|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2551
|
|
ปัจจุบันการต่อสู้ไม่ได้เป็นแค่วิชาการป้องกันตัว หรือเป็นเพียงแค่เกมกีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นศิลปะและการแสดงที่แม้ไม่ต้องใช้คำพูด แต่ด้วยท่วงท่าและลีลาอันสวยงามก็เป็นภาษาสากลที่สามารถสร้างความเข้าใจระหว่างกันได้ พร้อมด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ...ดังเช่นกรณีของ JUMP Show
เสียงหัวเราะดังเป็นระยะ สลับกับเสียงปรบมือกึกก้องทุกครั้งที่ผู้แสดงบนเวทีมีการโชว์ลีลาศิลปะป้องกันตัวในท่าทางที่โลดโผน กระโจนขึ้นฟ้าบ้าง ตีลังกาบ้าง กระโดดเตะบ้าง ฯลฯ เกิดขึ้นทุกรอบของการแสดง "JUMP" ที่จัดขึ้น ณ สยามพารากอนฮอลล์ เมื่อราวกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
"จั๊มป์" เป็นละครเวทีรูปแบบใหม่จากประเทศเกาหลี เป็นละครใบ้ที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่การนำเสนอศิลปะการต่อสู้แบบโบราณของเกาหลี ได้แก่ เทควันโด้และเทคยอน ผสมผสานกับศิลปะการต่อสู้ของชนชาติอื่นในแถบเอเชีย เช่น กังฟู คาราเต้ กระบี่กระบอง และมวยจีน โดยมีมุกตลกขำขันเป็นเสมือน "ผงชูรส"
สุนทรีย์ในการสร้างเสียงหัวเราะของจั๊มป์ไม่ได้มาจากมุก "ตลกเจ็บตัว" เหมือนการแสดงตลกคาเฟ่บ้านเรา และก็ไม่ได้ชูจุดขายอยู่ที่การแสดงแบบ "เล่นจริง เจ็บจริง" แต่เป็นการแสดงความสวยงามในท่วงท่าลีลาของวิชาศิลปะป้องกันตัว และความสามารถในการแสดงภาพทุกแง่มุมของร่างกายผ่านการแสดงตลก ศิลปะการป้องกันตัว กายกรรมผาดโผน และการเต้นรำ
นักแสดงของจั๊มป์ส่วนใหญ่เป็นแชมป์ยิมนาสติก บ้างก็เป็นนักกีฬาเทควันโดสายดำ ส่วนคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานสองด้านนี้มาก่อนก็ต้องฝึกฝนหนักกว่าคนอื่นหลายเท่า แต่ถึงแม้จะมีพื้นฐานกันมาแล้ว นักแสดงทุกคนก็ยังต้องได้รับการฝึกฝนอย่างหนักต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีทั้งทางด้านการแสดงและละครใบ้
สำหรับรูปแบบและไอเดียของการแสดงชุดนี้ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในปี 2542 จากนั้นบทภาพยนตร์ก็ถูกเขียนขึ้นในชื่อเรื่อง "เครซี่ แฟมิลี" (CRAZY FAMILY) เมื่อปี 2544 และ 8 เดือน
นับจากนั้น ทีมนักแสดงทั้งหมดก็เข้ารับการฝึกฝนด้านกายกรรมโดยการดูแลของโค้ชยิมนาสติกหญิงทีมชาติ เพื่อเตรียมแสดงละครใบ้ครั้งแรก
ในปี 2546 การแสดงชุดนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น JUMP (จั๊มป์) และเปิดการแสดงในโรงละครหลายแห่งในเกาหลี และในปี 2549 พวกเขาก็มีโรงละครในกรุงโซลเป็นของตัวเองชื่อว่า "JUMP Theatre" ขนาด 376 ที่นั่ง เปิดแสดงทุกวัน เฉลี่ยวันละ 2 รอบ หลังจากนั้น 1 ปีก็เปิดโรงละครชื่อเดียวกันในเมืองปูซาน และยังเปิดโรงละคร Union Square ในมหานครนิวยอร์กอีกด้วย
