ประสบการณ์ร่วมทุนของ บลจ. วรรณ และ สสว. สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของปัญหาทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เอสเอ็มอียังไม่ไปถึงไหน
ทั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนวรรณ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีรูปแบบในการจัดตั้งกองทุนร่วมทุนที่คล้ายคลึงกัน อยู่ภายใต้การดูแลของ 2 กระทรวง คือ กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม
ฉะนั้นเป้าหมายของ ทั้ง 2 หน่วยงานนี้จะแตกต่างจากกองทุนร่วมทุนที่จัดตั้งโดยภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมในภาพ รวม สนับสนุนธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ไม่มีประสบการณ์ ไปจนถึงธุรกิจที่ต้องการขยาย หรือเตรียมเข้าตลาด หลักทรัพย์
ด้วยวัตถุประสงค์เช่นนั้นทำให้ทั้ง บลจ.วรรณ และ สสว. มีประสบการณ์ร่วมทุนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความหลากหลาย
บลจ.วรรณให้บริการกองทุนร่วมทุน มาเป็นระยะเวลา 8 ปี และจะสิ้นสุดในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2552 ตามระยะเวลา 10 ปี จากนี้ไปมีเวลาบริหารกองทุนอีก 2 ปีเท่านั้น ดังนั้นบริษัทที่ต้อง การร่วมทุนในช่วงเวลาที่เหลือจึงมีเงื่อนไขค่อนข้างจำกัด คือต้องเป็นบริษัทที่เตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงเวลาไอพีโอ เท่านั้น ส่วนบริษัทที่ร่วมทุนไปแล้ว อยู่ระหว่างถอนหุ้นคืน
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมลงทุนไป 79 แห่ง ใช้เงินลงทุน 810 ล้านบาท จากเงินทุนทั้งหมด 1,000 ล้านบาท มีบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้ว 3 ราย คือ บมจ.ไทยเอ็นดีที บริษัท บิวเดอร์ สมาร์ท จำกัด (มหาชน) บริษัทไดเมค ลาบอราทอรี่ จำกัด (มหาชน) และจะเข้าตลาดอีก 2 บริษัท คือ บริษัทไซเบอร์ แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด ผู้ผลิตเกมปังปอนด์ และเกมอุลตร้าแมน บริษัท โกลเด้น มายด์ เซอร์วิส จำกัด ให้บริการแม่บ้าน คนขับรถ และพนักงานส่งเอกสาร
ยอดตัวเลขของบริษัท 79 แห่ง ที่บลจ.วรรณ ได้ร่วมลงทุนไปนั้น มงคล เกษมสันต์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัด การ บลจ.วรรณ บอกว่า ค่อนข้างพึงพอใจ แม้ว่าในตอนแรก ภาครัฐต้องการให้ร่วมลงทุนทั้งหมด 1 พันล้านบาทภายใน 2 ปี
มงคลยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคัดเลือกบริษัทร่วมทุนในระยะเวลาอันสั้น เพราะจากประสบการณ์ตรงที่ได้ร่วมทำงาน จะพบว่า ที่ผ่านมาคัดเลือกบริษัทที่จะร่วมลงทุนครั้งละไม่ต่ำกว่า 100 ราย แต่เมื่อมีการเจรจาลงลึกในรายละเอียด บลจ.วรรณ สามารถคัดเลือกจากบริษัททั้งหมดเหลือ 20 ราย แต่ท้ายที่สุดบริษัทที่เหลือร่วมลงทุนมีเพียง 3-4 รายเท่านั้น
สาเหตุส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน บัญชีไม่มีความโปร่งใส มีบริษัทลูกหลายแห่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เจ้าของธุรกิจไม่ยินยอมให้มีบริษัทร่วมทุนรายใหม่เข้ามาถือหุ้นร่วมเพราะต้องการให้เป็นธุรกิจของครอบครัว แม้ว่าเงื่อนไขการลงทุนจะอยู่ในรูปแบบของ passive กองทุนจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในการบริหารงานประจำวันแล้วก็ตาม
ประสบการณ์ของกองทุนวรรณ สอดคล้องกับ สสว.ที่ผู้ประกอบการจะเขียน แผนธุรกิจผิดๆ ถูกๆ ข้อมูลที่เขียนมีทั้งความจริง และเขียนเพิ่มเติม
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากฝั่งผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ในฝั่งของภาครัฐ ที่มีเงื่อนไขกฎระเบียบต่างๆ ได้สร้างอุปสรรคให้กับการร่วมทุนของผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน
จิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการ สสว. บอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงปัญหาและเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรแก้ไข เพื่อให้กองทุนร่วมทุนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของภาครัฐ ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการลงทุน ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีรายได้ เงินปันผล หรือผลประโยชน์จากการโอนหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ กองทุนเข้าไปร่วมลงทุน ในกรณีที่วิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม แปรสภาพเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา สสว.ได้ร่วมทุนธุรกิจไปแล้ว 105 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,810 ล้านบาท จากผู้ประกอบการ 436 ราย ที่ขอเข้ามามีมูลค่าร่วมกว่า 7,000 ล้านบาท
โครงการที่ สสว.เน้นร่วมลงทุนที่ผ่านมาเป็นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและอาหาร สมุนไพร แต่แนวโน้มที่ สสว.จะสนับสนุนผู้ประกอบรายใหม่จะเน้นสนับสนุนทางด้านธุรกิจพลังงาน ไบโอพลาสติก ดิจิตอล คอนเทนส์ อาหารสุขภาพ ซอฟต์แวร์ และ แอนิเมชั่น
ทั้ง สสว.และ บลจ.วรรณ ที่บริหาร กองทุนร่วมทุนและอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ จะมองประสิทธิผลของตัวเลขโดยรวม อย่างเช่น สสว.ที่ร่วมทุนกับบริษัท 105 แห่ง สร้างมูลค่าการลงทุนของกิจการ 4,167.16 ล้านบาท จ้างงาน 7,247 คน และประมาณ การรายได้ธุรกิจเอสเอ็มอี 6,739.47 ล้านบาท
ด้าน บลจ.วรรณร่วมทุนกับบริษัท 79 แห่ง ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้รวมทั้งหมด 17,000 ล้านบาท จ้างงาน 12,000 คน
หากมองในด้าน "ผลตอบแทน" ที่เป็นตัวเงินกลับคืนไปยังภาครัฐ ในส่วนของ กองทุนวรรณ อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่ไม่ได้เป็นตัวเลขมากมาย ส่วนของสสว.ยังไม่มีผลตอบแทนกลับเข้าภาครัฐ แม้แต่รายเดียว เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นให้บริการได้เพียง 3 ปีกว่าเท่านั้น
จากเรื่องราวการร่วมทุนที่เล่าประสบการณ์ผ่านทั้ง บลจ.วรรณ และ สสว. อาจเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการรับรู้มานานแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน การหันหน้ามาคุยกันอย่างจริงจังอาจจะเป็นหนทางออกที่ดีและทำให้ผู้ประกอบการยังมีความหวัง และเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้าง!
|