบันทึกบัญชีรับรู้รายได้หลายวิธีอย่างแยบยล

บางบริษัทอย่างกลุ่มบ้านบ้านฉาง ยังไม่มีการก่อสร้างโครงการอะไรเลย มีแต่ที่ดินเปล่า ก็ขอเข้าตลาดหุ้น แต่ก็ถูกปฏิเสธออกมา

บางบริษัทอย่างภูเก็ตยอช์ทคลับ เข้าตลาดหุ้นไปแล้วก็ซื้อขายหุ้นเพื่อเทคโอเวอร์กันเองในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่กลุ่มเดียวกันเริ่มจากยูไอซีของเลียมกรุ๊ปซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเฟิร์ส แพ็คขายหุ้นภูเก็ตยอช์ทคลับทั้งหมด 35% ให้เฟิร์สแพ็คแลนด์แอนด์พาร์ทเนอร์" ก็ขายหุ้นภูเก็ตยอช์ทคลับทั้งหมดให้ "ผู้ถือหุ้น" เฟิร์สแพ็คแลนด์แอนด์พาร์เนอร์ก็ขายหุ้นตนเองทั้งหมดกลับคืนให้บริษัทภูเก็ตยอช์ทคลับอีกต่อหนึ่ง

กระบวนการซื้อขายแบบนี้ยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัวคือผู้ถือหุ้นกลุ่มเฟิร์สแพ็คได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นแต่ละช่วงขณะเดียวกันบริษัทเฟิร์สแพ็คแลนด์ฯ ก็สามารถเข้าตลาดหุ้นได้ภายใต้ร่มธงของภูเก็ตยอช์ทคลับ หลังจากเคยยื่นเรื่องเข้าตลาดหุ้นก่อนที่จะถูกปฏิเสธออกมาเนื่องจากคุณสมบัติไม่เข้าข่ายเพราะทำธุรกิจเพียงซื้อมาขายไปเท่านั้น

เมื่อบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเข้มงวดในการรับบริษัทเรียลเอสเตทเข้าตลาดหุ้น การคาดหวังที่จะใช้ช่องทางตลาดหุ้นในการระดมทุนมาทำโครงการเรียลเอสเตทก็ตีบตัน

นอกจากนี้ทางแบงก์ชาติก็สั่งให้แบงก์พาณิชย์ห้างปล่อยสินเชื่อแก่โครงการเรียลเอสเตทและการค้าที่ดิน การคาดหวังว่าจะอาศัยแหล่งเงินไฟแนนซ์จากแบงก์มาทำโครงการหรือทุนหมุนเวียนในการบริหารโครงการก็ตีบตันอีก

เมื่อแหล่งระดมทุน 2 แหล่งที่เคยได้รับในอดีตถูกปิดกั้นลง การลงทุนพัฒนาโครงการต้องหยุดชะงักลง ที่ดินที่ลงทุนซื้อไว้ก็ต้องถูกทิ้งไว้อย่างว่างเปล่าเนื่องจากขาดเงินทุนหล่อเลี้ยง สิ่งเหล่านี้เป็นการสูญเสียที่กำลังเกิดขึ้นกับทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเรียลเอสเตทขณะนี้

ใครที่สายป่านยาวก็ประคับประคองอยู่รอดใครสายป่านสั้นไม่ตายก็ต้องวิ่เร่ขายหาคนมาซื้อกิจการต่อ

ความที่ปิ่นต้องการซื้อฟิลาเท็กซ์เขาจึงมองลู่ทางการยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัวออก ทันทีที่ลงนามซื้อฟิลาเท็กซ์เรียบร้อยจากอรรรพและกลุ่มธนชาติในต้นเดือนตุลาคมปิ่นก็เอาฟิลาเท็กซ์เข้าซื้อท่าจีนต่อในราคา 255 ล้าน "ถ้าฟิลาเท็กซ์อาศัยรายได้จากยางยืดอย่างเดียวต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี กว่าจะมีโอกาสฟื้นจากการขาดทุน เราซื้อท่าจีนเพื่อรายได้จากค่าเช่าตึกเอกอาคารใส่เข้าไปให้ฟิลาเท็กซ์ มันจะช่วยเร่งการฟื้นตัวจากการขาดทุนของฟิลาเท็กซ์เร็วขึ้น" สุทธิพงศ์เล่าให้ฟังถึงเหตุผลปิ่นเข้าซื้อท่าจีน

ท่าจีนเป็นบริษัทของกลุ่มเอกธนกิจที่ถือหุ้นในนามบริษัทคณะไทยธุรกิจเมื่อปิ่นดึงสุทธิพงศ์ จิราธิวัมนืเข้าในฟิลาเท็กซ์ก็ใช้บริษัทคณะไทยธุรกิจเป็นช่องทางโดยสุทธิพงศ์เข้ามาร่วมลงทุนถือหุ้นด้วยเมื่อ 3 เดือนก่อน

ท่าจีนมีรายได้จากการให้เช่าตึกเอกอาคารปีละ 100 ล้านบาทจากพื้นที่ให้เช่าทั้งหมด 14000 ตารางเมตร การเข้าซื้อท่าจีนของฟิลาเท็กซ์ ทำให้ฟิลาเท็กซ์ต้องเข้ารับภาระหนี้ปีละ 48 ล้านของท่าจีนด้วย "แต่ท่าจีนทำกำไรได้ปีละ 11 ล้านและปีหน้าจะเพิ่มเป็น 19 ล้านหลังหักค่าใช้จ่ายดำเนินการค่าเสื่อมและดอกเบี้ยแล้ว" สุทธิพงศ์แจงตัวเลขท่าจีน

นอกจากนี้สุทธิพงศ์ยังย้ำว่าฟิลาเท็กซ์ซื้อท่าจีนในราคาที่ถูกมากเพียง 255 ล้านจากราคาตลาดเมื่อดิสเคร้าแล้วต้องไม่น้อยกว่า 400 ล้าน

แผนการเพิ่มทุนให้ฟิลาเท็กซ์อีกไม่น้อยกว่า 300 ล้านในอีก 2 เดือนข้างหน้า ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะต้องนำมาใช้ซื้อท่าจีนและลดหนี้สินของฟิลาเท็กซ์

เมื่อรายจ่ายภาระหนี้ลดลง ค่าเสื่อมยังต้องทยอยตัดไปเรื่อย ๆ ขณะที่รายได้จากธุรกิจของท่าจีนและพรีเมี่ยมจากการเพิ่มทุนถูกใส่เข้าไป การฟื้นตัวจากการขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าก็จะเป็นไปได้

หลังการเทคโอเวอร์ฟิลาเท็กซ์ปิ่นได้ส่งงบประมารการกำไร 4 ปีข้างหน้าให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันทีในงบระยุว่าปี 35 ถึง 37 ฟิลาเท็กซ์จะทำกำไรได้จาก 13 ล้านในปีหน้าเป็น 41 ล้านในปี 37

มันเป็นงบประมาณการทีเปิดเผยถึงกลยุทธ์การสร้างฟิลาเท็กซ์ในอนาคตที่ชัดเจนว่าจริง ๆ แล้วธุรกิจหลักที่แท้จริงของฟิลาเท็กซ์คือเรียลเอสเตทและเป็น LISTED VEHICLE ให้กับสินทรัพย์เรียลเอสเตทของกลุ่มเอกธนกิจ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us