|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2551
|
|
เลอ มาเรส์ (Le Marais) ย่านเก่าแก่ของกรุงปารีส เต็มไปด้วยบ้านขนาดใหญ่ที่เรียกว่า hotel particulier อันเป็นที่พำนักของขุนนางในอดีต หลายแห่งกลายเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ การเดินเล่นในย่านเลอมาเรส์จึงไม่น่าเบื่อหน่าย
หนึ่งในพิพิธภัณฑ์คือ พิพิธภัณฑ์กอญัค-เจย์ (Musee Cognacq-Jay) ตั้งอยู่เลขที่ 8 rue Elzevir แต่เดิมบ้านนี้ชื่อว่า Hotel Donon สร้างในปลายศตวรรษที่ 16 ในที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่เคยเป็นวังของชาร์ลส์ที่ 5 ในศตวรรษที่ 14 ต่อมาในปี 1545 แม่ชีแซงต์-คาเธอรีน-เดเซกอลีเอร์ (Sainte-Catherine-des Ecoliers) ครอบครองบริเวณนี้มีการตัดถนน ให้ชื่อว่า rue de Diane ในภายหลังเปลี่ยนเป็น rue des Trois Pavillons และ rue Elzevir ในที่สุด
เมเดริก เดอ โดนง (Mederic de Donon) ได้รับที่ดินผืนหนึ่งในบริเวณนี้และ สร้างเป็นบ้านพัก จึงได้ชื่อว่า Hotel Donon ในศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นทศวรรษที่ 20 hotel particulier ในย่านเลอ มาเรส์ใช้เป็น ที่ทำการค้า เทศบาลกรุงปารีสได้รับ Hotel Donon ในปี 1974 จึงบูรณะซ่อมแซมเพื่อใช้เป็นที่แสดงคอลเลกชั่นงานศิลปะสมัยศตวรรษที่ 18 ของพิพิธภัณฑ์กอญัค-เจย์ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่ถนนกาปูซีนส์ (boulevard des Capucines)
พิพิธภัณฑ์กอญัค-เจย์ก่อตั้งในปี 1930 แสดงงานศิลป์ศตวรรษที่ 18 ของฝรั่งเศสและยุโรป ซึ่งแอร์เนสต์ กอญัค (Ernest Cognacq) และภรรยา มารี-หลุยส์ เจย์ (Marie-Louise Jay) สะสมระหว่างปี 1900-1925
แอร์เนสต์ กอญัคเกิดที่แซงต์-มาแตง-เดอ-เร (Saint-Artin-de-Re) ในเดือนตุลาคม 1839 เขาทำงานตั้งแต่อายุ 12 ปีหลังจากบิดาเสียชีวิต เมื่ออายุ 15 ปี เขาเดินทางมากรุงปารีส เป็นลูกจ้างในร้านชื่อ Au Louvre ถูกไล่ออกเพราะขาดประสิทธิภาพ ต่อมาทำงานที่ร้าน Au Quatre Fils Aymon หลังจากนั้นกลับไปทำงานต่างจังหวัดอีก จนกระทั่งปี 1856 จึงเดินทางกลับมาปารีส และทำงานที่ La Nouvelle Heloise ซึ่งเขาได้พบกับมารี-หลุยส์ เจย์ ต่อมาในปี 1967 เขารวบรวมเงินเปิดร้านชื่อ Au Petit Benefice แถว rue de Turbigo แต่กิจการไม่ดี จึงต้องปิดร้าน และไปตั้งแผงขายของแถวปงต์-เนิฟ (Pont-Neuf) โดยใช้ชื่อว่า Napoleon du deballage
ในปี 1870 แอร์เนสต์ กอญัคเปิดร้าน La Samaritaine ตรงมุมร้านกาแฟแถว rue de la Monnaie โดยเช่าเป็นราย สัปดาห์ ได้ลูกค้าจากย่านเลส์ อาลส์ (Les Halles) และร้าน A la Belle Jardiniere อยู่ฝั่งตรงกันข้ามถนน rue du Pont-Neuf ซึ่งในปัจจุบันคือร้าน Conforama ในปี 1871 เขาเช่าที่ตรงนี้และเปิดร้านขายของ เริ่มจากมีลูกจ้าง 2 คน
