|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2551
|
|
ระหว่างวันที่ 19-24 เมษายน ที่ผ่านมา "ผู้จัดการ" มีโอกาสเดินทางผ่านเส้นทาง R3a จากเชียงราย-หลวงน้ำทา-สิบสองปันนา-คุนหมิง มณฑลหยุนหนัน สป.จีน (เส้นทางคุน-มั่ง กงลู่) ร่วมกับการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย, สมาคมท่องเที่ยว จังหวัดเชียงราย พบว่า เส้นทางยุทธศาสตร์ ภายใต้นโยบายตงหมงของปักกิ่งสายนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์ 100% รองรับธุรกรรมทางการค้า การท่องเที่ยวระหว่างจีน-อาเซียนเต็มรูปแบบ
การเดินทางเริ่มต้นจากด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เชียงของ จ.เชียงราย เข้าสู่ถนน R3a ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มุ่งหน้าสู่ชายแดนลาว-จีน ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป. ลาว ปรากฏว่าตลอดเส้นทาง R3a ระยะ ทางประมาณ 240 กว่ากิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จตลอดเส้นทางแล้ว ใช้เวลาเดินทางเพียง 4-5 ชั่วโมงเศษเท่านั้น (อ่าน "ตลาด (อินโด) จีน เปิดแล้ว" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 ประกอบ)
เมื่อข้ามแดนเข้าสู่ สป.จีน ที่โม่หาน หรือบ่อหาน เมืองลา เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง พร้อมกับแลกเงินบาทเป็นเงินหยวน จากพ่อค้าเร่ได้ ก็มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองเชียงรุ่ง หรือจิ่งหง ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 240 กม. ผ่านทางด่วนที่เป็นส่วนหนึ่งของ "คุน-มั่ง กงลู่" โดยในเดือนเมษายน 2551 เปิดใช้ตลอดเส้นทางแล้ว เหลือเพียง 80 กม. ที่อยู่ระหว่างปรับปรุง การเดินทางช่วงนี้ใช้เวลาอีกประมาณ 4 ชั่วโมงจากเดิมที่ต้องเดินทางกันไม่ต่ำกว่า 6-10 ชั่วโมงขึ้นไป
ส่วนทางด่วนจากจิ่งหง-นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน สป.จีน ระยะทางประมาณ 620 กม. ตามแบบแปลนการก่อสร้างของ สป.จีน เป็นถนน 4 เลนตลอด สาย มีรั้วกั้นตลอด 2 ข้างทางเช่นกัน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เหลือเพียงประมาณ 70 กว่ากิโลเมตรในช่วงเมืองผูเอ่อ-มู่เขอเท่านั้น ที่อยู่ระหว่างการเร่งมือก่อสร้าง ภายใต้เป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2008 หรือ 2551 นี้ ซึ่งหากการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะทำให้การเดินทางจากเมืองเชียงรุ่ง-นครคุนหมิง ใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น จากเดิมที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง
เมื่อ 21 เมษายน ที่ผ่านมา มณฑล หยุนหนันเพิ่งจะมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยราชการต่างๆ ว่า ทางด่วนคุน-มั่ง กงลู่ ช่วงตั้งแต่เชียงรุ่ง-ผูเอ่อ หรือชื่อเดิมคือ "ซือเหมา" ได้เปิดให้ใช้งานได้แล้ว
ประเด็นปัญหาสำหรับการเปิดใช้เส้นทางคุน-มั่ง กงลู่ ขณะนี้มีเพียง "สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4" ซึ่งจะใช้เชื่อมเส้นทาง R3a กับโครงข่ายถนนในประเทศไทย โดย Yuan Song Qing ผู้ช่วยการท่องเที่ยว เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สป.จีน บอกว่า ที่จริงแล้วหากเป็นไปตามแผนที่กำหนดร่วมกันจะต้องแล้วเสร็จในปีนี้
ปรากฏว่าขณะนี้โครงการก่อสร้างสะพานฯ ดังกล่าว โดยเฉพาะประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2551 ก่อนที่จะตอกเสาเข็มได้ราวเดือนกรกฎาคม 2552 มูลค่า ก่อสร้าง 31 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไทย-จีน จะออกค่าใช้จ่ายฝ่ายละ 50% กำหนดแล้ว เสร็จในปี 2554 เป็นอย่างต่ำ
สุรพันธุ์ บุญยมานพ กงสุลใหญ่ประจำนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน สป. จีน เพิ่มเติมว่า เส้นทางคุน-มั่ง กงลู่ ที่คาด ว่าจะเสร็จสมบูรณ์ไม่เกินปีนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างมาก ทั้งในแง่การค้า-การลงทุน และการท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะทำให้จีน ตอนใต้มีท่อสินค้าทะลักออกสู่ทะเลได้โดยตรง ขณะที่ไทยเองก็มีเส้นทางขนส่งที่สะดวกมากขึ้น
ยู เจียรยืนพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย (สขบท.) กล่าวขณะนำทีมผู้ประกอบการขนส่งในเครือข่ายสหพันธ์ฯ และผู้ร่วมทุนในบริษัท Thailand Logistic Alliance จำกัด ที่รวมกลุ่มคลัสเตอร์ที่เกี่ยวกับการส่งออกของไทยจดทะเบียนก่อตั้งขึ้นมากกว่า 31 ราย ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ศึกษาดูงาน และหารือจับคู่ธุรกิจ เรื่อง "การพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทย-สปป.ลาว ด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การขนส่ง และโลจิสติกส์ บนเส้นทาง R3a หรือ R3e" ระหว่างวันที่ 15-18 พ.ค.2551 ที่ผ่านมา ว่า
