Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2551
Stay another Day...in Cambodia             
โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
 

   
related stories

มณีต้าหมิง ทัพหน้าของทุนไทยในจีนตอนใต้
ค้าขายกับจีนไม่ใช่เรื่องง่าย
"คุน-มั่ง กงลู่" เส้นทางจีนสู่อาเชียน

   
www resources

Stay another Day Homepage
International Finance Cooperation Homepage

   
search resources

Tourism
International
International Finance Cooperation




Stay Another Day เป็นโครงการท่องเที่ยวที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาชุมชนชาวบ้านยากจนในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยพยายามดึงประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาช่วยกระจายรายได้ให้ตกถึงชาวบ้านและ "คนชายขอบ" ของสังคม

"...มาดาม... อั่งก่อวัด อั่งก่อวัด (นครวัด) บ่าย้น (บายน) 10 ใบ 1 ดอลลาร์เท่านั้นค่ะ..."

เสียงตะโกนเจื้อยแจ้วของเด็กหญิงชาวเขมรตัวน้อย ผมยุ่งเหยิง ผิวเข้มเพราะกรำแดด ผ่านมา ยังโสตประสาทของผู้เขียน พร้อมกับร่างน้อยๆ ของเจ้าของเสียงที่ตรงปรี่มายังผู้เขียนอย่างแน่วแน่ เพื่อวิงวอน (แกมบังคับด้วยสายตาละห้อย) ให้ช่วยซื้อโปสต์การ์ดจากตนหน่อย ทันทีที่ผู้เขียนย่างเท้าเข้าเขตตัวปราสาทนครวัด

ช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานในเรื่องความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาที่กำลังคุกรุ่น อันเนื่องมาจากปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหารอย่างนี้ ทำให้ผู้เขียนไม่ค่อยอยาก ที่จะเอ่ยชื่อประเทศเพื่อนบ้านของไทยให้แสลงหูผู้อ่านบางท่านสักเท่าใดนัก

...แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ใบหน้าของน้องหนูวัยสี่ขวบที่ร้องตะโกนขายโปสต์การ์ดอยู่หน้าปราสาทนครวัด ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในใจของผู้เขียนเสมอ

ในขณะที่กัมพูชายืดอกประกาศอย่างภาคภูมิใจต่อชาวโลกว่า ประเทศของตนได้ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) อย่างเคร่งครัดนั้น แรงงานเด็กอันเนื่องมาจากปัญหาความยากจนยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ทำให้หนูน้อยตัวเล็กที่บอกว่าตัวเองอายุเจ็ดขวบทั้งๆ ที่ดูแล้วน่าจะอายุไม่ถึง 4 ขวบ จำต้องเดินกรำแดดไปมาภายในตัวปราสาทอลังการอยู่ทั้งวัน เพื่อใช้แรงกายเดินเร่ขายโปสต์การ์ดใบละ 3 บาทให้กับนักท่องเที่ยวที่นานๆ จะเผลอใจอ่อนซื้อโปสต์การ์ดชุดละ 10 ใบกับเจ้าตัวเล็กสักครั้ง เพราะทนใจแข็งกับความจอมตื๊อของหนูน้อยไม่ไหว

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชา ทำรายได้ให้แก่ประเทศถึงประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท ในปี 2548 นับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นอันดับต้นๆ รายได้จากธุรกิจ การท่องเที่ยวในกัมพูชา คิดเป็น 13.56% ของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ (GNP) ของประเทศในปี 2548 เพิ่มขึ้นจากเพียง 1.6% ในปี 2538 จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนกัมพูชา เพิ่มขึ้นถึง 546% ภายในระยะเวลาเพียง 1 ทศวรรษ จาก 220,000 คนในปี 2538 เป็น 1.4 ล้านคน ในปี 2548 (ข้อมูลจาก UNESCAP) นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ ที่ได้มาเยือนทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว น้อยรายที่จะยอมพลาดการไปเยือนเมืองเสียมเรียบเพื่อยลโฉมปราสาทนครวัด นครธม อันตระการตา