แอร์เนสต์ กอญัคแต่งงานกับมารี-หลุยส์ เจย์ในปี 1872 ซึ่งเป็นพนักงานของ ร้าน Le Bon Marche ทั้งสองช่วยกันทำมาหากินจน La Samaritaine มีรายได้มากมาย จนถึงปี 1925 La Samaritaine มีรายได้สูงนับพันล้านฟรังก์ แอร์เนสต์ กอญัคเปิดร้านที่มีสถาปัตยกรรมแบบอาร์ต นูโว (art nouveau) เพิ่มอีก 4 แห่งทางด้าน rue de Rivoli
ระหว่างปี 1900-1925 แอร์เนสต์ กอญัคและมารี-หลุยส์ เจย์สะสมงานศิลป์ศตวรรษที่ 18 เพื่อใช้ประดับห้างหรู La Samaritaine ซึ่งเปิดในปี 1917 เมื่อเขาถึงแก่กรรมในปี 1928 เขาบริจาคงานศิลป์ ที่เขาสะสมแก่เมืองปารีส (Ville de Paris) นำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์กอญัค-เจย์ ตั้งอยู่ที่ boulevard des Capucines ในปี 1986 จึงย้ายไปที่ Hotel Donon ที่ถนน rue Elzevir ในย่านเลอ มาเรส์ และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมตั้งแต่ปี 1990
ในปี 1906 แอร์เนสต์ กอญัคซื้องานศิลป์ที่เตโอดอร์ เฟลิปโปต์ (Theodore Phelippot) สะสมไว้ และบริจาคแก่เมืองแซงต์-มาร์แตง-เดอ-เร ซึ่งตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ของเทศบาลที่ใช้ชื่อกอญัค-เจย์เช่นกัน ในปี 1906 แอร์เนสต์ กอญัคและภรรยาตั้งมูลนิธิกอญัค-เจย์ (Fondation Cognacq-Jay) ให้เงินสนับสนุนบ้านพักฟื้น บ้านพักคนชรา ศูนย์ฝึกงาน สถานผดุงครรภ์ เป็นต้น นอกจากนั้นในปี 1920 ยังตั้ง Prix Cognacq แก่ครอบครัวลูกมาก ทั้งนี้โดย Institut de France เป็นผู้บริหารทุน
พิพิธภัณฑ์กอญัค-เจย์มีทั้งภาพเขียน เครื่องเรือน ประติมากรรม เทเปสตรีเครื่อง พอร์ซเลน และของประดับบ้าน ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2008 พิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการ Le siecle de Watteau แสดงภาพเขียนขนาดเล็ก 60 ภาพ มีทั้งภาพที่แอร์เนสต์ กอญัคสะสมและที่พิพิธภัณฑ์ได้รับตั้งแต่ปี 1990 ในส่วนที่เป็นของแอร์เนสต์ กอญัค นั้นบางครั้งเรียกว่า Le gout Goncourt ด้วยว่าเป็นภาพที่พี่น้อง Goncourt คือเอ็ดมงด์ (Edmond) และจูลส์ (Jules) ชื่นชอบมาก อองต็วน วัตโต (Antoine Watteau) เป็นจิตรกรชาวฝรั่งเศส ภาพที่มีชื่อมากที่สุดของเขาคือ Pierrot ตัวตลกที่สวมเสื้อลายขนมเปียกปูน เขาไม่เคยมีนางแบบหรือนายแบบมานั่งให้เขียนรูป แต่มักจะร่างคร่าวๆ ในสมุดที่พกติดตัว พ่อของเขาเป็นพ่อค้าขายภาพเขียนที่เมืองวาลองเซียนส์ (Valen-ciennes) ด้วยเหตุนี้เขาจึงเริ่มเรียนวาดรูปตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เมื่อครูของเขา ฌาคส์-อัลแบรต์ เจแรง (Jacques-Albert Gerin) เสียชีวิตในปี 1702 อองต็วน