ความสำเร็จของจั๊มป์อาจวัดได้จากจำนวนรอบแสดงที่มากกว่า 3 พันรอบ มีผู้ชมมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก และนับตั้งแต่ปี 2548 การแสดงชุดนี้ได้เดินทางไปเปิดการแสดงมาแล้วในหลากหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา จีน กรีซ สเปน ญี่ปุ่นอินเดีย ฮ่องกง มาเก๊า ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ บาห์เรน และในปีนี้นักแสดงจั๊มป์ยังมีทัวร์แสดงรอบโลกอีกด้วย
การแสดงจั๊มป์ในประเทศไทยครั้งที่ผ่านมาถือเป็นครั้งแรก โดยมี BEC Tero เป็นหัวเรือใหญ่ในการนำการแสดงนี้เข้ามา ภายใต้การสนับสนุนขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลี
ในประเทศไทย ความนิยมของจั๊มป์ดูได้จากจำนวนบัตรที่ขายได้มากถึง 15,000 ใบ ภายใน 5 วัน หรือเพียง 7 รอบที่เปิดแสดง ทั้งนี้ ทีมงานของ BEC Tero ถึงกับบอกว่าตัวเลขดังกล่าวมากเกินความคาดหวัง จนเรียกได้ว่า โชว์ชุดนี้ขายดีไม่แพ้ละครบรอดเวย์ ชื่อดังอย่าง CAT ทั้งที่เรื่องหลังนี้ใช้งบโปรโมตเยอะกว่ามาก และเมื่อเห็นผลตอบรับของจั๊มป์ BEC Tero ก็ตัดสินใจนำละครเวทีจากเกาหลีที่มีชื่อว่า "Break Out" เข้ามาเปิดแสดงในช่วงเดือนตุลาคมนี้
ทั้งนี้ ความสำเร็จเหล่านี้ของการแสดงจั๊มป์ ส่วนหนึ่งย่อมมาจากความสามารถของนักแสดงศิลปะการต่อสู้ทุกคน แต่จะว่าไปแล้ว นักแสดงศิลปะการต่อสู้ หรือ "สตั๊นท์แมน" คนไทยเองก็มีความสามารถในการแสดงและการต่อสู้ไม่แพ้กัน สตั๊นท์แมนคนไทยไม่น้อยที่ทางทีมงาน Hollywood ให้การยอมรับ เช่น วิโรจน์ แซ่โล้ว สตั๊นท์แมนหนุ่มจากอุดรธานี ปัจจุบันเป็นหัวหน้าสตั๊นท์แมนทำงานให้กับเฉินหลงมาหลายเรื่อง หรือจาพนม ยีรัมย์ อดีตสตั๊นท์แมนที่มีทักษะสูงจนได้เลื่อนขั้นเป็นดารานักบู๊ชื่อดังก้องโลก เป็นต้น
นักแสดงจั๊มป์อาจไม่ต่างจากกลุ่มสตั๊นท์แมนที่ได้รับการผลักดันและสนับสนุนให้ก้าวขึ้นมาเป็น "ดารา" ขณะที่สตั๊นท์แมนคนไทยก็ดูไม่ต่างจากผู้รับจ้าง "เล่นแทน-เจ็บแทน" นักหากยังต้องแสดงในแบบ "เล่นจริง เจ็บจริง" และแน่นอนว่า รายได้และศักดิ์ศรีก็ย่อมเทียบกันไม่ได้ ถึงแม้ฝีไม้ลายมืออาจจะใกล้กัน
ขณะที่รัฐบาลเกาหลีกำลังสนับสนุนให้นักแสดงจั๊มป์ออกไปทำการแสดงรอบโลก เพราะเห็นว่านี่ไม่ใช่เพียงชื่อเสียงและรายได้มหาศาล แต่ยังเป็นการเผยแพร่และส่งออกศิลปะการต่อสู้และวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลก...ส่วนประเทศไทยดูเหมือนยังไม่เห็นความสำคัญกับการพัฒนาวงการสตั๊นท์แมนมากนัก
|
|
|
|
|