แต่ถึงกระนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวที่อยู่เที่ยวต่อในกัมพูชาจริงๆ เพื่อเยี่ยมชม เมืองอื่นๆ ของประเทศ กลับมีบางตา เพราะแต่ละคนรีบเดินทางไปเที่ยวประเทศ อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ต่อ โดยส่วนใหญ่ใช้ไทย เป็นฐาน เนื่องจากสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวของไทยมีความพร้อมกว่าอีกหลายๆ ประเทศ ดังนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวจึงไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากกว่าจะตกไปถึงประเทศ เพื่อนบ้านอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้การกระจายรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในกัมพูชาไปสู่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวหลักๆ ของประเทศ เป็นไปได้อย่างยากลำบาก ประชาชนที่พอจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวของกัมพูชา จึงกระจุกตัวอยู่เพียงในเมืองใหญ่ๆ อย่างเสียมเรียบ และพนมเปญ เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ องค์กร International Finance Cooperation (IFC)-องค์กรระหว่างประเทศด้านการเงินที่เปรียบเสมือน เป็นแขนขาของธนาคารโลก จึงได้ริเริ่มโครงการ "Stay Another Day" ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ "อยู่เที่ยว ต่อ" อีกสักวันสองวันในกัมพูชา และในอีก 2 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการคือ สปป.ลาว และเวียดนาม เพื่อเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นในแต่ละประเทศ โดยนำ เสนอประสบการณ์ใหม่ซึ่งนักท่องเที่ยวทั่วไปที่มักเที่ยวแบบ "ล่กๆ" ไม่มีโอกาสได้สัมผัส

โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนพัฒนาภาคเอกชนของกลุ่มประเทศในลุ่มน้ำโขง (The Mekong Private Sector Development Facility: MPDF) ขององค์กร IFC ซึ่งนอกจาก IFC แล้วยังมีประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศที่ร่วมให้เงินสนับสนุนโครงการ คือ ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์

Stay Another Day เป็นโครงการ ท่องเที่ยวที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาชุมชน ชาวบ้านยากจนในกัมพูชา เวียดนาม และลาว โดยพยายามดึงประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาช่วยกระจายรายได้ให้ตกถึงชาวบ้านและ "คนชายขอบ" ของสังคม เช่น ผู้พิการทางกาย จากสงครามในกัมพูชา และชนกลุ่มน้อย

Stay Another Day เน้นการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม เชิญชวนให้นักท่องเที่ยว "อยู่ต่อ" ในแต่ละประเทศอีกสักวันสองวัน เพื่อไปเยี่ยมเยือนองค์กรและร้านค้าต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ศึกษางานช่วยเหลือชุมชนที่องค์กรแต่ละแห่งทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อช่วยให้ชาวเขมร ลาว และเวียดนาม ที่ด้อยโอกาสมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้ก็คือ ความเข้าใจในปัญหาและสภาวะทางสังคมในประเทศทั้งสามได้ดีขึ้น ซึ่งทางโครงการหวังว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเข้าใจดีแล้ว ก็จะหันมาให้ความช่วยเหลือองค์กรและประชาชนในประเทศทั้งสาม ทั้งโดยการบริจาคเงิน และการอุดหนุนสินค้าและบริการของชาวบ้าน ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าหัตถกรรมที่ชาวบ้านผลิตมาโดยได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทักษะความรู้จากกลุ่มองค์กรต่างชาติซึ่งเข้ามาช่วยพัฒนาด้านวิชาชีพให้แก่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนไว้ได้

ปัจจุบันมีองค์กรในกัมพูชาที่เข้าร่วม โครงการ Stay Another Day ประมาณ 52 องค์กรทั่วประเทศ เทียบกับ สปป.ลาว และเวียดนาม ที่มีสมาชิก 45 และ 17 องค์กร ตามลำดับ