วัตโตเดินทางไปปารีสทั้งๆ ที่ไม่มีเงินทุน เขาไปฝึกงานในสตูดิโอผลิตภาพเขียนแถวสะพานโนเทรอะ-ดาม (Pont Notre-Dame) ก๊อบปี้ภาพเขียนทางศาสนาเป็นจำนวนมาก โดยได้รับค่าจ้างต่ำมากเมื่อเทียบงานที่ต้องทำ ทว่าเป็นโอกาสให้เขาได้รู้จักกับอาร์ติสต์อื่นๆ เช่น ฌอง-ฌาคส์ สโปเอด (Jean-Jacques Spoede) และโคล้ด จิล โลต์ (Claude Gillot) เมื่อฝ่ายหลังเห็นผลงานของอองต็วน วัตโต จึงชวนให้ไปพักด้วย และที่นี่เองที่เขาชื่นชอบฉากละคร การเกี้ยวพาราสี ชีวิตสังคมผู้ดีและบ้านนอก และจำลองลงเป็นภาพที่เรียกว่า dessin
ในปี 1709 และ 1712 อองต็วนวัตโตได้รับรางวัล Prix de Rome ผลงานชื่อ Pelerinage a l'ile de Cythere สร้างชื่อเสียงให้เขามาก ทว่าชื่อเสียงไม่ได้ทำให้สถานะการเงินของเขาดีขึ้น ประกอบ กับเจ็บไข้ได้ป่วย อองต็วน วัตโตจึงเดินทาง ไปลอนดอนในปี 1719 เพื่อหาแพทย์ชื่อ ริชาร์ด มีด (Richard Mead) ซึ่งชื่นชอบผลงานของเขา ทว่าอากาศกรุงลอนดอนมีแต่ทำให้สุขภาพของเขาแย่ลง จึงเดินทางกลับกรุงปารีสและเสียชีวิตในปี 1721 ขณะ อายุเพียง 37 ปี
ศตวรรษที่ 19 ภาพเขียนของออง ต็วน วัตโต มีอิทธิพลต่อนักเขียน เตโอฟีล โกทีเอร์ (Theophile Gautier) บรรยายบรรยากาศที่เห็นจากภาพเขียนของเขา เจรารด์ เดอ แนร์วัล (Gerard de Nerval) ตั้งชื่อบทหนึ่งในเรื่องของเขาที่ลงในนิตยสาร Revue des deux mondes ว่า Un voyage a Cythere โบดแลร์ (Baudelaire) ยกย่องอองต็วน วัตโตในเรื่อง Les Phares ว่าเป็นจิตรกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พี่น้องกงกูรต์ (Freres Goncourt) คิดว่าอองต็วน วัตโตเป็นกวีใหญ่ของศตวรรษที่ 18 ส่วนแวร์แลน (Verlaine) เขียนหนังสือเรื่อง Fetes galantes โดยได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนของอองต็วน วัตโตชื่อ Pelerinage a l'ile de Cythere เป็นต้น
ในทำนองเดียวกัน นักคิดนักเขียนศตวรรษที่ 20 ต่างสะท้อนผลงานของอองต็วน วัตโต ไม่ว่าจะเป็นปอล โคลเดล (Paul Claudel) จูเลียง กราค (Julien Gracq) ฟิลิป โซลแลร์ (Philippe Sollers) โธมาส์ มานน์ (Thomas Mann)
นอกจากอองต็วน วัตโตแล้ว นิทรรศการยังแสดงผลงานของบูเชร์ (Boucher) และศิษย์รัก ฟราโกนารด์ (Fragonard) โบดวง (Baudouin) เป็นต้น
ภาพเขียนทั้งหมดเป็นภาพบุคคลในอิริยาบถต่างๆ มีทั้งสุขและเศร้า ท่ามกลางธรรมชาติหรือในห้องหับส่วนตัว แสดงวิถีชีวิตส่วนตัวของตัวละคร รายละเอียดสวยมาก ส่วนใหญ่เป็นภาพขนาดเล็กจึงต้องเพ่งพินิจนานเป็นพิเศษ หลังจากนั้นจึงไปชมพิพิธภัณฑ์และคอลเลกชั่นถาวร ขากลับลงมา เดินไปตามป้ายที่ชี้ทางออกไปสวน น่าเสียดายที่ฝนตกมาหลายวัน พิพิธภัณฑ์จึงไม่ได้เปิดสวนให้ชม หมายใจว่าจะกลับไปในวันหลังที่ฟ้าเจิดจรัส
|
|
|
|
|