ไทยต้องรีบทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด สำหรับการรุกเข้าลงทุนตามแนวถนน R3a เฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ไม่ได้มีไทย ลาว จีน เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มทุนขนส่ง จากญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ก็มองเขตเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตแห่งนี้ด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยต้องออกโรงเองมากขึ้น เพราะถ้าปล่อยให้เอกชนเดินกันเอง เชื่อว่าช้าแน่นอน เนื่องจากธรรมชาติของนักลงทุนก็ต้อง "อุบไต๋" กันอยู่ ดังนั้นถ้าจะให้ SMEs ไทยเกิด รัฐต้องนำ ต้องนำพาเป็นหัวหอกมากกว่านี้
เขาบอกว่า เส้นทาง R3a เป็นส่วน หนึ่งของโครงข่ายคมนาคมที่ สป.จีน มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อเปิดทางให้สินค้าจาก 5 มณฑลทางตอนใต้ออกสู่ทะเล-ตลาดโลก ผ่าน สปป.ลาว-ไทย ต่อเนื่องทั้งมาเลเซีย-สิงคโปร์ ซึ่งแน่นอนว่า หากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมระหว่างแขวงบ่อแก้ว-อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของไทยแล้วเสร็จ ธุรกรรมการขนส่งสินค้า-คน ผ่านเส้นทางนี้จะเติบโตขึ้นอีกมากแน่นอน
ขณะที่การขนส่งทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงตอนบน ตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Agreement on Commercial Navigation On Lancang-Mekong River) และกรอบ หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ (ไทย-ลาว-พม่า-กัมพูชา-เวียดนาม-จีนตอนใต้) Greater Mekong Sub region (GMS) ที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเส้นทางคมนาคมเปิดทางออกสู่ทะเลให้กับซีหนาน ซึ่งทางการจีน วางเป้าหมายที่จะพัฒนาการเดินเรือขนาด 500 ตัน ให้สามารถวิ่งได้ตลอดทั้งปีให้ได้ภายในปี 2553 นั้น
นอกจากจะมีกลุ่มทุนใหญ่จากจีนในนามบริษัท ดอกงิ้วคำ จำกัด เข้ามาลงทุนพัฒนาแหล่งบันเทิงครบวงจร บริเวณ สามเหลี่ยมทองคำ (ฝั่งลาว) มูลค่าการลงทุนกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ตลอด หลายปีที่ผ่านมา การขนส่งคน-สินค้าผ่านเรือในแม่น้ำโขงยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง รวมถึงเรือโดยสารที่บริษัทแม่โขงเดลต้าทราเวล จำกัด ของผกายมาศ เวียรา ที่วิ่งขึ้น-ล่องระหว่างเชียงแสน-เชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนาอย่างต่อเนื่องแล้ว
ล่าสุดรัฐบาลไทยก็เริ่มเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน 2 ขึ้นมา หลังจากท่าเรือเชียงแสน 1 ที่เปิดบริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 เริ่มหนาแน่นและ ไม่สามารถรองรับกิจกรรมการขนส่งสินค้าที่ขยายตัวมากขึ้นได้
โดยมีการเตรียมพื้นที่บริเวณบ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ห่างจากท่าเรือเชียงแสนไปทางทิศใต้ประมาณ 6 กิโลเมตร ตั้งอยู่ริมสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำกก บรรจบกับแม่น้ำโขงบนพื้นที่ 402.3 ไร่ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,546.4 ล้านบาท เป็นงบผูกพันระหว่างปี งบประมาณ 2552-2554 คาดว่าจะประกวด ราคาและก่อสร้างได้ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2551 ใช้เวลาก่อสร้าง 960 วัน แล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ในปี 2554
ด้านกรมทางหลวงชนบทเตรียมการ ก่อสร้างโครงการก่อสร้างถนนสนับสนุนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์เชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 1129 และหมายเลข 1098 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มูลค่าก่อสร้าง 575 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อไปยังอำเภอเมืองเชียงราย และภาคกลางต่อไป
โดยถนนดังกล่าวเป็นช่องทางสี่เลน ตัดจากบริเวณบ้านสันทรายกองงาม ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ใกล้ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ผ่านที่ลุ่มและตัดข้ามแม่น้ำกก ตามแนวถนนบ้านสันธาตุ ต.โยกนก อ.เชียงแสน ผ่านบ่านร่องโจ๊ก บ้านทับกุมารทอง ดอยผาตอง ดอยผาเรือ บ้านผาเรือ ดอยป่างิ้ว และผ่านทางทิศเหนือของวัดท่าข้าวเปลือก ต.ท่าข้าวข้าวเปลือก อ.แม่จัน ก่อนบรรจบ กับทางหลวงหมายเลข 1098 บริเวณวัดท่าข้าวเปลือก ประมาณ กม.ที่ 14+200 รวมระยะทาง 14.530 กิโลเมตร
ความชัดเจนของถนนคุน-มั่ง กงลู่/แผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมจากจีน-ไทย-อาเซียน ที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณเตือนสำหรับผู้ประกอบการ-เกษตรกรไทย ที่จะต้องเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามมา
ก่อนที่จะปล่อยให้เส้นทางเหล่านี้ ถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าเข้า-ออกให้กับจีนเท่านั้น
|
|
|
|
|