Artisans d'Angkor เป็นหนึ่งในโครงการที่เข้าร่วมโครงการ Stay Another Day ของ IFC โดยเป็นโครงการความร่วมมือของ 4 องค์กรคือ The National Cambodian Institutions กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส สหภาพยุโรป และโรงเรียน Chantiers-Ecoles de Formation Professionnelle (CEFP) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อจะช่วยกัมพูชาฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของกัมพูชา หลังจากประชาชนในประเทศต้อง เผชิญกับโศกนาฏกรรมของสงครามกลาง เมือง สมัยที่พอลพตเรืองอำนาจ Artisans d'Angkor จึงก่อตั้งโรงเรียน CEFP ขึ้นมา ในปี 2535 เพื่อช่วยรื้อฟื้นงานศิลปะ หัตถกรรมของกัมพูชาให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ โดยฝึกสอนงานหัตถกรรมให้แก่เด็กชนบทอายุระหว่าง 18-25 ปี ที่ด้อยโอกาสและด้อยการศึกษา ให้มีอาชีพที่มั่นคง และช่วยดำรงศิลปะของประเทศของตนให้สืบต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจไม่ให้เด็กๆ ย้ายถิ่นฐาน ออกจากหมู่บ้านของตนเพื่อไปดิ้นรนหางานทำตามเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเยาวชนที่มาฝึกงานกับ Artisans d'Angkor นั้น นอกจากจะได้เรียนฟรีแล้ว ทางองค์กรยังมีค่าเบี้ยเลี้ยงพร้อมที่พัก อาหาร เสื้อผ้า และเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้ด้วย สินค้าของ Artisans d'Angkor มีตั้งแต่งานแกะสลักหิน งานไม้ งานลงรักปิดทอง แต่ละชิ้นมีความงดงาม ตามแบบฉบับงานศิลปะดั้งเดิมของวัฒนธรรมเขมร แต่ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานความร่วมสมัย ไว้ได้อย่างลงตัว ผลิตภัณฑ์ของ Artisans d'Angkor จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว กระเป๋าหนักที่ยินดีจ่ายเงินสูงกว่าราคาสินค้าหัตถกรรมตามท้องตลาดทั่วไป เพื่อแลกกับงานศิลป์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานอยู่ในชิ้นงาน

นอกจากนี้ การที่ได้รับรู้ว่ารายได้จากการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้จะถูกคืนไปให้ชาวบ้านยากจนผู้รังสรรค์งานศิลป์ ก็มีผลทางด้านจิตวิทยากับลูกค้านักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติไม่น้อย สินค้าของ Artisans d'Angkor จึงขายดิบขายดี จนทำให้โครงการสามารถเลี้ยงตัวเองได้และเลิกรับเงินช่วยเหลือจากภายนอกมาตั้งแต่ปี 2546

ปัจจุบัน Artisans d'Angkor จดทะเบียนในรูปของบริษัท และเปิดร้านจำหน่ายสินค้าขึ้น 2 แห่ง ที่ท่าอากาศยาน กรุงพนมเปญและเมืองเสียมเรียบ นอกจากนี้ร้านอาหาร Angkor Cafe ของ Artisans d'Angkor ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามของนครวัด ก็เป็นแหล่งระบายสินค้าให้กับองค์กรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

นอกจาก Artisans d'Angkor แล้ว องค์กรอื่นๆ ที่เข้าร่วมในโครงการ Stay Another Day ยังมีอีกมากมาย เช่นองค์กร M'Lop Tapang ในสีหนุวิลล์ ให้ที่พักและความคุ้มครองแก่เด็กร่อนเร่พเนจร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เด็กๆ สามารถกลับสู่สังคมและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติต่อไป สิ่งที่ทางองค์กรเสนอให้แก่นักท่องเที่ยวก็คือ การแสดงระบำนางอัปสรของเด็กข้างถนนที่เป็นสมาชิกขององค์กร รวมทั้งสินค้าของชำร่วย ที่เด็กซึ่งเคยถูกบังคับให้มาเป็นขอทานสมัยที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เป็นผู้ผลิต มาขายให้แก่นักท่องเที่ยวตามชายหาด Serendipity ของเมืองสีหนุวิลล์

นอกจากนี้ยังมีองค์กร National Centre of Disabled Persons ซึ่งเปิดร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมที่ทำจากผ้าไหมสีสดใสโดยคนพิการที่เป็นสมาชิกขององค์กรร้านดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งของกระทรวงสตรี (Ministry of Women's Affairs) ในกรุงพนมเปญ อีกทั้งยังมีองค์กร Sangkheum Centre for Children ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลเด็กกำพร้า เด็กที่ถูกทำร้ายและเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ก่อตั้งโดย NGO จากประเทศอิตาลีชื่อ Progetto Continenti ร่วมกับองค์กร the Khmer Angkor Development Organisation (KADO) ของกัมพูชา สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสก็คือการเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ ได้เรียนรู้ปัญหาของเด็กในกัมพูชา นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถเยี่ยมชมห้องผลิตผ้าไหมและเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตโดยสมาชิกขององค์กรด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านบางท่าน อาจคิดว่า โครงการ Stay Another Day เล่นกับการสร้าง "ความรู้สึกผิด (guilt)" ให้กับนักท่องเที่ยวมากเกินไปหรือเปล่า เพราะแต่ละโครงการเหมือนกับเป็นเพียงการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไปดูงานตามองค์กรการกุศลเพื่อจะได้รู้สึกเห็นใจ และจบลงด้วยการบริจาคเงินหรืออุดหนุนซื้อสินค้าขององค์กรเท่านั้น แล้วสำหรับนักท่องเที่ยวที่แค่อยากมาพักสมองในกัมพูชา โดยไม่ต้องการคิดถึงเรื่องปัญหาสังคมของประเทศยากจนแห่งนี้ให้รกสมองล่ะ เขาจะได้อะไร

คำตอบก็คือ Stay Another Day มีกิจกรรมให้เลือกทำหลากหลาย โดยแบ่งองค์กรที่เข้าร่วมโครงการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ องค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และองค์กรพัฒนาชุมชน นั่นหมายความว่า สมาชิกของโครงการไม่ได้จำกัดอยู่แค่องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO เท่านั้น แต่รวมไปถึง SMEs ธุรกิจเล็กๆ ที่ต้องการนำเสนอการท่องเที่ยวที่ไม่ได้ยึดแต่เรื่องเงินเป็นหลัก แต่เป็นธุรกิจ ที่คำนึงถึงการคืนกำไรให้กับสังคมด้วย

นั่นเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมร้านขาย คุกกี้เล็กๆ แต่มีสไตล์อย่าง Camory Premium Cookie Boutique ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบริเวณ Sisowath Quay ของกรุงพนมเปญถึงเข้ามาอยู่ในโครงการนี้ด้วย พนักงานของร้านจะได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาดำรงชีวิตได้อย่างไม่ลำบากนัก (living wage ไม่ใช่ ค่าแรงขั้นต่ำหรือ minimum wage) และ มีชั่วโมงการทำงานไม่หนักจนเกินไป อีกทั้งมีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี ร้านคุกกี้เล็กๆ แห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างชาวเขมรบางกลุ่มกับเพื่อนๆ ชาวสิงคโปร์ ขายคุกกี้หลายรสชาติในราคาพรีเมียม (ตามชื่อร้าน)

นอกจากสินค้าหลากหลายแล้ว Stay Another Day ยังมีสมาชิกที่นำเสนอ "บริการ" ให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น องค์กร Khmer Architecture Tours ให้บริการนำเที่ยวเพื่อชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่และสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในกรุงพนมเปญ พร้อมรับความรู้ด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และประวัติศาสตร์ของกัมพูชาอย่างเจาะลึกจากผู้เชี่ยวชาญ หรือองค์กร Pour un Sourire d' Enfant (แปลว่า 'เพื่อรอยยิ้มของเด็กๆ') ในกรุงพนมเปญ ตั้งขึ้นโดยคู่สามีภรรยาชาวฝรั่งเศส เพื่อช่วยเหลือเด็กเก็บขยะให้หลุดพ้นจากชีวิตที่ไร้อนาคต ได้เปิดบริการร้านอาหาร Le Lotus Blanc รวมทั้งให้บริการสปา นวดแผนโบราณ และ บริการตัด สระ ซอยผมให้แก่นักท่องเที่ยว โดยองค์กรจะนำรายได้จากธุรกิจดังกล่าวไปเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการช่วยเหลือเด็ก นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนตร์ Meta House ของนักสร้างภาพยนตร์ชาวเยอรมันร่วมกับเพื่อนชาวเขมรของเขาและสถาบัน International Academy ของมหาวิทยาลัยอิสระกรุงเบอร์ลิน (Free University of Berlin) เปิดฉายหนังอาร์ต และเปิดเวที ให้นักดนตรีชาวเขมรแสดงฝีมือได้อย่างเต็มที่ หรือศูนย์ฝึกอบรมด้านการท่องเที่ยว ตนเล (Tonle Tourism Training Centre) องค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจาก NGO สัญชาติสวิสชื่อ Tourism for Help ให้บริการที่พักแก่นักท่องเที่ยวในรูปแบบของเกสต์เฮาส์ โดยพนักงานเป็นเยาวชนในพื้นที่ที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน ซึ่งได้รับการฝึกฝนวิชาชีพด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ

เช่นเดียวกับโรงเรียน Paul Dubrule School of Hotel and Tourism ของ Paul Dubrule หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มโรงแรม Accor ซึ่งหันมาจัดตั้ง NGO ชื่อ Formation et Progres Cambodge ทำหน้าที่ให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนในกัมพูชาที่สนใจจะเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อจะได้มีวิชาชีพติดตัวไปประกอบอาชีพในอนาคต

นอกจากนี้โครงการ Stay Another Day ยังได้ผลิตคู่มือแนะนำสมาชิกของโครงการฯ ในกัมพูชา เพื่อแจกจ่ายให้แก่นักท่องเที่ยวตามโรงแรม และสถานท่องเที่ยวต่างๆ โดยการจัดพิมพ์คู่มือดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจาก IFC และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งรัฐบาลประเทศเยอรมนี หรือ GTZ (Deutsche Gesellschaft fur Technische Zusammenarbeit)

เม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากต่างชาติบวกแรงกายแรงใจจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชนจากต่างแดน ช่วยให้กัมพูชากำลังจะถีบตัวทิ้งห่างจากการเป็นประเทศยากจน กลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาเทียบเท่ากับประเทศไทยที่มักทำตัวเป็นพี่เบิ้มในภูมิภาคนี้ได้ในเวลาอีกไม่นานเกินไปนักหลังจากที่ต้องตกอยู่ในยุคมืดทางการเมืองมานานกว่า 30 ปี
ข้อได้เปรียบของกัมพูชาคือ ในขณะที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจกำลังดำเนินไปอย่างเร่งรัด การพัฒนาทางสังคม ก็มิได้ถูกทอดทิ้ง โดยที่กัมพูชาได้รับความ ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่ยังคงให้โควตาส่งออก เสื้อผ้าแก่กัมพูชาอย่างต่อเนื่อง แม้ระบบโควตาสิ่งทอหรือข้อตกลง Multi-Fibre Arrangement (MFA) ภายใต้องค์การการค้าโลกจะสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ก็ตาม โดยมีข้อแม้ว่าโรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออกจะต้องเข้าร่วมโครงการตรวจมาตรฐานแรงงาน "Better Factories Cambodia" ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO

สำหรับการพัฒนาทางด้านสังคมนั้น กัมพูชาก็ยังได้ความร่วมมือมากมายจากองค์กรต่างชาติ โดยมีฝรั่งเศสประเทศ ที่มีอำนาจเหนืออธิปไตยของกัมพูชามาก่อน เป็นโต้โผในการจัดแจงกิจกรรมต่างๆ ส่วน หนึ่งคงเป็นเพราะความสัมพันธ์ทางการเมืองอันแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศที่ยังตัดกันไม่ขาด อีกส่วนหนึ่งคือความผูกพันของประชาชนชาวฝรั่งเศสเอง ที่มีต่อกัมพูชาถึงขนาดตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่นี่ เพราะตกหลุมรักประเทศ เล็กๆ แห่งนี้ บางรายนิยมกัมพูชามากกว่า ประเทศไทยเสียอีก เพราะรู้สึก "คุ้นเคย" กว่า

อาจารย์สอนภาษาชาวฝรั่งเศสที่ผู้เขียนได้รู้จักในกรุงพนมเปญเล่าว่า พนมเปญยังมีร่องรอยแห่งความเป็นฝรั่งเศสหลงเหลืออยู่มาก ทั้งร้านอาหารฝรั่งเศสมากมาย ที่เสิร์ฟอาหารรสชาติเป็น ฝรั่งเศสแท้มากกว่าร้านอาหารฝรั่งเศสราคาแพงในกรุงเทพฯ อีกหลายแห่ง หลายคนหลงใหลเสน่ห์แห่งความเงียบสงบและชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้าในบางพื้นที่ของกัมพูชา ซึ่งยังไม่ถูกกระทบจากแรงเหวี่ยงของอานุภาพแห่งโลกาภิวัตน์และกระแส "การพัฒนา" มากเท่ากับประเทศไทย

จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมในกัมพูชา ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด ซึ่งในกรุงพนมเปญเอง ตึกรามบ้านช่องมากมายที่ดูเผินๆเหมือนเป็นเพียงบ้านหลังโตของผู้มีอันจะกิน แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นที่ตั้งของสำนักงานของหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การยูเนสโก ยูนิเซฟ องค์การ อนามัยโลก (WHO) และสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ฯลฯ นับว่ามากมายทีเดียวสำหรับประเทศเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพียง 181,035 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้

Stay Another Day เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกัมพูชากับประเทศพัฒนาแล้วหลากหลายประเทศ ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาอย่างเต็มที่หากได้รับการขอร้อง ดังกรณีของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกที่กัมพูชาได้แรงสนับสนุนจากประเทศยักษ์ใหญ่ ซึ่งควรจะเป็นบทเรียนราคาแพงให้แก่ไทย ถึงการ "ไม่รู้จักเขา ไม่รู้จักเรา" เพราะคนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านของตนเท่ากับที่เพื่อนบ้านของเราให้ความสำคัญกับเรา ชาวกัมพูชาเกือบทุกบ้านดูรายการโทรทัศน์ จากไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ละครเท่านั้นที่เขาดู แต่รวมไปถึงรายการข่าวและความเป็นไปต่างๆ ในสังคมไทย แต่ไทยเองกลับเมินเฉยที่จะรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านของตน มีคนไทยสักกี่คนที่ติดตามข่าวสารและได้ดูรายการโทรทัศน์จากประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าไม่ใช่คนไทยที่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และกัมพูชา

Stay Another Day บ่งบอกถึงนัยสำคัญให้ไทยรับทราบว่า กัมพูชาในปี 2551 นี้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยดังที่หลายคนเข้าใจ (ผิด) เพราะในฐานะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาฐานะยากจน กัมพูชาได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร อีกทั้งตลาดส่งออก รวมทั้งเงินอุดหนุนจากประเทศต่างๆ ที่ยินดีที่จะยื่นมือเข้ามาเกื้อหนุนกัมพูชาในทุกๆ ด้าน ซึ่งเครือข่ายพันธมิตรในต่างแดนที่หลากหลายของกัมพูชานี้อาจเป็นจุดบอดที่ไทยเรามองข้ามมาโดยตลอด

ก็ได้แต่หวังว่า ความช่วยเหลือจาก องค์กรต่างประเทศอย่างโครงการ Stay Another Day ที่พรั่งพรูเข้ามาสู่ประเทศเพื่อนบ้านของเรานั้นจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในกัมพูชาในเวลาไม่ช้า และเร็วพอที่จะช่วยให้น้องหนูวัยเจ็ดขวบที่วิงวอนให้ผู้เขียนซื้อโปสต์การ์ดจากเธอนั้น หลุดพ้น จากการต้องใช้แรงงานเด็กของเธอเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

และก็หวังต่อไปว่า ภาพเด็กน้อยตัวเล็กๆ ที่ต้องตะเบ็งเสียง "อั่งก่อวัด อั่งก่อวัด บ่าย้น..." แข่งกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันจะกลายเป็นเพียงภาพแห่งความทรงจำในอดีตของนครวัดเท่านั้นในอนาคตอันใกล้นี้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us